posttoday

เลือกตั้งท้องถิ่น อุ่นเครื่องการเมือง-จุดกระแสปฏิรูป

26 พฤศจิกายน 2560

"ความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญวางหลักไว้ว่าจะต้องเข้มงวด จะต้องได้คนที่มีประวัติสะอาด ต้องเป็นคนที่เชื่อถือได้ว่าเมื่อเข้ามาแล้ว จะใช้อำนาจรัฐไปในทางที่ถูกที่ควร"

โดย...กนกพรรณ บุญคง, ไพบูลย์ กระจ่างวุฒิชัย

ปี่กลองการเมืองเริ่มกลับมาคึกคักอีกครั้ง ภายหลังรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เตรียมให้ประเทศมีการเลือกตั้งในปี 2561 แม้จะเป็นเพียงแค่การเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่น แต่ก็นับว่ามีนัยทางการเมืองไม่น้อยกับการที่ คสช.ยอมคืนอำนาจให้กับประชาชนในส่วนหนึ่ง

ความคืบหน้าในเรื่องนี้รัฐบาลได้เรียกประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงมหาดไทย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะกรรมการการเลือกตั้ง และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) โดยได้สรุปเบื้องต้นว่าจะดำเนินการแก้ไขกฎหมายที่จำเป็นต่อการเลือกตั้งท้องถิ่นจำนวน 6 ฉบับ

ชาติชาย ณ เชียงใหม่ กรรมการ กรธ. ในฐานะตัวแทนของ กรธ.ที่เข้าร่วมประชุมเรื่องดังกล่าว ได้ให้โอกาสโพสต์ทูเดย์สัมภาษณ์พิเศษถึงความสำคัญของการเลือกตั้งท้องถิ่น ซึ่งไม่ได้เป็นแค่การหย่อนบัตรเลือกตั้งลงในหีบเท่านั้น แต่หมายถึงการแสดงออกของประชาชนที่อาจจะมีต่อการเลือกตั้ง สส.ในอนาคตด้วย

อาจารย์ชาติชาย เริ่มอธิบายว่า การริเริ่มที่จะให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นนั้นมาจากเหตุผลในหลายๆ ด้าน เช่น การประกาศเตรียมการเลือกตั้ง สส.ในปีหน้า จนกระทั่งเกิดกระแสเรียกร้องให้พรรคการเมืองสามารถทำกิจกรรมทางการเมืองบางประการเพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายฉบับใหม่ หรือแม้แต่ความพยายามในการปฏิรูปท้องถิ่น ส่วนตัวจึงมองว่าปัจจัยเหล่านี้เป็นสาเหตุที่ทำให้มาคิดกันว่าควรจะมีการเลือกตั้งท้องถิ่น แต่ทั้งหมดก็ขึ้นอยู่กับ คสช.ว่าจะตัดสินใจให้เลือกตั้ง สส.หรือเลือกตั้งท้องถิ่นก่อนอย่างไร อย่างไรก็ตาม การประชุมร่วมกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็เห็นตรงกันว่าต้องมีการแก้ไขกฎหมายท้องถิ่นให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

“ความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ ทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการปกครองท้องถิ่น และการเข้าสู่อำนาจรัฐของผู้ที่จะเป็น สส. สว. วางหลักไว้ว่าจะต้องเข้มงวด จะต้องได้คนที่มีประวัติสะอาด ต้องเป็นคนที่เชื่อถือได้ว่าเมื่อเข้ามาแล้ว จะใช้อำนาจรัฐไปในทางที่ถูกที่ควร และสร้างประโยชน์ให้บ้านให้เมือง แล้วก็วางกำหนดโทษไว้ด้วย ถ้าใครมาแล้วทำไม่ถูกไม่ต้อง ทุจริตต่อหน้าที่ หรือทุจริตเรื่องคอร์รัปชั่น ก็ต้องถูกลงโทษอย่างรุนแรง อันนี้ได้วางหลักไว้แล้วเป็นพื้นฐาน”

เลือกตั้งท้องถิ่น อุ่นเครื่องการเมือง-จุดกระแสปฏิรูป

 

กรรมการ กรธ.ระบุถึงกฎหมายที่ต้องดำเนินการแก้ไข ว่า ที่ต้องแก้ไขแน่นอน คือ พ.ร.บ.การเลือกตั้งผู้บริหารและสมาชิกผู้แทนท้องถิ่น พ.ศ. 2545 ซึ่งกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่นฉบับนี้เป็นกฎหมายกลาง และต้องแก้ไข 3 จุด ได้แก่ 1.สิทธิของผู้ที่จะไปออกเสียงเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น โดยพิจารณาว่ามันมีเรื่องอะไรที่ยังไม่ครบถ้วนตามที่รัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้ 2.ลักษณะต้องห้ามของคนที่จะมาลงสมัครรับเลือกตั้งในระดับท้องถิ่น ไม่ว่าจะมาสมัครเป็นนายกเทศมนตรี หรือจะสมัครเป็นสมาชิกสภาท้องถิ่นใดๆ ก็ตาม และ 3.บทกำหนดโทษสำหรับผู้กระทำผิด

“สาเหตุที่ต้องแก้ไข 3 เรื่องนี้ เพราะว่าในบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ฉบับปัจจุบัน มาตรา 252 วรรค 3 เขียนไว้ว่า การเลือกตั้งระดับท้องถิ่น ผู้ได้มาซึ่งผู้บริหารท้องถิ่นและสมาชิกสภาท้องถิ่น ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ และให้คำนึงถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ทำให้ต้องมาพิจารณาเรื่องคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ที่จะมาลงสมัครเป็นผู้บริหารท้องถิ่นเข้มงวดมากขึ้น”

“เราจะใช้มาตรฐานของคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้สมัคร สส.มาเป็นตัวตั้งในการกำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของผู้ที่ลงสมัครเป็นผู้บริหารท้องถิ่น เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 98 เพราะฉะนั้นคนที่จะลงรับสมัครเลือกตั้งท้องถิ่นต่อไปนี้ แต่เดิมอาจจะมีลักษณะต้องห้ามแค่ 4-5 ข้อ แต่เดี๋ยวนี้ปาไป 17-18 ข้อแหละ เยอะขึ้น คือคุมเข้ม ไม่สะอาดจริงๆ มีความด่างพร้อยจะมาลงสมัครไม่ได้”

“เอา สส.เป็นตัวตั้ง ก็เพราะรัฐธรรมนูญให้คำนึงถึงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่ต้องการป้องกันและปราบปรามการทุจริต สิ่งนี้กฎหมายรัฐธรรมนูญไปใส่ใน สส.ไว้แล้ว ดังนั้น จึงต้องเอามาตรา 98 เป็นแม่ และเอามาเขียนลงในกฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่นให้มันสอดคล้องกัน”

“ถ้าผู้บริหารท้องถิ่นปฏิบัติทุจริตต่อหน้าที่ ประพฤติผิดต่อหน้าที่ ละเลยไม่ปฏิบัติต่อหน้าที่ ก็ต้องให้มีกลไกที่จะเข้าไปจัดการให้เขา หรือในส่วนว่าด้วยเรื่องของการถูกให้สั่งพ้นจากหน้าที่โดยเหตุทำงานหรือใช้อำนาจไปในทางที่ไม่ชอบ ก็ต้องไปสร้างกลไก ซึ่งอาจจะให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเข้ามามีบทบาทในการตรวจสอบมากขึ้น เพื่อให้ทันสถานการณ์ จากเดิมที่มีขั้นตอนตรวจสอบค่อนข้างจะยืดยาว”

อาจารย์ชาติชาย สรุปในเบื้องต้นว่า เมื่อเห็นตรงกันในเรื่องหลักการและประเด็นที่ต้องแก้ไขแล้ว จากนั้นจะเป็นหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทย กกต.และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา มาดำเนินการจัดทำกฎหมายด้วยกัน และส่งมาให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

“นี่คือสิ่งที่ต้องไปปรับแก้ ถ้าแก้พวกนี้เสร็จสรรพ จะเลือกตั้งท้องถิ่นก็เลือกได้แล้ว แต่ก็อยู่ที่ คสช. รัฐบาล จะให้เลือกเมื่อไหร่ ถ้าจำได้ไม่ผิด กระบวนการทางฝ่ายบริหารในเรื่องนี้ ก็น่าจะแล้วเสร็จภายในเดือน ธ.ค.นี้ นั่นก็หมายถึงว่าเดือน ม.ค.ก็คงมาที่ สนช. คราวนี้ก็อยู่ที่นโยบายของ คสช.และรัฐบาลว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป”

ขณะเดียวกัน ในมุมมองของอาจารย์ชาติชาย ยังคิดว่า การเลือกตั้งท้องถิ่นน่าจะเป็นอุ่นเครื่องก่อนการเลือกตั้ง สส.ที่จะมีขึ้นในอนาคต แต่ไม่อาจเป็นการวัดกระแสความนิยมของพรรคการเมืองได้ทั้งหมด

“แน่นอนว่ามีการเลือกตั้งท้องถิ่น ปี่กลองมันก็จะขึ้น มันก็จะเกิดคึกคัก คนที่อยากจะลงสมัครก็ต้องเดินสายพูดคุยล่ะ คสช.เองก็ต้องอนุโลมเปิดโอกาสประชุมทางการเมือง ทำกิจกรรมได้ มันก็จะค่อยๆ สร้างบรรยากาศขึ้น ก็เหมือนอุ่นเครื่องอย่างที่บอก เพราะจะได้เกิดความเข้าใจว่า รัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่าอะไร กฎหมายเลือกตั้งใหม่เขียนไว้ว่าอะไร ประชาชนก็จะรู้ สื่อมวลชนก็จะลงข่าวให้ เท่ากับว่าเป็นการสร้างการศึกษาทางการเมืองอีกครั้งหนึ่งให้คนเห็น”

“แต่จะมีผลต่อคะแนนพรรคการเมืองหรือไม่นั้นก็อาจจะมี อาจจะเป็นไปได้ แต่ก็ไม่รู้ว่าจะมีผลวัดได้มากน้อยแค่ไหนนะ แต่ว่าบ้านเราไปทำให้เครือข่ายการเมืองระดับท้องถิ่น ตั้งแต่ระดับ อบต. เทศบาล อบจ. และระดับ สส. สว.กลายเป็นเนื้อเดียวกันไปหมด กลายเป็นท่อเดียวกันหมด”

“เมื่อมีรัฐธรรมนูญใหม่แล้ว ประชาชนก็ยังหวังอยากจะเห็นว่าคนรุ่นใหม่ กลุ่มรุ่นใหม่ออกมาบ้าง อยากได้นักแสดงหน้าใหม่มาบ้าง กติกาก็มีให้ใหม่แล้ว คนที่สนใจการเมืองเขาก็อยากที่จะเห็นอะไรที่ใหม่ๆ ผมก็เข้าใจว่าพรรคการเมืองส่วนใหญ่ ก็คิดอยู่เหมือนกันมั้งว่าจะทำอะไรใหม่ๆ อยู่เหมือนกัน”

เลือกตั้งท้องถิ่น อุ่นเครื่องการเมือง-จุดกระแสปฏิรูป

ในช่วงท้ายของการสนทนา อาจารย์ชาติชาย บอกว่า จะเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปท้องถิ่นในเชิงโครงสร้างตามรัฐธรรมนูญด้วย แต่จะดำเนินการก่อนหรือหลังการเลือกตั้งท้องถิ่นจะต้องมาพิจารณาถึงความเหมาะสมและความพร้อมของแต่ละพื้นที่อีกครั้ง

 

“อยู่ที่เรื่องเวลาและความพร้อม เพราะการแก้กฎหมายเลือกตั้งท้องถิ่นมีไม่กี่เรื่อง เพียงแต่การยุบรวมส่วนท้องถิ่นเข้าด้วยกัน จะต้องสอบถามความคิดเห็น หรืออาจเลือกตั้งไปก่อน แล้วค่อยแก้ไขและปรับโครงสร้างในอนาคต”

สุดท้าย อาจารย์ชาติชาย สรุปว่า การจะปฏิรูปท้องถิ่นก็จะต้องทำอย่างไร เพื่อไม่ให้การเมืองระดับชาติเข้ามามีบทบาทในการเมืองระดับท้องถิ่น

“ที่จริงหลักการเก่าผมว่าดีในฐานะนักเรียนเก่ารัฐศาสตร์ เพราะว่าในเรื่องท้องถิ่นมันเรื่องเป็นการจัดการปัญหาแต่ละท้องที่ มันเป็นเรื่องของการเห็นอกเห็นใจกัน ช่วยเหลือกันอะไรกัน คือ มันมีมิติของการประนอมอำนาจ

“ดังนั้น ความเห็นผม ควรที่จะพยายามทำให้การเมืองระดับท้องถิ่นไม่เหมือนการเมืองระดับชาติ ไม่เหมือนในความหมายที่ว่าต้องโยงพรรคนั้นพรรคนี้ และไม่เหมือนในรูปแบบขององค์การบริหารงานหรือการดูแลกัน เพราะน่าจะมีพื้นที่ให้ประชาชนมีส่วนร่วมจัดการตัวเองได้มากที่สุด” อาจารย์ชาติชาย สรุป