posttoday

แนะเก็บภาษีใช้น้ำรับมืออนาคต20ปี

09 กันยายน 2560

"ทีดีอาร์ไอ"รัฐควรเตรียมศึกษาการจัดเก็บค่าน้ำให้เกษตรกรมีส่วนร่วมในการบำรุงรักษาระบบชลประทาน

"ทีดีอาร์ไอ"รัฐควรเตรียมศึกษาการจัดเก็บค่าน้ำให้เกษตรกรมีส่วนร่วมในการบำรุงรักษาระบบชลประทาน

นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวในการเสวนา เรื่อง "ภาพอนาคตในปี 2035 : ที่ดิน พลังงานและน้ำในประเทศไทย" ว่า อนาคตการใช้น้ำของไทยจะเพิ่มมากขึ้น แต่จะเพิ่มด้านอุตสาหกรรม ขณะที่ภาคเกษตรจะลดลง 3-6% ปัจจุบันภาคเกษตรใช้อยู่ประมาณ 1.1 แสนล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) เพราะมีเครื่องจักรมาทดแทน และมีเทคโนโลยีการเกษตรที่ใช้น้ำน้อยเข้ามามากขึ้น

ด้านความต้องการใช้พลังงงาน พบว่า จะมาจากพลังงานทดแทน พลังงานสะอาดเพิ่มมากขึ้นและมาทดแทนพลังงานจากฟอสซิล ส่วนด้านดิน พบว่า การใช้ที่ดินภาคเกษตรจะลดลงประมาณ 2% ของพื้นที่ทั้งหมดที่ใช้ด้านการเกษตร 130 ล้านไร่ แต่การใช้ที่ดินจะเพิ่มขึ้นในด้านชุมชนเมืองและการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมเข้ามาในพื้นที่การเกษตร

ขณะที่ภาคการใช้น้ำ มองว่า รัฐควรศึกษาความคุ้มทุนของแต่ละโครงการ และต้นทุนน้ำด้านชลประทาน เพื่อนำมาใช้ในการคำนวณต้นทุนการผลิต เพราะที่ผ่านมาประเทศไทยไม่เคยคำนึงถึงต้นทุนการใช้น้ำ ส่งผลให้คนใช้น้ำไม่ตระหนักในเรื่องต้นทุนของน้ำ ในขณะที่สัดส่วนการใช้น้ำจะเพิ่มขึ้นตามสัดส่วนของรายได้
ทั้งนี้ ในระยะยาวเห็นว่ารัฐควรเตรียมศึกษาการจัดเก็บค่าน้ำ ทั้งภาคเกษตร อุตสาหกรรม ซึ่งจะมีอัตราต่างกัน การจัดเก็บภาษีด้านน้ำที่กระทบกับสิ่งแวดล้อม การเก็บภาษีมลพิษในน้ำ ภาษีการนำเข้าสารเคมีเกษตร โดยให้การประปาเป็นผู้จัดเก็บผ่านค่าน้ำต่อหน่วย และการให้เกษตรกรมีส่วนร่วมในการบำรุงรักษาระบบชลประทานที่ส่งเข้าพื้นที่การเกษตร

"ประเด็นนี้นักการเมืองไม่กล้าทำ แต่จำเป็นต้องศึกษาไว้เพื่อการใช้ในอนาคต อาจจะมีการจัดเก็บไม่แพง แต่ต้องเก็บเพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงต้นทุนน้ำที่กว่าจะมาถึงมือของประชาชน และสามารถนำมาคำนวณเป็นต้นทุนได้" นิพนธ์ กล่าว

         

 

นิพนธ์ กล่าวด้วยว่า อนาคตปี 2035 ความต้องการใช้น้ำของเมืองต่อคนในเมืองจะอยู่ที่ 452 ลบ.ม./คน ส่วนภูมิภาคจะอยู่ที่ 339 ลบ.ม. ในขณะที่ความต้องการน้ำในภาคธุรกิจจะขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีนักท่องเที่ยว ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 34 ล้านคน อนาคตคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 50-60 ล้านคน/ปี โดยเฉพาะจังหวัดชายทะเลจะใช้ประมาณ 500 ลิตร/คน/วัน พื้นที่อื่นประมาณ 350 ลิตร/คน/วัน แต่อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเครียดของน้ำในปี 2015-2035 ของไทยยังอยู่ในระดับความเสี่ยงต่ำถึงปานกลาง

อุชุก ด้วงบุตรศรี นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ เกษตรและทรัพยากร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า อนาคตปี 2050 ความต้องการสินค้าเกษตรในโลกจะเพิ่มขึ้นใน 70% โดยเฉพาะในกลุ่มธัญพืช การใช้ที่ดินภาคเกษตรของไทยจะลดลงอย่างรวดเร็ว ภายหลังการยกเลิกโครงการจำนำสินค้าเกษตร ทั้งนี้ที่ดินเกษตรจะลดลงจาก 138 ล้านไร่ ในปี 2557 เหลือ 122-132 ล้านไร่ ภายในปี 2035 หรือลดลง 11.59-4.3% โดยนาในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือจะลดลงประมาณ 3 ล้านไร่ ไปปลูกพืชไร่ เช่น ยางพารา และขนาดของฟาร์มเฉลี่ยหรือใหญ่ หรือลดลงตามการใช้ที่ดิน อย่างไรก็ตาม การใช้ที่ดินในสาขาที่อยู่อาศัยจะขยายตัวสูงสุด

ด้านพลังงาน วิชสิณี วิบูลผลประเสริฐ นักวิชาการทีดีอาร์ไอ ระบุว่า ความต้องการพลังงานในปี 2035 ความต้องการใช้โดยรวมจะเพิ่มประมาณ 0.5-5% ต่อปี แต่ความต้องการใช้พลังงานในทุกสาขาของเศรษฐกิจจะเพิ่มขึ้น ต่างกัน โดยปัจจัยสำคัญ คือ การทดแทนโดยพลังงานอื่น นอกจากฟอสซิล เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า การผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ระบบการกักเก็บพลังงาน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ทั้งนี้ พบว่าความต้องการใช้พลังงานของภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นอันดับที่ 1 คือ จะเพิ่มขึ้น 0.85-4% รองลงมา คือ ด้านขนส่งเพิ่มขึ้น 0.5-3% ภาคเกษตรเพิ่มขึ้น 1-3% ภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้น 2-3% และการค้าบริการเพิ่มขึ้น 1-5%