posttoday

น้ำท่วมอีสานภัยธรรมชาติ-ผังเมืองผิดรูป แก้ระยะยาวต้องรื้อใหม่ทั้งระบบ

04 สิงหาคม 2560

แม้ปัญหาน้ำท่วมในอีสานจะเป็นอุทกภัยที่เกิดจากอิทธิพลของพายุเซินกา แต่อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้น้ำระบายได้ช้าลงคือ ปัญหาโครงสร้างพื้นฐานสิ่งก่อสร้างที่ขวางทางระบายน้ำ

โดย...ธเนศน์ นุ่นมัน

แม้ปัญหาน้ำท่วมครั้งใหญ่ที่ จ.สกลนคร และจังหวัดใกล้เคียง จะเป็นอุทกภัยที่เกิดจากอิทธิพลของพายุเซินกา ทำให้ฝนตกหนักต่อเนื่อง แต่อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้น้ำระบายได้ช้าลงก็คือ ปัญหาโครงสร้างพื้นฐาน สิ่งก่อสร้างที่ขวางทางระบายน้ำในตัวจังหวัด ซึ่งเป็นปัญหาเรื้อรังที่เคยเกิดขึ้นแล้วในหลายพื้นที่

หาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำ แบบบูรณาการ (ประเทศไทย) ระบุว่า ปัญหาน้ำท่วมใน จ.สกลนคร นอกจากเป็นเรื่องของปริมาณฝนแล้ว ยังมีอีกปัญหาหนึ่ง ซึ่งเคยมีสำรวจพบตั้งแต่ช่วงปี 2554 ว่า ตามแผนผังการระบายน้ำในเขตเทศบาลสกลนคร อยู่ในงบจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาทในยุคนั้น โดยมีข้อเสนอให้ผันน้ำ ปรับปรุงทางระบายน้ำ ขุดลอกทางน้ำ ขุดทางบายพาสให้น้ำไหลผ่าน

"เคยมีการลงพื้นที่ไปสังเกตการณ์ พบว่าเมื่อมีฝนตกหนักๆ 3-4 ชั่วโมง ในพื้นที่ก็จะมีน้ำระบายไม่ทันจริง โดยพบว่าในตัวจังหวัดมีการอนุญาตให้มีสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่สร้างเบียดทางน้ำ และมีถนนขวางเส้นทางน้ำ ทำให้น้ำระบายสู่หนองหาร ซึ่งเป็นเส้นทางระบายน้ำสำคัญของ จ.สกลนคร ได้ช้าลง และกรณีที่คล้ายคลึงกันนี้ เคยเกิดขึ้นแล้วในหลายภูมิภาค เช่นที่ จ.อุดรธานี ซึ่งมีการก่อสร้างถนนวงแหวนล้อมรอบตัวเมือง พอฝนตกหนักในพื้นที่เมืองก็เกิดปัญหาน้ำระบายออกไม่ทัน

หรือกรณีน้ำท่วมที่ อ.พุนพิน จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งพบว่าเกิดจากการตัดถนนไปยังสนามบิน โดยถมพื้นที่ป่าพรุซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ เพื่อสร้างถนนเส้นดังกล่าว ส่งผลให้ถนนขวางทางระบายน้ำออกสู่ทะเล และกรณีน้ำท่วมที่ จ.นครศรีธรรมราช เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมาก็พบว่าเกิดจากการก่อสร้างถนนวงแหวนฝั่งตะวันออก และการขยายเมืองโดยมีการก่อสร้างห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่อีก 3 แห่ง ทั้งหมดเป็นตัวอย่างการก่อสร้างที่เข้าไปแทนที่พื้นที่รับน้ำ ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าพรุหรือแก้มลิงของเมือง ส่งผลต่อการระบายน้ำโดยตรง เช่นเดียวกับพื้นที่ภาคอีสาน ที่พบว่า พื้นที่ราบลุ่มน้ำท่วมถึง หรือที่เรียกว่า 'ป่าทาม' และ 'ป่าบุ่ง' หรือบริเวณที่ลาดลุ่มที่มีแหล่งน้ำแช่ขัง ถูกบุกรุกในหลายแห่ง จนเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดน้ำท่วมรุนแรงขึ้น" ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารจัดการน้ำฯ กล่าว

หาญณรงค์ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาพบว่าเมื่อมีความพยายามแก้ปัญหาแผนผังทางระบายน้ำของแต่ละจังหวัด ก็มักจะเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก เนื่องจากเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน

"เช่น เมื่อให้เทศบาลจังหวัดดำเนินการ ทั้งแผนและมาตรการก็ไม่สอดคล้องกับการก่อสร้างของกรมทางหลวง หรือกรมทางหลวงชนบท ยังไม่รวมถึงการก่อสร้างของกรมโยธาธิการและผังเมือง ซึ่งไม่สอดคล้องไปด้วยกัน เมื่อพบว่ามีปัญหาในการระบายน้ำ ก็ไม่มีการทักท้วงกัน เพราะเห็นว่าเป็นหน่วยงานราชการเหมือนกัน เมื่อเป็นแบบนี้หลายจุด ภาพใหญ่ในการระบายจากพื้นที่เมืองก็ล้มเหลว จนเกิดปัญหาน้ำท่วมดังที่เกิดขึ้น" หาญณรงค์ กล่าว

สุจริต คูณธนกุลวงศ์ อาจารย์ประจำหน่วยปฏิบัติการวิจัยระบบการจัดการแหล่งน้ำ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า นอกจากจะเกิดจากปัจจัยด้านภัยธรรมชาติแล้ว ความล้มเหลวในการจัดการผังเมืองก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ปัญหาอุทกภัยรุนแรงขึ้น

"พื้นที่ระบายน้ำ ระบบระบายน้ำในอดีต คลองและทางระบายน้ำ สระที่เป็นแก้มลิงถูกถม ทำให้น้ำอยู่นานขึ้น และเพราะเดิมพื้นที่หนองหารเป็นพื้นที่ต่ำมีน้ำขังนานมาก่อน ก็ยิ่งทำให้น้ำท่วมหนักกว่าขึ้นไปอีก หลังจากนี้นอกจากจะสำรวจทางระบายน้ำใหม่แล้ว ทุกเมืองควรจะมีการทบทวนแผนซักซ้อมอุทกภัย ต้องมีการออกแบบระบบสำรวจปริมาณน้ำฝนให้สอดคล้องกับพื้นที่ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างเป็นปัจจุบัน" อาจารย์ประจำหน่วยปฏิบัติการวิจัยระบบการจัดการแหล่งน้ำ จุฬาฯ กล่าว

สิตางศุ์ พิลัยหล้า นักวิชาการจากอนุกรรมการวิศวกรรมสถานแหล่งน้ำฯ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) กล่าวว่า สิ่งที่ต้องคำนึงถึงอีกเรื่องก็คือเรื่องของระบบเตือนอุทกภัย ซึ่งพบว่าที่ผ่านมายังมีปัญหาที่ต้องปรับปรุงหลายด้าน

"กรณีที่เกิดขึ้นที่สกลนครรอบนี้ถือเป็นระดับวิกฤต ซึ่งการเตือนภัยฝากไว้เพียงที่หน่วยงานอย่างกรมชลประทานไม่ได้ เพราะเป็นการเตือนภัยระดับชาติเรายังไม่มี ทำให้ชาวบ้านไม่รู้ตัว ระบบข้อมูลที่ทราบกันก็เป็นรูปแบบเดิมเช่นเดียวกับที่ได้รับตอนเกิดอุทกภัยในที่อื่นๆ ทำให้เกิดบรรยากาศการตอบโต้ข้อมูลกัน ถึงเวลาหรือยังที่จะต้องมีระบบสั่งการจุดเดียวที่เท่าทันกับสถานการณ์ระดับวิกฤต ที่สามารถจัดการรวมศูนย์ข้อมูลที่ถูกต้อง ไม่ใช่ปล่อยให้ต่างคนต่างเช็กข้อมูลจนเกิดความโกลาหล" อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มก. กล่าว..


บรรยายภาพ -   สถานการณ์นำท่วมใน อ.บำเหน็จณรงค์ จ.ชัยภูมิที่ได้รับผลกระทบจากพายุเซินกาอย่างต่อเนื่อง