posttoday

เสียงความหวังผู้ใช้แรงงาน ต้องการเข้าถึงบริการสุขภาพ

24 ธันวาคม 2560

แรงงานคือกำลังขับเคลื่อนหลักให้เศรษฐกิจของชาติดีขึ้น จีดีพีดีขึ้น เรื่องสุขภาพของคนกลุ่มนี้ก็หวังว่ารัฐบาลจะให้ความสำคัญเช่นกัน

โดย...กันติพิชญ์ ใจบุญ

ท่ามกลางงานสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 10 ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 21-22 ธ.ค. 2560 ในเวที “เสียงจากภาคี” ที่เป็นพื้นที่กลางให้กับผู้ที่มาร่วมงานและสมาชิกสมัชชาสุขภาพจากทั่วประเทศ ได้เปล่งเสียงถึงประเด็นข้อเรียกร้อง ข้อเสนอแนะ และข้อกังวลที่มีผลต่อสุขภาวะกับเรื่องที่เกิดความสนใจ

เพื่อให้เสียงจากคนกลุ่มเล็กๆ ที่อาจจะมีตัวตนหรือเป็นคนที่อยู่ในสังคม ได้มีสิทธิแสดงออกถึงข้อคิดเห็น ทวีป กาญจนวงศ์ ประธานมูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย และคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยใช้เวทีแห่งนี้เป็นพื้นที่ขอ “ระบาย” โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการใช้ประโยชน์จากสิทธิประกันสังคม ตามที่เจ้าตัวลุกขึ้นต่อสู้เพื่อสิทธิประโยชน์ด้านการรับบริการรักษาพยาบาลเพื่อพี่น้องผู้ใช้แรงงานมาหลายปี

ทวีปฉายภาพประกันสังคมที่มีอายุมาจวบจนปัจจุบันยาวนานถึง 27 ปี แต่กลับไม่มีการพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นตามการเติบโตของช่วงเวลา เพราะสิทธิการรักษาพยาบาลหลายอย่างก็ยังไม่ได้รับการตอบสนองจากผู้มีอำนาจของบ้านเมือง ซึ่งเป็นข้อแตกต่างจากหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตรทอง ที่ก่อกำเนิดหลังประกันสังคม แต่กลับพัฒนาไปก้าวไกลกว่ามาก

“ผมเชื่อว่าหากประกันสังคมถอยตัวเองออกจากการเป็นหน่วยงานที่ต้องอยู่ภายใต้อำนาจและการกำกับดูแลของรัฐบาลมาเป็นองค์กรอิสระ การบริหารงานก็จะมีประสิทธิภาพ มีอิสระ ได้รับความร่วมมือการพัฒนาแก้ไขจากทุกภาคส่วน และที่สำคัญคือโปร่งใส ตรวจสอบได้ ต้นทางของปัญหาคือความไร้อิสระ ข้อเรียกร้องนี้ก็ถูกปฏิเสธมาโดยตลอด” ทวีป ฉายภาพ และไม่ลืมที่จะกล่าวย้ำว่า ยิ่งไปกว่านั้น ประกันสังคมควรจะขยายครอบคลุมการใช้สิทธิไปยังทุกกลุ่มอาชีพ เพราะที่ผ่านมา อย่างเช่น ลูกจ้างหน่วยงานรัฐก็ต้องถูกยกออก ไม่มีสิทธิ เป็นต้น

ข้อแตกต่างที่ทวีปเห็นระหว่างบัตรทองและสิทธิประกันสังคมของแรงงานก็มีมากไม่น้อย และในมุมมองของเขามันคือความเหลื่อมล้ำอย่างชัดเจน เฉกเช่นการรักษาโรคซึ่งบัตรทองจะมีสิทธิรักษาจนหายดี ขณะที่สิทธิประกันสังคมกลับมีอายุการรักษาต่อโรคเพียงแค่ 180 วัน/ปีเท่านั้น

“บัตรทองมีสิทธิตรวจทุกโรค รักษาทุกโรค แต่ประกันสังคมกลับมีโรคที่ไม่สามารถรักษาได้อยู่ 11 โรค ผมยกตัวอย่างแค่ว่าโรคที่เกิดจากสารเสพติด เป็นต้น แค่นี้ก็ไม่เหมือนกับบัตรทอง ที่เขารักษาได้ทุกโรคกระทั่งหายดี ของเรารักษาได้แค่ 180 วัน/ปี จากนั้นก็แล้วแต่บุญกรรม” ทวีป ย้ำ 

ที่ผ่านมา ทวีป ยอมรับว่า แม้จะพาพี่น้องแรงงานต่อสู้เพื่อสิทธิการรักษาพยาบาลที่เสนอไปยังรัฐบาลในทุกปี แต่ก็ไม่ได้รับการเหลียวแลทุกปีเช่นกัน ถึงขนาดที่ตัดพ้อว่าสาเหตุเป็นเพราะไม่มีญาติอยู่ในคณะรัฐมนตรี (ครม.) ปัญหาเลยไม่ได้รับความสนใจ

“อย่าว่าแต่ไม่มีญาติใน ครม.เลย เอาแค่ สส.จะมาใส่ใจยังหาได้ยาก มันไม่สมบูรณ์แบบนี้แรงงานจึงเจ็บช้ำอยู่ทุกๆ ปี”ทวีป ระบายความอัดอั้นผ่านกลางเวที

สอดรับกับ บุญยืน สุขใหม่ ผู้ประสานงานกลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ภาคตะวันออก และในฐานะนักรณรงค์เรื่องสิทธิแรงงาน และบทบาทหากินก็เป็นผู้ใช้แรงแลกเงินไม่ต่างกับอีกหลายล้านชีวิตในประเทศไทย เขาเล่าว่า ในพื้นที่ จ.ระยอง ซึ่งถือเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมมีประชากรข้ามถิ่นเข้าไปทำงานจำนวนมาก และแรงงานจำนวนนี้ก็ไปสร้างจีดีพี (GDP) ของประเทศให้สูงขึ้น จนทำให้ จ.ระยอง กลายเป็นพื้นที่อันดับต้นๆ ของประเทศที่รายได้ต่อหัวประชากรสูงที่สุด

แต่เรื่องการเข้าถึงระบบบริการสุขภาพของแรงงานในพื้นที่กลับเป็นเรื่องที่ยากลำบาก บุญยืนฉายภาพของ อ.ปลวกแดง จ.ระยอง ที่มีประชากรข้ามถิ่นเข้าไปทำงานตามโรงงานต่างๆ จำนวนมาก แต่โรงพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์กลับไม่เพียงพอต่อจำนวนประชากรในพื้นที่ ทั้งประชากรย้ายถิ่นเข้ามาทำงาน หรือแม้แต่คนในพื้นที่เองก็ตาม

“จำนวนหมอที่จะดูแลคนไข้อยู่ที่หมอ 1 คน/ประชากร 2.1 หมื่นคน ทำให้หากเกิดปัญหาฉุกเฉินทั้งด้านอุบัติเหตุจราจร อุบัติเหตุจากการทำงาน ปัญหาก็จะวุ่นวายอย่างทันที” บุญยืน สะท้อนปัญหา

กระนั้นแม้จะเกิดปัญหาและมองเห็นซึ่งปัญหา แต่พวกแรงงานก็ไม่ได้ขาดซึ่งความหวังที่จะได้เห็นและได้รับการเปลี่ยนแปลงเพื่อการรักษาพยาบาลที่ดีขึ้นบุญยืนเองก็เช่นกันที่มีความคาดหวังว่ารัฐบาลจะเห็นความสำคัญตรงนี้ ขณะเดียวกันก็อยากเห็นพลังของชาวแรงงานเห็นคุณค่าของปัญหาด้านสุขภาพให้มากพอๆ กับเรื่องปัญหาค่าแรงและโบนัสรวมถึงภาคประชาชนจะช่วยร่วมผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน

นอกจากนี้ บุญยืนเสนอแนะทางออกถึงรัฐบาล และหวังว่าเสียงของเขาจากตรงจุดนี้จะดังพอให้ผู้ใหญ่ในรัฐบาลได้ยินและให้ความสำคัญ โดยเสนอว่าในส่วนแผนระยะสั้น รัฐบาลควรจะพัฒนาศักยภาพของโรงพยาบาลสร้างเสริมสุขภาพตำบลให้สามารถบริการได้ตลอด 24 ชั่วโมง และแผนระยะยาว คือ การสร้างโรงพยาบาลในสัดส่วนที่เพียงพอกับระบบประกันสังคม ซึ่งที่ผ่านมามีแนวคิดดังกล่าวแต่ก็ถูกพับไว้

จากเหตุผลทางการเมือง ก็อยากให้รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้หวนกลับมาพิจารณาเรื่องนี้อีกครั้ง

“แรงงานคือกำลังขับเคลื่อนหลักให้เศรษฐกิจของชาติดีขึ้น จีดีพีดีขึ้น เรื่องสุขภาพของคนกลุ่มนี้ก็หวังว่ารัฐบาลจะให้ความสำคัญเช่นกัน” บุญยืน กล่าวย้ำด้วยความหวัง