posttoday

บทสรุป"ม็อบการเมือง"หนีไม่พ้นคุกตะราง

25 กันยายน 2560

เริ่มเห็นการขับเคลื่อนของกระบวนการยุติธรรมเดินเครื่องตัดสินผู้กระทำผิดกฎหมาย โดยเฉพาะเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมือง

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

เริ่มเห็นการขับเคลื่อนของกระบวนการยุติธรรมเดินเครื่องตัดสินผู้กระทำผิดกฎหมาย โดยเฉพาะเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองตลอด 10 ปีที่ผ่านมา ปรากฏชัดในยุครัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

ตั้งแต่การดำเนินคดีกับกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เมื่อวันที่ 21 มี.ค. 2560 หลังศาลจังหวัดพัทยาได้อ่านคำพิพากษายืนให้จำคุก อริสมันต์ พงษ์เรืองรอง อดีตแกนนำ นปช. พร้อมพวกรวม 13 คน เป็นเวลา 4 ปี  ฐานบุกรุกเข้าไปก่อความวุ่นวายในการประชุมอาเซียนซัมมิต ที่โรงแรมรอยัล คลิฟ บีช เมืองพัทยา จ.ชลบุรี เมื่อวันที่ 11 เม.ย. 2552 และคัดค้านการประกันตัวชั่วคราว เนื่องจากเกรงว่าอาจหลบหนี

ถัดมาเมื่อวันที่ 20 ก.ค. ศาลฎีกาตัดสินจำคุก จตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. เป็นเวลา 1 ปี โดยไม่รอลงอาญา ฐานหมิ่นประมาทผู้อื่นโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326, 328, 332  กรณีปราศรัยกล่าวหา อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกฯ เมื่อวันที่ 10 พ.ค. 2552

ต่อมาเป็นการดำเนินคดีก่อการร้ายกับแกนนำ นปช. 19 คน อาทิ วีระกานต์ มุสิกพงศ์, จตุพร พรหมพันธุ์ และ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ ได้เคลื่อนไหวระหว่างวันที่ 28 ก.พ.-20 พ.ค. 2553 โดยยุยงปลุกปั่นประชาชนให้ร่วมต่อต้านรัฐบาล
และบังคับขู่เข็ญอภิสิทธิ์ให้ยุบสภาเพื่อเลือกตั้งใหม่ แต่ศาลได้รับเรื่องไว้พิจารณา

สำหรับการดำเนินคดีกับแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งเมื่อวันที่ 21 ก.ย.ที่ผ่านมา ศาลแพ่งรัชดาภิเษกยกคำร้อง 13 แกนนำ อาทิ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง, พิภพ ธงไชย, สุริยะใส กตะศิลา และ สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ ซึ่งขอขยายระยะเวลาฎีกาในคดีที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายให้กับบริษัท ท่าอากาศยานไทย หรือ ทอท. เป็นจำนวนเงิน 522 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี นับแต่วันที่ 3 ธ.ค. 2551 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ จากกรณีร่วมกันปิดสนามบินดอนเมืองและสนามบินสุวรรณภูมิ เมื่อปี 2551

ส่วนคดีอาญาปิดสนามบินดอนเมืองและสนามบินสุวรรณภูมิ ที่มีอัยการ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง พล.ต.จำลอง, สนธิ ลิ้มทองกุล และแกนนำพันธมิตรฯ กับผู้ชุมนุม รวม 98 คน ต่อศาลอาญานั้น โดยคดีดังกล่าวอยู่ระหว่างการสืบพยานโจทก์และรอสืบพยานอีกครั้งเดือน มี.ค. 2561

นอกจากนี้ คดีบุกยึดทำเนียบรัฐบาลในสมัยรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช เมื่อปี 2551 ซึ่งศาลอุทธรณ์ได้นัดฟังคำพิพากษา เมื่อวันที่ 16 พ.ค.ที่ผ่านมา ความผิดฐานร่วมกันกระทำความผิดตั้งแต่สองคนขึ้นไป และร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ กรณีร่วมกันบุกรุกเข้าไปในทำเนียบรัฐบาล

ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 91, 358, 362 และ 365 ทว่า พล.ต.จำลอง จำเลยที่ 1 มีอาการป่วย ไม่สามารถเดินทางมาศาลได้ จึงขอเลื่อนฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ออกไป ก่อนศาลพิจารณาแล้วกรณีมีเหตุสมควร จึงอนุญาตไปเป็นวันที่ 19 มิ.ย. 2560

เมื่อถึงวันดังกล่าว สมเกียรติ จำเลยที่ 4 ไม่ได้เดินทางมาฟังเนื่องจากป่วยลักษณะคล้ายโรคบ้านหมุน โดยทนายได้ยื่นสำเนาใบรับรองแพทย์ แต่ศาลพิเคราะห์แล้วเห็นว่าไม่น่าเชื่อ จึงออกหมายจับเพื่อมาฟังคำพิพากษาพร้อมให้ปรับนายประกันเต็มจำนวน 2 แสนบาท และกำหนดนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ต่อไปในวันที่ 24 ก.ค. และท้ายสุดมีคำพิพากษาให้จำคุก 8 เดือน ไม่รอลงอาญา แต่ทนายความใช้หลักทรัพย์ยื่นประกันตัว

ขาดไม่ได้กับการดำเนินคดีกับแกนนำ กปปส. อาทิ สุเทพ เทือกสุบรรณ พร้อมพวกรวม 48 คน ในข้อหากบฏหลังรวมตัวชุมนุมขับไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ โดยได้มีการยื่่นฟ้องไปเมื่อวันที่ 8 พ.ค. 2557

ทว่าดีเอสไอยังไม่มีการสอบสวน จึงให้พนักงานสอบสวนดีเอสไอไปดำเนินการสอบและสรุปสำนวนให้ครบตามขั้นตอน เพื่อส่งสำนวนคดีกลับมาให้อัยการเพื่อสั่งคดีและรวมยื่นฟ้องเป็นคดี