posttoday

สื่อโซเชียล "ไลน์-เฟซบุ๊ก" ต้นตอรุนแรง แนวโน้มทำร้ายเด็กพุ่ง-วิธีซับซ้อนขึ้น

11 ธันวาคม 2560

ต้นตอปัญหาความรุนแรงในปัจจุบัน ส่วนใหญ่เกิดขึ้นจาก “สื่อเทคโนโลยี” ที่มาจากการใช้โทรศัพท์มือถือเล่นแอพพลิเคชั่นไลน์และเฟซบุ๊ก

โดย...เอกชัย จั่นทอง

ปัญหาความรุนแรงในเด็กไม่ได้ห่างหายไปจากสังคมไทย เพียงแต่รูปแบบวิธีการได้เปลี่ยนไปตามยุคสมัย หลายครอบครัวเผชิญความรุนแรงอย่างหนักหนา แต่ผลกระทบกลับตกลงสู่ตัวบุตรหลานทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจ ซึ่งเป็นผลพวงจากหลายสาเหตุ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม หนี้สิน ยาเสพติด ล้วนบ่งบอกนำไปสู่ปัญหาความรุนแรงที่หลายหน่วยงานยังแก้ไม่ตก แต่วันนี้มันกลับทวีความรุนแรงขึ้น

ณัฐวดี ณ มโนรม นักสังคม สงเคราะห์เชี่ยวชาญ สาขาจิตเวชศาสตร์เด็กและวัยรุ่น ภาควิชากุมารศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และนายกสมาคมนักสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ชำแหละสถานการณ์ความรุนแรงปัจจุบันในกลุ่มเด็กว่า ต้องยอมรับว่าประเทศไทยมีจุดอ่อน คือยังไม่มีศูนย์คอยรวบรวมสถิติความรุนแรงที่จัดตั้งขึ้นมาโดยเฉพาะ

“เราจะเห็นว่าอัตราความรุนแรงตอนนี้มันอาจไม่พุ่ง แต่มันมีความรุนแรงมากกว่าเดิม เช่น เด็กพิการ เสียชีวิต มีความสลับซับซ้อนขึ้น ประเทศไทยมีเรื่องความรุนแรงด้านเพศมาอันดับแรก ถัดมาด้านร่างกาย และด้านการปล่อยปละละเลย ส่วนต่างประเทศด้านการปล่อยปละละเลยอันดับแรก ด้านเพศจะเป็นอันดับสุดท้าย”

อย่างในประเทศญี่ปุ่นเรื่องปัญหาทางเพศถือว่าน้อย เพราะมีสื่อที่เปิดเผยเข้าถึงได้ง่าย เป็นตัวช่วยระบายอารมณ์ทำให้คนไม่เก็บกด เมื่อดูสถิติในประเทศไทยพบว่า เด็กถูกกระทำรุนแรง 9,000 กว่ารายต่อปี เฉลี่ย 26 รายต่อวัน หมายความว่าใน 1 ชั่วโมง มีเด็กถูกทำร้าย 1 ราย เนื่องจากผู้ปกครองส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ความเข้าใจวิธีเลี้ยงดู รวมถึงเศรษฐกิจ ครอบครัวยาเสพติด ป่วยจิตเวช ก็เป็นส่วนหนึ่งที่เด็กถูกกระทำรุนแรงโดยไม่ได้ตั้งใจและตั้งใจ

ณัฐวดี อธิบายต่อไปว่า ส่วนใหญ่ปัญหาเด็กที่ถูกกระทำรุนแรงในประเทศไทยมักถูกส่งตัวมายังหน่วยงานรัฐก็ต่อเมื่อถูกกระทำมาหนักและนานแล้ว เช่น เลือดออก กระดูกหัก และเหตุการณ์ลักษณะนี้ถือว่าเพิ่มมากขึ้น ส่วนกลุ่มที่ถูกทำร้ายไม่รุนแรงยังอยู่ตามบ้านและชุมชน

นอกจากนี้ สื่อมีส่วนสำคัญที่ทำให้เด็กเกิดปัญหาอย่างมากเช่นกัน จากข้อมูลพบว่า ร้อยละ 90 ที่เข้ามาปรึกษานักสังคมสงเคราะห์ ได้ทราบถึงต้นตอปัญหาความรุนแรงในปัจจุบัน คือส่วนใหญ่เกิดขึ้นจาก “สื่อเทคโนโลยี” ที่มาจากการใช้โทรศัพท์มือถือเล่นแอพพลิเคชั่นไลน์และเฟซบุ๊ก ซึ่งมักถูกชักจูงล่อลวงไปได้ง่าย กลุ่มนี้จะมีเรื่องเพศสัมพันธ์ ความรุนแรง การล่อลวงยาเสพติด เข้ามาพัวพัน

ฉะนั้น เด็กกลุ่มนี้มีปัญหาเรื่องพฤติกรรมและจบด้วยการถูกกระทำทางเพศ เนื่องจากเทคโนโลยีราคาถูกและเด็กมีใช้ไม่ถูกทาง ที่สำคัญพ่อแม่ควบคุมไม่ได้จนเกิดปัญหา

นายกสมาคมนักสังคมสงเคราะห์ฯ ได้แยกกลุ่มความรุนแรงของเด็กแต่ละช่วงวัยที่ถูกกระทำรุนแรงต่างกัน กลุ่มเด็กที่มีปัญหาคือกลุ่มเด็กแรกเกิด-3 ขวบ ช่วงวัยนี้เด็กร้องส่งเสียง ผนวกกับพ่อแม่ไม่มีวุฒิภาวะพอ มักจับเด็กเขย่าให้หยุด เพราะยังไม่เข้าใจการเลี้ยง จึงมีผลกระทบต่อสมอง ร่างกาย และทำให้เด็กมีอาการชัก พิการ จนเสียชีวิตได้ ซึ่งเราได้ติดตามพัฒนาการของเด็กจนโตพบว่าไม่สามารถเรียนหนังสือได้ เด็กไม่สมประกอบ เรื่องนี้เกิดขึ้นจริงในสังคม

ถัดมากลุ่มเด็กวัยซน ช่วงอายุ 2-3 ขวบ เป็นวัยที่พัฒนาการดื้อต่อต้านผู้ปกครองมักไม่ทราบว่าเด็กเป็นแบบนั้นจึงถูกตี หรือเด็กเกิดอุบัติเหตุ ส่วนนี้ถือว่ามีการเข้ามาปรึกษาเยอะเช่นกัน ต่อมากลุ่มเด็กวัยชั้นประถมศึกษา มักถูกตีจากเรื่องเรียน ไม่รับผิดชอบ ลืมของบ่อย สมาธิสั้น ลักษณะนี้จะถูกพ่อแม่ตีอยู่บ่อยครั้ง และกลุ่มวัยรุ่น เป็นวัยดื้อ ต่อต้าน เป็นตัวของตัวเอง ติดเพื่อน คิดเสมอว่าพ่อแม่ไม่รัก จึงถูกชักจูงจากเพื่อนฝูง รวมถึงการเล่นสื่อโซเชียลลุกลามเกิดปัญหาเรื่องเพศและการหลอกลวง ตรงนี้ถือว่าเป็นปัญหาอย่างมาก ทั้งหมดจะเห็นลักษณะการกระทำรุนแรงที่แตกต่างกันไป

ณัฐวดี กล่าวเสริมว่า ยังมีต้นตอของความรุนแรงต่อเด็กอีก คือโรคการเรียน (LD) ส่วนนี้เด็กมักถูกผู้ปกครองตีบ่อยครั้งมาจากสาเหตุ เช่น ทำไมอ่านหนังสือไม่ได้ ไม่ยอมทำการบ้าน ทั้งที่ปัญหาจริงๆ ก็เพราะเด็กเป็นโรคบกพร่องทางการเรียน ที่สำคัญพ่อและแม่เด็กควบคุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ อันมาจากเหตุผลว่าเป็นแม่วัยใส ปัญหาเศรษฐกิจ ครอบครัว ยาเสพติด ป่วยจิตเวช ล้วนทำให้เด็กถูกใช้ความรุนแรงโดยไม่ได้ตั้งใจและตั้งใจ

สภาพปัญหาที่ถูกฉายทีละบรรทัดทำให้เห็นชัดว่าความรุนแรงมักเกิดกับเด็กทั้งสิ้น ทำให้ณัฐวดีในนามสมาคมนักสังคมสงเคราะห์ฯ ร่วมกับองค์การยูนิเซฟ และสหวิชาชีพ ร่วมกันทำ “หลักสูตรออนไลน์ด้านการคุ้มครองเด็ก” (Child Protection e-learning) ผ่านทางเว็บไซต์ www.thaichildprotection.com นั้นจัดเป็นหลักสูตรแรกของประเทศไทย และน่าจะเป็นหลักสูตรแรกของภูมิภาคอาเซียนด้วย เพื่อเพิ่มพูนความรู้เจ้าหน้าที่และประชาชนให้ช่วยเหลือคุ้มครองเด็กผ่านระบบออนไลน์จากหลักสูตรนี้ได้

หลักสูตรออนไลน์นี้จะทำให้คนเข้าถึงได้มาก สะดวกรวดเร็ว ปัจจุบันทุกคนมีสมาร์ทโฟนใช้ การค้นหาศึกษาจึงง่ายและสะดวก ส่วนพื้นที่ที่สัญญาณอินเทอร์เน็ตเข้าไม่ถึง จะเข้าไปอบรมบุคลากรหลักในพื้นที่เพื่อกระจายไปยังท้องถิ่นอย่างครอบคลุม

“เป็นการรวบรวมเนื้อหาการช่วยเหลือเด็กลงไปในหลักสูตรนี้ เน้นเชิงป้องกันให้ความรู้ เพื่อเสริมให้เจ้าหน้าที่และประชาชนสามารถเข้าถึงได้ ดังนั้นหลักสูตรจึงแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ 1.หลักสูตรทั่วไป 2.หลักสูตรสำหรับคนทำงานด้านสังคมสงเคราะห์ และ 3.หลักสูตรสำหรับพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายคุ้มครองเด็ก ทุกอย่างจะมีกระบวนการช่วยเหลือเด็กทุกขั้นตอน”

นายกสมาคมนักสังคมสงเคราะห์ฯ เล่าถึงหัวใจสำคัญของหลักสูตรนี้ว่า หลักสูตรจะทำให้ประชาชนเข้าใจความรุนแรง ครอบครัว สังคม ต่อเด็กมากขึ้น เมื่อเข้าใจเพิ่มขึ้นความรุนแรงจะต้องลดลง โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ที่ได้เรียนรู้และผลักดันแก้ไข ไม่ทำเชิงรับเพียงฝ่ายเดียว ในบางครอบครัวตีลูก อาจเพราะไม่เข้าใจว่าลูกต่อต้านเพราะอะไร ก็ต้องหาสาเหตุเพื่อป้องกัน ในหลักสูตรนี้จะสร้างประโยชน์และความเข้าใจเกี่ยวกับเด็กได้มากขึ้นอย่างแน่นอน