posttoday

'ปริญญา' ดักทาง เกมอันตราย คสช.

20 ตุลาคม 2560

"ถ้าจะอ่านเกม ผมคิดว่า ถ้า คสช.ต้องการจะเป็นนายกฯ ต่อ น่าจะต้อง มีตัววางมากกว่าหนึ่งคน คนแรกมาตามกติกา คือมากับพรรคการเมือง และรอบสองคือมาตามเงื่อนไขบทเฉพาะกาลที่เปิดช่องนายกฯ คนนอก"

โดย... เลอลักษณ์ จันทร์เทพ

เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศว่าจะให้มีการเลือกตั้งในเดือน พ.ย. 2561 โดยจะประกาศวันเลือกตั้งที่แน่นอนในเดือน มิ.ย. 2561 ผู้สื่อข่าวจึงได้สอบถาม ความคิดเห็นของ ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตรกุล อาจารย์คณะนิติศาสตร์ และรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

อาจารย์ปริญญา วิเคราะห์ว่า เป็นเพราะแรงกดดันมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะเมื่อพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองประกาศใช้แล้ว "อาจารย์มีชัยตอบคำถาม นักข่าวที่ถามว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญกับประกาศ คสช. อะไรอยู่เหนืออะไร อาจารย์มีชัยตอบเลี่ยงๆ ว่า เป็นกฎหมายเหมือนๆ กัน ซึ่งถูกในแง่ของลำดับชั้นทางกฎหมายที่เท่ากัน แต่นั่นหมายความว่า เมื่อลำดับเท่ากันก็ต้องเข้าหลักกฎหมายใหม่ยกเลิกกฎหมายเก่า ดังนั้น พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญจึงชนะประกาศของ คสช. และนั่นหมายความว่า พรรคการเมืองจะต้องไม่ถูกแช่แข็งอีกต่อไป แต่ทหารกลัวความไม่แน่นอน ไม่ชอบอะไรที่ควบคุมไม่ได้ เขาจึงอยากจะแช่แข็งพรรคการเมืองต่อ คสช. ก็เลยออกทางนี้เพื่อคลายแรงกดดัน"

อาจารย์ปริญญาชี้ว่า ที่ คสช.จะประกาศวันเลือกตั้งในเดือน มิ.ย. 2561 เพราะเป็นช่วงเวลาที่ต้องประกาศกฎหมายลูกให้ครบ จากนั้นต้องมีการเลือกตั้งภายใน 5 เดือน ก็คือช่วงเดือน พ.ย.พอดี "แต่การที่ คสช. ไม่ประกาศวันเลือกตั้งตั้งแต่ตอนนี้ เพราะจะทำให้ขยับวันได้อีกไงครับ มันยังมีช่องว่างระหว่างที่ส่งร่างกฎหมายกันไปมาอีกนิดหน่อย ทำให้อาจขยับได้อีกเดือนสองเดือน และถ้าเกิดอยากจะขยับมากขึ้นมาก็ทำได้ หากว่า พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งฉบับใดฉบับหนึ่งไม่ผ่านขึ้นมา ตอนนี้เหลืออีก 2 ฉบับ คือ ว่าด้วยการเลือก สส. และการได้มาซึ่ง สว. พอไม่ผ่านขึ้นมา คสช.ก็พูดได้ว่า ทำไงได้เมื่อมันไม่ผ่าน เลือกตั้งก็ต้องเลื่อนไป"

เหตุที่พรรคการเมืองออกมาระบุว่า ไม่เชื่อว่าจะมีการเลือกตั้งเกิดขึ้น อาจารย์ปริญญาวิเคราะห์ว่า "เพราะพรรคการเมืองกำลังกดดัน คสช.ให้มีเลือกตั้ง และเราต้องเข้าใจที่เขาไม่ เชื่อมั่น เพราะในบทเฉพาะกาลรัฐธรรมนูญเปิดช่องให้ คสช.ขยายโรดแมปได้เรื่อยๆ เนื่องจากไม่ได้เขียนว่า ถ้า พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฉบับหนึ่งฉบับใดไม่ผ่าน จะดำเนินการอย่างไร แปลว่าถ้าผ่าน ไม่ครบก็ไม่มีเลือกตั้ง ดังนั้นถ้าไม่อยากให้มีเลือกตั้งก็แค่ให้ สนช.ไม่ผ่าน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฉบับใดฉบับหนึ่ง ที่ผ่านมาเคยเกิดแล้ว ก็คือตอนที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับอาจารย์บวรศักดิ์ไม่ผ่าน สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วสามารถเกิดขึ้นได้อีก อย่าลืมว่า คสช. ตั้ง สนช. คสช. จึงทำได้ ส่วนจะทำหรือไม่นั่นอีกเรื่อง" อาจารย์ปริญญา ระบุ

"ถ้าต้องการความเชื่อมั่น คสช.ต้องประกาศว่า กฎหมายลูกจะประกาศครบในเดือน มิ.ย.แน่ อันนี้หนักแน่นกว่า แต่ คสช.คงไม่ประกาศอย่างนี้หรอกครับ เพราะต้องการเก็บไพ่เลื่อนเลือกตั้งไปยาวๆ ได้ไว้ในมือ"

ในเรื่องความพร้อมของพรรค การเมืองนั้น อาจารย์ปริญญาเห็นว่า "เรื่องที่น่าสนใจคือ พรรคใหญ่ 2 พรรคจะปรับตัวกันอย่างไร พรรคเพื่อไทยต้องดูว่าใครจะเป็นผู้นำพรรค และจะสามารถปฏิรูปตนเองให้เป็นพรรคการเมืองในเชิงสถาบันได้หรือไม่ หรือจะเป็นพรรคของคุณทักษิณต่อไป ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ต้องดูเช่นกันว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงหรือไม่ การกลับเข้ามาของ กปปส. จะมีผลอย่างไร ถ้าผู้นำพรรคไม่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ พรรคประชาธิปัตย์จะแตกหรือไม่ คุณสุเทพ ซึ่งรอดูอยู่วงนอกจะดำเนินการอย่างไร นี่คือสถานการณ์พรรคใหญ่ที่ไม่ชัดเจน แต่ถือว่าเป็นโอกาสอันดีของ 2 พรรคในการปฏิรูปตัวเอง เพราะถ้าไม่เปลี่ยนแปลงอะไรจะแย่ทั้งคู่ คือไม่มีทางที่จะได้คะแนนนิยมในจุดสูงสุดได้"

ที่ผ่านมาสำหรับพรรคขนาดกลางอย่างพรรคภูมิใจไทย ส่งคนลงแค่ 1 ใน 3 เท่านั้น แต่ระบบการเลือกตั้งแบบใหม่ คือการเอาคะแนนแบบแบ่งเขตมาคิดที่นั่งบัญชีรายชื่อ ดังนั้น ถ้าต้องการ สส.บัญชีรายชื่อก็จะต้องส่งผู้สมัครให้มากเขตที่สุด ดังนั้นพรรคภูมิใจไทยและพรรคชาติไทยพัฒนาจะต้องหาผู้สมัครส่งให้ครบ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่ต้องเตรียมอะไรนาน หาคนลงสมัครเดือนเดียวก็สามารถหาได้

ส่วนพรรคขนาดเล็กจะลำบากที่สุด เพราะจะไม่มีจุดไหนที่พรรคขนาดเล็กจะพร้อมได้เลย หวังว่าจะได้คะแนนจากทั่วประเทศมาได้ที่นั่ง สส. บัญชีรายชื่อจะไม่มีอีกต่อไป ไม่ต้องพูดถึงการหาสมาชิกพรรคมาให้ครบจำนวนที่กำหนดใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ระบบพรรคการเมืองใหม่และระบบเลือกตั้งจัดสรรปันส่วนผสมนั้น ไม่มีที่ให้พรรคเล็กอีกต่อไป

อาจารย์ปริญญาวิเคราะห์ต่อไปถึงเรื่องนายกรัฐมนตรีที่จะเป็นได้ต้องได้รับการเสนอชื่อจากพรรคการเมืองก่อน ซึ่งจะเสนอได้ไม่เกิน 3 ชื่อ "ตรงนี้ มีเงื่อนไขสำคัญสำหรับเกม คสช. ถ้าไม่ต้องการเป็นรัฐบาลต่อก็ไม่มีอะไรยาก แต่ถ้าต้องการเป็นรัฐบาลต่อ เรื่องยากอย่างแรกคือ จะเป็นนายกฯ ที่มาจากนอกบัญชีของพรรคการเมืองได้ ต้องให้การเลือกจากในบัญชีไม่สำเร็จก่อน หรืออย่างที่สอง ถ้าจะมาในรอบแรกเลยก็ต้องให้พรรคหนึ่งพรรคใดเสนอชื่อ คือเปิดตัวเลยว่าเอาแน่ เพราะจะส่งผลเรื่องความชอบธรรมตามรัฐธรรมนูญ นั่นคือคุณมาตามกติกา แต่ถามว่า คสช.คนไหนจะมาในช่องทางแบบนี้ ผมไม่คิดว่าจะเป็น พล.อ.ประยุทธ์ แต่ถ้าจะมาจริง นั่นหมายความว่าเขาจะเอาแน่ แต่ตอนนี้เราไม่มีทางรู้ เขาเองก็ยังไม่ตัดสินใจ เหมือนคนเล่นไพ่ก็จะมีหลายๆ หน้าไว้ก่อน เมื่อถึงเวลาค่อยเลือกว่าจะเล่นหน้าไหน"

แล้วจะมารอบแรกจากชื่อที่พรรคการเมืองเสนอก็ไม่ง่าย "เพราะชื่อที่จะเป็นนายกฯ ได้ พรรคการเมืองที่เสนอจะต้องได้ สส. เกิน 5% ซึ่งที่ผ่านมามีแค่ 3 พรรคเท่านั้น คือ พรรคเพื่อไทย พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคภูมิใจไทย ถ้าจะมีอีกพรรค คือ พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคใหญ่ไม่เสนออยู่แล้ว ก็คงต้องไปทางพรรคขนาดกลาง แต่พรรคภูมิใจไทยพูดแล้วว่าจะไม่เสนอชื่อ คสช. เป็นนายกฯ ก็เหลือพรรคชาติไทยพัฒนา หรือพรรคใหม่ แต่พรรคใหม่ก็ไม่ง่ายที่จะได้ 5% เว้นแต่เป็นพรรคใหม่ที่แตกมาจากพรรคใหญ่เดิมก็อาจเป็นไปได้ ทั้งหมดต้องรอดู"

แล้วถ้าชื่อนายกฯ ของ คสช. ไปฝากไว้ในพรรคที่ได้ สส.ไม่ถึง 5% ขึ้นมา ก็จะหลุดจากการเป็นนายกฯ รอบแรก แล้วจะชอบธรรมหรือถ้าจะมาในรอบสองแบบคนนอก เพราะจะถูกโจมตีทันที ว่าถ้าประชาชนต้องการ ให้คุณเป็นนายกฯ ประชาชนเลือกพรรคคุณเกิน 5% ไปแล้ว

"ถ้าจะอ่านเกม ผมคิดว่า ถ้า คสช.ต้องการจะเป็นนายกฯ ต่อ น่าจะต้อง มีตัววางมากกว่าหนึ่งคน คนแรกมาตามกติกา คือมากับพรรคการเมือง และรอบสองคือมาตามเงื่อนไขบทเฉพาะกาลที่เปิดช่องนายกฯ คนนอก แต่ผมคิดว่าถ้าเขาไม่เป็นรัฐบาลต่อ เรื่องทุกอย่างจะง่าย ซึ่งเขาควรเลือกช่องทางให้ประเทศไทยกลับสู่ทางเดินประชาธิปไตยตามธรรมชาติจะดีกว่า เพราะถ้าจะเป็นนายกฯ ต่อ เกมพวกนี้คือเกมอันตรายต่อการเมืองในอนาคต"

อาจารย์ปริญญาชี้ว่า "พรรคใหม่ที่จะเป็นพรรคทหารก็ไม่ง่าย เพราะกระแสสูงสุดของ คสช.ผ่านไปแล้ว แน่นอนว่ามีแฟนของ พล.อ.ประยุทธ์ เบื่อนักการเมืองก็อาจจะเลือกพรรคนี้ แต่กระแสที่เห็นว่าเมื่อมีการเลือกตั้งแล้วประเทศควรกลับสู่ประชาธิปไตยก็จะมากขึ้นเรื่อยๆ คสช.เลือก สว.แล้วมาร่วมเลือกนายกฯ ผมคิดว่าคนรับได้ระดับหนึ่งว่ามันเป็นกติกา แต่ถ้าหากว่าจะมาตั้งพรรคเพื่อเป็นรัฐบาลต่อ ไม่ง่ายที่จะไปถึงจุดนั้นได้ และอย่าลืมว่ารอบแรกจะต้องเลือกในบัญชีพรรคการเมืองก่อน ถ้าสภาผู้แทนฯ จะชิงลงมือก่อน โอกาสที่พรรคเพื่อไทยและประชาธิปัตย์จะรวมกันก็เป็นไปได้นะครับ ถ้าคุณทักษิณไม่ยุ่งกับเพื่อไทยแล้ว แต่ถ้าสองพรรคนี้แข่งกัน ไม่มีใครตั้งรัฐบาลได้ ดังนั้น เกมนี้ คสช.จะเป็นคนกำหนดว่าข้างไหนจะเป็นรัฐบาล โดยใช้เสียง สว. เกมนี้จะปลอดภัยสำหรับ คสช. แต่เกมที่จะปลอดภัยสุดสำหรับประเทศไทย คือปล่อยให้ สว.เป็นอิสระ อยากคิดว่าใครควรเป็นนายกฯ ก็ปล่อยไป และบ้านเมืองควรเดินไปทางไหน ให้ สว.คิดเอง แต่ถ้า คสช.จะครอบงำ สว. แล้วให้ยกมือตาม จะอันตรายสำหรับประเทศไทย เพราะจะเกิดความ ขัดแย้งระหว่างฝ่ายที่มาจากการ เลือกตั้งและฝ่าย คสช."

ถ้า คสช.ทำอย่างนั้นในช่วง 5 ปีแรก ความตึงเครียดจะสูง และเมื่อเกิดสถานการณ์นี้ขึ้น การแก้รัฐธรรมนูญจะเป็นการผ่อนคลาย แต่รัฐธรรมนูญก็แก้ไม่ได้อีกถ้า คสช.ไม่ยอม เพราะต้องใช้เสียง สว. 1 ใน 3 จึงจะแก้รัฐธรรมนูญได้ รัฐธรรมนูญที่แก้ไม่ได้จะทำให้ประเทศตึงเครียด ถ้าไม่มีทางผ่อนคลายก็จะแตกหัก เพราะฉะนั้น อยู่ที่ คสช.จะเลือกทางไหน

"หนึ่ง ไม่มีเลือกตั้ง อยู่ไปเรื่อยๆ อันตรายที่สุด สอง อันตรายรองมาคือมีเลือกตั้งแต่เป็นนายกฯ ต่อ ส่วน สาม พอไปได้คือ เป็นคนตั้งรัฐบาล เลือกเอาพรรคหนึ่ง เพื่อไทยหรือประชาธิปัตย์ และสี่ ดีที่สุดคือปล่อย สว.ให้เป็นอิสระครับ" อาจารย์ปริญญา สรุป