posttoday

ชำแหละ 7 กลลวงเหยื่อ ‘คอลเซ็นเตอร์’ ดูดร้อยล้าน

06 กุมภาพันธ์ 2561

ปฏิบัติการทลายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ของตำรวจและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเริ่มเข้มข้นขึ้นอย่างมากโดยเฉพาะการรุกคืบสืบสวนเพื่อนำไปสู่การจับกุมสมาชิกแก๊งระดับสั่งการที่เห็นอยู่บ่อยครั้ง

โดย...ทีมข่าวในประเทศโพสต์ทูเดย์

ปฏิบัติการทลายแก๊งคอลเซ็นเตอร์ของตำรวจและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเริ่มเข้มข้นขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะการรุกคืบสืบสวนเพื่อนำไปสู่การจับกุมสมาชิกแก๊งระดับสั่งการที่เห็นอยู่บ่อยครั้ง รวมถึงการเข้าจับกุมเครือข่ายขบวนการอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 2560 มาถึงต้นปี 2561

เพราะตลอดกว่า 10 ปีที่เกิดขบวนการแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ทำให้คนไทยต้องตกเป็นเหยื่อรู้ไม่ทันถูกหลอกลวงไปแล้วหลายพันคน มูลค่าความเสียหายอยู่ที่หลักกว่า 200 ล้านบาท

ภายใต้การบูรณาการปฏิบัติการร่วมกันระหว่างตำรวจ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ปปง. ที่เปิดสายด่วนสำหรับผู้ถูกหลอกลวงจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์ หมายเลข 1710 ตั้งแต่วันที่ 15 พ.ย. 2560 ที่เริ่มมีการจัดทำสถิติการหลอกลวงและจำนวน ผู้เสียหายพร้อมคณะทำงานอย่างเป็นระบบ พบว่ามีผู้หลงเชื่อโอนเงินให้กับแก๊งคอลเซ็นเตอร์มากถึง 157 คน มูลค่าความเสียหายที่สูญเสียไปแล้วกว่า 67 ล้านบาท ขณะที่มีการยับยั้งการหลอกลวงเอาไว้ได้กว่า 4 ล้านบาท

สถิติดังกล่าวยังสะท้อนได้ว่าเพียงแค่ระยะเวลากว่า 2 เดือนเศษนับตั้งแต่เปิดศูนย์ปฏิบัติการร่วม ก็ยังมีคนไทยถูกหลอกลวงจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์อยู่ ทว่า รูปแบบของขบวนการก็เปลี่ยนไปตามยุคสมัย อย่างไรก็ตาม เมื่อชำแหละรูปแบบการหลอกลวงของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ พบว่ามีอยู่แค่ 6 รูปแบบที่คนร้ายมักจะนำมาใช้ และทุกรูปแบบคือการ "สุ่มเบอร์โทรศัพท์" กล่าวคือ

1.บัญชีเงินฝากถูกอายัดหรือมีหนี้บัตรเครดิต วิธีการคือคนร้ายจะโทรศัพท์เข้ามาหาเหยื่อ เพื่อให้ชำระหนี้ที่ไม่เกิดขึ้นจริง และจะหลอกสอบถามข้อมูลทางการเงินของเหยื่อ หากมีมากพอก็จะหลอกเหยื่อให้ไปโอนเงินที่ตู้เอทีเอ็ม

2.หลอกว่าเป็นเจ้าหน้าที่สถาบันการเงิน วิธีการคือหลอกเหยื่อว่าข้อมูลของเหยื่อสูญหายต้องจัดทำข้อมูลใหม่ คนร้ายจะหลอกขอข้อมูลทั้งเลขบัตรประชาชน รวมถึงเลขหลังบัตรเครดิต บัตรเดบิต และนำข้อมูลไปปลอมแปลงหรือใช้บริการต่างๆ จากข้อมูลของเหยื่อที่หลงเชื่อมอบให้

3.หลอกว่าเป็นเจ้าหน้าที่สรรพากร วิธีการคือหลอกเหยื่อว่าได้รับเงินคืนภาษี และต้องทำการยืนยันผ่านตู้เอทีเอ็ม และเหยื่อถูกหลอกด้วยวิธีการนี้บ่อยมากและมักจะพบในช่วงที่มีการยื่นภาษีเงินได้ประจำปี

4.หลอกว่ามาจากศาลยุติธรรม โดยส่งหมายศาลปลอมไปให้ผู้เสียหาย และอ้างว่าผู้เสียหายมีส่วนเกี่ยวข้องกับยาเสพติดหรือการฟอกเงิน เมื่อผู้เสียหายตกใจและหลงเชื่อ ก็จะส่งโฉนดที่ดิน บ้าน สมุดบัญชีธนาคาร ไปให้แก่มิจฉาชีพ โดยอ้างว่าเพื่อนำไปตรวจสอบและนำไปสู่การหลอกลวงให้โอนเงิน

5.บัญชีเงินฝากพัวพันยาเสพติด จะใช้ความกลัวหลอกเหยื่อว่าพัวพันกับยาเสพติด หรือการฟอกเงิน และถูกหลอกให้โอนเงินเข้ามายังแก๊งคนร้ายที่แอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐเพื่อนำเงินไปตรวจสอบ ด้วยความกลัวต่อการพัวพันกับยาเสพติดจึงทำให้เหยื่อถูกหลอกไม่น้อยเช่นกัน

6.ได้โชคจากรางวัลใหญ่ คนร้ายอ้างตัวเป็นตัวแทนองค์กรต่างๆ ที่มีรางวัลใหญ่จะมอบให้กับประชาชน แต่มีข้อแลกเปลี่ยนคือโอนเงินจำนวนหลักพันบาทมายืนยันก่อน ล่าสุดที่คนขับรถจักรยานยนต์รับจ้างถูกหลอกว่าได้รับรางวัลจากเครื่องดื่มชนิดหนึ่ง จนต้องไปซื้อบัตรเติมเงิน 3,000 บาท ให้กับคนร้ายเพื่อยืนยันสิทธิ และสุดท้ายก็ถูกหลอก

7.โอนเงินผิดต้องโอนคืน วิธีการคือคนร้ายจะมีข้อมูลด้านการเงินของเหยื่อ และแอบอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของสถาบันการเงินโทรศัพท์ไปหาเหยื่อว่ามีการโอนเงินผิดพลาด จึงขอให้เหยื่อโอนเงินกลับมา ซึ่งกลายเป็นว่าเหยื่อโอนเงินในบัญชีตัวเองให้กับคนร้าย

ถึงกระนั้น ในระยะหลังประชาชนเริ่มรู้ทันและไม่ตกเป็นเหยื่อ แก๊งมิจฉาชีพคอลเซ็นเตอร์จึงต้องเปลี่ยนรูปแบบความกลัวที่ต้องทำให้เหยื่อเกิดความกังวล การอ้างเป็นตำรวจ อัยการ และเจ้าหน้าที่รัฐฝ่ายปกครองต่างๆ พร้อมนำข้อมูลเท็จมาหลอกลวง ทั้งเรื่องของการพัวพันกับยาเสพติด หรือมีพัสดุที่ส่งมาถึงแต่ต้นทางเป็นของขบวนการยาเสพติด ทำให้เหยื่อเกิดความกังวล เมื่อเป็นเช่นนั้นคนร้ายก็นำไปสู่การเสนอการให้ความช่วยเหลือด้วยการโอนเงิน

การแอบอ้างเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือของแก๊งคนร้ายก็น่ากลัวไม่น้อย ทั้งการอ้างไปถึงนายตำรวจระดับผู้บัญชาการ ผู้บังคับการ อัยการ ผู้พิพากษา ต่างถูกแอบอ้างชื่อทั้งหมด และหากเหยื่อไม่เชื่อก็จะให้เบอร์โทรศัพท์ของหน่วยงานนั้นๆ ซึ่งเป็นหมายเลขโทรศัพท์จริง แต่ไม่คาดหวังให้เหยื่อโทรไปเพียงแต่นำมาอ้างเพื่อให้สมกับความจริงเท่านั้น

ในปัจจุบันตำรวจมีข้อมูลของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่มีสมาชิกร่วมขบวนการทั้งที่เป็นคนไทยและต่างชาติ โดยเฉพาะจากจีนและไต้หวันที่ตั้งทีมหลอกลวงอยู่ทั้งหมด 8 แก๊งที่ยังเคลื่อนไหว และแต่ละกลุ่มจะมีแบ่งหน้าที่กันอย่างชัดเจน โดยข้อมูลจากตำรวจชุดสืบสวนบอกเล่าว่า เริ่มจากระดับสั่งการจากต่างประเทศจะสั่งการให้คนไทยที่ร่วมขบวนการหาทีมขึ้นมาให้ได้อย่างน้อย 8-10 คน

จากนั้นเมื่อได้ทีมครบแล้วจะให้มีการกระจายเปิดบัญชี หรือจ้างให้คนไทยร่วมเปิดบัญชีเพื่อรองรับเงินที่จะถูกหลอกโอนเข้ามา โดยจะมีคนไทยอีกบางส่วนจะโทรศัพท์หลอกเหยื่อจากต่างประเทศโดยเฉพาะในแถบเพื่อนบ้าน เมื่อได้เงินแล้วจะให้ผู้ร่วมขบวนการไปกดเงินออกจากบัญชีที่เหยื่อเพิ่งโอนให้ทันที