posttoday

เปิดกรุความลับ 34 ปี "ครูหยุย" นักสะสมของที่ระลึกในหลวง ร.9

29 ตุลาคม 2560

"สิ่งที่หวังอยากให้เกิดมากกว่าเรื่องการสะสมคือ เรื่องของคำสอนของพระองค์ท่านจะทำอย่างไรให้ยั่งยืน"

โดย...เอกชัย จั่นทอง

ในห้องชั้น 2 ตึกมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก ย่านถนนแจ้งวัฒนะ มีเรื่องราวสำคัญถูกซุกซ่อน และปิดไว้เป็นความลับมานานกว่า 34 ปีแล้ว ซึ่งความลับนี้คือ เหรียญที่ระลึก เข็มกลัด ล็อตเกต แสตมป์ ภาพถ่าย หนังสือหายาก กระปุกออมสิน ฯลฯ ที่มีพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทุกสิ่งถูกจัดวางเก็บไว้ในตู้ไม้อย่างสวยงาม

วัลลภ ตังคณานุรักษ์ หรือครูหยุย สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คือผู้เก็บสะสมสิ่งของเหล่านี้ทั้งหมดที่ไม่สามารถประเมินมูลค่าได้ จุดเริ่มต้นการสะสมเก็บเรื่องราวเกี่ยวกับในหลวงรัชกาลที่ 9 นั้น ครั้งเมื่อปี พ.ศ. 2526 สมัยครูหยุย ทำงานเกี่ยวกับครูข้างถนน ตะลอนไปดูแลเด็กตามสถานที่ต่างๆ มากมาย เช่น สนามหลวง สถานีรถไฟหัวลำโพง สถานีขนส่งหมอชิต และสถานที่เหล่านี้เองคนมักนิยมนำมาตั้งแผงขายของจำนวนมาก

“ตอนนั้นก็เดินไปเรื่อยดันเหลือบตาไปเห็นล็อกเกตรูปในหลวงวางขายอยู่ที่พื้น ในใจคิดว่ามันไม่เหมาะสมเท่าไรเลยซื้อมาราคาประมาณ 5-10 บาท ในสมัยนั้นมันถูก กระทั่งต่อมาเมื่อเจออะไรที่เกี่ยวข้องกับในหลวงรัชกาลที่ 9 จะซื้อเก็บไว้ทุกครั้ง หรือหากไปทำงานต่างจังหวัดก็จะไปเดินตามตลาดหาซื้อมาตลอด”

วัลลภ เล่าต่อไปว่า จานชาม เข็มกลัดที่มีตราสัญลักษณ์ ภปร. นาฬิกา กระปุกออมสิน แสตมป์ พระราชนิพนธ์ ฯลฯ ทุกสิ่งอย่างที่เกี่ยวกับในหลวงรัชกาลที่ 9 จะซื้อมาเก็บสะสมไว้หมด สะสมแบบนี้มานาน 34 ปีแล้ว ไม่เคยเปิดให้ใครดูมาก่อนจะมีก็เพียงเด็กๆ ในมูลนิธิฯ เท่านั้น

เปิดกรุความลับ 34 ปี "ครูหยุย" นักสะสมของที่ระลึกในหลวง ร.9

พอซื้อมาสะสมเรื่อยๆ ของก็เริ่มเยอะขึ้น ทำให้ต้องจัดแจงหาตู้ชั้นมาวางให้เป็นระเบียบใช้ระยะเวลาอยู่ 2 เดือน กว่าจะเข้าที่เข้าทางสมบูรณ์ของสะสมทุกชิ้นถือเป็นความภาคภูมิใจทั้งหมด แต่ของสะสมที่เห็นจะมากที่สุดน่าจะเป็นเหรียญเข็มที่ระลึกของในหลวงรัชกาลที่ 9 มีกว่าพันชิ้น ทว่ามันก็ภูมิใจที่ได้เก็บเรื่องราวเกี่ยวกับพระองค์ท่านได้มากพอสมควรและเป็นระเบียบเรียบร้อย

ส่วนเรื่องของสะสมที่เกี่ยวกับพระองค์ท่านนั้น ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปแล้ว เพราะว่าเวลาว่างเมื่อใดมักจะไปเดินตามตลาดนัดจตุจักร ห้างพันธุ์ทิพย์ หรือถนนทั่วไป ซึ่งพ่อค้าแม่ค้าจะรู้เลยว่าหากครูหยุยมาเดินตลาดต้องมาหาซื้อของเกี่ยวกับในหลวงรัชกาลที่ 9 พวกพ่อค้าแม่ค้าก็จะบอก “บอกวันนี้มีของแบบนี้บ้าง อ่ะครูวันนี้ที่ร้านมีอันนี้มา”

“ช่วงนี้ผมก็ตามเก็บหนังสือพิมพ์ที่มีรูปในหลวงรัชกาลที่ 9 ตลอดทุกฉบับ ครูตามเก็บไว้หมด บางที่ก็ขอแม่บ้านที่รัฐสภาไว้ เพราะมันจะกลายเป็นประวัติศาสตร์”

วัลลภ ย้ำว่า ความจริงของสะสมที่อยู่มันเป็นมุมเล็กๆ มุมหนึ่งที่อาจเป็นตัวแทนให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้นอกเหนือไปจากของสะสม แต่ยังมีหนังสือมากมายที่ให้ความรู้เกี่ยวกับพระองค์ท่านเต็มไปหมด ในหนังสือจะมีมากกว่าคำสอน มันคงจะเป็นมุมเล็กๆ ที่ได้เผยแพร่เรื่องราวดีๆ ที่คนไทยจะจดจำไว้อย่างไม่รู้ลืม และของสะสมทั้งหมดได้มอบให้กับมูลนิธิสร้างสรรค์เด็ก ไว้หมดแล้วเผื่อว่าสักวันจะพัฒนาเป็นพิพิธภัณฑ์ได้

เปิดกรุความลับ 34 ปี "ครูหยุย" นักสะสมของที่ระลึกในหลวง ร.9

สิ่งของที่สะสมเกี่ยวกับในหลวงรัชกาลที่ 9 ส่วนหนึ่งเป็นเพียงเรื่องสัญลักษณ์ แต่เนื้อหาของพระองค์ท่านคือแนวปฏิบัติที่ไม่ใช่เพียงคำสอน สิ่งที่พระองค์ท่านพูด ท่านลงมือทำทุกอย่าง พระองค์จะคิดจากปัญหาขึ้นไปหาทางออก เช่น การทำฝนหลวง การป้องกันดินกัดเซาะ การทำพืชไร่ผสมผสาน ฯลฯ

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการเลี้ยงสัตว์พื้นบ้าน อย่างไก่บ้านที่สามารถฟักเลี้ยงเกิดเป็นลูกเจี๊ยบขยายพันธุ์ต่อไปได้ แตกต่างกับไข่ไก่ตามฟาร์มที่ไม่สามารถเพาะได้ หรือแม้แต่การนำพืชผักสวนครัวมาปลูกจากธรรมชาติยังสามารถนำเมล็ดมาเพาะขยายพันธุ์ได้อีก แต่ถ้าซื้อเมล็ดพันธุ์แบบซองหรือห่อ เมล็ดพันธุ์เหล่านั้นเป็นหมั้นไม่สามารถสืบทอดขยายพันธุ์เพาะปลูกได้เลย ทั้งหมดมันแฝงอยู่ในเศรษฐกิจพอเพียง

“ยกตัวอย่างในแสตมป์ มีรูปภาพเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียง เรื่องฝนหลวง แต่ลึกๆ แล้วมันคือเรื่องการปฏิบัติ ส่วนตัวได้นำแนวปฏิบัติของพระองค์ท่านไปสอนให้เด็กที่มูลนิธิฯ ย่านคลอง 3 ให้เด็กได้เรียนรู้การเรียนปลา เลี้ยงไก่ ห่าน กบ ปลูกผัก ไส้เดือน ลดค่าใช้จ่าย ตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง หากสิ่งไหนเด็กไม่กล้ากินก็นำไปขายแลกเป็นเงินไปซื้ออย่างอื่นมาทดแทนได้ และเมื่อมีเหลือก็แลกเปลี่ยน เปลี่ยนแปลงไป เป็นไปตามทฤษฎีของพระองค์ท่าน”

 

เปิดกรุความลับ 34 ปี "ครูหยุย" นักสะสมของที่ระลึกในหลวง ร.9

วัลลภ ย้ำว่า สิ่งที่หวังอยากให้เกิดมากกว่าเรื่องการสะสมคือ เรื่องของคำสอนของพระองค์ท่านจะทำอย่างไรให้ยั่งยืน ในตอนนี้เรื่องฝนหลวง เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง มีความยั่งยืนหมดแล้วทั่วโลกนำไปใช้ เหลือเพียงเรื่องของ “ความเพียร” ซึ่งพระองค์ท่านได้สื่อสารผ่านหนังสือจำนวนมาก

แต่ปัญหาคือจะทำอย่างไรให้เด็กไทยมี “ความเพียร” จากที่คลุกคลีเรื่องเด็กมาตลอด ทุกวันนี้เด็กไทย “ตีนไม่ติดดิน” ไม่สู้ชีวิตไม่ขยัน หากเมื่อใดที่นำความเพียรไปใช้และยั่งยืน จะสามารถทำให้บรรลุตามสิ่งที่พระองค์ท่านวาดหวังไว้อยากให้เกิดขึ้นจริง

แม้ว่าของสะสมที่ครูหยุยได้เก็บมานานกว่า 34 ปี นี้หากนำมาประเมินเป็นเงินตราคงไม่สามารถแปรเปลี่ยนเป็นเงินทองได้ เพราะทั้งหมดเก็บสะสมมาด้วยความตั้งใจและภูมิใจ ซึ่งทุกวันนี้ครูหยุย ยังคงเดิมหน้าเก็บสะสมของทุกอย่างที่มีพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เหมือนเช่นเดิม

เปิดกรุความลับ 34 ปี "ครูหยุย" นักสะสมของที่ระลึกในหลวง ร.9

เปิดกรุความลับ 34 ปี "ครูหยุย" นักสะสมของที่ระลึกในหลวง ร.9

เปิดกรุความลับ 34 ปี "ครูหยุย" นักสะสมของที่ระลึกในหลวง ร.9