posttoday

กปปส.ไม่มี "งูเห่า" พร้อมปฏิบัติตามมติประชาธิปัตย์

17 กันยายน 2560

"จะมีความคิดแตกต่างยังไงก็แล้วแต่ ชัดเจนสุดคือไม่ว่าจะคนของประชาธิปัตย์หรือ สส.ที่ออกมาชุมนุม เราก็เป็นประชาธิปัตย์ และที่เหมือนกันคือรักษาประโยชน์ประเทศมากที่สุด"

โดย...ธนพล บางยี่ขัน

ท่ามกลางความคลุมเครือและเสียงวิจารณ์กับชนวนที่จะปลุกรอยร้าว ระหว่าง กปปส.และประชาธิปัตย์ ให้ขยายวงกว้างขึ้นจากนี้ โดยเฉพาะประเด็นแบ่งรับแบ่งสู้การตั้งพรรคการเมืองของ สุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการ กปปส.ด้วยวลี “อะไรที่จำเป็นต่อชาติบ้านเมืองผมจะทำทั้งนั้น”

ทั้งที่เคยประกาศไม่หวนกลับสู่ถนนการเมืองในระบบ กลายเป็นอีก “สัญญาณ” ซึ่งอาจส่งผลต่อทิศทางการเมืองในอนาคต เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ อดีตโฆษก กปปส. และอดีต สส.กทม.พรรคประชาธิปัตย์ ชี้แจงถึงประเด็นต่างๆ อย่างชัดเจน เริ่มตั้งแต่เรื่องตั้งพรรคของลุงกำนัน ประกาศชัดตั้งแต่ตอนชุมนุมว่า จะไม่เข้ามารับตำแหน่งทางการเมือง ดังนั้น คงไม่เห็นภาพลุงกำนันไปรับตำแหน่งหัวหน้า ผู้บริหารพรรค หรือ สส.สังกัดพรรคไหนอย่างแน่นอน

“เพียงแต่ว่าในฐานะคนไทยคนหนึ่งลุงกำนันสามารถโหวต สนับสนุน เชียร์พรรคไหน หรือบริจาคเงินให้ ในฐานะคนไทยคนหนึ่งสามารถทำได้ ผมคิดว่ากระแสข่าวการตั้งพรรค คนตีความหมายจากอะไร ถ้าหมายถึงแค่โหวตหรือเชียร์ก็คงไม่ใช่”

เอกนัฏ ยกตัวอย่างกรณี ไพบูลย์ นิติตะวัน เคยขึ้นเวที กปปส. ประกาศชัดจะตั้งพรรค ก็ไม่เกี่ยวข้องกับลุงกำนัน หรือในอนาคตอาจมีอีกเคยร่วมกับ กปปส. แล้วจะไปตั้งพรรค ลุงกำนันก็ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง แต่ลุงกำนันจะเชียร์พรรคไหนก็ทำได้ในฐานะคนไทยคนหนึ่ง

ส่วนแกนนำ กปปส. คนอื่น หลังออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านระบอบทักษิณ และเรียกร้องการปฏิรูป แม้การเดินขบวนจบไปแล้ว แต่เป้าหมายปฏิรูปประเทศยังอยู่ หลายคนกลับไปทำหน้าที่ปกติ เป็นหมอ เป็นครู เป็นนักการเมือง ก็กลับไปทำหน้าที่ปกติ

“ในส่วนของแกนนำ กปปส.ก็กลับมาประชาธิปัตย์ เราแสดงท่าทีเปิดเผยว่ากลับประชาธิปัตย์ วันนี้ก็ทำงานให้พรรค หมายถึงเป็นนักการเมืองใต้สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ และก็สวมจิตวิญญาณผลักดันการปฏิรูป”

สำหรับความเป็นไปได้ที่แกนนำ กปปส.อาจแตกออกมาตั้งพรรคใหม่นั้น เอกนัฏ ย้ำว่า “โอกาสที่จะเกิดขึ้นคงยาก แต่อะไรทั้งหลายแหล่ ถ้ามันยังไม่เกิดขึ้นก็เป็นไปได้ ถามว่าถ้าวันนี้ลุงกำนันจะไปตั้งพรรคจริง แกนนำจะกลับไปที่ประชาธิปัตย์ทำไม” 

ทั้ง กปปส.ตั้งใจที่จะสานต่อภารกิจของมวลมหาประชาชน ในเรื่องสำคัญ คือ การปฏิรูปการเมือง และหัวใจสำคัญ ก็คือ การปฏิรูปพรรคการเมือง ดังนั้น หนีไม่พ้นที่บทบาทส่วนหนึ่งต้องไปช่วยทำให้พรรคการเมืองเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง ซึ่งทุกคนตั้งใจจะทำต่อให้สำเร็จ

ส่วนประเด็นความขัดแย้งระหว่าง กปปส.และสมาชิกประชาธิปัตย์บางส่วนอาจเป็นชนวนนำไปสู่การออกไปตั้งพรรคใหม่ได้หรือไม่นั้น เอกนัฏ ย้ำชัดว่า “ไม่นะครับ ความแตกต่างทางความคิดไม่ได้นำไปสู่ความขัดแย้งหรือความแตกแยกเสมอไป”

อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะเป็นใครที่อยู่ในพรรคก็แสดงความคิดเห็นได้ คนในพรรคส่วนหนึ่งอาจจะคิดอย่างหนึ่ง แต่คนอีกส่วนหนึ่งอาจคิดอีกอย่าง นั่นเป็นเรื่องปกติตามระบอบประชาธิปไตย ที่คนภายในองค์กรเดียวกันมีสิทธิคิดไม่เหมือนกัน แต่ในที่สุดในฐานะที่เป็นคนอยู่ภายใต้กฎระเบียบขององค์กร เมื่อพรรคมีมติอย่างไร ทุกคนก็ต้องเดินไปตามนั้น 

“ก่อนที่จะมีมติทุกคนก็มีสิทธิที่จะแสดงความคิดเห็น จะแตกต่างอย่างไรก็แล้วแต่ ในที่สุดก็ต้องมีการพูดคุยโต้กัน ถึงจะมีบทสรุปออกมาอย่างใดอย่างหนึ่ง ใครที่อยู่ภายใต้สังกัดพรรคไม่ว่าจะเป็นพรรคไหนก็แล้วแต่ ผมเชื่อว่าเมื่อพรรคมีมติออกมาเป็นอย่างไร ก็ต้องเดินหน้าไปตามนั้น”

อีกทั้งความเป็นห่วงที่กลัวว่าอาจเป็นชนวนทำให้พรรคแตกเหมือนสมัยกลุ่ม 10 มกรานั้น ส่วนตัวคิดว่ายาก แกนนำทุกคนที่กลับเข้าไป ต้องย้อนกลับไปก่อนตอนออกมาจากพรรค มาชุมนุม ก็ไม่ได้ออกมาด้วยความรู้สึกที่ไม่ดี แต่ออกมาด้วยความรู้สึกที่ยังดีกับพรรค วันนี้ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไรกับพรรค

ทั้งนี้ เพียงแต่การต่อสู้ ซึมซับความคิดของมวลมหาประชาชน ภารกิจในฐานะนักการเมืองก็จะให้น้ำหนักกับการปฏิรูปประเทศมากกว่าคนอื่น ที่ไม่ได้ต่อสู้เรื่องนี้ก็เป็นธรรมดา ถือเป็นความท้าทายและความรับผิดชอบของแกนนำทุกคน ไม่ว่าจะทำอาชีพ หมอ ทนาย ครู นักการเมือง ก็ต้องผลักดันอุดมการณ์ของมวลมหาประชาชนต่อไป

กปปส.ไม่มี "งูเห่า" พร้อมปฏิบัติตามมติประชาธิปัตย์

ส่วนข้อกังวลเรื่องความเห็นต่างระหว่าง กปปส.และประชาธิปัตย์ อาจทำให้กลุ่ม “งูเห่า”แหกโผไปเลือกนายกรัฐมนตรีนอกมติพรรค เอกนัฏ รับว่า เป็นไปได้ยาก เพราะในทางปฏิบัติก่อนพรรคจะมีมติก็ต้องมีการถกเถียงเมื่อมีมติออกมาทุกคนเดินตามนั้น  

“จะมีความคิดแตกต่างยังไงก็แล้วแต่ ชัดเจนสุดคือไม่ว่าจะคนของประชาธิปัตย์หรือ สส.ที่ออกมาชุมนุม เราก็เป็นประชาธิปัตย์ และที่เหมือนกันคือรักษาประโยชน์ประเทศมากที่สุด ตรงนี้เหนือจุดต่างของรายละเอียดว่าทำอย่างไรให้ประเทศมั่นคง ตอบโจทย์ ปราศจากทุจริตคอร์รัปชั่น

การแสดงท่าทีความเห็นที่แตกต่าง ก็ทำโดยรู้ตัว ไม่ได้ทำไปโดยเกลียดชัง ทุกคนรู้เป้าหมายสูงสุด เป้าหมายประเทศไทย ซึ่งมีทั้งเหมือนและแตกต่าง เมื่อคนมีเป้าหมายสูงสุดเดียว คือ ทำเพื่อประเทศ ก็จะสามารถหาทางเชื่อมกันได้ ซึ่งต้องมาคุยกันหนีไม่พ้นตรงนี้”

ประเด็นความพยายามเปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์นั้น เอกนัฏ มองว่าไม่มีความพยายาม แต่มองในเรื่องการปฏิรูปโครงสร้าง เหมือนปฏิรูปตำรวจ ต่อให้เปลี่ยน ผบ.ตร.กี่คน แต่ไม่ปฏิรูปโครงสร้าง ปัญหาก็จะกลับมาสู่วังวนเดิม พรรคการเมืองก็เช่นกัน ที่อยากเห็นการปรับตัวตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนไม่เกี่ยวกับการปรับหัวหน้าพรรค  

เอกนัฏ กล่าวถึงทิศทางการทำงานปฏิรูปว่า ต้องให้เครดิต คสช. กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีความตั้งใจ วางกรอบชัดเจนว่าต้องออกกฎหมายในระยะเวลาที่กำหนด ชัดเจนกว่ารัฐธรรมนูญทุกฉบับที่เคยมีมา แต่ก็อยากให้เกิดโดยเร็ว เช่น มาตรการทำให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง ป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่น การปฏิรูปตำรวจ

“จังหวะนี้เหมาะสม ง่ายที่สุดที่จะปฏิรูป เพราะ คสช.เขาไม่มีความจำเป็นต้องรักษาคะแนนนิยม ทำโดยคำนึงผลประโยชน์ประเทศชาติ ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนเรื่องคะแนนนิยม อาจมีแรงกดดันจากองค์กรต่างประเทศ ในประเทศ ไม่ได้แรงสนับสนุน”

สำหรับการปฏิรูปการเมือง หัวใจสำคัญ คือ ต้องทำให้พรรคเป็นของประชาชนแท้จริงไม่ทำอะไรตามใจชอบ ทั้งส่งผู้สมัคร วางนโยบาย ต้องคำนึงถึงเจ้าของพรค ผู้สนับสนุน มีการหยั่งเสียง ทั้งการกำหนดตัวผู้สมัคร กำหนดนโยบายสำคัญ

“อีกด้านเจ้าของพรรคก็ต้องช่วยรับผิดชอบ ทำนุบำรุงให้พรรคเข้มแข็ง ไม่ต้องพึ่งอำนาจเงินนายทุน เป็นพรรคของประชาชนแท้จริง จะทำให้ระบบการเมืองเข้มแข็ง ส่วนกฎระเบียบจะทำให้เข้มแข็งขึ้นก็ทำไป แม้มีบางฝ่ายมองว่าอาจเป็นปัญหา แต่ถ้ามองเรื่องเล็กเป็นปัญหาก็ไม่ต้องปฏิรูป เพราะการปฏิรูปคือการเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่ ต้องฝืนใจหรือฝืนที่เราเคยทำมาดั้งเดิมอยู่แล้ว”

กับคำถามว่าจังหวะที่คู่แข่งกำลังอ่อนแอ แต่ประชาธิปัตย์ก็ยังไม่สามารถสร้างคะแนนให้ตัวเองได้ เอกนัฏ กล่าวว่า ไม่ควรมองว่าตอนนี้เป็นโอกาสความได้เปรียบเสียเปรียบ การเมืองเป็นเรื่องที่ประเมินยาก อีกปีหนึ่งอะไรก็เกิดขึ้นได้ ฝนจะตกแดดจะออกแต่งตัวให้หล่อ ทำตัวให้ดีไว้ก่อน ถึงเวลาประชาชนจะตัดสินเอง

“ประชาชนวันนี้มีความคิดก้าวหน้า บางทีพรรคบางพรรค คนบางคนยังยึดติดกับแบบเดิมๆ ก็เป็นความท้าทาย สถานการณ์จะบีบบังคับให้เกิดการปรับตัวให้ทันประชาชน ใครปรับตัวได้ทันก็จะเป็นที่ต้องการของประชาชน”