posttoday

ท้องถิ่นเข้มแข็ง รัฐบาลชาติก็เข้มแข็ง

08 ตุลาคม 2560

"กรมเราเปรียบเหมือนรัฐบาล ทั้งรัฐบาล ทุกกระทรวง ทบวง กรม เป็นหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องไปทำ เขาถึงมีความเชื่อว่า ถ้าท้องถิ่นเข้มแข็ง รัฐบาลชาติจะเข้มแข็งด้วย"

โดย...ธนพล บางยี่ขัน

กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นถือเป็นอีกหน่วยงานสำคัญในยุคแห่งการปฏิรูป ตามหลักคิดกระจายอำนาจออกจากส่วนกลางไปยังท้องถิ่นให้แต่ละพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมบริหารพื้นที่ของตัวเอง อันสอดรับกับหลักประชาธิปไตยสากล

​สุทธิพงษ์ จุลเจริญ อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ที่เพิ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นอธิบดีคนใหม่ เปิดห้องทำงานให้สัมภาษณ์พิเศษถึงภารกิจเร่งด่วน ที่มีหลายงานสำคัญต้องเร่งดำเนินการ ทั้งงานในระดับโครงสร้าง นโยบายและระดับปฏิบัติการ ซึ่งจะต้องร่วมมือกับทุกภาคส่วน

ส่วนหนึ่งต้องมาคุยกับข้าราชการในกรมว่า รัฐบาล รัฐมนตรี ปลัดกระทรวง  มุ่งมั่นอยากเห็น พัฒนาการของท้องถิ่น จึงต้องมาดูว่ามีปัญหาอุปสรรคอะไร อีกส่วนนำผลศึกษาของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่ได้ศึกษาไว้ซึ่งทางกรมได้มีส่วนเสนอความเห็นที่ผ่านมา

อย่างเรื่องการศึกษารัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดให้ท้องถิ่นมีส่วนในการจัดการศึกษาตั้งแต่เด็กเล็กจนถึงอาชีวศึกษา ต้องมาสำรวจตัวเอง และดูจากที่คนประเมินเข้ามาจะพบว่าเรามีจุดอ่อน เรื่องทำให้เด็กไทยเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ มีสติปัญา ความรู้ คุณธรรม ที่ต้องปรับปรุงอีกเยอะ

เราต้องดูเด็กเป็นล้านๆ คนตั้งแต่ศูนย์เด็กเล็กที่ถูกประเมินว่าต้องปรับปรุงเกินครึ่ง ไม่ว่าจะเป็นระดับพอใช้ต้องปรับปรุง ดีแล้วต้องปรับปรุงเพื่อให้ไปสู่ความเป็นเลิศ ล้วนเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องรีบทำ

สุทธิพงษ์  ขยายความว่า  กรมต้องเริ่มทำตั้งแต่ระบบเชิงพื้นที่ หาวิธีประสานความร่วมมือ รูปแบบประชารัฐ ที่นายกฯ ให้ไว้เป็นแนว ซึ่งรัฐบาลมีงบประมาณ มีกำลังคนที่จะสนับสนุนไม่พอ  เราต้องพิจารณาว่าประชารัฐจะมาเสริมอย่างไร ให้ทำงานเร็วขึ้นกว่ารอของบฯ ขอคน จากรัฐบาลอย่างเดียว ​

อีกเรื่องที่สำคัญคือการจัดการขยะ รณรงค์ให้ความรู้ให้คนตื่นตัวต่อเนื่อง ตราบใดคนไม่มีจิตสำนึกเรื่องสิ่งแวดล้อม ก็ไม่มีทางแก้ปัญหาได้ เริ่มตั้งแต่ประชาชนผู้ผลิตขยะ ให้รู้จักลดขยะแยกขยะ ซึ่งเราเคยทำเรื่องขยะแบบไฟไหม้ฟาง คือดีๆ อยู่พักหนึ่งก็เลิก

“แต่เราต้องทำให้ไฟไหม้ฟางแล้วไม่มอดดับ แต่ต้องลุกไปติดขอนไม้ เชื้อเพลิงขนาดใหญ่ ขยายต่อไป เป็นประกายไฟวาบ  ให้คนตื่นตัว​ ทั้งต้นทาง  กลางทาง ปลายทาง”

ที่ผ่านมา ​พ.ร.บ.รักษาความสะอาดเพิ่งคลอดมาไม่นาน ระเบียบกระทรวงมหาดไทยยังไม่สมบูรณ์ ​หาก รมว.มหาดไทยกลับจากสหรัฐ ก็คงจะผ่านได้เพราะผ่านคณะกรรมการร่างกฎหมายของกระทรวงแล้ว

สาระสำคัญคือ หลักสากลที่บอกว่าใครทำให้เกิดขยะ คนนั้นต้องจ่ายค่ากำจัดขยะ ไม่งั้นรัฐบาลอุ้มไม่ไหว ​ค่าจัดเก็บขยะที่ผ่านมากำหนดให้เก็บได้สูงสุดเท่าไรก็ไม่กล้าเก็บสูงสุดเก็บเพียงไม่ถึง 10%  เพราะกลัวเสียคะแนน

นอกจากนี้ เราต้องรณรงค์ สร้างจิตสำนึกให้คนมีส่วนร่วมดูแลชุมชน บ้านเมืองตัวเอง ให้สะอาด​ตามหลัก 3R  รีดิวส์ รียูส รีไซเคิล ควบคู่ไปกับการบริหารจัดการให้มีระเบียบ กฎหมาย ให้การบริหารจัดการอย่างต่อเนื่อง ​ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องขยะเรื่องเดียวแต่รวมถึงทุกเรื่อง

ท้องถิ่นเข้มแข็ง รัฐบาลชาติก็เข้มแข็ง

สุทธิพงษ์ ระบุว่า ที่ผ่านมาก็มีชุมชนนับพันแห่งที่ประสบความสำเร็จในการบริหารจัดการขยะแต่อย่าลืมว่าส่วนที่ดีพันกว่าชุมชนนั้น เมื่อคำนวณแล้วเป็นสัดส่วนที่ไม่เยอะมากหากเทียบกับชุมชนทั้งประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย จึงยื่นคำขาดไว้ เจอที่ไหนก็บอกว่าต้องทำเรื่องนี้ให้สำเร็จ ท่านปลัดกระทรวงยิ่งย้ำใหญ่ว่า รัฐมนตรีสั่งการให้ปลัดกระทรวง ต้องรับผิดชอบผลงานอธิบดีทุกกรมนี่จึงเป็นสองแรงบวก เป็นอาเจนดาที่ท่านคาดหวัง

อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นกล่าวถึงปัญหาเรื่องสิ่งกีดขวางทางน้ำซึ่งเป็นหนึ่งในปัญหาเรื้อรังมานาน การแก้ปัญหาตามวิธีการแบบเดิมใช้เงินเยอะเป็นล้าน เช่น คอสะพานแคบ ก็ต้องมีสะพานกว้างน้ำไหลดี ต้องทำบล็อกคอนเวิร์ส

“แต่โชคดี นายกฯ ให้นโยบาย ผ่านรายการศาสตร์พระราชาเมื่อวันที่ 11 ส.ค.ที่ผ่านมา  เรื่องธนาคารน้ำใต้ดิน ผมเองมาศึกษากับผู้รู้คนที่มีประสบการณ์ ทำอย่างไรหน้าฝนน้ำไม่ท่วม​ ให้น้ำลงไปเก็บไว้ใต้ดิน ด้วยเวลารวดเร็ว น้ำไม่ทันไหลมารวมกันจนไหลบ่าไปท่วมพื้นที่”

ตัวอย่างพื้นที่ที่ทำสำเร็จ เช่น อบต.เก่าขาม อ.น้ำยืน จ.อุบลราชธานี  และพื้นที่ จ.กาฬสินธุ์ หนองคาย กำแพงเพชร ชัยนาท ซึ่งจะต้องใช้โมเดลนี้ขยายไปยังพื้นที่ต่างๆ โดยธนาคารน้ำใต้ดินระบบปิดนั้น จุดหนึ่งใช้งบแค่ 2,000 บาท บริเวณหนึ่งอาจต้องทำหลายจุดให้น้ำลงไปสู่ใต้ดินอย่างรวดเร็ว

ตามหลักวิทยาศาสตร์ น้ำที่ไปอยู่ใต้ดินจะไหลไปในชั้นหิน ชั้นทราย ​เป็นระบบน้ำบาดาลบ้านเรา หากสามารถกักเก็บน้ำมหาศาลได้จะเป็นประโยชน์ต่อแผ่นดินระยะยาว  ​เพราะน้ำฝนที่ตกมา 80% ไหลลงทะเลก่อนลงทะเลก็ท่วมเรือกสวนไร่นา

“กรมเราเปรียบเหมือนรัฐบาล ทั้งรัฐบาล ทุกกระทรวง ทบวง กรม เป็นหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องไปทำ เขาถึงมีความเชื่อว่า ถ้าท้องถิ่นเข้มแข็ง รัฐบาลชาติจะเข้มแข็งด้วย”

สุทธิพงษ์ กล่าวถึงแผนการทำงานว่าส่วนหนึ่งเป็นไปตามระบบงบประมาณซึ่งมีคำขอ พิจารณาความสำคัญ เร่งด่วน โดย พ.ร.บ.งบประมาณฯ 25​​61 มีผลบังคับใช้แล้วต้องเป็นไปตามนั้น ​ซึ่งเน้นการบริหารจัดการที่โปร่งใส มีธรรมาภิบาล

“ที่สำคัญ ต้องการความร่วมมือเรื่องการระดมสมอง การวางกำหนดทิศทางร่วมกันแบบพี่แบบน้อง ประตูห้องอธิบดีเปิดตลอด ผมอยู่ที่ไหน ไม่ว่าจะตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัด ตำแหน่งรองปลัดกระทรวงมหาดไทย ประตูไม่เคยปิด ไม่ว่าจะอยู่หรือไม่อยู่”

ทั้งนี้ จุดมุ่งหมาย ทำสิ่งดีๆ ให้พี่น้องประชาชน แต่ด้วยงบประมาณที่จำกัดอาจจะต้องหาวิธีอื่น ที่มีความยืดหยุ่น เปิดกว้าง หาโนว์ฮาว ใหม่ๆ ตรงตามหลักที่พระเจ้าอยู่หัวสอนไว้ ดูในแง่บริบท ความเป็นจริงของพื้นที่ เข้าใจปัญหา เข้าถึงประชาชน

“เราไม่ปฏิเสธ สิ่งที่มีอยู่ แต่ไม่ปิดกั้นจากสิ่งใหม่ที่สามารถช่วยขับเคลื่อนผลักดันโดยเฉพาะ อย่างยิ่ง ผนึกกำลังทุกฝ่ายจำเป็น ร่วมแรงพัฒนาไปสู่เป้าหมายเดียวกัน คือ ประชาชนเป็นสุข ผม​ย้ำกับทุกคนเสมอ หน้าที่ของกรมคือทำให้ท้องถิ่นเข้มแข็ง ทำงานง่าย สะดวก สบาย เปิดโอกาสให้ประชาชน มีส่วนร่วมทำงานท้องถิ่น ทำให้เกิดความเข้มแข็งของประชาธิปไตยฐานราก”

ส่วนแนวทางแก้ปัญหาเรื่องการทุจริตในท้องถิ่นนั้น สุทธิพงษ์ อธิบายว่า ตามระเบียบกฎหมายมีแล้ว เพียงแต่ต้องกระตุ้นให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมตรวจสอบตั้งแต่ต้นจนจบ  อีกทั้งอธิบดีคนเก่า ได้วางระบบ​ประเมิน ร่วมกับคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ใช้งบประมาณ 200 ล้านบาท ตรงนี้จะเดินต่อไป

สุทธิพงษ์ กล่าวว่า การปฏิรูปรูปแบบการจัดการท้องถิ่นในส่วนของกรมได้เสนอไปหมดแล้วว่า ท้องถิ่นต้องเข้มแข็ง ทั้งเชิงโครงสร้าง งบประมาณ แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ  บางองค์การบริหารส่วนตำบลขนาดใหญ่เกินไป เทอะทะ ทำให้งบลงทุนไม่มี ไม่สามารถดูแลพื้นที่ แก้ปัญหาประชาชนได้

“บางแห่ง มีผู้บริหารมาจากการเลือกตั้ง มากถึง 50 กว่าคน ​มีงบประจำเยอะทั้ง เบี้ยประชุม เงินเดือน บางชุมชนมีสองสามหมู่บ้านเป็นหนึ่งองค์กร รายได้น้อย ประชากรนิดเดียว เรื่องอำนาจหน้าที่มีความทับซ้อน แต่ทั้งหลายทั้งปวงแนวทางปฏิรูปยังไม่มีความชัดเจน เพราะกฎหมาย ที่คณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูป ด้านการปกครองท้องถิ่น สปท.ยังไม่คลอด ต้องรอความชัดเจนอีกที”

ส่วนการดูแลคุณภาพชีวิตคนนั้น กระทรวงมหาดไทยได้ขับเคลื่อนสำเร็จทำให้มีศูนย์ช่วยเหลือประชาชน โดยออกเป็นระเบียบกระทรวงมหาดไทยแล้ว ทำให้ช่วยเหลือประชาชนร่วมกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงแรงงาน เหล่ากาชาดจังหวัด ช่วยผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส สตรี เด็ก ผู้ตกงาน มีปัญหา ​ร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ ​อปท.

เมื่อระเบียบมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 30 ส.ค.แล้ว ทำอย่างไรให้ทุกภาคส่วนร่วมมือทำงาน ไม่มีบริบทความเป็นกระทรวง ทบวง กรม แต่ร่วมมือเป็นหนึ่งเดียวสู่เป้าหมายประชาชนเป็นสุข ซึ่งจะต้องปลุกเร้าประสานเป็นกาวใจกับทุกหน่วยงานส่วนกลาง ภูมิภาค ไม่ให้รังเกียจเดียดฉันท์ อปท. รวมทั้งประสาน สตง​. ป.ป.ช. สนับสนุนท้องถิ่นให้ทำงานโปร่งใส คล่องตัว​

ท้องถิ่นเข้มแข็ง รัฐบาลชาติก็เข้มแข็ง

ถามว่าท้องถิ่นเวลานี้เราเข้มแข็งมากน้อยแค่ไหน มันเข้มแข็งไม่ได้หรอกตอนนี้ในแง่กฎหมาย  งปบระมาณ ที่มีอยู่อย่างจำกัด  เลยทำให้ผลงานไม่ดี แก้ไขปัญหาชาวบ้านที่เดือดร้อนไม่ได้ ความศรัทธา ชื่นชม ยกย่องเลยไม่มี ดังนั้นถามว่าเข้มแข็งในเชิงอุดมคติหรือไม่ก็ไม่เข้มแข็งหรอก แต่เข้มแข็งไหมในภาวะจำกัดก็ต้องบอกว่าเข้มแข็งมาก

เป้าหมายที่ต้องทำอีกหลายเรื่องโดยเฉพาะด้านสังคม ได้แก่ เรื่องความเสมอภาคระหว่างเพศ ยกระดับ การอ่านหนังสือ สนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพราะเรื่องการศึกษาเป็นเรื่องใหญ่ ท้องถิ่นต้องเป็นแกนนำ ไม่ใช่เฉพาะการศึกษาในระบบ แต่ต้องรวมถึงนอกระบบ การเรียนรู้ตลอดชีวิต ​

อีกเรื่องหนึ่งที่เหมือนเป็นสัญญาประชาคม คือ ประสานผลักดันให้ตำแหน่งท้องถิ่นอำเภอเป็นภูมิภาค มีศักดิ์เป็นหัวหน้าส่วนราชการระดับอำเภอ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจในการดูแลทุกข์สุขประชาชน ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่านี้ 

โดยทางปลัดกระทรวงมหาดไทยก็ให้การสนับสนุนเต็มที่ อนุญาตให้ผู้เชี่ยวชาญ 9 ด้านบริหารงานบุคคล ของสำนักงานปลัดกระทรวง มาช่วยราชการ ทำเรื่องนี้โดยเฉพาะ

สุทธิพงษ์ กล่าวอีกว่า ยังมีเรื่องที่ ทาง รมว.มหาดไทย มอบหมาย คือเรื่องดูแลเศรษฐกิจฐานราก ควบคู่ไปกับกรมพัฒนาชุมชน กรมการปกครอง องค์การตลาด รัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงมหาดไทย ซึ่งงานหนักคือ ทำยังไงให้พี่น้องเกษตรกร มีแหล่งสำหรับแลกเปลี่ยนซื้อขาย

“ทั้งหมดเพื่อรวมพลังสามทหารเสือในนามของกระทรวงมหาดไทยคือ กรมการปกครอง กรมการพัฒนาชุมชน และกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น ช่วยกันนำเอาศาสตร์พระราชา เศรษฐกิจพอเพียง ของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาเป็นวิถีชีวิตของประชาชน ​สร้างความเข้มแข็ง ของชุมชน ครอบครัว ประเทศ” สุทธิพงษ์ กล่าว