posttoday

"บันไดสามขั้นสุดท้าย" นับถอยหลังเข้าคูหา

18 กันยายน 2560

เหลือกฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้งอีกเพียง 3 ฉบับเท่านั้น ก็จะนำไปสู่การเลือกตั้งได้ตามรัฐธรรมนูญ

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ในที่สุด พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) พ.ศ. 2560 ได้รับการประกาศใช้อย่างเป็นทางการแล้ว ซึ่งเป็นกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการเลือกตั้งฉบับแรกตามรัฐธรรมนูญที่มีผลบังคับใช้

เนื้อหาของกฎหมาย กกต.นอกเหนือไปจากการกำหนดให้ กกต.ทั้ง 5 คนชุดปัจจุบันพ้นจากตำแหน่งไปโดยยังให้ทำหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมี กกต.ชุดใหม่ 7 คนแล้ว ยังมีการกำหนดอำนาจหน้าที่ของ กกต.ขึ้นมาใหม่ที่น่าสนใจอีกด้วย

มาตรา 26 (3) กำหนดว่า “ในระหว่างการเลือกตั้ง ให้กรรมการแต่ละคนมีหน้าที่และอำนาจ เมื่อพบการกระทำหรือการงดเว้นการกระทำใดอันอาจเป็นเหตุให้การเลือกตั้งมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม หรือเป็นไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ถ้าการนั้นเป็น การกระทำหรือการงดเว้นการกระทำของเจ้าหน้าที่ของรัฐ

ให้มีอำนาจสั่งให้ระงับ ยับยั้ง แก้ไขเปลี่ยนแปลง หรือสั่งให้กระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งได้ตามที่เห็นสมควร ถ้าเป็นการกระทำของบุคคลซึ่งมิใช่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ให้มีอำนาจสั่งให้เจ้าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจและเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจชั้นผู้ใหญ่ดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจ หรือสั่งให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัด บันทึกพฤติกรรมแห่งการกระทำและรวบรวมพยานหลักฐานไว้เพื่อดำเนินการต่อไปได้ตามที่จำเป็น

หรือในกรณีจำเป็นอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ จะสั่งให้ระงับหรือยับยั้งการดำเนินการเลือกตั้งในหน่วยเลือกตั้งบางหน่วยหรือทุกหน่วยในเขตเลือกตั้งที่พบเห็นการกระทำหรือการงดเว้นการกระทำนั้นก็ได้”

เช่นเดียวกับอำนาจหน้าที่ใหม่ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 245 ได้เขียนรองรับไว้ให้ กกต.ชุดใหม่มาทดลองใช้ด้วย กล่าวคือ เป็นการให้ กกต.มีหน้าที่ร่วมกับคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินและคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เพื่อควบคุมการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐบาลให้เป็นไปตามวินัยการเงินการคลัง

ดังนั้น เหลือกฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้งอีกเพียง 3 ฉบับเท่านั้น ก็จะนำไปสู่การเลือกตั้งได้ตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ซึ่งแต่ละฉบับเริ่มมีความคืบหน้าเป็นลำดับ

1.ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง น่าจะเป็นกฎหมายลูกอีกฉบับที่น่าจะมีการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเร็วๆ นี้ เนื่องจากเพิ่งผ่านกระบวนการทางนิติบัญญัติ โดยสาระสำคัญของร่างกฎหมายพรรคการเมือง ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน คือ การจัดทำเลือกตั้งขั้นต้น หรือไพรมารีโหวต

การทำไพรมารีโหวตเป็นเงื่อนไขสำคัญ เพราะหากพรรคการเมืองใดไม่ทำไพรมารีโหวตในเขตเลือกตั้งไหน พรรคการเมืองดังกล่าวจะไม่สามารถส่งผู้สมัคร สส.ในเขตนั้นได้ เพื่อเป็นการบังคับให้พรรคการเมืองต้องสร้างกระบวนการในการมีส่วนร่วมของประชาชนที่มีต่อพรรคการเมืองให้มากขึ้น จากเดิมที่ผ่านมาพรรคการเมืองไม่เปิดโอกาส

2.ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว. เป็นอีกหนึ่งในร่างกฎหมายที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้เริ่มลงมือเขียนไปบ้างแล้วด้วยการกำหนดให้ สว.มาจากการเลือกกันเองจำนวน 20 กลุ่ม โดยจะเริ่มจากระดับอำเภอ ผู้สมัคร 1 คน มีสิทธิเลือกได้ 2 หมายเลข

จากนั้นผู้ที่ได้คะแนนสูงสุดลำดับที่ 1-5 ของแต่ละกลุ่ม ไปเลือกไขว้คนในกลุ่มอื่นให้เหลือกลุ่มละ 3 คน เพื่อให้ได้คนที่ได้คะแนนสูงสุดลำดับที่ 1-3 ของแต่ละกลุ่มเป็นตัวแทนระดับอำเภอ เพื่อส่งไปในระดับจังหวัดและเลือกไขว้อีกรอบหนึ่ง ให้เหลือกลุ่มละ 1 คน จากนั้นระดับประเทศจะเลือกไขว้ให้เหลือกลุ่มละ 10 คน จะได้จำนวนทั้งหมด 200 คน

3.ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. เป็นหัวใจของกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งทั้งหมด เพราะจะเป็นการกำหนดวิธีการสมัคร การหาเสียง การไต่สวนทุจริตเลือกตั้ง หรือแม้แต่วิธีการคำนวณคะแนนเพื่อกำหนดจำนวน สส.ระบบบัญชีรายชื่อ

ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว.และการเลือกตั้ง สส. ทาง กรธ.คาดหมายว่าจะส่งให้กับ สนช.ในช่วงปลายเดือน พ.ย. แต่ต้องไม่เกินวันที่ 1 ธ.ค. ซึ่งเป็นวันครบกำหนด 240 วันที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ กรธ.ต้องจัดทำร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จและส่งให้ สนช.พิจารณาต่อให้เสร็จภายใน 60 วัน

อย่างไรก็ตาม มีความเป็นไปได้สูงที่การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญในสองฉบับนี้จะไม่จบลงภายใน 60 วัน โดยอาจถึงขั้นต้องมีการตั้งคณะกรรมาธิการร่วมกัน 3 ฝ่าย (กรธ. สนช. และ กกต.) เพื่อพิจารณาบทบัญญัติในขั้นตอนสุดท้ายอีกรวมเวลาเป็น 25 วันก่อนส่งให้ สนช.ลงมติเห็นชอบ ไม่เพียงเท่านี้ อาจต้องสู้กันถึงชั้นศาลรัฐธรรมนูญอีกด้วย ซึ่งมาตรา 148 ของรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้บัญญัติเรื่องกรอบเวลาในการทำงานของศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องนี้แต่อย่างใด

แม้จะเหลือร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญอีกเพียง 3 ฉบับ ซึ่งเปรียบเหมือนบันไดสามขั้นสุดท้ายก่อนถึงการเลือกตั้ง แต่ถ้าดูจากสถานการณ์และบรรยากาศทางการเมืองรวมไปถึงเงื่อนไขทางกฎหมายแล้ว อย่าได้แปลกใจว่าทำไมกระแสเลื่อนเลือกตั้งออกไปเป็นปลายปี 2561 หรือ 2562 ถึงได้หนาหูแบบนี้