posttoday

ชำแหละเส้นทาง 'นพรัตน์-พนม' จาก ผอ.พศ.สู่ผู้ต้องหาโกงเงินวัด

26 กันยายน 2560

จากปฏิบัติการจู่โจมตรวจค้นสายฟ้าแลบของ บก.ปปป. รวม 14 จุด เป้าหมายสำคัญคือบ้านพักของ นพรัตน์- พนม อดีตผอ.พศ. เพื่อหาหลักฐานเชื่อมโยงการทุจริตเงินอุดหนุนวัด

โดย...ทีมข่าวในประเทศโพสต์ทูเดย์

จากปฏิบัติการจู่โจมตรวจค้นสายฟ้าแลบของกองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ หรือ บก.ปปป. ช่วงเช้าตรู่สัปดาห์ที่ผ่านมา รวม 14 จุด เป้าหมายสำคัญคือบ้านพักของ นพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) และ พนม ศรศิลป์ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาฯ เพื่อหาหลักฐานเชื่อมโยงการทุจริตเงินอุดหนุนวัด ที่มีทั้งงบบูรณปฏิสังขรณ์ งบศึกษาพระปริยัติธรรม และงบเผยแผ่พระพุทธศาสนา รอบนี้เป็นการสอบสวนขยายผล มีการแจ้งข้อกล่าวหาผู้กระทำผิด 19 คน รวมถึง "นพรัตน์-พนม" ในคดีทุจริตเงินทอนวัด โดยมีพระชั้นผู้ใหญ่ร่วมด้วย 4 รูป ความเสียหายกว่า 141 ล้านบาท

เมื่อตัวละครสำคัญอย่างอดีตผู้อำนวยการ พศ.เป็นผู้อยู่เบื้องหลังแผนโกงเงินอุดหนุนงบประมาณวัดฯ ทำให้วงการพระพุทธศาสนาได้รับความเสียหายอย่างใหญ่หลวง หลายคนสงสัยว่าบุคคลเหล่านี้เป็นใคร ทำไมถึงมีอำนาจทุจริตเบียดบังงบประมาณวัดไหลเข้ากระเป๋าส่วนตัวและเครือข่าย

สำหรับนพรัตน์เป็นผู้อำนวยการ พศ.คนที่ 6 ได้รับการแต่งตั้งเมื่อ วันที่ 24 ส.ค. 2553 ในสมัย อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น หลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบตามที่ พศ.เสนอแต่งตั้ง โดยนพรัตน์เกิดวันที่ 12 พ.ย. 2496 จบปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวกรรมโยธา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ปริญญาโท รัฐ ประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต สาขานโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยบูรพา จบหลักสูตรการเมืองการปกครองสำหรับนักบริหารระดับสูง รุ่นที่ 12 สถาบันพระปกเกล้า ฯลฯ

อดีตผู้อำนวยการ พศ.รายนี้ รับราชการครั้งแรก วันที่ 8 ก.พ. 2531 ในตำแหน่งวิศวกรโยธา ระดับ 3 มีผลงานออกแบบที่สร้างชื่ออย่างโครงการสร้างวัดไทย ประเทศเนปาล วัดไทยพุทธคยา ประเทศอินเดีย จากนั้นได้รับการแต่งตั้งให้เป็นวิศวกรโยธา 8 วช. กองพุทธศาสนสถาน ปี 2545 และได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้อำนวยการกองพุทธศาสนสถาน ปี 2546 ชีวิตราชการเติบโตต่อเนื่อง กระทั่งได้เป็นรองผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ระดับ 9 ในปี 2550 ตามลำดับ

นพรัตน์มีผลงานผลักดันดูแลหลายโครงการ เช่น โครงการพัฒนากิจการคณะสงฆ์ชายแดนใต้ ประจำปีงบประมาณ 2553 ทั้งเรื่องของการศึกษาพระปริยัติธรรมของคณะสงฆ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ อบรมพระธรรมทูต โครงการวัดช่วยวัด เพื่อกระตุ้นให้วัดที่มีศักยภาพให้การช่วยเหลือ ดูแลวัดในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ โครงการส่งเสริมความมั่นคงของพระพุทธศาสนาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ การอุดหนุนการส่งเสริมการเผยแพร่พระพุทธศาสนา ฯลฯ

อดีตผู้อำนวยการ พศ.ผู้นี้ยังเป็นที่กล่าวขานว่า มีสายสัมพันธ์อันดีกับวัดพระธรรมกาย เคยเป็นเลขานุการวัดพระธรรมกายสนับสนุนการจัดงานพิธีบุญสารพัดที่ทางวัดจัดขึ้น อำนวยความสะดวกด้านพระพุทธศาสนาจนออกหน้าออกตา เคยร่วมขบวนทำบุญตักบาตร "ธุดงค์ธรรมชัย" ที่เคยจัดขึ้นอย่างใหญ่โต ก่อนเกษียณราชการในเวลาต่อมา กระทั่งตำรวจสืบเชิงลึกจนพบว่ามีส่วนทุจริตงบอุดหนุนวัด และเป็นตัวการใหญ่โกงเงินทำนุบำรุงศาสนา ก่อนที่นพรัตน์จะไหวตัวหลบหนีไปต่างประเทศอย่างลอยนวลในปัจจุบัน

ขณะที่ พนม ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ คนที่ 7 ต่อจาก "นพรัตน์" ได้รับการแต่งตั้งจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2557 ในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ในปัจจุบัน มีกระแสข่าวว่าได้รับการ ผลักดันอย่างสุดลิ่มจาก "นพรัตน์"

สำหรับ 'พนม' เกิดวันที่ 9 ก.พ. 2502 จบการศึกษาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (ศศ.ม.) มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ผ่านหลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูง การบริหารงานภาครัฐ และกฎหมายมหาชน รุ่นที่ 13 จากสถาบันพระปกเกล้า ปี 2557

ประวัติการรับราชการ เคยเป็นรองผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ผู้อำนวยการกองพุทธศาสนศึกษา สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ผู้อำนวยการกองกลาง สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดหนองบัวลำภู

มีผลงานเป็นประธานคณะทำงานจัดทำแผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการการพัฒนาการศึกษาพระปริยัติธรรมของคณะสงฆ์ทั้ง 3 แผนก คือ แผนกธรรม แผนกบาลี และแผนกสามัญศึกษา ประธานคณะทำงานโครงการสร้างความปรองดองสมานฉันท์โดยใช้หลักธรรมทางพระพุทธศาสนา "หมู่บ้านรักษาศีล ๕" ตามนโยบายของมหาเถรสมาคม และรัฐบาล

อย่างไรก็ตาม หลังนั่งเก้าอี้ผู้อำนวยการ พศ.ไปได้ 2 ปีกว่า พล.อ.ประยุทธ์ ใช้อำนาจตามมาตรา 44 รัฐธรรมนูญชั่วคราว เมื่อวันที่ 26 ก.พ. 2560 ให้พนมพ้นจากตำแหน่งผู้อำนวยการ พศ. ไปดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการพิเศษประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และให้ พ.ต.ท.พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ ผู้บัญชาการสำนักคดีภาษีอากร กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) มาดำรงตำแหน่งแทน

สาเหตุการปลดพ้นตำแหน่งผู้อำนวยการ พศ. คาดว่ามาจากท่าทีนิ่งเฉยในการดำเนินคดีกับพระธัมมชโย อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย จากกรณีที่ พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีดีเอสไอ ทำหนังสือถึงผู้อำนวยการ พศ.ให้ดำเนินการกับพระธัมมชโยที่เข้าข่ายผิดอาญา แต่พนมกลับไม่ปฏิบัติตาม อ้างว่าอยู่ระหว่างรวบรวมเอกสารบ้าง เรื่องนานแล้วบ้าง เป็นเรื่องละเอียดอ่อน อยู่ระหว่างกำลังสืบสวน จนสุดท้ายระยะเวลาผ่านไปก็ไม่สามารถจัดการกับพระธัมมชโยได้

กระทั่งท้ายที่สุด พ.ต.ท.พงศ์พร ผู้อำนวยการ พศ.คนที่ 8 ได้ขุดคุ้ยพบการทุจริตในสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ จนขยายผลสืบทราบว่ามีอดีตผู้อำนวยการ พศ.ทั้งสองรายเข้ามามีส่วนร่วมทุจริต จนเป็นที่มาของการเข้าตรวจค้นบ้านพักส่วนตัวและขยายผลเครือข่ายที่ร่วมกันโกงเงิน