posttoday

ปิดฉากที่ดินฉาว แม้วติดคุก-อ้อคืนที่รัชดา

25 กันยายน 2553

ปิดฉากลงไปเรียบร้อยแล้วสำหรับคดีประวัติศาสตร์อย่างคดีที่ดินรัชดาฯ เมื่อศาลแพ่งมีคำพิพากษาให้ คุณหญิงพจมาน คืนที่ดิน 4 แปลง 33 ไร่ ให้กับกองทุนฟื้นฟูฯ.....

ปิดฉากลงไปเรียบร้อยแล้วสำหรับคดีประวัติศาสตร์อย่างคดีที่ดินรัชดาฯ เมื่อศาลแพ่งมีคำพิพากษาให้ คุณหญิงพจมาน คืนที่ดิน 4 แปลง 33 ไร่ ให้กับกองทุนฟื้นฟูฯ.....

ปิดฉากลงไปเรียบร้อยแล้วสำหรับคดีประวัติศาสตร์อย่างคดีที่ดินรัชดาฯ โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 24 ก.ย. ศาลแพ่งมีคำพิพากษาให้ คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ อดีตภริยา พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี คืนที่ดิน 4 แปลง 33 ไร่ ให้กับกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (กองทุนฟื้นฟูฯ)

ในขณะเดียวกัน ศาลแพ่งได้พิพากษาให้กองทุนฟื้นฟูฯ คืนเงินค่าซื้อขาย 772 ล้านบาท กลับคืนให้แก่คุณหญิงพจมาน พร้อมดอกเบี้ย 7.5% ต่อปี นับจากวันที่ 25 พ.ย. 2552 ซึ่งเป็นวันฟ้องแย้งเป็นต้นไป

ทั้งนี้ ศาลเห็นว่านิติกรรมซื้อขายที่ดินดังกล่าวเป็นโมฆะ เนื่องจากคุณหญิงพจมานเป็นภริยาโดยชอบของ พ.ต.ท.ทักษิณ ซึ่งดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี และในขณะที่มีการทำนิติกรรมซื้อขาย ถือว่า พ.ต.ท.ทักษิณและคุณหญิงพจมาน เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งต้องห้ามมิให้กระทำตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 100 และในขณะเดียวกันเมื่อการซื้อขายที่ดินเป็นโมฆะ ถือว่าทั้งสองฝ่ายไม่ได้รับทรัพย์สิน จึงให้คืนทรัพย์สินที่ได้รับไปคืนให้แก่กัน

อย่างไรก็ตาม จากการคำนวณผลประโยชน์จากดอกเบี้ยที่คุณหญิงพจมานจะได้รับ นับจากศาลมีคำสั่งให้นับแต่วันฟ้องแย้ง คือวันที่ 25 พ.ย. จนถึงวันที่ศาลมีคำสั่ง คือวันที่ 23 ก.ย. หากคำนวณอัตราดอกเบี้ยที่กองทุนฟื้นฟูฯ จะต้องจ่ายในอัตรา 7.5% แล้ว คิดเป็นจำนวนวัน 303 วัน รวมจะต้องจ่ายดอกเบี้ยทั้งหมด 48,064,931.51 บาท หรือคิดเป็นดอกเบี้ยวันละ 156,630.14 บาท

ขณะเดียวกันหากนำเงินจำนวนเดียวกัน คือ 772 ล้านบาท ไปฝากธนาคารแบบเงินฝากประจำจะได้รับดอกเบี้ยเงินฝากเฉลี่ย 1.5% ต่อปี จะได้รับดอกเบี้ย (รวม 303 วัน) 9,612,986.30 บาทเท่านั้น

หลังคำพิพากษาออกมา นายพลพีร์ ตุลยสุวรรณ ทนายความของคุณหญิงพจมาน บอกว่า คุณหญิงพจมานคงพอใจที่ศาลให้กองทุนฟื้นฟูฯ คืนเงินค่าซื้อที่ดิน ส่วนที่ศาลไม่ได้กำหนดให้กองทุนต้องชำระค่าออกแบบอาคารที่จะก่อสร้างในที่ดินที่คุณหญิงพจมานระบุไว้ในคำฟ้องแย้งจำนวน 39 ล้านบาทนั้น คิดว่า|คุณหญิงพจมานคงไม่ติดใจประเด็นนี้ และหากกองทุนฟื้นฟูฯ ติดใจในผลคำพิพากษาสามารถยื่นอุทธรณ์ได้ และหากจะมีการอุทธรณ์ กองทุนฟื้นฟูฯ จะต้องนำเงินซื้อขายที่ดิน 772 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ย ซึ่งจนถึงขณะนี้คิดเป็นเงินประมาณ 40 ล้านบาท จะนำมาวางเป็นเงินประกันต่อศาลไว้ด้วย

ขณะที่ นางทองอุไร ลิ้มปิติ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายจัดการกองทุน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะผู้จัดการกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน ยืนยันว่า กองทุนฟื้นฟูฯ พร้อมจะดำเนินการตามคำตัดสินอยู่แล้ว เพียงแต่ก่อนจะดำเนินการขั้นตอนใดๆ ต่อไปต้องขอคำปรึกษาจากอัยการสูงสุดก่อนว่าเห็นควรให้ทำอย่างไร หรือจะให้อุทธรณ์หรือไม่

ว่ากันตามจริง คดีที่ดินรัชดาเป็นคดีแรกที่ดับฝัน พ.ต.ท.ทักษิณ ในการกลับคืนสู่อำนาจทางการเมือง และยังต้องหนีหัวซุกหัวซุนไปอยู่ต่างประเทศจนถึงทุกวันนี้

ทั้งนี้ ภายหลังจากการรัฐประหารและมีการตั้งคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) ซึ่ง คตส.ได้นำเรื่องนี้ขึ้นมาตรวจสอบและมีมติส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดส่งฟ้องศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

การต่อสู้ในคดีนี้เป็นไปอย่างเข้มข้นในที่สุดศาลฎีกาฯ มีคำพิพากษาว่า พ.ต.ท.ทักษิณ กระทำความผิด เพราะเป็นนายกฯ ได้รับมอบหมายให้บริหารราชการแผ่นดินเพื่อประโยชน์สูงสุดแก่ทางราชการและประชาชน แต่กลับฝ่าฝืนกฎหมายทั้งที่เป็นหัวหน้ารัฐบาล ต้องกระทำตัวให้เป็นแบบอย่างที่ดี ต้องมีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ประพฤติตนในสิ่งที่ดีงามตาม|จริยธรรมของนักการเมืองให้เหมาะสมกับที่ได้รับความไว้วางใจในตำแหน่งหน้าที่อันสำคัญยิ่ง จึงมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช. มาตรา 100 (1) วรรคสาม และมาตรา 122 วรรคหนึ่ง ให้ลงโทษจำคุก 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา ส่วนคุณหญิงพจมาน ศาลฎีกาฯ พิพากษายกฟ้อง

อย่างไรก็ตาม พ.ต.ท.ทักษิณ ได้หลบหนีไปต่างประเทศก่อนที่ศาลจะมีคำพิพากษา

สำหรับที่ดินรัชดาฯ ที่มีปัญหา เป็น 1 ในที่ดิน 2 แปลง ที่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินซื้อจากบริษัทเงินทุน เอราวัณทรัสต์ เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2538 มีมูลค่า 2,749 ล้านบาท ต่อมาในปี 2544 กองทุนฯ ได้ปรับปรุงราคาที่ดินลดลงกว่า 2,000 ล้านบาท โดยอ้างว่าเป็นการปรับปรุงบัญชีเพื่อปรับมูลค่าหนี้ให้ลดลง เพื่อให้เกิดสภาพคล่อง โดยปรับลดราคาที่ดินเหลือ 700 กว่าล้านบาท และนำออกประมูลทางอินเทอร์เน็ต เมื่อวันที่ 22 ก.ค. 2546 ตั้งราคาขั้นต่ำ 870 ล้านบาท โดยผู้ร่วมประมูลต้องวางเงินมัดจำ 10 ล้านบาท แต่ไม่มีผู้เสนอราคา กองทุนฯ จึงได้ยกเลิกการประมูลและเปิดประมูลใหม่เมื่อวันที่ 16 ธ.ค. 2546 โดยไม่กำหนดราคาขั้นต่ำ แต่ผู้ร่วมประมูลต้องวางเงินมัดจำเพิ่มเป็น 100 ล้านบาท

ผลการประมูล คุณหญิงพจมาน ชินวัตร ซึ่งส่งทนายความเป็นตัวแทนเข้าประมูลด้วยจนชนะการประมูลด้วยราคาสูงสุด 772 ล้านบาท โดยมีผู้แข่งขัน 2 ราย คือ บริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ และบริษัท โนเบิล ดีเวลลอปเมนท์ ก่อนที่จะทำสัญญาซื้อขาย และจะโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินในวันที่ 30 ธ.ค. 2546