posttoday

"ปฏิรูปราชการ" เลิกเช้าชามเย็นชาม

09 ตุลาคม 2560

หนึ่งในประเด็นการปฏิรูปที่มีความสำคัญที่สุด คือ “การปฏิรูประบบราชการ” เพราะระบบราชการเป็นกลไกแห่งการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

หนึ่งในประเด็นการปฏิรูปที่มีความสำคัญที่สุด คือ “การปฏิรูประบบราชการ” เพราะระบบราชการเป็นกลไกแห่งการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง เพราะถ้าไม่ปฏิรูประบบราชการ การจะไปปฏิรูปด้านอื่นที่เหลือ 12 ด้าน คงเป็นไปได้ยากมาก

ปกรณ์ นิลประพันธ์ รองเลขาธิการกฤษฎีกา คนวงในระบบราชการในฐานะมือปฏิรูปของรัฐบาล ในฐานะรองผู้อำนวยการ สำนักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี (PMDU) อธิบายว่า เมื่อกล่าวถึงการปฏิรูประบบราชการ สิ่งแรกที่พูดกันก็คือการปฏิรูปโครงสร้างและวิธีการทำงานของระบบราชการ เพราะใครต่อใครพูดกันเป็นเสียงเดียวกันว่าระบบราชการไทยทำงานแบบกรมใครกรมมัน ไม่มีการบูรณาการการทำงานร่วมกัน

“อย่าว่าแต่ทำงานระหว่างกระทรวงเลย บางทีในกระทรวงเดียวกันยังไม่บูรณาการกันเลยก็มี ทั้งๆ ที่การบริหารราชการแผ่นดินแบบกระทรวง ทบวง กรมนั้นเป็นการบริหารงานตามภารกิจ การทำงานจึงต้องเหมือนวงมโหรี คือต้องประสานสอดคล้องกัน เพลงจึงจะไพเราะ แต่ถ้าต่างคนต่างเล่น มันก็ไม่เป็นเพลง” ปกรณ์ ระบุ

อย่างไรก็ตาม ข้าราชการสามารถเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงได้ แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะบุคลากรภาครัฐถูกผูกติดกับระเบียบและแบบแผนซึ่งยากต่อการเปลี่ยนแปลง แต่ด้วยกลไกของรัฐเองจะทำให้ข้าราชการต้องเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงให้ได้ 4 ด้าน คือ 1.การพัฒนาองค์ความรู้ให้รู้รอบและรู้ลึก และมีการเพิ่มพูนความรู้อย่างต่อเนื่อง 2.การบ่มเพาะธรรมาภิบาล กล้าตัดสินใจกระทำในสิ่งที่ถูกต้องเพื่อผลประโยชน์ส่วนรวม 3.การปรับปรุงกฎระเบียบและวิธีปฏิบัติราชการจากการทำงานตามกฎเกณฑ์ เป็นการสร้างนวัตกรรมที่อำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน และ 4.การปรับปรุงการประเมินผลการปฏิบัติราชการใหม่

สิ่งสำคัญในการปฏิรูประบบราชการ คือ ควรอย่างยิ่งที่จะเปลี่ยนจากตัวชี้วัดเชิงปริมาณ คือ “จำนวนครั้ง”“จำนวนผู้เข้าร่วม” หรือ “จำนวนผู้สอบผ่าน” เช่น จำนวนครั้งในการเข้างาน จำนวนครั้งในการเข้าฝึกอบรมหรือเข้าร่วมสัมมนาอย่างที่เป็นอยู่มาเป็นตัวชี้วัดนั้นเป็นระบบแบบเดิมๆ จึงควรเปลี่ยนไปเป็นตัวชี้วัดเชิงคุณภาพ คือ องค์ความรู้ที่มีการถ่ายทอดให้แก่ข้าราชการด้วยกันหรือแก่บุคคลภายนอกและสามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ในการทำงาน มีการตีพิมพ์ในวารสารทางวิชาการ หรือการเผยแพร่ให้ประชาชนนำไปใช้ประโยชน์

อีกทั้งการปรับปรุงกฎระเบียบและวิธีปฏิบัติราชการจากการทำงานตามกฎเกณฑ์ เป็นการสร้างนวัตกรรมที่อำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน การให้บริการตามความต้องการเฉพาะปัจเจกบุคคลที่ผู้รับบริการสามารถออกแบบและเลือกรูปแบบการให้บริการที่แตกต่างได้ ภาครัฐต้องให้บริการได้ตลอด 24 ชั่วโมง ได้ทุกสถานที่ นำเสนอบริการที่เหมาะสมแต่ละบุคคล มีช่องทางการให้บริการหลายช่องทางและบูรณาการภาครัฐเป็น One Stop Service ซึ่งจะเป็นต้นแบบในการใช้ความคิดสร้างสรรค์ ในการสร้างนวัตกรรมการทำงานให้มีประสิทธิภาพขึ้น

ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) สมควรที่รัฐบาลจะกำหนดให้ทั้งสองหน่วยงานเร่งรัดดำเนินการปรับปรุงกฎหมาย กฎ และระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวภายในเวลาที่กำหนด และให้เป็นหน่วยงานต้นแบบในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในภาคราชการ โดยหน่วยงานราชการเองต้องจัดทำแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาบุคลากรของหน่วยงานให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล “ประเทศไทย 4.0” โดยคำนึงถึงบทบาทและหน้าที่เฉพาะของหน่วยงาน

ปกรณ์ กล่าวด้วยว่า ต้องยอมรับว่า ระบบเดิมที่มีอยู่มันมีปัญหา ทางที่ดีคือต้องช่วยกันเสนอแนะแนวทางแก้ปัญหา โดยเฉพาะระบบราชการของประเทศออสเตรเลีย น่าเป็นแบบอย่างในการจัดโครงสร้างการบริหารราชการกระทรวง ทบวง กรม  อาทิ เรื่องการก่อตั้ง ยุบเลิก หรือเปลี่ยนแปลงหน้าที่และความรับผิดชอบของกระทรวงใดกระทรวงหนึ่งมีผลกระทบต่อการจัดสรรงบประมาณและสถานะของบุคลากรของกระทรวงอื่นด้วย

จึงกำหนดมาตรการเพื่อป้องกันมิให้เกิดปัญหาด้านงบประมาณและบุคลากร และให้อำนาจแก่นายกรัฐมนตรี แนะนำให้ปลัดกระทรวงที่ตั้งขึ้นใหม่หรือที่รับโอนหน้าที่รับผิดชอบในการบริหารงานบุคคล แยกผู้ปฏิบัติงานในกระทรวงต่างๆ ออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ คือ ข้าราชการ และลูกจ้าง แบ่งข้าราชการออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ปลัดกระทรวง ผู้บริหารระดับสูง ข้าราชการทั่วไป โดยปลัดกระทรวงเป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดของผู้ปฏิบัติงานทุกประเภทในกระทรวงมีหน้าที่บริหารงานของกระทรวงภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีผู้กำกับดูแลกระทรวงนั้น เพ่ื่อให้การปฏิบัติราชการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เปิดเผย และตรวจสอบได้ เมื่อพ้นจากตำแหน่งต้องจัดทำรายงานประจำปีแสดงงานที่กระทรวงได้ทำในรอบปีที่ผ่านมาเสนอต่อรัฐมนตรีผู้กำกับดูแล

ที่น่าสนใจ คือ การแต่งตั้งปลัดกระทรวงเป็นอำนาจของผู้สำเร็จราชการตามคำแนะนำของนายกรัฐมนตรี แต่นายกรัฐมนตรีจะเสนอแต่งตั้งปลัดกระทรวงได้ต่อเมื่อเป็นการเสนอแต่งตั้งแทนตำแหน่งที่ว่างหรือคาดว่าจะว่างลง หรือปลัดกระทรวง นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี แล้วแต่กรณี ได้หารือกับรัฐมนตรีผู้กำกับดูแลกระทรวงนั้นแล้วและมีหนังสือรายงานให้นายกรัฐมนตรีเสนอแต่งตั้งปลัดกระทรวง ปลัดกระทรวงที่ได้รับแต่งตั้งมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 5 ปี แต่อายุต้องไม่เกิน 65 ปี

ในขณะที่การกำหนดจำนวนลูกจ้างในกระทรวงต่างๆ นั้นเกี่ยวพันกับการบริหารงบประมาณเช่นกัน ปลัดกระทรวงจึงสามารถกำหนดจำนวนการจ้างลูกจ้างของกระทรวงได้เองตามที่เห็นสมควรเพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ของกระทรวงเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งหมดนี้จะนำมาต่อยอดปฏิรูประบบราชการไทยได้หรือไม่ อีกไม่นานจะได้รู้กัน