posttoday

"มีฝีมือแต่ไม่มีรายได้" มาตรฐานค่าแรงไม่เป็นธรรม?

01 ตุลาคม 2560

แรงงานฝีมือหลายคน เมื่อผ่านการรับรองว่ามี"ฝีมือ"ในงานที่รับผิดชอบ กลับไม่ได้การเพิ่มค่าจ้างจากนายจ้าง

โดย...กันติพิชญ์ ใจบุญ

ขณะที่รัฐบาลเร่งผลักดันพัฒนาฝีมือแรงงานของไทยให้โดดเด่นในสาขาต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อหวังให้ส่งต่อผ่านผลงานที่ดีเยี่ยมในแง่ของอุตสาหกรรมต่างๆ และในทางกลับกันแรงงานก็หวังว่าการอบรมจะเพิ่มรายได้ให้กับตัวเอง เพราะฝีมืองานช่างได้ผ่านการรับรอง

แต่อีกมุมจาก ชาลี ลอยสูง รองประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย กลับมองว่า การพัฒนาฝีมือแรงงานคืออุปสรรคที่ไม่ได้สร้างชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นให้กับแรงงานไทยในทุกคน

ผลพวงที่ว่าเป็นอีกองค์ประกอบของเหตุผลที่นำไปสู่ข้อเรียกร้องให้มีการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำจาก 360 บาท/วัน ให้ทะยานไปอยู่ที่ 700 บาท/วันแทน

ทำไมการพัฒนาฝีมือแรงงานจึงกลายเป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีพของแรงงานไทยตามมุมมองของชาลี เขาได้อธิบายไว้อย่างน่าสนใจว่า การอบรมต่างๆ เกี่ยวกับการพัฒนาฝีมือของแรงงานไทย ไม่ได้สอดคล้องกับภาวการณ์จริงในปัจจุบัน เพราะการอบรมที่กระทรวงแรงงานจัดขึ้นเป็นประจำนั้น ไม่อาจครอบคลุมกับจำนวนแรงงานที่ต้องการฝึกปรือฝีมือตัวเอง และทั้งหมดก็หวังว่าการรับรองฝีมือจากหน่วยงานรัฐจะเป็นกลไกสำคัญที่จะต่อยอดค่าจ้างให้พวกเขามากขึ้นกว่าปัจจุบัน

“อย่างเช่น การอบรมพัฒนาฝีมือด้านช่าง ซึ่งจำกัดแค่ในพื้นที่ส่วนกลางไม่ได้กระจายออกไปยังต่างจังหวัดมากนัก อีกทั้งยังกำหนดให้เพียงแค่หลักพันคน หรือมากสุดก็ไม่เกิน 1 หมื่นคน ขณะที่ความเป็นจริง แรงงานมีนับแสนคนคนอื่นๆ ก็ไม่ได้รับโอกาสในการพัฒนาฝีมือ นี่เป็นแค่ตัวอย่างของปัญหา” ชาลี ฉายภาพ

อีกปัญหาที่ตามมาอันเนื่องจากผลสำรวจที่ชาลีอ้างอิงจากแรงงานทั่วประเทศ พบว่าแรงงานฝีมือหลายคน เมื่อผ่านการรับรองว่ามี “ฝีมือ” ในงานที่รับผิดชอบ กลับไม่ได้การเพิ่มค่าจ้างจากนายจ้าง นั่นเพราะไม่มีกฎหมายข้อใดบังคับนายจ้างได้ว่าต้องจ่ายเพิ่มให้กับแรงงานที่ผ่านการรับรอง ทุกอย่างอยู่ที่การตกลงกันระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง ซึ่งไม่ได้มีมาตรฐานใดๆ มากำหนดว่าผ่านการรับรองแล้วจะต้องได้รับเงินเพิ่ม

เหตุผลสำคัญข้อนี้จึงทำให้แรงงานไทยบางส่วนหรือส่วนใหญ่ ไม่ได้ต้องการจะนำตัวเองเข้าไปพัฒนาหรืออบรมฝีมือให้ดียิ่งขึ้น เพราะคิดว่าไม่ได้เกิดประโยชน์ใดๆ ต่อค่าแรงที่หวังว่าจะขยับตามฝีมือ

อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นข้อเรียกร้องให้มีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของแรงงานไทย แต่ชาลีมองว่ารัฐบาลควรจะต้องยกเลิกเรื่องของแรงงานขั้นต่ำได้แล้ว เพราะการกำหนดค่าแรงไม่ได้มีประสิทธิภาพ และไร้ซึ่งประโยชน์สำหรับแรงงาน และควรจะปรับเป็นค่าจ้างแรกเข้าขั้นต่ำ และออกกฎหมายให้นายจ้างต้องปรับขึ้นค่าแรงในทุกปีจะมากน้อยก็อยู่ที่กำลังของนายจ้าง ซึ่งก็ควรจะเพิ่มขึ้นให้กับแรงงาน โดยเป็นหัวใจของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยเช่นกัน

อีกข้อคิดเห็นจาก มนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย ที่เห็นว่านอกเหนือจากการอบรมที่อาจไม่ก่อเกิดประโยชน์ต่อแรงงานไทยแล้ว ขณะที่การดำรงชีพของแรงงานด้วยการซื้อหาสินค้าก็เป็นปัญหาที่เชื่อมกับรายได้ของพวกเขาด้วยเช่นกัน

มนัส ฉายภาพว่า ราคาสินค้าที่แพงโดยเฉพาะร้านเบ็ดเตล็ด ตลาดสด ซึ่งใกล้ชิดกับการใช้ชีวิตของแรงงาน ทำให้เกิดผลกระทบกับรายได้แต่ละวัน ซึ่งกลุ่มร้านค้าเหล่านี้รัฐบาลเข้าไม่ถึงในการควบคุมราคา

“หากรัฐบาลหันมาควบคุมราคาสินค้าอย่างชัดเจนกับกลุ่มผู้ค้าเหล่านี้ ก็จะช่วยการดำรงชีพของแรงงานได้เป็นอย่างดี เพราะหากไปตั้งความหวังว่ารัฐบาลจะปรับขึ้นค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำหรือไม่ คำตอบเราก็ยังไม่อาจเห็นได้ชัดเจน แต่สิ่งสำคัญคือแรงงานจะต้องอยู่กับปัจจุบันไว้ก่อน แน่นอนว่าเราเห็นด้วยกับการปรับขึ้น แต่ขณะนี้ปัญหาคือราคาสินค้าแพงและแรงงานกำลังจะอยู่ไม่ได้” มนัส สะท้อนถึงปัญหา

\"มีฝีมือแต่ไม่มีรายได้\"  มาตรฐานค่าแรงไม่เป็นธรรม?

แต่ในมุมของกระทรวงแรงงาน กลับเป็นข้อคิดเห็นที่น่าสนใจไม่น้อย

วรานนท์ ปีติวรรณ อธิบดีกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ให้ภาพว่าแรงงานจะผ่านเกณฑ์มาตรฐานเพื่อชี้วัดถึงระดับฝีมือนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย และถือว่าเป็นงานหินที่กว่าแรงงานจะผ่านการอบรม ผ่านบททดสอบ เพื่อให้ผ่านการรับรองและสามารถนำใบรับรองนั้นไปขึ้นค่าแรง สร้างรายได้ให้กับตัวเองได้แน่นอน เพราะกระทรวงแรงงานก็มีเกณฑ์กำหนดให้นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างตามระดับฝีมือของแรงงานอยู่แล้ว

“แน่นอนว่าบนสมมติฐานที่ว่านายจ้างไม่อยากจะจ่ายค่าจ้างเพิ่มให้กับแรงงานที่ผ่านการอบรมย่อมเป็นความจริงอยู่บ้าง แต่คงไม่ใช่ทั้งหมด ลองคิดในมุมกลับกัน นายจ้างจะไม่ยินดีหรือหากลูกจ้างมีฝีมือ นายจ้างจะอยากเก็บคนเก่งๆ ไว้กับตัวบ้างหรือไม่ ผมเชื่ออย่างหลังมากกว่า”วรานนท์ ให้ความเห็น

ท้ายสุด อธิบดีกรมการจัดหางาน เสริมว่า กระนั้นการสร้างแรงงานให้สอดรับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของรัฐบาล กระทรวงแรงงานก็ต้องมุ่งไปในทิศทางดำเนินการพร้อมกับกระทรวงศึกษาธิการ เพื่อแปรเปลี่ยนทิศทางการสร้างเยาวชนขึ้นมารองรับงานในอนาคต จากเดิมที่เด็กหันไปเรียนระดับปริญญาตรีจนจบออกมาและมากเกินกว่าความต้องการของตลาด ทำให้หลายคนต้องรองานนานมากขึ้น แต่ใช่ว่าจะไม่มีงานทำ