posttoday

โลกชีวิตนักโทษ สวรรค์ 3 ชั้นที่ใฝ่ฝัน

23 ธันวาคม 2560

หลังกำแพงสูงใหญ่มีลวดหนามแหลมคมและห้องสี่เหลี่ยมที่ถูกพันธนาการไว้ด้วยมาตรการความปลอดภัยอย่างแน่นหนา ผู้คนที่อยู่รวมกันล้วนต่างที่มา ต่างการทำผิด ทำให้ทุกคนต้องมาอยู่ในสถานที่แห่งนี้ ที่เรียกว่า "คุก" หรือ "เรือนจำ"

โดย...เอกชัย จั่นทอง

หลังกำแพงสูงใหญ่มีลวดหนามแหลมคมและห้องสี่เหลี่ยมที่ถูกพันธนาการไว้ด้วยมาตรการความปลอดภัยอย่างแน่นหนา ผู้คนที่อยู่รวมกันล้วนต่างที่มา ต่างการทำผิด ทำให้ทุกคนต้องมาอยู่ในสถานที่แห่งนี้ ที่เรียกว่า "คุก" หรือ "เรือนจำ"

พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ฉายภาพร่วมเรือนจำปัจจุบันว่า เรือนจำในประเทศไทยส่วนใหญ่มีอายุเกิน 100 ปี เฉลี่ยประมาณ 50-80 ปี ปัจจุบันมีผู้ต้องขัง 3.2 แสนคน เมื่อเทียบกับปริมาณที่รองรับได้เพียง 1 แสนคนเศษเท่านั้น เพราะฉะนั้นจึงมากกว่า 2-3 เท่า

ขณะเดียวกัน จำนวนผู้คุมนักโทษนั้นปกติตามอัตราสากลระบุให้ผู้คุม 1 คน ดูแลนักโทษ 5 คน แต่ในเรือนจำประเทศไทยเฉลี่ยผู้คุม 1 คน ดูแลนักโทษ 32 คน ตรงนี้ค่อนข้างเป็นปัญหาเรื่องความไม่เพียงพอและปัญหาคนล้นคุก เหมือนกับนักเรียนในชั้นเรียนครูตะโกนสอน ใครเกเรอยู่ท้ายห้อง หรือหลบหนีก็ไม่สามารถดูแลได้ทั่วถึง จนนำไปสู่ปัญหาการทำผิดซ้ำ

สำหรับกลุ่มที่ทำความผิดซ้ำแล้ว กลับเข้าสู่เรือนจำอีกนั้น พบว่า ในช่วงปีแรกร้อยละ 17 ถัดมาปีที่ 2 ร้อยละ 23 และปีที่ 3 ร้อยละ 27 ทั้งนี้ส่วนใหญ่มักเป็นคนชายขอบ ไม่มีการศึกษา มีฐานะยากจน เมื่อพ้นโทษออกไป สิ่งแวดล้อมที่อยู่อาศัยไม่ได้เปลี่ยนแปลงไป จึงกระทำผิดซ้ำ

อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ยังเล่าให้ฟังเกี่ยวกับชีวิตผู้ต้องขังในเรือนจำว่า บางครั้งคนเราถูกจำคุกนานหลายปี ชีวิตก็ต้องปรับสภาพรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น บางครั้งผู้ต้องขังที่อยู่ในเรือนจำนานเป็นเดือนเป็นปีบางทีก็เริ่มเห็นชอบคนเพศเดียวกัน มีเพศสัมพันธ์กัน บางครั้งมีการแต่งงานกันในเรือนจำก็ยังมี บางเรือนจำอาจอนุโลมให้

พ.ต.อ.ณรัชต์ เล่าว่า ข่าวที่มีนักโทษใส่เครื่องประดับแหวน พระเครื่อง มักเป็นพวกขาใหญ่ชอบโชว์บารมี ซึ่งทั้งหมดผิดกฎระเบียบข้อห้ามในเรือนจำทั้งนั้น แต่ยอมรับว่าบางทีการดูแลอาจไม่ทั่วถึง เหมือนอย่างที่ลงโทษ เจ้าหน้าที่เรือนจำไปล่าสุด พบว่า นำเหล้าขวดละประมาณ 500 บาท ไปขายให้นักโทษในเรือนจำชาย ขวดละประมาณ 2,000 บาท เพื่อนำไปฉลองงานแต่งงานในเรือนจำ

กระแสข่าวที่ว่าผู้ต้องขังมีอภิสิทธิ์อยู่ห้องแอร์ แยกกินพิเศษ พ.ต.อ. ณรัชต์ บอกความอัดอั้นตันใจว่า ยืนยันผู้ต้องขังทุกรายดูแลเท่าเทียมกันหมด ถ้าใครต้องนอนเรือนจำ ของมีค่าทุกอย่างต้องถอดไว้ด้านนอก แล้วเรือนจำจะแจกเสื้อผ้าให้ 1 ชุด ผ้า 3 ผืน ที่ใช้ปูนอน ใช้ห่ม และม้วนทำ หมอนหนุน ทุกคนนอนกับพื้น ไม่มีเตียงและที่นอนนุ่มๆ ซึ่งแบบนี้เป็นผลดี สามารถตรวจสอบได้ง่าย หากซุกซ่อนสิ่งผิดกฎหมายไม่สามารถทำได้แน่

พ.ต.อ.ณรัชต์ เล่าว่า ในเรือนจำสามารถแบ่งเป็นสวรรค์ได้ 3 ชั้นของนักโทษ คือ สวรรค์ชั้นที่ 1 ห้องพยาบาลหรือแดนพยาบาลอยู่ใน 143 เรือนจำทั่วประเทศ จะมีเตียงและผ้าปูพร้อมอุปกรณ์ตามสมควรในการปฐมพยาบาล

สวรรค์ชั้นที่ 2 ถ้าผู้ต้องขังมีอาการป่วยหนัก จะส่งตัวไปที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ หรือทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ มีแพทย์ หมอ พยาบาล เหมือนโรงพยาบาลด้านนอก แต่มีรั้วรอบ ขอบชิด ชั้นที่หมายปองของผู้ต้องขังคือชั้น 8 เพราะสูงลมและอากาศดี

สวรรค์ชั้นที่ 3 เรียกว่าดีที่สุด คือการได้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลข้างนอก ด้วยโรคเฉพาะที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ขาดบุคลากร ขาดเครื่องมือ หรือญาติประสานแพทย์เจ้าของไข้ที่รักษากันมาก่อน แต่ก็จะตามนักโทษทุก 15 วัน ว่าหายหรือยัง ส่งกลับแดนพยาบาลได้หรือไม่ ในทางปฏิบัติกรณีนี้กรมราชทัณฑ์ต้องเสีย เจ้าหน้าที่ 2 คน เฝ้าดู ผู้ป่วย 1 คน เฝ้าประกบตลอด ทั้งหมดนักโทษต้องป่วยจริงถึงจะได้รับการรักษาตามอาการป่วย

พ.ต.อ.ณรัชต์ ระบุว่า ในสมัย พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา องคมนตรี เป็น รมว.ยุติธรรม ได้เอาจริงเอาจังส่งทหาร ตำรวจ เข้ากวาดล้างสิ่งผิดกฎหมายในเรือนจำทั้งหมด

"สมัยก่อนอาจคล้ายกึ่งซ่องโจรหรือไม่ก็ไม่ทราบได้ เพราะมีที่นอนหมอนมุ้ง สิ่งของต้องห้ามเต็มไปหมด จนสามารถซุกซ่อนอุปกรณ์โทรศัพท์ ยาเสพติด อุปกรณ์เล่นพนัน แต่ยุคของ พล.อ.ไพบูลย์ ได้เข้าเคลียร์สิ่งของ เหล่านั้นหมดจากกฎเหล็กที่เกิดขึ้น"

นอกจากนี้ ยังยกระดับนโยบายให้กระชับขึ้นเป็น 3 ส. 7 ก. โดย 7 ก. คือ 1.กักขัง 2.แก้ไข 3.ยึดหลักกฎหมาย 4.วางกรอบ 5.กลั่นกรอง คือ การจำแนก จัดชั้นผู้ต้องขัง และการพัก/ลดการลงโทษ 6.ให้กำลังใจ และ 7.กลับตัว และ 3 ส.ในการปฏิบัติหน้าที่ คือ สะอาด สุจริต และเสมอภาค

ภาพประกอบข่าว