posttoday

"ซ่อม"เพื่อวินัย ความจำเป็นของทหาร?

23 พฤศจิกายน 2560

เสียงจากครูฝึก กับความเห็นเรื่องการ"ซ่อม" หรือการลงโทษทางวินัยที่ถูกสังคมตั้งคำถามว่ามีความจำเป็นหรือไม่

โดย...ทีมข่าวในประเทศโพสต์ทูเดย์

กรณีที่ ภคพงศ์ ตัญกาญจน์ หรือเมย นักเรียนเตรียมทหารชั้นปีที่ 1 ที่เพิ่งเสียชีวิตไปอย่างมีเงื่อนงำ หลังผลชันสูตรศพบ่งบอกว่ามีอวัยวะภายในบางส่วนหายไป ขณะที่ครอบครัวยังคงติดใจกับสาเหตุการเสียชีวิต ที่อ้างว่าหัวใจล้มเหลว ทั้งที่ไม่มีโรคประจำตัว

ในไดอารี่ที่เมย บันทึกด้วยลายมือตัวเอง ซึ่งจุดสำคัญอยู่ที่วันที่ 26 พ.ย.2560 เขียนเอาไว้ว่าถูก "ซ่อม" ภายในโรงเรียนเตรียมทหาร

“เช้ามาก็โดนต่อยท้องไปหมัดนึงจุกโครตเลย แถมตกกลางคืนมามีลงนรกอีก เหนื่อยมาก”

แน่นอนว่าการซ่อมหรือการบังคับบัญชาแบบการสร้างวินัยทางทหารที่ถือเป็นวัฒนธรรมขององค์กรทหาร อาจยังไม่ใช่สาเหตุที่แท้จริงของการเสียชีวิตของเมย

แต่ก็ทำให้น่าสนใจว่า การซ่อมหรือการลงโทษทางวินัย จะต้องไม่ใช่การทำร้ายร่างกายกัน อย่างที่ผู้หลักผู้ใหญ่ของรัฐบาลเคยออกมาแก้ต่างให้กับกองทัพหลังการเสียชีวิตของทั้งทหารเกณฑ์ หรือทหารรายใดๆ จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในห้วงเวลาที่ผ่านมา

แล้วทำไม เมย ถึงถูกต่อยท้อง หรือเป็นเพราะทะเลาะวิวาท หรือเป็นหนึ่งในการซ่อม แล้วที่ว่าลงนรกคืออะไร

ย้อนกลับไปดูที่ข้อกฎหมาย ตามพ.ร.บ.ว่าด้วยวินัยทหาร พ.ศ.2476 มาตรา 4 นิยามว่า วินัยทหารคือทหารต้องประพฤติตามแบบธรรมเนียมของทหาร สอดรับกับมาตรา 5 ที่ระบุว่า วินัยเป็นหลักสำคัญของทหาร ต้องรักษาโดยเคร่งครัด ฝ่าฝืนถือว่าผู้นั้นกระทำความผิด

ความผิดที่เชื่อมกับเรื่องของวินัย มีทั้ง ไม่รักษาระเบียบการเคารพ ไม่รักษามารยาท ก่อให้เกิดความแตกสามัคคี ละทิ้งต่อหน้าที่ ละเลยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา เสพของมึนเมาจนเสียกิริยา ซึ่งทั้งหมดล้วนบ่งบอกถึงวินัยทางทหารผ่านการประพฤติตามแบบฉบับที่ทหารเห็นว่าถูกต้อง

แต่การลงโทษนั้น ในพ.ร.บ.ว่าด้วยวินัยทหารฯ ระบุว่ามีแค่ 5 ประการเท่านั้นที่ผู้บังคับบัญชามีอำนาจลงโทษ คือ 1.ภาคทัณฑ์ 2.ทัณฑกรรม (ให้เพิ่มภาระงาน) 3.กัก 4.ขัง และ 5.จำขัง

นอกเหนือจากนี้ ห้ามกระทำเป็นอันขาด 

เสียงจากนายทหารชั้นประทวนที่มีหน้าที่ฝึกทหารเกณฑ์ในแต่ละปีไปไม่น้อย รวมถึงผ่านประสบการณ์การซ่อม ทั้งที่โดนเอง หรือสั่งลงโทษ อธิบายถึงการซ่อม ที่เป็นอีกหนึ่งบทลงโทษไว้อย่างน่าสนใจ

“สมัยที่ผมเรียนการซ่อมกัน หรือการลงโทษถือเป็นเรื่องปกติ อย่างเช่นผมที่โดนหนักสุดคือลุกนั่ง 1,000 ยก พอทำเสร็จแล้วนี่แทบจะเดินไม่ได้ ขาแข็งไปหมด ตอนนั้นจำได้ว่าเป็นเพราะมีเพื่อนอีกคนนั่งหลับขณะเรียน เมื่อครูฝึกเห็นจึงต้องทำโทษทั้งหมวด หรือราว 50 คน เพราะถือว่าไม่เตือนเพื่อนที่หลับ”

แต่แค่นี้ถือว่าเป็นเพียง “ขนม” เพราะเล็กน้อยมากสำหรับการลงโทษในเชิงการออกกำลังกายที่มากกว่าปกติ เขายกตัวอย่างว่า นอกจากลุกนั่งก็ยังมีดันพื้น พายเรือบก ข้าวต้มมัด แต่ที่หนักสุดคือการเปิดจุกแดงและเปิดจุกดำ

เขาอธิบายว่า การเปิดจุกแดงหมายถึงให้เอามือทั้งสองข้างจับใบหูเอาไว้ และคลานไปข้างหน้าบนพื้นกรวด แน่นอนว่ามันทำให้ศอกแตกเป็นแผล อย่างนี้จะเรียกว่าเปิดจุกแดง

ส่วนการเปิดจุกดำ หมายถึงแผลเดิมที่ใกล้จะหายดีแล้ว เมื่อตกสะเก็ดจะเป็นสีดำ และเมื่อครูฝึกเห็นว่ามีการทำผิดอีกก็จะโดนทำโทษให้คลานอีก แผลที่ใกล้หายก็เป็นแผลสดใหม่อีกครั้ง อันนี้เจ็บเพราะศอกมันแตก มันแสบ

“เคยเห็นเพื่อนๆ ทนไม่ไหวเพราะหมดแรงเหมือนกัน อีกทั้งการทำโทษไม่ได้ทำกันเล่นๆ แต่ทำโทษกันหนักเป็นพันๆ ยก แต่หากใครเจ็บป่วยก็แจ้งฝ่ายเสนารักษ์ได้ ครูก็จะไม่ให้มาทำโทษ แต่เอาจริงๆ มันนอนพักแป๊ปเดียวก็หายแล้ว” เขาย้ำ

"ซ่อม"เพื่อวินัย ความจำเป็นของทหาร?

นายทหารชั้นประทวนผู้เดิม บอกว่า เคยตั้งคำถามเช่นกันในสมัยเรียนทหาร ว่าทำไมต้องถูกทำโทษเช่นนี้ แต่เมื่อมาคิดดูในเรื่องของวินัยทหาร จะมีอยู่ข้อสำคัญหนึ่งที่เน้นย้ำว่า ทหารจะไม่เปิดเผยความลับในราชการให้ใครรู้อย่างเด็ดขาด กรณีนี้หากในสนามรบหรือสงคราม เราถูกจับเป็นเชลยศึก จึงต้องมีความอดทนในการถูกทรมานจากฝ่ายศัตรูทีต้องการรีดความลับ เราจะอดทนได้ผ่านการถูกลงโทษเช่นนี้ เป็นการอดทนที่มากกว่าคนปกติ

“แต่สมัยก่อนที่ผมเคยเจอและเคยเห็น ก็มีตบมีเตะกันบ้างโดยเฉพาะคนที่มีความผิดร้ายแรง เช่น ขโมยของเพื่อน ขโมยของครูฝึก หรือขาดวินัยอย่างร้ายแรง ไม่ฟังคำสั่งส่วนรวม ตรงนี้สำหรับทหารจะยอมไม่ได้เด็ดขาด แต่ยุคหลังจะเห็นได้ว่าครูฝึกก็ไม่กล้าจะถูกเนื้อต้องตัวกับทั้งนักเรียน และทหารใหม่แล้ว เพราะเกรงความผิดเช่นกัน แต่การลงโทษยังคงเป็นเรื่องสำคัญ บางครั้งเราจะได้เห็นทหารถอดเสื้อผ้าออกหมดแล้วม้วนหน้าม้วนหลัง นั่นคือมีความผิดร้ายแรง”

อย่างไรก็ตาม เขายืนยันชัดเจนว่า การซ่อมยังคงมีความจำเป็นในองค์กรทหาร เพราะทหารต้องมีวิธีบังคับในแบบของทหาร เรียกว่าการบังคับส่วนรวม เมื่อคนๆ เดียวต้องมาคุมส่วนรวม คุมหน่วยของตัวเอง การพูดด้วยดีๆ อาจไม่เป็นผลจึงต้องเอาวินัย เอาโทษเข้ามาควบคุมความเรียบร้อย

“ในสนามรบทุกคนมีปืน หากไม่ฟังคำสั่งกันจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง นี่คือวินัยของทหารที่ต้องฝึก แม้จะรุนแรงในสายตาคนทั่วไป หรือหนักหนาเกินกว่าคนปกติ แต่ทหารก็ต้องทำได้ในทุกๆ อย่าง”นายทหารนายนี้ ย้ำทิ้งท้าย