posttoday

เปิดใจ "อดีตเลขาธิการสภาฯ" ล้างบางวิถีโกง ข้าราชการต้องอย่าร่วมมือ

01 ตุลาคม 2560

"บางครั้งก็ถูกนักการเมืองเร่ง เขย่าทุกวัน ล่าช้า เข้าข้าง คนถูกลงโทษมาฟ้องบ้าง ไปร้องอะไรต่ออะไร เพราะคนไม่ทำตามกติกา"

โดย...ชัยรัตน์ พัชรไตรรัตน์

สร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับแวดวงข้าราชการ เมื่อ “จเร พันธุ์เปรื่อง” อดีตเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ในฐานะที่ปรึกษาประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้ออกมาเขียนจดหมายอำลาถึงพี่น้องสีกากี ก่อนวันเกษียณอายุราชการอย่างเป็นทางการในปลายเดือน ก.ย.นี้ ซึ่งมีใจความสำคัญถึงเรื่อง “ทุจริต”   

จเร เล่าผ่าน “โพสต์ทูเดย์” ถึงวัตถุประสงค์ที่เขียนประเด็นดังกล่าว เนื่องจากได้รับการติดต่อประสานงานจากสำนักงานปลัดสำนักนายกฯ ให้ช่วยเขียนแง่คิดการทำงานถึงข้าราชการลงหนังสือที่ระลึกเพื่อแจกในงานวันเกษียณราชการ ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 25 ก.ย.ที่ผ่านมา โดยไม่มีเจตนาอย่างที่ปรากฏเป็นข่าว

“ตอนแรกผมจะเขียนในทำนองขอบคุณสำนักงานปลัดฯ พอเขียนไปนึกได้ว่าข้าราชการจะได้อะไร ก็เลยเปลี่ยนใหม่ และทางสำนักฯ อยากได้แนวคิดในการปฏิบัติงาน ก็เลยเล่าว่าเป็นยังไง ยึดมั่นอะไร ทำงานอย่างไร ยึดคติแนวทางในการทำงาน คือ ซื่อสัตย์ ขยัน อดทน ซึ่งเป็นเรื่องที่ผมยึดมั่นมาตลอด”

จเร อธิบายคำว่า ซื่อสัตย์ ถ้าคนยึดมั่นในความถูกต้องสุจริต ไม่โกง ก็สามารถพัฒนาได้ แม้จะไม่ได้เรียนสูงมาก ก็สามารถส่งไปเรียนต่อ พัฒนาฝึกอบรมให้มีความเชี่ยวชาญได้ ถ้าโกง ก็หมด ถ้าพัฒนาให้เก่งและฉลาดเท่าไร ก็ยิ่งโกงมาก ขยัน คือ ตั้งใจทำงาน ไม่ปริปากบ่น ให้รู้ว่าภารกิจมีอะไรต้องทำอย่างไร หรือจัดวางแนวทางในการทำงาน ฝึกได้ และ อดทน คือ ไม่เหยาะแหยะ มีงานยากก็ไม่บ่น มีปัญหาก็ปรึกษาหารือเพื่อหาทางแก้ไข ไม่ใช่เจออุปสรรคก็เลิกล้ม

“ครอบครัวผม พ่อ แม่ ภรรยา ลูก มีความเห็นตรงกันในเรื่องพวกนี้ ผมมาจากสังคมเกษตรกร ครอบครัวผมเป็นชาวไร่ชาวนา เป็นคน จ.เพชรบุรี ไม่มีอะไร เราถือว่าเราเริ่มต้นจากศูนย์ มาถึงขนาดนี้ รับราชการมาได้ขนาดนี้ ไม่ต้องไปหาอะไรแล้ว เพราะเงินทองที่ได้รับจากหลวงก็ถือว่าเยอะแล้ว”

เปิดใจ "อดีตเลขาธิการสภาฯ" ล้างบางวิถีโกง ข้าราชการต้องอย่าร่วมมือ

อดีตเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ฉายภาพปัญหาทุจริตแวดวงราชการด้วยเสียงยืนยันหนักแน่นว่า  “ผมผ่านมาหมดทั้งยุคเลือกตั้งและแต่งตั้ง มันอยู่ที่คน ไม่ใช่วิธีการมา เพราะคนไม่ดีพยายามแทรกเข้ามาในทุกวงการ ในการเลือกตั้งจะไปอยู่พรรคนั้น พรรคนี้ ตรงนี้ก็เหมือนกัน เพื่อมีโอกาสได้เข้ามา ดังนั้น จึงไม่แตกต่างอะไร”

“ใน สปท. สปช. คราวที่แล้วก็เห็นพูดขึ้นมา แม้กระทั่งกลางแจ้งไม่ให้อันนั้น อันนี้เขา อะไรต่ออะไร ข้าราชการดีๆ ยังไม่กล้าเสนอผลงาน แต่เสนอตัวเองดีอย่างนั้น อย่างนี้ ทำนั่น ทำนี่ ยังไม่กล้าเลยข้าราชการ แต่คนไม่ทำกล้าขอ หรือเสนอ ยกยอตัวเอง หลอกทั้งนั้น ดังนั้น สรุปได้ว่าไม่ว่าในยุคไหนที่เข้ามาก็ไม่ได้แตกต่าง”

สำหรับเด็กฝากในรัฐสภา จเร ยอมรับว่ามีบ้าง แต่ส่วนตัวบอกว่าอย่างน้อยๆ คะแนนต้องผ่านเกณฑ์มาตรฐานสอบเข้า และพยายามผลักดันให้ กร.มีมติว่าคนที่จะสอบต้องผ่าน ภาค ก. กพ. คือ เป็นคนมีคุณภาพ ผ่านเกณฑ์มาตรฐานมา คะแนนต้องผ่าน แต่ส่วนใหญ่คงจะช่วยกันในเรื่องสัมภาษณ์ ซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายหลังจากผ่านเกณฑ์แล้ว

“ผมคิดว่าการเข้ามารับราชการ ไม่ว่าที่ไหนก็แล้วแต่ เด็กเรียนจบยังไม่มีงานทำ วัตถุประสงค์ต้องการงาน และทำทุกอย่างเพื่อให้ได้งาน พ่อแม่พาไปฝากใครต่อใคร บางทีอาจจะรู้ไม่รู้บ้าง แต่เมื่อเข้ามาทุกครั้งจะมีสัมมนาข้าราชการใหม่ ผมจะบอก ไม่รู้ใครจะเป็นอะไรมาจากไหน ทุกคนต้องการเข้ามาทำงานที่นี่ และยินดีต้อนรับ แต่ฝากไว้อย่างหนึ่ง เมื่อเข้ามาต้องให้เท่าเทียมกันทุกคน อย่ามาเอาเปรียบหรือวิ่งเต้น ที่แล้วๆ มาถือว่าไม่รู้ จบ เมื่อเข้ามาแล้วก็ตั้งใจทำงานไป”

จเร ระบุว่า ส่วนตัวพยายามบอกว่าการเป็นหัวหน้าส่วนราชการ 1.ต้องดูว่าทุกคนเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา ไม่ใช่พวกนั้น พวกนี้ 2.คุ้มครองสิทธิของข้าราชการ ดูแลให้ประโยชน ให้โอกาส พอๆ กัน คนเก่งต้องได้ขั้นมาก มีผลงานมาแสดงเป็นที่ประจักษ์ ขณะเดียวกันคนนอกลู่นอกทางทำผิดระเบียบวินัย ก็ต้องดำเนินการ เพราะคนดีๆ ดูอยู่ ถ้าเกิดคนโกงได้ดี คนดีมันจะไปตาม ซึ่งต้องรักษาคนดี

จเร ยกตัวอย่าง เมื่อมีเรื่องร้องเรียนก็ต้องตั้งคณะกรรมการสอบเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริง รวมถึงตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัย บางทีเรื่องมันเยอะทำให้ช้า ทยอยออก ครั้นจะตั้งกรรมการหลายๆ คณะคงไม่มีคนทำงาน บางครั้งก็ถูกนักการเมืองเร่ง เขย่าทุกวัน ล่าช้า เข้าข้าง คนถูกลงโทษมาฟ้องบ้าง ไปร้องอะไรต่ออะไร เพราะคนไม่ทำตามกติกา คือ คนถูกลงโทษแทนที่จะไปอุทธรณ์ตามขั้นตอน ผลที่สุดกรรมตามสนอง ผลร้ายจะตกกับตัวเอง

อดีตเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ยกแนวทางการแก้ปัญหาทุจริตให้สอดรับกับยุค 4.0 ซึ่งถือว่าจำเป็นสำหรับระบบราชการ และเทคโนโลยีสมัยนี้ไว จึงควรใช้ระบบไอทีมาตรวจสอบ โดยเฉพาะการจัดซื้อจัดจ้าง ขั้นตอนการดำเนินงานทั้งหมด แบบเปิดเผย ซึ่งกฎหมายข้อมูลข่าวสารบังคับ แต่ที่ผ่านมาก็เงียบ

“ข้าราชการต้องร่วมมือกัน เพื่อสร้างระบบรู้ทันกลไก และที่สำคัญเป็นการพัฒนาการทำงานของข้าราชการ แต่ที่ผ่านมาข้าราชการเอาเปรียบกันเอง คนที่ไม่ค่อยมีความรู้ความสามารถเรื่องงาน จะเอาใจเก่ง ถ้าลองสังเกต โดยเฉพาะที่สภา เด็กคนไหนทำงานเก่ง จะไม่ค่อยสนใจ แต่งานเป๊ะ

...คนไม่เก่ง ทำงานไม่เป็น จะเอาใจทางธุรการซื้อโน่นนี่นั่น พาไปนั่นไปนี่ จ๊ะจ๋า แต่งตัวดี พวกนี้จะหาเรื่องกลบเกลื่อน สนิทคนนั้น คนนี้ เพื่อเอาเปรียบและโตแซงเป็นผู้บริหาร สำนักงานก็เละเทะไม่มีประโยชน์อะไร แม้ความหวังนั้นจะมีอยู่ แต่คงต้องใช้เวลากับมัน”

เปิดใจ "อดีตเลขาธิการสภาฯ" ล้างบางวิถีโกง ข้าราชการต้องอย่าร่วมมือ

จเร บอกด้วยน้ำเสียงสบายใจหลังถูกย้ายให้มาทำหน้าที่ที่ปรึกษาประจำสำนักนายกฯ แม้วันแรกจะตกใจบ้าง แต่ต้องขอบคุณหัวหน้า คสช. ทำให้ไม่ต้องแบกรับภาระอะไรกับปัญหาการก่อสร้างรัฐสภาใหม่ พร้อมอธิบายว่าที่เป็นปัญหาเนื่องด้วยการก่อสร้างมี 3 ส่วน คือ สำนักงานฯ บริษัทที่ปรึกษา ผู้ควบคุมงาน ผู้รับจ้างก่อสร้าง ทั้งหมดมีหน้าที่รับผิดชอบ และสภามีหน้าที่กำกับ โดยมีคณะกรรมการตรวจการจ้างเป็นผู้ดูแล ว่าเป็นไปตามสัญญา เบิกจ่ายได้หรือไม่

จเร ขยายความว่า สิ่งที่ล่าช้า เพราะการส่งมอบพื้นที่ ไม่ใช่ความผิดของสภา เนื่องจากปัญหามาจากสมัยน้ำท่วม ส่วนราชการที่ต้องส่งมอบพื้นที่ก็ย้ายออกไม่ได้ รวมถึงโรงเรียน เรื่องพวกนี้เป็นปัญหาในการสร้างที่ใหม่ของเขา แต่เวลาส่งมอบพื้นที่ตรงอาคารหลัก ทยอยส่ง อาคารรอบๆ มีปัญหาบ้าง ที่กองดินสิ่งเหล่านี้มันสามารถขอขยายเวลาได้

ทั้งนี้ ต้องดูเหตุผล ถ้ามีเรื่องเสนอมาต้องพิจารณา เช่น ขอขยายระยะเวลา ต้องพิจารณารอบคอบ เพราะเงินจำนวนมากที่ต้องรับผิดชอบ และตามระเบียบการขยายสัญญา ทำได้ก่อนเสร็จหมดอายุสัญญา ซึ่งก็มีระยะเวลาพิจารณาได้อย่างรอบคอบ แก้แบบก็อาจมีความเห็นไม่ตรงกัน เป็นเรื่องปกติธรรมดา

“เรื่องดินที่บอกทุจริต แล้วมันเกี่ยวอะไรกับเรา ดินบริจาคมูลนิธิหนึ่ง ก่อนที่พวกเราจะเข้ามา แล้วการบริจาคดิน ซึ่งดินมันอยู่ในโครงการ โดยผู้รับบริจาคตักไปแล้วก็เป็นกรรมสิทธิ์ของเขาเลย มันไม่ใช่หน้าที่ของเราตามไปดู มีแต่เราเร่งให้เขามารับไปเร็วๆ ด้วยซ้ำ และมีการพูดซ้ำๆ ว่าโกง จนคนฟังคิดว่าเรามีส่วนเอี่ยว ผมรู้แก่ใจ พอมีการพูดกันมาเยอะๆ ผมสั่งระงับบริจาคในส่วนนี้ มีการขอให้เอาดินไปลงที่ดินธนาคารกรุงไทย ประมาณ 60 ไร่ ซึ่งจะมีการถม และเราเตรียมทำเอ็มโอยูแล้ว

...จะส่งให้กระทรวงการคลังพิจารณาว่าจะเอาเท่าไร และธนาคารกรุงไทยก็คือของกระทรวงการคลัง เราคิดง่ายๆ เพราะเป็นของรัฐ และบริจาคให้วัด พอเวลาพูดเรื่องทุจริตก็ว่าทั้งวง ผมไม่รู้จงใจหรือไม่ ไม่อยากเถียงอะไร เพราะเป็นเรื่องทางโลก ไม่อยากโต้เถียง เป็นไปได้ว่านักธุรกิจพอถึงเวลาก็อยากทำอะไรให้ได้ประโยชน์ของเขามาก เป็นเรื่องปกติ แต่ทางสำนักงาน คือ ส่วนราชการ ก็ต้องไปดูแลให้เป็นไปตามกฎกติกา มันอาจช้าไปบ้าง แต่เป็นเรื่องปกติ ส่วนตัวไม่คิดขัดแย้งกับใคร หรือโกรธอะไร”

จเร ตั้งข้อสังเกตถึงการก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ ที่เคยระบุก่อนหน้านี้ อาจผิดมาตั้งแต่แรก คนเชี่ยวชาญทางด้านโครงการก่อสร้างในส่วนราชการ คือ กรมโยธาธิการ และทำไมไม่จัดการตั้งแต่แรกทั้งหมด เอามาทำเองทำไม เมื่อเทียบกับเรื่องดิน เหมาหรือให้ใครจัดการไป มันก็จบ หรือบริจาคไปเลย เพราะดินมูลค่า 20 ล้านบาท แต่เวลารัฐสภาเสียค่าปรับวันละ 12.28 ล้านบาท สองวันเกินราคาดิน ทำไมต้องมาทำอะไรให้ยุ่งยาก

จเร บอกว่า หลังจากเกษียณอายุราชการ คงจะไปสอนหนังสือในด้านกฎหมายเพราะจบปริญญาเอกด้านนี้ หรือจะให้ไปสอนฟรีก็ยินดี ซึ่งช่วงนี้ก็รับงานสอนให้กับบางมหาวิทยาลัยเอกชนและมหาวิทยาลัยรัฐ 2-3 แห่ง นอกจากนี้ ส่วนตัวยังเป็นกรรมการของมหาวิทยาลัยราชมงคลอีสาน ซึ่งเป็นสถาบันที่จะพัฒนาระบบราง กับซ่อมอากาศยาน จะพยายามผลิตบุคลากรออกมาทำงานได้จริงทั้งในทางทฤษฎีและปฏิบัติ โดยไม่ต้องไปฝึกอีก