posttoday

พัฒนากัญชง...ไม่ใช่กัญชา แปรความหวังสร้างรายได้เกษตรกร

25 มกราคม 2561

การพัฒนาพืชยาเสพติดอย่างกัญชง เริ่มเกิดเค้าโครงความสำเร็จขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังมีการวิจัยและพัฒนาพืชยาเสพติดชนิดนี้อย่างจริงจัง

โดย...เอกชัย จั่นทอง

การพัฒนาพืชยาเสพติดอย่าง เฮมพ์ (Hemp) หรือกัญชง เริ่มเกิดเค้าโครงความสำเร็จขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังมีการวิจัยและพัฒนาพืชยาเสพติดชนิดนี้อย่างจริงจัง ภายใต้กฎหมายการปลูกและพัฒนาสายพันธุ์ให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์ทางกฎหมาย แม้ว่าพืชเสพติดชนิด ดังกล่าวจะยังอยู่ในกลุ่มของยาเสพติดผิดกฎหมายก็ตาม แต่ด้วยคุณภาพที่มีมากกว่าการผลิตสารเสพติด จึงถูกนำมาผลักดันสู่พืชเศรษฐกิจสร้างรายได้ในอนาคต

ดร.สริตา ปิ่นมณี นักวิจัยสถาบัน วิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) คลุกคลีทำงานวิจัยเรื่องกัญชงมานานกว่า 7 ปี ขยายความเข้าใจเรื่องนี้ว่า ตามกฎหมายไทยแล้วกัญชง จัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 เนื่องจาก กัญชา มีต้นกำเนิดมาจากพืชชนิดเดียวกัน กัญชงเป็นพืชเส้นใยคุณภาพสูง มีความยืดหยุ่น แข็งแรง และทนทานสูง กัญชง เป็นพืชที่มีความสำคัญต่อวิถีชีวิตชาวเขา ที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมของชนเผ่า มีการเพาะปลูกบนพื้นที่สูงของประเทศโดยเฉพาะชาวเขาเผ่าม้งมายาวนาน

สำหรับกัญชาและกัญชงมีสารออกฤทธิ์ คือ เตตราไฮโดรแคนนาบินอล (Tetrahydrocannabinol, THC) ซึ่งเป็นสารเสพติดที่อยู่ในส่วนของช่อดอกกัญชา มีค่า THC 3.10 ของปริมาณสารเสพติด ซึ่งสูงกว่ากัญชง ที่มีค่า THC 0.40 น้อยกว่า จึงมีการวิจัยและพัฒนากันหลายหน่วยงาน เช่น มูลนิธิโครงการหลวง กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และสถาบันสำรวจและติดตามการปลูกพืชเสพติด สำนักงาน ป.ป.ส. ที่พยายามพัฒนากัญชงบนพื้นที่สูงให้มีค่าสารเสพติด THC ต่ำกว่าร้อยละ 0.3

"ผลการวิจัยและพัฒนาได้ปรับปรุงพันธุ์กัญชงที่มีสารเสพติดได้ต่ำกว่า 0.3% และมีเปอร์เซ็นต์เส้นใยสูงกว่า 15% ในการปลูกกัญชงนั้นจะอยู่ภายใต้การควบคุมของกฎหมาย ต้องเริ่มจากขออนุญาตปลูกจาก อย. ใช้เมล็ดพันธุ์ที่มีสารเสพติด THC ต่ำ มีแผนการปลูกเก็บเกี่ยวชัดเจน รายงานผลดำเนินงานตลอดปีแก่ อย. รวมทั้งประสานหน่วยงาน ป.ป.ส. ในการติดตามปลูกและควบคุมการเพาะปลูกให้เป็นไปตามระบบที่กำหนด"

ดร.สริตา ให้ภาพเสริมอีกว่า ประโยชน์จากกัญชง ถือว่าสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อย่างดีสามารถแปรรูปนำไปทำผลิตภัณฑ์ได้หลายอย่าง ทำเครื่องนุ่งห่ม เช่น เสื้อ กางเกง รองเท้า ผ้าพันคอ ทำปุ๋ย อาหารสัตว์ นอกจากนี้ยังทำเป็นอาหารเสริม เครื่องดื่ม น้ำมันพืช (เมล็ดกัญชงให้น้ำมัน 20-25%) แป้ง เนยเทียม เบียร์ เฟอร์นิเจอร์ ก็ทำได้ เช่น พรม เก้าอี้ รวมถึงวัสดุก่อสร้าง ทำฉนวนกันความร้อน ไบโอพลาสติก วัสดุหีบห่อ ชิ้นส่วนรถยนต์และเสื้อกันกระสุนก็สามารถผลิตได้จากต้นกัญชงทั้งหมด

หลายภาคส่วนวาดหวังว่าจะสามารถนำผลวิจัยเสนอแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อปรับแก้กฎระเบียบต่างๆ เพื่อให้สามารถเพาะปลูกกัญชงเชิงอุตสาหกรรมได้อย่างจริงและกว้างขวางขึ้นในอนาคต

เช่นเดียวกับ ปรัชญา ทวีกุล ผู้อำนวยการส่วนสำรวจพืชเสพติด สถาบันสำรวจและติดตามการปลูกพืชเสพติด สำนักงาน ป.ป.ส. กล่าวว่า สำหรับสถานะทางกฎหมายของกัญชง ล่าสุดมีประกาศราชกิจจานุเบกษา วันที่ 6 ม.ค. 2560 กฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครอง ซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภท 5 เฉพาะกัญชง พ.ศ. 2559 โดยสาระสำคัญคือกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอรับใบอนุญาต การออกใบอนุญาต การควบคุม และการดำเนินการอื่นที่เกี่ยวกับกัญชง โดยมีผลบังคับใช้หลังจากประกาศ 360 วัน ซึ่งครบกำหนดแล้วเมื่อวันที่ 6 ม.ค. 2561

ปรัชญา กล่าวอีกว่า ทางสถาบันสำรวจและติดตามการปลูกพืชเสพติดอย่างกัญชงนั้น ป.ป.ส.ได้ดำเนินการสำรวจและติดตามการปลูกเป็นประจำทุกปี โดยในปี 2553 ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการประสานงานและกำกับการพัฒนาและส่งเสริมกัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจ ภายใต้แผนยุทธศาสตร์การส่งเสริมการปลูกเฮมพ์เป็นพืชเศรษฐกิจบนพื้นที่สูง ซึ่งได้ดำเนินการติดการปลูกจนปัจจุบัน

สำหรับกัญชงมีที่พบในประเทศไทย ปัจจุบันมี 2 รูปแบบ คือ ชาวบ้านปลูกเองโดยใช้เมล็ดพันธุ์ดั้งเดิมของตัวเอง พื้นที่ปลูกส่วนใหญ่ที่สำรวจพบจะอยู่ในหมู่บ้านของชาวไทยภูเขาเผ่าม้งเป็นหลัก โดยเฉพาะในเขต อ.พบพระ จ.ตาก ซึ่งปลูกเพื่อทอผ้าใช้ในชีวิตประจำวัน และการปลูกในพื้นที่โครงการส่งเสริมการปลูกเฮมพ์ในพื้นที่นำร่องภายใต้ระบบควบคุมใน 5 จังหวัด ประกอบด้วย เชียงใหม่ เชียงราย ตาก น่าน และเพชรบูรณ์

ทั้งนี้ ยังมีการติดตามตรวจสอบลงพื้นที่ภาคพื้นดินและภาคอากาศ โดยสำนักงาน ป.ป.ส.จะนำข้อมูลที่ได้ จากการตรวจสอบในพื้นที่ไปวิเคราะห์และรายงานการปลูกเฮมพ์เพื่อให้การติดตามพื้นที่ปลูกเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพภายใต้การควบคุมของกฎหมายอย่าง ถูกต้อง