posttoday

บทลงโทษต้องหนัก หากหวังแก้อุบัติเหตุ

05 มกราคม 2561

สถิติอุบัติเหตุทางถนนปีใหม่ 61 มีจำนวนอุบัติเหตุ-ผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาคิดเป็น 2% ส่วนการเสียชีวิตลดลงประมาณ 11.5%

โดย...นิติพันธุ์ สุขอรุณ

ในห้วงเทศกาลวันส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ ควรจะเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขที่ประชาชนทุกคนได้กลับภูมิลำเนาไปหาครอบครัว เข้าวัดทำบุญรับขวัญเป็นสิริมงคล เพื่อกลับมาดำเนินวิถีชีวิตเริ่มต้นศักราชใหม่

ทว่าระยะเวลาก่อนและหลังก้าวข้ามผ่านพ้นปี ได้ถูกกำหนดให้เป็น 7 วันอันตราย เนื่องจากช่วงเวลานี้ของแต่ละปีเป็นช่วงเวลาของการเดินทาง ยอดผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตยังคงมีอยู่ตลอด แม้ว่ารัฐบาลและภาคเอกชนจะร่วมกันรณรงค์ป้องกัน แต่ยังไม่สามารถทำให้อุบัติเหตุเป็นศูนย์ได้

ผลการสรุปสถิติอุบัติเหตุ ช่วง 7 วันของการรณรงค์ “ขับรถมีน้ำใจ รักษาวินัยจราจร” ระหว่างวันที่ 28 ธ.ค. 2560-3 ม.ค. 2561 โดย ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2561 ดังนี้ อุบัติเหตุทางถนนเกิดขึ้น 3,841 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 423 ราย ผู้บาดเจ็บ 4,005 คน จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 7 จังหวัด คือ จ.ชัยนาท นครนายก นราธิวาส น่าน ยะลา ระนอง และหนองบัวลำภู

จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ จ.อุดรธานี จำนวน 139 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ จ.นครราชสีมา จำนวน 17 ราย จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ จ.อุดรธานี จำนวน 145 คน สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เมาสุรา 43.66% ขับรถเร็วเกินกำหนด 25.23% ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ 78.91%

ขณะที่จุดตรวจหลักได้ตั้งขึ้นจำนวน 2,001 จุด กำลังเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 64,993 คน ทำการเรียกตรวจยานพาหนะ 730,769 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี รวม 124,034 ราย มีความผิดฐานไม่สวมหมวกนิรภัย 36,487 ราย ไม่มีใบขับขี่ 31,721 ราย

เมื่อเทียบกับสถิติ 7 วันอันตรายปี 2559 สะท้อนได้อย่างชัดเจนว่า ยอดผู้เสียชีวิตลดลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เก็บข้อมูลตั้งแต่วันที่ 29 ธ.ค.-4 ม.ค. 2560 พบว่า เกิดอุบัติเหตุรวม 3,919 ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวมทั้งสิ้น 478 ราย บาดเจ็บ 4,128 คน สาเหตุส่วนใหญ่มาจากเมาสุรา 36.59% ขับรถเร็วเกินกำหนด 31.31%

สุธี มากบุญ รมช.มหาดไทย เปิดเผยว่า สถิติอุบัติเหตุทางถนน มีจำนวนอุบัติเหตุจำนวนผู้เสียชีวิตและจำนวนผู้บาดเจ็บลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาคิดเป็น 2% ส่วนการเสียชีวิตลดลงประมาณ 11.5% ยืนยันว่ามาตรการลดอุบัติเหตุทางถนนที่ภาครัฐกำหนดมีประสิทธิภาพ ทั้งการจัดตั้งจุดตรวจ การเพิ่มความเข้มข้นของด่านชุมชน และการกวดขันวินัยจราจร

“รู้สึกพอใจที่ประชาชนร่วมกันสร้างความปลอดภัยแก่ประชาชนในการเดินทาง ได้ปฏิบัติตามระเบียบข้อบังคับจราจร ส่งผลให้จำนวนสถิติอุบัติเหตุทางถนนลดลง ต่อจากนี้จะกำชับให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมุ่งเน้นลดการสูญเสียให้ได้มากที่สุด ทั้งในช่วงเทศกาลวันสำคัญ อย่างวันสงกรานต์ หรือวันปกติก็จะดำเนินการอย่างเข้มงวดเช่นเดียวกัน” สุธี กล่าว

ฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า แม้จะสิ้นสุดช่วงเทศกาลปีใหม่แล้ว แต่ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน จะนำข้อมูลสถิติไปถอดเป็นบทเรียน วิเคราะห์อุบัติเหตุทางถนน เพื่อให้ทราบถึงสาเหตุปัจจัยเสี่ยงนำไปสู่การแก้ปัญหา โดยให้ความสำคัญในประเด็นอุบัติเหตุจากรถโดยสารสาธารณะ รถกระบะบรรทุกผู้โดยสารท้ายกระบะ และพฤติกรรมเสี่ยงไม่คาดเข็มขัดนิรภัย เพื่อนำไปสู่การกำหนดมาตรการที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่อย่างยั่งยืน

นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน กล่าวว่า อุบัติเหตุบนท้องถนนส่วนใหญ่เกิดจากพฤติกรรมฝังรากลึก เช่น ขับรถเร็วเกินกำหนด ปาดหน้ากระชั้นชิด รวมถึงเมาแล้วขับ การแก้ปัญหาควรเริ่มจากระยะสั้น คือ 1.มาตรการถูกตรวจพบแน่นอน เช่น มีด่านตรวจหลายแห่งทำให้การตรวจพบบุคคลอันตรายทำได้ง่าย และ 2.บทลงโทษต้องหนัก เพื่อหยุดพฤติกรรมร้ายแรงไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำสอง แต่ทุกวันนี้ยังไม่เป็นเช่นนั้น จึงทำให้ผู้กระทำผิดไม่ยอมเลิก เช่น โทษปรับ 5,000 บาท สำหรับบางคนเงินจำนวนนี้จ่ายให้เรื่องจบได้สบาย เพราะบางครั้งค่าสุรายังแพงมากกว่า

ดังนั้น สิ่งที่คนไทยกลัวที่สุด คือ โทษคุมขังให้ขาดอิสรภาพสัก 7 วัน จะกลายเรื่องใหญ่ของใครหลายคนที่คิดทำผิด ส่วนมาตรการยึดรถชั่วคราว ยังเป็นมาตรการบังคับใช้ชั่วคราว ซึ่งไม่ได้พบบ่อยนักและยังไม่ใช่มาตรการปกติ ทำให้ไม่มีประสิทธิผลในการป้องปรามอย่างแท้จริง

“รายงานป้องกันภัยของประเทศออสเตรเลีย มีประชากรประมาณ 5 ล้านคน แต่มีการตั้งด่านตรวจแอลกอฮอล์ประมาณ 3 ล้านครั้ง/ปี หมายความว่าโอกาสรอดถูกตรวจจับยากมาก และหากพบทำผิดครั้งที่ 2 จะถูกติดอุปกรณ์เป่าแอลกอฮอล์ก่อนสตาร์ทรถได้ ซึ่งค่าอุปกรณ์ทั้งหมดผู้กระทำผิดต้องจ่ายเอง รวมถึงเพิกถอนใบขับขี่ตลอดชีวิต สะท้อนว่าบทลงโทษหนักมาก และไม่คุ้มค่าที่จะละเมิดกฎหมาย” นพ.ธนะพงศ์ กล่าว

สำหรับมาตรการแก้ปัญหาระยะยาว นพ.ธนะพงศ์ เสนอว่า ควรปลูกฝังเรื่องกฎหมายในระดับเยาวชนให้มากกว่านี้ ก่อนถึงระดับที่สามารถสอบใบขับขี่ได้ และทำควบคู่กับรณรงค์ผ่านสังคมโซเชียล ถ่ายภาพพฤติกรรมไม่ถูกไม่ควรโพสต์ในโลกออนไลน์ ถือเป็นแรงกดดันทางสังคมที่เริ่มไม่ยอมรับมากขึ้น ต่อจากนี้ต้องดึงให้สังคมร่วมกันยกระดับเรื่องความปลอดภัย จึงจะสามารถลดจำนวนผู้เสียชีวิตในช่วง 7 วันอันตรายลดได้อย่างยั่งยืน