posttoday

"จนกระจาย4.0" เมื่อรัฐบอกเศรษฐกิจดี เเต่พ่อค้าแม่ขายแทบไม่พอยาไส้

30 สิงหาคม 2560

เสียงสะท้อนสภาพความเป็นอยู่ในปัจจุบันของบรรดาพ่อค้าแม่ค้าตัวจริง หลังรัฐบาลแถลงตัวเลขเศรษฐกิจว่าดีขึ้น

โดย...วรรณโชค ไชยสะอาด

กลางเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา ผู้เชี่ยวชาญจากคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงทิศทางแนวโน้มเศรษฐกิจที่ดีขึ้น โดยตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาส 2 ของปี 2560 ขยายตัว 3.7 เปอร์เซ็นต์ สูงสุดในรอบ 17 ไตรมาส แถมยังคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจทั้งปี 2560 ว่าจะขยายตัว 3.5-4.0%

ขณะที่ฟากตลาดหุ้น ล่าสุดเมื่อวันที่ 29 ส.ค. ดัชนียังพุ่งทะยานถึง 28 จุด ยืนเหนือ 1600 จุดได้สำเร็จและมีมูลค่าการซื้อขายเกือบแสนล้านบาท

ท่ามกลางตัวเลขเศรษฐกิจที่เดินหน้าไปในทิศทางบวก พ่อแม่พี่น้องประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มพ่อค้าแม้ขายกลับเห็นตรงกันข้าม...

เสียงร้องโอดโอยจากตลาดสด

เวลายามบ่ายที่ตลาดสดคลองเตย  วัลนา ถินเเพ วัย 55 ปี แม่ค้าขายปลา นั่งเล่นสมาร์ทโฟนด้วยท่าทีสบายๆ เมื่อได้ยินคำถามเรื่องภาวะเศรษฐกิจ เธอสะดุ้งตัวขึ้นก่อนจะเอ่ยปากว่า “ดูสิ นั่งเล่นเฟซ เล่นไลน์จนจะหลับแล้ว ดีไหมล่ะ”

วัลนาขยายความว่าตั้งแต่ปี 2557 รายรับลดลงอย่างต่อเนื่อง วันนี้แม่ค้านั่งมองตากันปริบๆ พื้นที่ที่เคยคับแคบ ลูกค้าเดินหัวไหล่ชนกัน กลายเป็นกว้างใหญ่ ยอดขายตกต่ำแทบทุกร้าน สิ่งที่เกิดขึ้นมีสาเหตุมาหลากหลายปัจจัย ตั้งแต่ จำนวนผู้ค้าและตลาดที่มีเพิ่มมากขึ้นเรื่อย โดยเฉพาะแรงงานต่างด้าว พฤติกรรมการรับประทานอาหารของผู้คน รวมไปถึงการจัดระเบียบควบคุมของกรุงเทพมหานคร

“แม่ค้าในตลาดเยอะแต่คนเดินน้อยลง ที่จอดรถก็ไม่มี จอดปุ๊ปถูกล็อก คนหนีไปห้างดีหมด คนสมัยนี้กินมื้อต่อมื้อ ทำเองบ้าง ซื้อกินสำเร็จรูปบ้าง พากันหายไปหมด ไม่ค่อยมีใครมาซื้อไปตุนไว้หลายๆ มื้อ”

รายรับของแม่ค้าขายปลาอย่างวัลลาเป็นไปในลักษณะเงินหมุนเวียน พูดง่ายๆ ว่าได้เงินมาก็นำไปซื้อสินค้าเพื่อขายในวันถัดไป โดยมีกำไรแต่ละรอบการลงสินค้า 10-20 เปอร์เซนต์ หลังหักลบค่าใช้จ่ายทุกอย่างแล้ว เช่น ค่าน้ำแข็ง ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ และค่าลูกจ้างที่ให้สูงถึงวันละ 500 บาท

“อยู่ได้เพราะเงินหมุนเวียน มีเงินใช้อยู่ตลอด แต่จะขายดีจนมีเงินมากพอไปใช้หนี้เขาหรือเปล่า อันนี้อีกเรื่อง ต้องคุยกับเถ้าแก่อยู่ที่เครดิต บางคนไม่มีไปกู้เงินแขกรายวันก็มี”

 

"จนกระจาย4.0" เมื่อรัฐบอกเศรษฐกิจดี เเต่พ่อค้าแม่ขายแทบไม่พอยาไส้ วัลนา ถินเเพ วัย 55 ปี แม่ค้าขายปลา

ตี๋ คลองเตย พ่อค้าขายอาหารทะเล บอกว่า หมดยุคความรุ่งเรืองของตลาดสดแล้ว คนเก่าขายไม่ได้ก็ออกไป คนใหม่เข้ามาก็เจ๊ง ทุกวันนี้ทำแล้วต้องอดทน พยายามไม่สร้างปัญหาหนี้สิน พึ่งพาตนเองและมีชีวิตให้ผ่านพ้นไปในแต่ละเดือน

“ยากเเล้วจะกลับมาคึกคัก สถานการณ์มันเปลี่ยน ของขายไม่ดี คนกระจายไปหมด รถก็ติดไม่มีใครอยากเดินทางมาซื้อของไกลๆ เด็กรุ่นใหม่ก็ไปเดินห้าง เดินตลาดใหม่กันหมด เงินมันเลยไม่ตกถึงตลาดสด คิดดูนะ สมัยก่อน 5 โมง ผมยังต้องตามไปหาของมาขายเพราะคนซื้อเขาต้องการ ทุกวันนี้ 5 โมง ของยังเหลืออีกบานเลย”

พ่อค้ามากประสบการณ์รายนี้บอกว่า เมื่อรายรับต่ำก็พาลทำให้ตัวเองไม่กล้าใช้จ่ายไปด้วย เศรษฐกิจในระดับชาวบ้านจึงฟืดเคืองกันไปหมด

นพรัตน์ แม่ค้าผักวันเก๋า ตลาดสดคลองเตย บอกว่า เศรษฐกิจไม่ดีนานแล้ว คนจำนวนมากเลือกที่จะกลับไปใช้ชีวิตในบ้านเกิดต่างจังหวัด ทำให้จำนวนคนในเมืองลดลง ขณะที่พฤติกรรมของผู้บริโภคยุคใหม่เลือกที่หาซื้อสินค้าถูกมากขึ้น โดยเฉพาะอาหารตามห้างสรรพสินค้า ในช่วงเวลาก่อนปิดให้บริการ

“เมื่อก่อนเบียดกันจะตาย สมัยนี้นับคนได้ คนประหยัดกันมาก ซื้อแต่ของสำเร็จรูป ในห้างเห็นไหม เย็นๆ ค่ำๆ เอามาเลหลังขายไม่กี่บาท ราคาถูกจะตาย มาเสียเวลานั่งหา นั่งทำเองทำไม แม่ค้าในตลาดมันเลยมีแต่เจ๊งกับเจ๊า ตั้งแต่ต้นปีมาแล้ว”

"จนกระจาย4.0" เมื่อรัฐบอกเศรษฐกิจดี เเต่พ่อค้าแม่ขายแทบไม่พอยาไส้ สุวรีย์ หิรัญพรฐานนท์ 48 ปี เจ้าของร้านข้าวแกงย่านอโศก

แผงลอยสุดหงอย

กลุ่มหาบเร่แผงลอยก็ไม่แพ้กัน เผชิญหน้ากับความย่ำแย่และรายได้ลดลงฮวบฮาบกันถ้วนหน้า

ดาวใจ หอมกลิ่น แม่ค้าขายไส้กรอกอีสาน ส่ายหัวหลังถูกถามว่าขายดีไหม ก่อนจะเอ่ยปากว่า “คนเงียบ หลังเมษาคนกลับบ้านว่าเงียบแล้ว หลังวันแม่มายิ่งเงียบไปใหญ่ ดูไม่ค่อยอยากใช้จ่ายกันเท่าไหร่ ไม่รู้ทำไม เขาไม่ซื้อเราก็ไม่มีเงินไปคิดซื้อหาอย่างอื่น คงต้องรอเศรษฐกิจดี แต่ไม่รู้เหมือนกันว่าทำยังไง”

สุวรีย์ หิรัญพรฐานนท์ 48 ปี เจ้าของร้านข้าวแกงย่านอโศก ผู้ปักหลักค้าขายมาตั้งแต่รุ่นแม่ เห็นว่า เศรษฐกิจตกต่ำมาหลายปีแล้ว บรรยากาศค่อนข้างเงียบเหงา จำนวนคนใช้จ่ายลดลงมาก ประกอบกับมีการจัดระเบียบทางเท้าด้วย ทำให้โอกาสการสร้างรายได้ลดลง จากกำไรวันละ 4-5 พันบาท เหลือเพียงเงินต่อทุนสำหรับวันพรุ่งนี้

“ลงทุนวันละ 6-7 พัน แทบไม่เหลือกำไร ขายได้ก็เอาไปซื้อของลงพรุ่งนี้หมด คนมันน้อยเพราะไม่มีที่นั่ง เมื่อก่อนกางผ้าใบกันแดดกันฝนได้ ตอนนี้ไม่ได้ อากาศร้อนๆ คนก็ไม่นั่งแล้ว”

วิธีปรับตัวของสุวรีย์ก็คือการผลิตให้น้อยลงเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้คน ซึ่งภาวะที่เป็นเช่นนี้ นานวันเข้า นำไปสู่ปัญหาหนี้สินทั้งในและนอกระบบ เนื่องจากรายรับไม่เพียงพอกับภาระค่าใช้จ่าย

“เมื่อก่อนมีแต่ทำของเพิ่ม ตอนนี้ต้องลดลง ลดลงไปเยอะมาก คนไม่ซื้อ เงินก็ไม่มีใช้จ่าย แม่ค้านี่ไม่ต้องคิดว่าจะไปซื้ออะไรฟุ่มเฟือย เป็นหนี้ด้วยซ้ำ ขายไม่ได้ก็ต้องกู้เพิ่ม แต่ละเดือนรายจ่ายมันสารพัด”

"จนกระจาย4.0" เมื่อรัฐบอกเศรษฐกิจดี เเต่พ่อค้าแม่ขายแทบไม่พอยาไส้ สำราญ อังครา อายุ 46 ปี ขับรถตุ๊กตุ๊ก

รายได้หดภาระอื้อ เอาแค่วันนี้ให้รอด

เมื่อเงินตกไม่ถึงแม่ค้า ทางปลอดภัยที่สุดของพวกเขาก็คือ การลดการผลิต ประหยัดค่าใช้จ่ายส่วนตัวและรอวันขาขึ้นของเศรษฐกิจอีกครั้ง

ปัญญา เเก่นแก้ว พ่อค้าไก่ทอดน้ำปลา บริเวณตลาดนัดประชานิเวศม์และสนามบินน้ำ บอกว่า 10 ปีที่ขายมาไม่มีเวลาไหนตกต่ำเท่านี้ เมื่อ 3 ปีก่อนนั้นมีรายรับมากถึงวันละ 8,000 บาท แต่ปัจจุบันลดลงเหลือเพียงแค่ 3,000 บาท  จำนวนคนเดินตลาดนั้นมากเท่าเดิมเพียงแค่คนควักเงินออกจากกระเป๋าเพื่อจับจ่ายลดลง

“ประเทศช่วงนี้เงินมันไม่ค่อยสะพัด ไม่คล่องตัว ติดขัดไปหมด คนก็เดินแน่น แต่คนจ่ายเงินกลับน้อยลง”

พ่อค้ารายนี้แก้ปัญหาด้วยการเปิดแผงค้าแห่งใหม่แห่งที่สอง แยกกันขายกับภรรยา แต่ยอดขายก็กระเตื้องขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น

“3 ปีก่อนผมขายที่เดียว ตอนนี้แยกกันขาย รวมกันแล้วยังไม่ถึง 5,000 บาทเลย ต้นทุนมันเพิ่มแต่กำไรไม่ถึงครึ่ง เหลือประมาณ 40 เปอร์เซนต์ พูดง่ายๆ วันนี้เหนื่อยมากขึ้นแต่กำไรลดลง” พ่อค้าวัย 54 ปีบอกพร้อมกับยกตัวอย่างการจับจ่ายใช้สอยของพี่น้องประชาชนวันนี้ให้ฟังว่า

“บ้านหนึ่งมี 3 คน เคยซื้อกับข้าวคนละอย่างมากินรวมกัน ตอนนี้ลดเหลือแค่ 2 คนขายแย่เลยครับ”

รายได้ที่ลดลงทำให้ทุกวันนี้ปัญญาคิดทบทวนมากขึ้นในการใช้จ่าย เลือกซื้อในสิ่งที่จำเป็นและมีประโยชน์เฉพาะหน้า ไม่ซื้อหาสิ่งของฟุ่มเฟือยบันเทิงใจ พร้อมกับเชื่อว่า เมื่อไหร่ที่ประเทศมีเสถียรภาพ ความมั่นคง รวมถึงภาพอนาคตที่ชัดเจนมากกว่านี้ทุกคนจะกล้าใช้จ่ายมากขึ้น

 

"จนกระจาย4.0" เมื่อรัฐบอกเศรษฐกิจดี เเต่พ่อค้าแม่ขายแทบไม่พอยาไส้ ผู้ค้าหลายรายชี้ว่า การจัดระเบียบทางเท้า กลายเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจระดับล่างไม่สะพัดเช่นในอดีต

ณรงค์เดช จักรยานยนต์รับจ้าง แยกเตาปูน บอกว่า บรรยากาศอารมณ์และความรู้สึกของผู้คนนั้นส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างมาก ทุกวันนี้ทุกคนพากันเอื่อยเฉื่อย ไม่กล้าจับจ่าย ทำให้เงินไม่สะพัด นอกจากนั้นยังเป็นเรื่องของสภาพแวดล้อมในแต่ละพื้นที่  สำหรับพื้นที่แยกเตาปูน หลังการเชื่อมต่อสมบูรณ์ระหว่างรถไฟฟ้าสายสีม่วงและสีน้ำเงิน ทำให้จักรยานยนต์รับจ้าง รายได้ลดลงไปจากเดิมที่สูงเป็นประวัติการณ์ถึงวันละ 1,400 บาท เหลือ 1,000 บาท
 
“จริงๆ ก็พออยู่ได้ครับ วันละ 1,000 แต่ต้องวิ่งทั้งวันนะ” ชายหนุ่มกล่าวพร้อมรอยยิ้ม

สำราญ อังครา อายุ 46 ปี ขับรถตุ๊กตุ๊ก ปักหลักแยกเตาปูนมากว่า 6 ปี บอกว่า รายได้ลดลงเหลือเพียงแค่ 600-700 บาท จากปกติได้มากถึงวันละ 1.000 บาท และไม่เข้าใจว่าเหตุใดผู้คนถึงเงียบเหงา หายไปเสียดื้อๆ

“เมื่อก่อนออกเช้า เข้าบ้าน 2 ทุ่ม ตอนนี้ เข้าบ้าน 3-4 ทุ่มแต่ดันได้เงินน้อยลง ประคองตัวเองไป ผมไม่รู้ว่าคนหายไปไหนหมด เคยนั่งก็ไม่นั่ง ไปนั่งรอรถเมล์”

ด้วยความที่คนลดน้อยลงทำให้สำราญแก้ปัญหาด้วยการหารายได้จากแม่ค้าตามตลาดแห่งอื่นมากขึ้น เพื่อทดแทนรายได้ที่หายไป

ฐิติกร บวรอุดม อายุ 35 ปี  แม่ขนมกุ้ยช่าย แยกเตาปูน บอกว่า การจัดระเบียบความเรียบร้อยอย่างเข้มงวดของกทม. กลายเป็นอุปสรรคให้กับการจับจ่ายใช้สอย เนื่องจากปิดโอกาสซื้อขายของผู้คน ซึ่งในอดีตมักแวะจอดรถเพื่อเดินซื้อสินค้า

“ไม่มีที่จอดรถ แวะเวียนหาซื้ออาหารไม่ได้ ตอนนี้รายได้ลดลงจากเดิมกว่าครึ่ง 5,000 บาท เหลือเพียง 2,000-3,000 บาท ในช่วง 3-4 ปีหลัง”

 

"จนกระจาย4.0" เมื่อรัฐบอกเศรษฐกิจดี เเต่พ่อค้าแม่ขายแทบไม่พอยาไส้ อมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโสสำนักวิจัยธนาคารซีไอเอ็มบีไทย

รายได้ไม่ถึงระดับล่าง-อนาคตไม่แน่นอน คนไม่กล้าจ่าย

อมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโสสำนักวิจัยธนาคารซีไอเอ็มบีไทย บอกว่า ตัวเลขเศรษฐกิจที่ฟื้นขึ้นมา เกิดจากภาคการส่งออกโดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์เเละกลุ่มท่องเที่ยว ขณะที่ในภาคอื่นๆ อย่างภาคการก่อสร้าง อุตสาหกรรม การผลิตและการบริการไม่ได้ฟื้นตัวอย่างเต็มที่เเละกระจายตัวได้น้อยกว่าในอดีต ซึ่งหมายถึงการลงทุนในภาคเอกชนนั้นลดลงตามมา เห็นได้ชัดว่า รายได้นอกภาคเกษตรอย่างการผลิตและส่งออกในภาคอุตสาหกรรมไม่เติบโตเพียงพอจะยกระดับเศรษฐกิจในประเทศได้ ตัวอย่างเช่น ชิ้นส่วนยานยนต์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิคส์

เขาบอกต่อว่า แม้รายได้ของภาคเกษตรจะเติบโตขึ้นมากถึง 10 เปอร์เซนต์เมื่อเทียบกับปีที่เเล้วที่ประสบกับปัญหาภัยเเล้งเเละราคาผลผลิตตกต่ำจากการลดลงของราคาน้ำมัน อย่างไรก็ตามพบว่า ไม่มีการกระจายตัวในการใช้จ่ายเข้าสู่ภาคบริการในเมือง เรียกว่าขาดการเชื่อมโยงจากภาคเกษตรกับภาคบริการและการบริโภคจับจ่ายใช้สอยในเมือง เนื่องจากคนในภาคเกษตรนำเงินที่ได้รับไปใช้หนี้สิน เงินจึงไม่หมุนหรือกระจายตัวมากเท่าที่ควร

ส่วนกลุ่มคนระดับกลาง กลุ่มมนุษย์เงินเดือนที่มีรายได้ประจำหรือรายได้ทรงตัว มักเลือกที่จะออมเเละรัดเข็มขัดเอาไว้ก่อน ไม่ใช่เพราะกำลังซื้อไม่มี แต่เป็นเหตุผลด้านทัศนคติและมุมมองต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ หากไม่มั่นใจก็มักระมัดระวังการใช้จ่าย

“ธรรมชาติของคนเราเมื่อเห็นสภาพความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ ก็มักตั้งคำถามว่า มันจะเป็นการฟื้นอย่างต่อเนื่องหรือไม่ การลงทุนต่างๆ จะกลับมาไหม เมื่อไม่กล้าใช้จ่าย เงินจึงไม่หมุนเวียนในระบบ”

ผ.อ.สำนักวิจัยธนาคารซีไอเอ็มบีไทย แนะนำว่า ประชาชนควรประเมินสถานภาพของตนเอง การลงทุนและการใช้จ่ายสอดคล้องกับรายได้ปัจจุบันและอนาคตหรือไม่ เพื่อไม่ให้เกิดความกังวลมากจนเกินไป ขณะที่นโยบายของภาครัฐจำเป็นต้องสร้างความเชื่อมั่นในลักษณะของการลงทุนสำคัญ เช่น การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เพื่อให้ผู้คนเห็นภาพอนาคตที่สดใสและมั่นใจว่าทำได้จริง เมื่อนั้นความเชื่อมั่นใจก็จะกลับมา