posttoday

"ประทับอยู่ในใจ" ดร.จินตนันท์ ชญาต์ร ศุภมิตร

13 ตุลาคม 2560

ร่วมรำลึกวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทย

โดย...วราภรณ์ ผูกพันธ์ ภาพ : เสกสรร โรจนเมธากุล

ร่วมรำลึกวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทย ผ่าน ดร.จินตนันท์ ชญาต์ร ศุภมิตร บุตรสาวเพียงคนเดียวของท่านผู้หญิงพึงจิตต์ ศุภมิตร คุณข้าหลวงคนแรกในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ที่เคยถวายงานและได้ซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์

ดร.จินตนันท์ เล่าย้อนประวัติอันภาคภูมิใจของวงศ์ตระกูล ที่คุณแม่ของเธอได้ถวายงานต่อล้นเกล้าทั้งสองพระองค์ว่า ครอบครัวของเธอทางฝ่ายคุณพ่อได้ถวายงานพระบรมวงศานุวงศ์มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ส่วนฝ่ายคุณแม่ก็ตั้งแต่รุ่นคุณตา พ.ต.หลวงพลหาญสงคราม เป็นนายทหารใต้บังคับบัญชาของ พ.อ.ม.จ.นักขัตรมงคล กิติยากร (ต่อมาคือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้านักขัตรมงคล กรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ พระบิดาในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ)

เมื่อคุณตาเสียชีวิตลงในวัย 2 ขวบ เด็กหญิงพึงจิตต์จึงไปอาศัยอยู่กับญาติ โดยมีท่านนักขัตรเป็นผู้ส่งเสียให้ร่ำเรียน โดยขณะนั้น ม.จ.นักขัตร มงคล ได้ย้ายไปเป็นเอกอัครราชทูต ณ ประเทศฝรั่งเศส

หลังศึกษาจบ พึงจิตต์ได้เข้ารับราชการที่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า กระทั่งมีข่าวว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงหมั้นสมเด็จพระนางเจ้าฯ และเสด็จนิวัตประเทศไทย พึงจิตต์ในวัย 19 ปี จึงไปชื่นชมพระบารมี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้านักขัตรมงคล ทอดพระเนตรทรงจำได้ จึงทรงเรียกให้เข้าไปพบ และรับสั่งว่าให้มาอยู่กับสมเด็จพระราชินีนับแต่นั้นมา

“นั่นคือจุดเริ่มต้นของคุณแม่ ในการถวายงานในตำแหน่งคุณข้าหลวงคนแรกในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ แล้วคุณแม่ก็ตามเสด็จพระราชดำเนินทั้งสองพระองค์นับแต่นั้นเป็นต้นมา

"ประทับอยู่ในใจ" ดร.จินตนันท์ ชญาต์ร ศุภมิตร

 

นอกจากตามเสด็จฯ ไปถวายงานตามจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศแล้ว ยังตามทั้งสองพระองค์ยามเสด็จฯ ไปทรงเยือนต่างประเทศอย่างเป็นทางการกว่า 27 ประเทศ โดยคุณแม่มีหน้าที่ดูแลฉลองพระองค์ และรับใช้ส่วนพระองค์สมเด็จฯ เวลาเสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมราษฎร คุณแม่ทำหน้าที่จดรายละเอียดทุกอย่าง คือถวายงานส่วนพระองค์ ที่ไม่ใช่เอกสารทั้งหมด คุณแม่ยังถวายงานเรื่องแผนที่ที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐานชั้น 3 มีห้องแผนที่ของพระองค์ ซึ่งแต่ละแผ่นนั้นมีรายละเอียดมากมาย เมื่อพระองค์จะเสด็จฯ ไปที่ใด คุณแม่ต้องไปนำแผนที่ของสถานที่นั้นมาถวาย”

ในฐานะที่ได้ถวายงานใกล้ชิด คุณแม่เล่าให้ ดร.จินตนันท์ ฟังว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงงานหนักมาก ห้องทรงงานเต็มไปด้วยแผนที่ และข้าวของอื่นๆ เต็มไปหมด

“สมเด็จพระนางเจ้าฯ ทรงเห็นว่าห้องทรงงานของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรกมาก จึงมีรับสั่งให้คุณแม่เข้าไปจัด แต่คุณแม่เกรงว่าจะโดนกริ้ว หากพระองค์ท่านทรงหาของไม่เจอ จึงใช้วิธีวาดแผนที่เพื่อกราบทูลว่า ของที่ตั้งอยู่บนพื้นตรงนี้ ได้ถูกย้ายไปตั้งอยู่ตรงไหน เหมือนลายแทงเลยค่ะ”

เด็กหญิงจินตนันท์เองก็ได้มีโอกาสตามเสด็จฯ ล้นเกล้าทั้งสองพระองค์ โดยคุณแม่พาเธอเข้าวังตั้งแต่อายุเพียง 10 วัน

“หน้าที่ของเด็กๆ อย่างดิฉันเวลาตามเสด็จฯ คือ ถวายลูกอมแด่สมเด็จฯ ขณะทรงนำข้าวกล่องไปแจกตำรวจตระเวนชายแดน หรือทหารที่มายืนอารักขาในบริเวณใกล้เคียง ดิฉันจำได้ว่า พระหัตถ์ของพระเจ้าอยู่หัวทรงมีแผนที่อยู่ตลอด และมีพระวรกายที่แข็งแรงมาก เวลาตามเสด็จฯ เราต้องคอยดูพระบาทของพระองค์ท่านว่าก้าวเร็วแค่ไหน ถ้าตามเสด็จฯ ไม่ทันได้ตกขบวนแน่ๆ”

กระทั่ง ดร.จินตนันท์ เข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัย การได้ถวายงานก็ลดน้อยลง แต่พระเมตตาของในหลวงรัชกาลที่ 9 ก็มีมากล้น “พระมหากรุณาธิคุณที่พระองค์มีต่อดิฉันและคุณแม่ยังคงซาบซึ้งอยู่ในใจ ทุกอย่างที่มีในวันนี้ เป็นพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ 9 ทั้งสิ้น”

ดร.จินตนันท์ กล่าวว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเป็นต้นแบบในการเสียสละเป็นอย่างมาก “ทรงสอนดิฉันในวันที่มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ ว่า คนเราต้องอดทนจึงจะสามารถไปสู่เป้าหมายได้ เพราะไม่มีใครได้อะไร
ดังใจ ที่ดิฉันทำงานเพื่อสังคมในวันนี้ อาจเป็นการหล่อหลอมจากการเห็นการทรงงานของพระองค์มาตั้งแต่เด็ก

สมัยตอนเป็นเด็ก เรามีความสุขมาก เป็นชีวิตที่เราคิดถึงแล้วรู้สึกอุ่นใจ แต่พอพระองค์เสด็จสวรรคต ชีวิตเราก็ไม่เหมือนเดิม รู้สึกชีวิตว้าเหว่ คุณแม่เป็นผู้ใหญ่ ในวันที่พระองค์เสด็จสวรรคต คุณแม่เสียใจแต่ไม่ได้ฟูมฟาย ก็ปลอบใจตัวเองคิดเสียว่า พระองค์ทรงงานมานาน ทรงเสียสละมาเยอะ ทรงได้พักแล้ว คิดแบบนี้จะได้ไม่เศร้าโศกเสียใจมาก

จำได้ วันที่ 13 ต.ค. 2559 สักบ่ายๆ คุณแม่โทรมาให้ไปหา ก็ได้เห็นว่า ทุกคนต้องยอมรับความจริง คุณแม่เหมือนไม่เชื่อ ทุกคนยังมีความหวังว่า ทรงทรุดแล้วเดี๋ยวก็ทรงดีขึ้น เตรียมใจแต่ไม่เชื่อ พอพระองค์เสด็จสวรรคตจริงๆ ต่างพูดเพียง ‘จริงเหรอ’ เหมือนเรา Lost บางอย่าง 2-3 วันจึงจะทำใจได้ว่า เป็นเรื่องจริงแล้ว”

1 ปีผ่านมาแล้ว ความเศร้าโศกยังไม่จางหาย แต่ ดร.จินตนันท์บอกว่า ทุกคนควรตั้งสติและทำใจ

“หลายคนบอกว่า ไม่อยากให้ถวายพระเพลิงเลย ดิฉันคิดว่า เป็นการยึดติดอยู่กับท่าน เราควรจะทำใจ เราสามารถยึดคำสอนของพระองค์มาดำเนินชีวิต มากกว่ายึดติด แม้ทุกคนอาจรู้สึกว้าเหว่ แต่จงเปิดใจ และยอมรับ

ยุคสมัยเปลี่ยนไป ยุคนี้ไม่ได้ขาดแคลนทุรกันดารเหมือนเมื่อก่อน ในหลวงรัชกาลที่ 10 ก็ทรงห่วงใยดูแลพวกเราเช่นกัน ทรงสานงานต่อจากพระราชบิดา รัชกาลที่ 9 ทรงเซ็ตทุกอย่างให้หมดแล้ว พวกเราต้องนำคำสอนของพระองค์ไปดำเนินชีวิต เช่น ทรงสอนเรื่องการทำความดี ไม่ต้องยิ่งใหญ่ แต่ให้ทำทุกวัน เริ่มจากสิ่งเล็กๆ ทำในครอบครัวก่อน แล้วค่อยขยายสู่สังคมที่ใหญ่ขึ้น”