posttoday

ข้อกังวลร่างกฎหมายสิ่งแวดล้อม รัฐรับปาก‘แก้ไขให้ในส่วนที่ได้’

19 ธันวาคม 2560

ช่วงต้นเดือน ธ.ค. 2560 เครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เข้ายื่นหนังสือถึงสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. เพื่อให้ “ยุติ” การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ

โดย...กันติพิชญ์ ใจบุญ 

ช่วงต้นเดือน ธ.ค. 2560 เครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เข้ายื่นหนังสือถึงสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. เพื่อให้ “ยุติ” การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ (ฉบับที่...) พ.ศ.... ด้วยเหตุผลว่าร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลในกระบวนการวิเคราะห์ผลกระทบ แม้ที่ประชุม สนช.จะมีมติเห็นชอบรับหลักการวาระแรกไปแล้ว พร้อมให้ตั้งกรรมาธิการวิสามัญศึกษากำหนดระยะดำเนินการใน 57 วัน

อะไรคือข้อกังวลของเครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนต่อร่างกฎหมายฉบับนี้

คำตอบจาก ประสิทธิชัย หนูนวล หนึ่งในตัวแทนเครือข่ายประชาชนฯ อธิบายคำตอบต่อคำถามนี้อย่างน่าสนใจว่า ในร่างกฎหมายฉบับนี้จะมีหมวดหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมนั้น จะเป็นใบผ่านทางให้กับเมกะโปรเจกต์หรือโครงการขนาดใหญ่ในทุกเรื่อง และการประเมินไม่ได้ทำให้ชุมชนหรือในพื้นที่โครงการได้รับความเป็นธรรม โดยเฉพาะในด้านสิ่งแวดล้อม

เพราะรายงานประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเป็นหัวใจสำคัญของการเกิดโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งที่ผ่านมามันเกิดขึ้นง่ายอย่างมาก และผลที่ผ่านมาไม่มีชุมชนใดเห็นด้วยกับโครงการต่างๆ แม้แต่พื้นที่เดียว เพราะมันส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมาก เสียงของชาวบ้านไม่ได้รับการรับฟัง สร้างไปแล้วก็มีผลกระทบ เพราะการประเมินเป็นเรื่องที่ไม่รอบคอบและไม่ครอบคลุมใส่ใจกับปัญหาของสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง

“ที่ผ่านมาเจ้าของโครงการเป็นผู้ว่าจ้างให้มีการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ผู้ว่าจ้างก็ต้องทำทุกอย่างให้ผลประเมินผ่าน ไม่เช่นนั้นก็ไม่ได้เงินค่าจ้าง สิ่งที่เครือข่ายประชาชนต้องการคือให้แก้ตรงนี้ อยากให้หน่วยงานกลางมาเป็นผู้ประเมินและไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียกับโครงการ องค์ประกอบนี้จะทำให้ผู้ถูกว่าจ้างมีอิสระในการทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม”

ประสิทธิชัย ให้ความเห็น และสำทับอีกว่า เมื่อโครงการใดๆ ที่อนุมัติแล้วหากเกิดผลกระทบจะต้องมีผู้รับผิดชอบทั้งทางแพ่งและอาญา กฎหมายควรได้รับการแก้ไขในประเด็นนี้ด้วย เพราะที่ผ่านมาไม่เคยมีกฎหมายบังคับให้เจ้าของโครงการต้องรับผิดชอบหากเกิดข้อผิดพลาดตามมาจากโครงการ

กระนั้นแกนนำเครือข่ายประชาชนฯ ผู้นี้ ยืนยันว่าไม่ได้ปฏิเสธการร่างกฎหมายส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติฯ เพราะอย่างไรเสียก็ไปขวางการพัฒนาไม่ได้ หากแต่ตั้งความหวังว่าการพัฒนานั้นจะต้องอยู่ร่วมกับชุมชนได้ และไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ ซึ่งน่าจะเป็นหัวใจของกฎหมายในการส่งเสริมและคงไว้ซึ่งคุณภาพของสิ่งแวดล้อม ด้วยการประเมินผลกระทบอย่างถูกต้อง และนำไปสู่สิ่งที่ดีกว่าทางด้านสิ่งแวดล้อมของชาติ

“ผมยกตัวอย่างแบบนี้ เช่นที่ จ.กระบี่ ซึ่งเป็นพื้นที่แรมซ่าไซต์ (พื้นที่ชุ่มน้ำที่มีความสำคัญระหว่างประเทศ) มีป่าชายเลนนับแสนๆ ไร่ สร้างรายได้การท่องเที่ยวอย่างมาก ต้องประเมินว่าจะพัฒนาต้องทำอย่างไรให้สอดรับและไม่กระทบกับสิ่งแวดล้อมและสร้างเศรษฐกิจรายได้จากการท่องเที่ยว แต่รัฐบาลกำลังเอาโรงไฟฟ้าถ่านหินยัดเข้าไป ซึ่งมันก็ผิดแล้ว”

สิงที่เครือข่ายประชาชนฯ จะจับตาคือร่าง พ.ร.บ..ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมฯ ซึ่งสนช.รับปากเป็นมั่นเหมาะว่าจะนำข้อกังวลดังกล่าวไปพิจารณาต่อไป แต่ลึกๆ แล้วประสิทธิชัยไม่เชื่อเช่นนั้น เพราะตลอด 4 ครั้งที่ยื่นเรื่องไปยังรัฐบาลก็ไม่เคยได้รับการเหลียวแล แต่ต้องดำเนินการต่อเพราะเหตุผลว่าต้องปกป้องสิ่งแวดล้อม

ข้อกังวลของเครือข่ายประชาชนฯ จึงถูกโยนไปหา สนช.ที่ถูกคาดหวังว่าจะรับลูก และนำไปพิจารณา หากแต่จะเป็นดั่งความหวังนั้นหรือไม่

พล.ร.อ.วัลลภ เกิดผล สมาชิก สนช. และในฐานะประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติฯ ให้ความเห็นกับเรื่องนี้ โดยให้คำยืนยันว่าทุกข้อกังวลของเครือข่ายประชาชนฯ สนช.ได้รับไว้ทั้งหมดเพื่อพิจารณา และแน่นอนว่าสิ่งใดที่ทำให้ได้จะทำทันที แต่สิ่งใดที่ไม่ได้ก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้

“โดยเฉพาะกับรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่อาจจะเกิดขึ้นจากการพัฒนาโครงการ เราก็พยายามหาช่องใส่เข้าไปในร่างกฎหมาย ซึ่ง สนช.ให้ความสำคัญเช่นกันไม่ต่างจากข้อกังวลของประชาชน” พล.ร.อ.วัลลภ ยืนยัน

เจตนารมณ์ของร่างกฎหมายฉบับนี้ พล.ร.อ.วัลลภ เล่าว่า เป็นการสะท้อนและเชื่อมโยงกับรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 58 ที่รัฐหรือผู้ที่รัฐอนุญาตให้ดำเนินการโครงการที่อาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพสิ่งแวดล้อม หรือคุณภาพชีวิต ต้องให้มีการศึกษาและประเมินผลกระทบ รวมถึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นผู้มีส่วนได้เสีย เพื่อมาประกอบการพิจารณา

“เราก็ดำเนินการตามหลักนี้เพราะให้ความสำคัญกับเสียงของประชาชน และต้องการรักษาสิ่งแดล้อมด้วยเช่นกัน แต่เรื่องที่ไม่อาจทำให้ได้คือให้ถอนร่างกฎหมายนี้ออก ซึ่งมันทำไม่ได้ หรือให้ถอนคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ที่ 9/2559 เพราะต่อให้มีหรือไม่มี รัฐก็จัดหาเอกชน หรือผู้ได้รับอนุญาตมาดำเนินการโครงการได้อยู่ดี แต่การลงมือก่อสร้างพัฒนาโครงการก็ต้องฟังผลประเมินผลกระทบ ซึ่งที่ผ่านมาเครือข่ายประชาชนก็เข้าใจดี” พล.ร.อ.วัลลภ ย้ำ