posttoday

คุณธรรมคู่ความรู้ ทรงวางรากแก้วการศึกษาไทย

14 ตุลาคม 2560

“ประเทศชาติของเราจะเจริญหรือเสื่อมลงนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับการศึกษาของประชาชนแต่ละคนเป็นสำคัญ ผลการศึกษาอบรมในวันนี้จะเป็นเครื่องกำหนดอนาคตของชาติในวันข้างหน้า”

โดย...เอกชัย จั่นทอง

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล (มม.) จัดงาน ๙ ศิระกราน พระภูบาลนวมินทร์ ร่วมกับกองทัพเรือจัดขึ้น เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในโอกาสครบรอบ 1 ปีแห่งการสวรรคต

ศ.เกียรติคุณ นพ.เกษม วัฒนชัย องคมนตรี กล่าวปาฐกถาพิเศษหัวข้อ “พระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ต่อการศึกษาไทย” ระบุว่า การทำการศึกษาเพื่อสร้างชาติของรัชกาลที่ 5 ในระยะแรกต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญฝรั่ง แต่จะอาศัยฝรั่งให้สอนตลอดไปไม่ได้ จึงมีการส่งคนไปเรียนและดูงานต่างประเทศเพื่อกลับมาทำงานในประเทศ

ทั้งนี้ พระราชหัตถเลขารัชกาลที่ 5 ทรงเขียนไว้ว่า “เพราะฉะนั้นเราจึงได้ตักเตือนนักเรียนเหล่านั้นว่าให้ฟังนึกในใจว่า เราไม่ได้มาเรียนจะเป็นฝรั่ง เราเรียนเพื่อจะเป็นคนไทยที่มีความรู้เสมอด้วยฝรั่ง”

ถัดมารัชกาลที่ 9 มีพระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรแก่นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วันที่ 5 ก.ค. 2505 ว่า “ประเทศชาติของเราจะเจริญหรือเสื่อมลงนั้น ย่อมขึ้นอยู่กับการศึกษาของประชาชนแต่ละคนเป็นสำคัญ ผลการศึกษาอบรมในวันนี้จะเป็นเครื่องกำหนดอนาคตของชาติในวันข้างหน้า”

นพ.เกษม กล่าวว่า บทบาทของครูอาจารย์มี 2 หน้าที่สำคัญ คือการสอนและอบรม ถ้าเปรียบลูกศิษย์เป็นต้นไม้ 1 ต้น ครู สถานศึกษา มีหน้าที่บ่มเพาะให้เติบใหญ่ ลำต้นเข้มแข็ง กิ่งก้านให้ออกดอกชูผลไม่แพ้ใครในอาเซียน เช่นเดียวกับรากแก้วที่มั่นคงเพื่อไม่ให้ต้นไม้โอนไปเอนมา มีคุณธรรมจริยธรรม มีวัฒนธรรม รับผิดชอบในหน้าที่ และการเป็นพลเมืองดี

“สังคมที่ยึดหน้าที่เป็นเรื่องใหญ่ คือหน้าที่นิยม สังคมที่ยึดอำนาจเป็นเรื่องใหญ่คืออำนาจนิยม เวลาเราเข้าไปสถานีตำรวจหากโรงพักนั้นคือหน้าที่นิยม ประชาชนจะได้รับการดูแลเต็มที่ แต่ถ้าสถานีตำรวจเป็นอำนาจนิยม คนมีอำนาจและเงินเท่านั้นจะได้รับการดูแลโดยไม่ต้องทำตามกฎหมายก็ได้ อันนี้คือสิ่งที่เกิดขึ้นในเมืองไทย เพราะสังคมไทยยกย่องอำนาจมากกว่าความดี และกลัวอำนาจ ไม่กลัวความผิด”

นพ.เกษม กล่าวอีกว่า สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ตรัสว่า ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงยึดมั่นในหน้าที่และการทำตามหน้าที่ของแต่ละคน อย่างในหลวงรัชกาลที่ 9 มีหน้าที่ 2 ส่วน คือในฐานะพระเจ้าแผ่นดิน ต้องดูแลราษฎร ในฐานะทรงเป็นพลเมืองดี เห็นอะไรที่จะทำเพื่อบ้านได้ก็ต้องทำ เป็นนิยามที่สั้นและมีพลังที่สุด อยากให้พ่อแม่ทุกคนสอนลูกหลานให้ควรทำในฐานะพลเมืองดี

“ในช่วงปี 2555 ขณะรัชกาลที่ 9 ทรงพระประชวร มีรับสั่งให้เข้าเฝ้าฯ มีพระราชประสงค์ให้มีโครงการกองทุนการศึกษา โดยให้ไปคัดเลือกโรงเรียนแย่ที่สุดจากชนบทพื้นที่ชายแดน และรับสั่งว่าอย่าไปรบกวนใครท่านจะให้เงินเอง พระราชประสงค์มีอันเดียว คือให้โรงเรียนสร้างคนดีให้แก่บ้านเมือง ไม่ใช่ให้โรงเรียนสร้างคนเก่งให้แก่บ้านเมือง”

ระหว่างนั้นมีจดหมายน้อยจากทหารมหาดเล็กส่งมาให้พวกเรา และ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ องคมนตรี จึงมาร้อยเรียงกันพบว่า ในหลวงท่านทรงเป็นห่วงบ้านเมืองอย่างมาก โดยเฉพาะในปี 2553-2554 เกิดเหตุการณ์เผาบ้านเผาเมืองครั้งใหญ่

นพ.เกษม เล่าต่อไปว่า แต่ท่านให้พวกเรามาเริ่มต้นใหม่ โดยพระราชทานพระราชกระแสรับสั่งแก่องคมนตรีว่า “ให้โรงเรียนสร้างคนดีให้แก่บ้านเมือง” และให้ส่งเสริมให้ “ครูรักเด็กและเด็กรักครู”  เน้นให้ครูสอนให้เด็กมีน้ำใจต่อเพื่อนและไม่ให้แข่งขันกัน แต่ให้แข่งขันกับตนเอง

ส่วนโครงการทุนการศึกษาดังกล่าวได้นำมาใช้ดำเนินการโรงเรียนคุณธรรม ในสถานศึกษาทุกระดับทั้งพื้นฐาน อาชีวศึกษา และมหาวิทยาลัย ประมาณ 155 แห่ง โดยมูลนิธิยุวสถิรคุณ ทำหน้าที่ในการดูแล ซึ่งจากการทำโครงการโรงเรียนคุณธรรม โดยนำพระราชกระแสรับสั่งมาใช้เป็นแนวทางถึงตอนนี้ เป็นเวลา 5 ปี เห็นผลการเปลี่ยนแปลง เช่น เน้นให้ครูสอนให้เด็กมีน้ำใจต่อเพื่อน

ที่เห็นชัดคือคะแนนทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (โอเน็ต) ที่แต่ละปีมีเด็กคะแนนสูงเพียง 5% ที่เหลือมีคะแนนต่ำ หลายคนไปเรียนกวดวิชา ก็มาใช้วิธีการให้เพื่อนช่วยติว หลายโรงเรียนผลคะแนนดีขึ้น เป็นต้น อย่างไรก็ตาม จากพระราชกระแสรับสั่งทางมูลนิธิยุวสถิรคุณได้น้อมนำมาปฏิบัติโดยมีเป้าหมายส่งเสริมให้เกิดโรงเรียนคุณภาพและโรงเรียนคุณธรรม ทั้งนี้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรน้อมนำไปปฏิบัติ

นพ.เกษม กล่าวว่า สำหรับพระบรมราโชบายด้านการศึกษา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 นั้นทรงสืบสานพระราชปณิธานรัชกาลที่ 9 และทรงมุ่งเน้นสร้างพื้นฐานให้แก่ผู้เรียน 4 ด้าน ได้แก่ มีทัศนคติที่ถูกต้องต่อบ้านเมือง มีพื้นฐานชีวิตที่มั่นคง-มีคุณธรรม มีงานทำ-มีอาชีพ และเป็นพลเมืองที่ดี

ท้ายสุด องคมนตรี ย้ำว่า พร้อมกันนี้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 มีพระราชกระแสรับสั่งให้สานต่อโครงการโรงเรียนคุณธรรม รับสั่งแก่คณะองคมนตรีด้วยว่า “การสร้างคนดีเป็นเรื่องที่ยาก แต่ก็ต้องทำ ขอให้ถือเป็นหน้าที่”