posttoday

"บัตรแมงมุม" ต้องช่วยให้ค่าโดยสารถูกลง ไม่ใช่แพงขึ้น?

20 ธันวาคม 2560

เสียงสะท้อนจากกระแสข่าวบีทีเอสเตรียมปรับขึ้นค่าโดยสาร หลังเปิดใช้ระบบตั๋วร่วม

โดย...วรรณโชค ไชยสะอาด

ความสนใจพุ่งมาที่บีทีเอสทันที หลังมีกระแสข่าวว่า บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ ให้ความเห็นถึงการเปิดใช้ระบบตั๋วร่วมหรือบัตรแมงมุมเชื่อมต่อระบบขนส่งสาธารณะ จะส่งผลให้ค่าแรกเข้าหรือค่าโดยสารของรถไฟฟ้าสายต่างๆ มีโอกาสเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายด้านซ่อมบำรุง จากปริมาณผู้โดยสารที่ขยายตัวหลังเชื่อมต่อโครงข่ายรถไฟฟ้า

เมื่อได้ยินว่าจะ “ขึ้นราคา” ประชาชนคนเดินทางเลยวิพากษ์วิจารณ์กันสนั่น

จำนวนผู้โดยสารมากไม่ใช่เหตุผลให้ขึ้นราคา

รถไฟฟ้าสายสีเขียวของบีทีเอสนั้นมีปริมาณผู้โดยสารราว 9 แสนคน/วัน คาดว่าภายใน 3 ปีปริมาณผู้โดยสารจะเติบโต 120% เป็น 2 ล้านคน/วัน หลังการเชื่อมต่อโครงข่ายรถไฟฟ้าสายสีชมพูช่วงแคราย-มีนบุรี และรถไฟฟ้าสายสีเหลืองลาดพร้าว-สำโรง ตัวเลขผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น นำมาซึ่งรายได้และต้นทุนในการบริหารจัดการ

ธีรวุฒิ สถิตภัทรกุล เจ้าของแคมเปญ “เปลี่ยนซะทีเหอะ…ที่กั้นรถไฟฟ้าให้มันไม่กระแทกสะโพกจนม่วง” โดยรณรงค์ผ่านเว็บไซต์ change.org เมื่อช่วงต้นปี 2560 ที่ผ่านมา บอกว่า ต้องคำนึงถึงรายละเอียดในสัญญาสัมปทานว่ากฎหมายอนุญาตให้บีทีเอสขึ้นราคาได้หรือไม่ แต่หากนับเฉพาะเรื่องของบัตรแมงมุม คงไม่มีเหตุผลเพียงพอให้เพิ่มค่าโดยสาร

“ประชาชนใช้บริการเพิ่มขึ้น รายได้ก็มากขึ้นและการซ่อมบำรุงก็มากขึ้นตามรายได้ที่เพิ่มขึ้นเป็นปกติอยู่แล้ว แต่อาจมีเหตุผลอื่นๆ อย่างรายละเอียดในสัญญาสัมปทานที่อนุญาตให้เพิ่มขึ้นได้”

เขาตั้งคำถามว่า สำหรับภาคประชาชนหากพิจารณาแล้วว่า การขึ้นราคานั้นไม่สมเหตุสมผลสามารถรวมตัวไปยื่นเรื่องต่อศาลได้หรือไม่ เพราะถือเป็นการผูกขาดการให้บริการ ด้านบีทีเอสเอง หากเห็นว่าการเชื่อมต่อรถไฟฟ้าหลายสายจะทำให้มีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ก็อาจขายกิจการให้ผู้ที่สามารถดำเนินการมาบริหารหรือเปิดให้บริษัทเอกชนรายอื่นเข้ามาประมูลกิจการก็ได้ เชื่อว่ามีหลายประเทศต้องการมาลงทุนระบบขนส่งมวลชนในไทย

 

"บัตรแมงมุม" ต้องช่วยให้ค่าโดยสารถูกลง ไม่ใช่แพงขึ้น?

 

สำหรับสิ่งที่บีทีเอสควรปรับปรุงทั้งในระยะเร่งด่วนและอนาคต นั้นมีมากมายในมุมมองของชายหนุ่ม เช่น

- เรื่องชื่อสถานีที่ควรระบุให้ตรงกันเพื่อประโยชน์และความเข้าใจของประชาชน ตัวอย่างเช่น สถานีอโศกของบีทีเอสและสุขุมวิทของเอ็มอาร์ที หรือสถานีจตุจักรและหมอชิต , เครื่องมือช่วยเหลือในกรณีฉุกเฉิน อาทิ หน้ากากกันควันจำนวนเพียงพอ หรือถังดับเพลิงในจุดที่สามารถเข้าถึงได้

- เรื่องระบบการจ่ายเงินและการเชื่อมต่อระหว่างรถไฟแต่ละสาย ในต่างประเทศมีการเชื่อมโยงสายต่างๆนับสิบเส้นทางเข้าสู่การบริการรายเดียวมาเป็นสิบๆ ปีซึ่งทุกอย่างสามารถออกแบบระบบให้เป็นไปด้วยความสะดวกสบายได้

- การอำนวยความสะดวกแก่คนพิการ แม้มีกฎหมายระบุ แต่สภาพจริงยังไม่ครอบคลุม

- ความสะดวกเรื่องอินเตอร์เน็ตไวไฟ

- เรื่องสิทธิ์ อาทิ เก้าอี้สำหรับสตรี คนแก่ คนพิการ ในต่างประเทศมีแยกเฉพาะและมากกว่านี้ ไม่ใช่ทั้งโบกี้มีเก้าอี้เดียว ไม่สอดคล้องกับโน้มโน้มสังคมผู้สูงอายุ

- เรื่องที่กั้นประตูที่ในต่างประเทศแทบไม่มีความจำเป็นในการใช้บานพับลักษณะนี้ เพราะทำให้เกิดอาการบาดเจ็บได้

- จำนวนขบวนรถที่ไม่เพียงพอต่อการใช้งาน

- สิ่งอำนวยความสะดวกภายในสถานีอาทิ ห้องน้ำ รถเข็นคนพิการ หรือลิฟต์ ก็ยังมีไม่เพียงพอ

“ทั้งหมดเป็นเพียงคำแนะนำในการปรับปรุงบริการที่เชื่อว่าตลอดการให้บริการของBTS มีคำแนะนำสิ่งเหล่านี้ แต่ยังไม่มีการพัฒนาขึ้นเลย สุดท้ายผู้บริโภคก็ต้องดำเนินการเป็นผู้แบกรับภาระค่าใช้จ่ายอยู่ดี กับบริการที่ไม่มีทางเลือก ทุกธุรกิจอยู่บนการปรับตัว แน่นอนว่าธุรกิจขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ก็ยากที่จะหาบริการมาทดแทน แต่อะไรก็ไม่แน่นอน หากหยุดการพัฒนาและปรับปรุงตัวเองธุรกิจนั้นย่อมถึงคราวล่มสลาย”  ธีรวุฒิบอก

ณิชนันท์ ตัญธนาวิทย์ ผู้โดยสารสาว บอกว่า การอ้างเรื่องบัตรแมงมุงเพื่อขึ้นราคาค่าโดยสาร นับเป็นการผลักภาระให้ผู้บริโภค ทั้งที่ระบบตั๋วร่วมนั้นส่งเสริมให้คนหันมาใช้บริการเพิ่มมากขึ้น ที่สำคัญเมื่อเดือนต.ค. ที่ผ่านมาบีทีเอสก็เพิ่งปรับราคาขึ้นมา 1-3 บาท

“ราคาขึ้น ตรงข้ามกับคุณภาพที่มีปัญหาประจำ บีทีเอสไม่เคยมีระบบแจ้งปัญหากับผู้โดยสารหรือขอโทษเวลาเกิดปัญหาสักครั้ง ตรงนี้จะชดเชยเวลาที่เสียไปของคนโดยสารยังไง จนถึงปัจจุบันเราก็ยังต้องมาแลกเหรียญ เติมเงินกันอยู่วนไป ชานชะลาก็ไม่มีระบบบอกเวลา เป็นปัญหาซ้ำซากที่ทุกคนรู้ ทุกคนก็บ่น แต่ก็ไม่เคยได้รับการแก้ไข”

ผู้โดยสารสาวบอกว่า การมีผู้ให้บริการเพียงเจ้าเดียวในลักษณะผูกขาดนั้นเป็นปัญหาใหญ่ ผู้โดยสารไม่มีทางเลือก และต้องทนรับกับภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น

“ผลประกอบการของบีทีเอสนั้นมีแต่กำไร จากรายได้หลากหลายช่องทาง ทั้งเดินรถ โฆษณาและอสังหาริมทรัพย์ น่าจะบริหารต้นทุนและค่าใช้จ่ายได้ โดยไม่ผลักภาระให้กับผู้บริโภคจนเกินไปแบบนี้”

 

"บัตรแมงมุม" ต้องช่วยให้ค่าโดยสารถูกลง ไม่ใช่แพงขึ้น?

 

ต้องลดราคาไม่ใช่เพิ่ม

ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ อดีตรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ฝ่ายโยธาและจราจร และผู้ติดตามปัญหาระบบการขนส่ง บอกว่า บัตรแมงมุมนั้นทำให้ประชาชนสะดวกสบายและหันมาใช้รถไฟฟ้ามากขึ้นจนนำไปสู่รายได้ที่เติบโต ที่สำคัญในอนาคตการลงทุนก่อสร้างรถไฟฟ้าหลายสายของรัฐบาลยังเป็นการส่งเสริมให้บีทีเอสและบีอีเอ็มได้รับประโยชน์จากจำนวนผู้โดยสาร

“บีทีเอสและเอ็มอาร์ทีเหมือนเป็นไข่แดง รัฐเอาผู้โดยสารมาป้อนให้จากรถไฟฟ้าสายใหม่ๆ ในอนาคต หมายถึงเอาเงินมาเพิ่มให้โดยเขาไม่ต้องลงทุนเลย ต้นทุนในการบริหารจัดการและบำรุงรักษานั้นเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน แต่รายรับได้สูงกว่าในระดับที่ควรพิจารณาลดค่าโดยสารลงได้” ดร.สามารถ บอกด้วยว่า ทิศทางสร้างรายได้ในอนาคตและผลประโยชน์ของประชาชน คือสิ่งสำคัญที่รัฐบาลควรนำไปเจรจากับผู้ประกอบการ

ทั้งนี้ ตามสัญญาสัมปทานกำหนดให้บีทีเอสสามารถปรับค่าโดยสารที่เรียกเก็บได้ทุก 18 เดือน แต่ต้องไม่เกินเพดานอัตราค่าโดยสารในอัตรา 20.11–60.31 บาท ขณะที่กรอบค่าโดยสารปัจจุบันอยู่ที่ 16-44 บาท อย่างไรก็ตามหากข้ามไปใช้เส้นทางส่วนต่อขยายของกทม. ด้วย จะทำให้ค่าโดยสารสูงสุดถึง 59 บาท

บีทีเอสเคยให้ข้อมูลว่า บีทีเอสมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานสูงเพิ่มขึ้นตลอด 4 ปี โดยบางรายการสูงขึ้นถึงร้อยละ 20 เช่น ค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา นอกจากนี้ยังมีค่าใช้จ่ายในการลงทุนเพิ่มสิ่งอำนวยตวามสะดวกและการบริการ เช่น การสั่งซื้อรถไฟฟ้าเพิ่มอีก 46 ขบวน ซึ่งจะเริ่มทยอยนำเข้ามาในประเทศไทยประมาณต้นปีหน้า การปรับปรุงระบบตั๋วโดยสารซึ่งจะเปลี่ยนตู้จำหน่ายบัตรโดยสารเป็นระบบสัมผัส (Touch Screen) ทั้งหมด และสั่งตู้จำหน่ายตั๋วโดยสารที่รับธนบัตรมาติดตั้งในระบบเพิ่มขึ้นอีก 50 ตู้โดยจะเริ่มทยอยติดตั้งในปี 2561

 

"บัตรแมงมุม" ต้องช่วยให้ค่าโดยสารถูกลง ไม่ใช่แพงขึ้น?

 

ตั๋วร่วมใช้จริงปลายปี 61 ราคารอเคาะ

แหล่งข่าวจากสำนักบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม สำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผย ความคืบหน้าโครงการติดตั้งระบบตั๋วร่วม หรือ บัตรแมงมุมว่ายังคงเดินไปตามเป้าหมายที่ต้องเริ่มเชื่อมต่อระบบตั๋วร่วมภายในกลางปี 2561 โดยรถไฟฟ้าสามสายได้แก่ สายสีเขียวของบีทีเอส สายสีน้ำเงินของบีอีเอ็ม และสายสีม่วงของรฟม. จะสามารถติดตั้งระบบพร้อมเปิดใช้งานภายในเดือน พ.ย. 2561

หลังการเชื่อมต่อระบบบัตรใบเดียวจะส่งผลกระทบต่ออัตราค่าโดยสารอย่างไร ต้องรอกระทรวงคมนาคม คณะกรรมการบริหารตั๋วร่วมศึกษาและเจรจากับผู้ประกอบการ รวมถึงการออกข้อบังคับทางกฎหมายและเงื่อนไขที่เอกชนต้องปฏิบัติ ซึ่งอยู่ในพรบ.ตั๋วร่วม ที่คาดว่าจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี(ครม.)เห็นชอบภายในเดือน ม.ค. 2561