posttoday

อนุชิต อนุชิตานุกูล เปิดหมดเปลือก "ดิจิทัล ไอดี"

09 ธันวาคม 2560

หลายแผนงานของรัฐบาลมักจะพบว่า "อนุชิต อนุชิตานุกูล" เข้าไปคลุกคลีเสมอ ทั้งแบบเปิดเผยและแบบปิดทองหลังพระ

โดย...ศุภลักษณ์ เอกกิตติวงษ์

หลายแผนงานของรัฐบาลมักจะพบว่า "อนุชิต อนุชิตานุกูล" เข้าไปคลุกคลีเสมอ ทั้งแบบเปิดเผยและแบบปิดทองหลังพระ  ไม่จำเป็นต้องมีชื่ออยู่ในโครงการก็ได้ แต่ขอเพียงให้แผนงานที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศนั้นสัมฤทธิ์ผลก็พอ และโครงการยักษ์ล่าสุดที่กำลังผลักดันก็คือโครงการ “เนชั่นแนล ดิจิทัล ไอดี แพลทฟอร์ม”

อนุชิต อนุชิตานุกูล ในฐานะที่ปรึกษาคณะทำงานพัฒนาระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ (อี-เพย์เม้นท์) กล่าวว่า ดิจิทัล ไอดี เป็นโครงการใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน ที่ต้องเชื่อมโยงข้ามกันไปมา เป็นชิ้นส่วนหนึ่งที่ต้องทำเป็นโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ของประเทศ เพื่อรองรับการก้าวสู่การเป็นประเทศเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy)

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา หลายองค์กรพยายามพัฒนาเทคโนโลยีการพิสูจน์ตัวตน ซึ่งพัฒนาไปถึงจุดหนึ่งก็ไปต่อไม่ได้ เพราะมีจิ๊กซอว์บางตัวหายไป ซึ่งปรากฏออกมาเป็นอุปสรรคในทุกโครงการ เช่น แผนงานของภาครัฐในการทำ Business Portal เพื่อให้ง่ายต่อการทำธุรกิจ (Ease of Doing Business) ให้ประชาชน ธุรกิจ หรือต่างชาติ ขอใบอนุญาตทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ แต่โครงการต้องชะงัก เมื่อถึงขั้นตอนการพิสูจน์ตัวตน ที่หาวิธีอิเล็กทรอนิกส์ไม่ได้ ต้องใช้วิธีเดินทางมาแสดงหน้าแสดงตัวที่สำนักงาน

ส่วนการพัฒนาฟินเทค พอถึงขั้นตอนการหาลูกค้า แล้วจะพิสูจน์อย่างไรว่าลูกค้าคนนี้เป็นตัวจริง เช่นเดียวกับการขอสินเชื่อผ่านออนไลน์ ทำได้แค่กรอกข้อมูลซึ่งใครก็กรอกแทนได้ แล้วจะพิสูจน์ตัวตนโดยไม่เห็นหน้าได้อย่างไร แม้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีโครงการพิสูจน์ตัวตนระหว่างธนาคารแบบจับคู่ (Cross Verification) ก็มีข้อสังเกตว่า แต่ละคู่อาจใช้เทคโนโลยีและวิธีคนละอย่าง ลูกค้าธนาคารอาจงงกับวิธีการพิสูจน์ตัวตนที่ไม่เป็นแบบเดียวกัน

“โปรเจ็กต์ที่ขอกันมากมายในการทำอี-เควายซี หรือ Cross Verification เพราะทุกคนมองในกรอบเฉพาะธุรกิจของตัวเอง ทั้งที่ปัญหามาจากรากเดียวกันคือ ประเทศไทยไม่มีดิจิทัลไอดี”

อนุชิต อนุชิตานุกูล เปิดหมดเปลือก "ดิจิทัล ไอดี"

อนุชิต กล่าวว่า คนมักถามว่า ดิจิทัลไอดี ใช้อะไรยืนยันตัวตน ขอชี้แจงให้ชัดอีกครั้งว่า ดิจิทัลไอดี เป็นอินฟราสตรัคเจอร์ ส่วนการตรวจสอบตัวตนจะเคลื่อนที่ไปเรื่อยๆ ตามเท่าที่เทคโนโลยีจะทำได้ บางคนชอบใช้ยูสเซอร์พาสเวิร์ด บางคนขอโอทีพีเพิ่ม บางคนอยากใช้ไบโอเมตริก ก็แล้วแต่ผู้ให้บริการจะพัฒนานวัตกรรม แต่ทุกอย่างอยู่ด้วยกันได้บนอินฟราสตรัคเจอร์นี้

“เรื่องโครงสร้างพื้นฐาน มักจะพูดแค่ถนน คูคลอง สนามบิน ท่าเรือ ที่เป็น Physical แต่ถ้าเราจะเป็นดิจิทัลอีโคโนมี่ ต้องเป็นอินฟราสคตรัคเจอร์เรื่องดิจิทัล ซึ่งเป็นของจับต้องไม่ได้ มองไม่เห็น อธิบายยาก และยังเป็นเรื่องใหม่ของประเทศอีก ก็เป็นความท้าทายที่ต้องจูงคนให้เข้าใจความจำเป็นและมาร่วมกันสร้าง"

วิธีการยืนยันตัวตน เปรียบเทียบให้เห็นภาพ ดิจิทัลไอดีแพลทฟอร์มนี้เป็นกระดาน หลังจากทางลูกค้ายินยอมขอให้ใช้ข้อมูลได้  บริษัทนี้แปะโน้ตลงไปบนกระดานว่าช่วยตรวจสอบตัวตนหน่อย เรียกว่าเป็นการ Request ส่วนหน่วยงานที่มีข้อมูลของบุคคลนั้นเมื่อตรวจสอบแล้ว ก็เซ็นชื่อในโน้ตนั้นว่า ตรวจสอบแล้ว เท่านั้นเอง ซึ่งแพลทฟอร์มไม่มีการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลเลย มีแต่  Request และส่งการยืนยันโดยตรงระหว่างหน่วยงานนั้นๆ

หรือให้เข้าใจง่ายขึ้น แต่ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว ก็เหมือนการยืนยันตัวตนโดยใช้เฟซบุ๊ก ซึ่งคนไทยมีแอคเคาท์เฟซบุ๊กกันอยู่ เมื่อจะไปใช้แอพพลิเคชั่นหรือเว็บไซต์อื่น แอพฯนั้นไม่รู้จักเรา แต่เราอนุญาตให้ยืนยันเราจากเฟซบุ๊กได้ และที่เราทำก็เพียงกรอกล็อกอินเฟซบุ๊ก  ก็ยืนยันตัวตนและเข้าใช้บริการแอพนั้นได้

“แต่ที่เราจะทำไม่ใช่เฟซบุ๊กเพราะเฟซบุ๊กปลอมได้ เราต้องทำอินฟราสตรัคเจอร์เพื่อให้เป็นระบบตัวตนที่แท้จริง รองรับการทำธุรกรรมที่เป็นทางการ เช่น ใช้บริการธนาคารหรือหน่วยงานรัฐ หากไม่เคยเป็นลูกค้ามาก่อน ก็เพียงขอให้อีกบริษัทนึงที่เราเคยใช้บริการ ซึ่งอาจเป็นแบงก์หรือเครือข่ายโทรศัพท์ ช่วยยืนยันตัวตน โดยขั้นตอนอาจจะขอให้ล็อกอินใส่ยูสเซอร์พาสเวิร์ด หรือโอทีพี หรือใช้ไบโอเมตริก หรืออื่นๆ แล้วส่งให้อีกแบงก์หนึ่ง เมื่อแบงก์นั้นตอบกลับมาว่า ใช่คนเดียวกัน ก็สำเร็จ”

อนุชิต กล่าวว่า แนวทางการพัฒนาเนชั่นแนล ดิจิทัลไอดี แพลทฟอร์ม ต้องการให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมมากที่สุดเพราะได้ประโยชน์จากดิจิทัลไอดีโดยตรง และมีแนวคิดให้เอกชนเป็นผู้บริหารจัดการแพลทฟอร์มนี้เอง เพราะการพัฒนาต้องใช้เวลา เอกชนทำจะมีความต่อเนื่องมากกว่ารัฐบาลที่อาจเปลี่ยนแปลงนโยบายไปมา

ผู้เกี่ยวข้องที่ต้องมาร่วมแบ่งออกเป็น 3 ฝ่าย ที่ต้องส่งตัวแทนเข้ามาเป็นคณะทำงาน คือ ฝ่ายภาคเอกชน เช่น สมาคมธนาคารไทย สภาหอฯ สภาอุตฯ เทลโก้ ฝ่ายหน่วยงานกำกับดูแล เช่น กระทรวงเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีอี) สพธอ. คลัง ธปท. ก.ล.ต. กสทช. และฝ่ายหน่วยงานเก็บข้อมูล อาทิ กรมการปกครอง กระทรวงพาณิชย์ กรมสรรพากร

สำหรับฝ่ายเอกชนอาจร่วมลงขันกันเพื่อสร้าง ดิจิทัล ไอดี แพลทฟอร์ม พร้อมตั้งองค์กรขึ้นมาในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งแล้วแต่เห็นสมควร เพื่อทำหน้าที่กำกับดูแลแพลทฟอร์มนี้ ขณะที่ ฝ่ายหน่วยงานเจ้าของข้อมูล ก็เพียงเปิดช่องทางในการรับส่งข้อมูลเพื่อยืนยันตัวคน โดยเบื้องต้นจะต้องปรับปรุงระบบไอทีของแต่ละหน่วยงานให้มีความพร้อม ภายใต้วงเงินของ Doing Business Portal 4,000 ล้านบาท

อนุชิต อนุชิตานุกูล เปิดหมดเปลือก "ดิจิทัล ไอดี"

ตารางเวลาเบื้องต้นเฉพาะทางเทคนิค คาดว่าจะจัดทำสเปคของแพลทฟอร์มแล้วเสร็จเดือน ธ.ค. 2560 และเข้าสู่ช่วงพัฒนาระบบดิจิทัล ไอดี แพลทฟอร์ม อาจจะใช้เวลา 6 เดือน จากนั้นจะเริ่มทดสอบการยืนยันตัวตนได้ในบางธุรกิจและภาครัฐบางหน่วยงานที่มีความพร้อม ซึ่งคาดว่า ในส่วนของเอกชนนั้น ภาคการเงินจะพร้อมก่อน ซึ่งหากเป็นไปตามแผนงาน ก็น่าจะสามารถเชื่อมโยงฐานข้อมูลและใช้งานแพลทฟอร์มยืนยันตัวตนได้เต็มรูปแบบได้ปลายปี 2561 หรือต้นปี 2562

อนุชิต กล่าวว่า กฎหมายเป็นเรื่องยากที่สุด เพราะกฎหมายที่เกี่ยวข้องมีหลายฉบับมาก และยังขึ้นอยู่กับหลายหน่วยงาน จะต้องแก้ไขกฎหมายหรือไม่ รวมทั้งในขณะนี้ ยังมีการเสนอออกกฎหมายใหม่หลายฉบับเข้ามาเพิ่มเติม ซึ่งหลายเรื่องทับซ้อนกับการยืนยันตัวตน ซึ่งเบื้องต้นได้เสนอแนวคิดว่า ออกกฎหมายฉบับเดียว และมีประกาศแต่ละหน่วยงานออกมา เพื่อให้เกิดผลบังคับใช้ น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด

นี่คือ ดิจิทัลไอดี ทำให้คนมีความสามารถทำทุกอย่างได้โดยไม่ต้องเห็นหน้า มีคนที่รู้จักอยู่แล้วมายืนยันตัวตนให้ได้ เพิ่มความสะดวก รวดเร็ว และคล่องตัว ในการทำธุรกรรมกับหน่วยงานต่างๆ ได้อย่างปลอดภัยและไม่ต้องห่วงเรื่องความเป็นส่วนตัวของข้อมูล

อนุชิต อนุชิตานุกูล เปิดหมดเปลือก "ดิจิทัล ไอดี"