posttoday

"ปิดฉากคดีค้ามนุษย์" บทพิสูจน์ไทยไม่เคยละเลย

30 กรกฎาคม 2560

"คำตัดสินของศาลคือบทพิสูจน์แล้วว่าเราทำงานโดยไม่กลั่นแกล้งใคร เป็นเรื่องของตัวบุคคลเสียส่วนใหญ่ ไม่ใช่เรื่ององค์กรแต่อย่างใด"

โดย...เอกชัย จั่นทอง

ศาลอาญาแผนกคดีค้ามนุษย์ ได้อ่านคำพิพากษาความยาว 541 หน้าไปเรียบร้อยแล้ว สำหรับคดีค้ามนุษย์ “ชาวโรฮีนจา” นับเป็นคดีแรกตั้งแต่มีการก่อตั้งแผนกคดีค้ามนุษย์ ในศาลอาญาขึ้นมา ที่ต้องใช้เวลาอ่านคำพิพากษายาวนานกว่า 12 ชั่วโมง จนต้องบันทึกไว้บนหน้าประวัติศาสตร์ศาลไทยที่ใช้เวลาอ่านคำพิพากษานานที่สุด เนื่องจากจำเลยในคดีมีถึง 103 คน

ในฐานะหัวหน้าชุดสืบสวนคดีครั้งนั้น พล.ต.อ. เอก อังสนานนท์ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เล่าจุดเริ่มต้นของคดีค้ามนุษย์เมื่อ 2 ปีก่อนกับโพสต์ทูเดย์ ว่า จุดเริ่มต้นคลี่คลายคดีชาวโรฮีนจา ตำรวจพบว่ามีขบวนการพาคนเหล่านี้ไปประเทศที่ 3 เรียกค่าไถ่จากญาติเป็นเงินหลายแสนบาท ผู้เสียหายบางรายไม่ยินยอมถูกทำร้ายทารุณจนเสียชีวิต

ฉากปฏิบัติการสืบสวนเข้มข้นเริ่มต้นขึ้นเมื่อ ตำรวจ ทหาร ฝ่ายปกครอง เข้าตรวจสอบพื้นที่บนเทือกเขาแก้ว บ้านตะโละ ต.ปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา ภาพตรงหน้าเป็นค่ายกักกัน มีหลุมฝังศพจำนวนมาก นั่นคือความโหดร้ายที่เกิดจากการกระทำระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ หลายชีวิตต้องหมดลมหายใจเพราะถูกทรมานทุบตี อดอาหาร ทำให้ฝ่ายความมั่นคงยอมไม่ได้ที่จะให้เกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ขึ้นในประเทศไทย เพราะบ้านเราคือเมืองพุทธ

“เหตุการณ์นี้ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ต้องเข้ามาเน้นย้ำกำชับการทำงาน มอบหมายให้ลงไปดำเนินการคลี่คลายกวาดล้างจับกุมขบวนการค้าเนื้อสดเหล่านี้ให้ได้ จนในที่สุดสามารถนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษได้ตามพยานหลักฐานที่พบ จนศาลได้ตัดสินพิสูจน์ชัดเจนแล้วว่ามีการทำผิดจริง”พล.ต.อ.เอก เล่า

อดีตรอง ผบ.ตร. ยังย้อนปฏิบัติการขุดรากถอนโคนขบวนการค้าเนื้อสดครั้งประวัติศาสตร์ว่า ได้มีการตั้งศูนย์ปฏิบัติการตำรวจภูธรภาค 9 ส่วนหน้า ที่ สภ.หาดใหญ่ ขึ้นมาโดยเฉพาะ พร้อมระดมทีมพนักงานสอบสวนฝีมือดีทุกจังหวัดในพื้นที่กองบัญชาการตำรวจภาค 8 ละภาค 9 รวมถึงศาล สำนักงานอัยการสูงสุด (อส.) สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ผู้ว่าราชการจังหวัด ที่เข้ามาช่วยสืบสวนสอบสวนด้วย

ขณะนั้นได้ทาบทาม พล.ต.ต.ปวีณ พงศ์สิรินทร์ อดีตรอง ผบช.ภ.8 มาเป็นหัวหน้าพนักงานสอบสวนคดีนี้ เพราะเชื่อในฝีไม้ลายมือจากผลงานสอบสวนสารพัดคดีที่ผ่านมา ด้วยความซื่อสัตย์ของ พล.ต.ต.ปวีณ คืออีกเหตุผลที่ไว้วางใจให้เข้ามาร่วมทำคดี ยอมใช้ชีวิตกินนอนอยู่ สภ.หาดใหญ่ กับเพื่อนตำรวจดังพี่น้อง แม้ผลลัพธ์ที่ตัวเองได้รับจะต้องลี้ภัยไปอยู่ต่างประเทศเหตุถูกข่มขู่คุกคามอย่างหนักก็ตาม

“ทำงานอยู่คลุกคลีตีโมงกันดึกดื่น ใช้ตำรวจประมาณ 200-300 คน จับกุมผู้ต้องหาทั้งหมด ยอมรับเห็นใจนายตำรวจที่ช่วยกันสะสางคดีนี้จนสำเร็จ แม้จะเป็นคดีใหญ่ระดับประเทศทุกคนต่างมุ่งมั่นทำงานโดยไม่ได้สนใจเรื่องยศตำแหน่ง หรือการเลื่อนขั้น ทุกคนคิดเพียงว่ามันคือหน้าที่ของตำรวจในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขประชาชนเท่านั้น”

ดังพระบรมราโชวาทของรัชกาลที่ 5 ทรงพระราชทานไว้ว่า “การจับผู้ร้ายนั้นไม่ถือเป็นความชอบ เป็นแต่นับว่าผู้นั้นได้กระทำการครบถ้วนแก่หน้าที่เท่านั้น แต่จะถือเป็นความชอบต่อเมื่อได้ปกครองป้องกันเหตุร้าย ให้ชีวิตและทรัพย์สินสมบัติของข้าแผ่นดินในท้องที่นั้น อยู่เย็นเป็นสุขพอสมควร” นั่นคือหลักยึดเหนี่ยวในการทำคดีนี้ของ พล.ต.อ.เอก และตลอดชีวิตที่สวมชุดสีกากี

ในห้วงเวลานั้นต้องทำงานแข่งกับเวลาที่เป็นข้อจำกัด บางครั้งดึกดื่นต้องนำพยานหลักฐานไปยื่นขอให้ศาลอนุมัติหมายจับ เพราะถ้าจับผู้ต้องหาได้ช้าพยานหลักฐานอาจสูญหายถูกทำลายได้ เนื่องจากตำรวจไม่มีเครื่องมือใดในการแสวงหาพยานหลักฐานนอกจากหมายเรียกกับหมายค้น ตำรวจไม่สามารถดักฟังโทรศัพท์ หรือใช้กฎหมายพิเศษได้เหมือนกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ

พล.ต.อ.เอก ยอมรับว่า การทำคดีนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย บางครั้งพยานปากสำคัญกลัวการให้ข้อมูลกับตำรวจ บางคนหลบหนีไปตำรวจก็ต้องไปตามพาตัวมา ไปรับพยานแต่ละครั้งมีตำรวจคุ้มกันนับสิบคน หรืออย่างในช่วงถือศีลอดเราก็ต้องดูแลพยานเหล่านี้เป็นอย่างดี ยอมรับเห็นน้ำใจตำรวจที่ร่วมทำคดีนี้ทุกนาย

สำหรับขั้นตอนทำงานใช้เวลาสอบปากคำหลายวันหลายชั่วโมงหลายอย่างเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมาก การทำคดีนี้สะท้อนอย่างชัดเจนว่าตำรวจทุกนายอุทิศกายตั้งใจทำคดี ไม่มีใครมาสนใจเรื่องอื่น แม้ว่าตำรวจทุกคนจะทราบดีว่าการทำงานครั้งนี้มีความเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน

“พอจับกุมผู้ต้องหาได้ทั้งหมดก็เหมือนหยุดเลือดไหลไม่มีใครกล้าเข้าไปเกี่ยวข้อง ตั้งข้อสังเกตว่าถ้าไม่มีการจับกุมขบวนการค้ามนุษย์ ชาวโรฮีนจาอาจตั้งรกรากอยู่ในประเทศ กลายเป็นชนกลุ่มน้อย สร้างความเสียหายกับประเทศ จึงเชื่อได้ว่าถ้าไม่มีคนไทยเข้าไปเกี่ยวข้อง ชาวโรฮีนจากลุ่มนี้คงเข้ามาในประเทศไม่ได้แน่นอน”

กระนั้นก็ตาม คดีที่เกิดขึ้นทั่วโลกต่างจับจ้องดูการทำงานของตำรวจ หลายฝ่ายเกรงว่าอาจเกิดการแทรกแซงของผู้มีอำนาจเหนือกว่า อดีตหัวหน้าชุดสืบสวน ตอบโต้กลับมาทันทีว่า การทำคดีครั้งนั้นไม่มีใครมากดดัน เพราะ พล.อ. ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร สั่งให้ดำเนินการอย่างเฉียบขาด เนื่องจากเป็นเรื่องของประเทศชาติ ท่านให้ความสำคัญอย่างมาก มุ่งหวังให้ประเทศไทยไม่ติดกับดักปัญหาการค้ามนุษย์ และต้องการให้นานาประเทศที่เคยกล่าวหาไทยได้เข้าใจ จากคำพิพากษาศาลคงเป็นประจักษ์พยานพิสูจน์ความจริงจังในการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลนี้

"ปิดฉากคดีค้ามนุษย์" บทพิสูจน์ไทยไม่เคยละเลย

คดีค้ามนุษย์ไม่ใช่ผลงานของตัวเอง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นวันนี้สะท้อนให้เห็นแล้วว่าคือ ผลงานของนายตำรวจทุกคนทุกฟันเฟืองในวันนั้นที่รวมหัวใจทำงานจนทำให้การดำเนินคดีเดินหน้าต่อไปได้

“ผมแค่กำกับควบคุมดูแลถ่ายทอดแนวทางทำงานเท่านั้น คำตัดสินของศาลคือบทพิสูจน์แล้วว่าเราทำงานโดยไม่กลั่นแกล้งใคร เป็นเรื่องของตัวบุคคลเสียส่วนใหญ่ ไม่ใช่เรื่ององค์กรแต่อย่างใด เพราะถ้าพยานหลักฐานไม่เพียงพอหรือหลักฐานไม่น่าเชื่อถือศาลคงไม่มีคำสั่งลงโทษ แม้จะอยู่ในชั้นต้นก็ตาม แต่นั่นก็พิสูจน์ให้เห็นว่าเราจริงจังกับปัญหาเพียงใด”

ทว่าคำตัดสินของตุลาการในคดีนี้บ่งชี้ปัญหาค้ามนุษย์อย่างไร พล.ต.อ.เอก อธิบายให้ฟังว่า เราได้เห็นปัญหาเห็นเครือข่ายผู้มีอิทธิพลในพื้นที่ โดยใช้อำนาจหน้าที่เสาะแสวงหาผลประโยชน์ ทำให้เจ้าหน้าที่รัฐดำเนินการจับกุมปราบปรามไม่ได้ เนื่องจากกลุ่มเหล่านี้มีมวลชน มีเครือข่าย ดังนั้นต้องมีมาตรการต่างๆ เข้าไปปฏิบัติการอย่างเฉียบขาด เพราะคนเหล่านี้มันเกี่ยวข้องกับธุรกิจสีเทา นั่นก็เป็นปัญหาที่ต้องสืบสวนปราบปราม

ขบวนการพวกนี้คือออร์แกไนช์ไครม์ (Crime)ที่ไม่ใช่การทำเพียงคนเดียว แต่เป็นรูปแบบของเครือข่าย ท้ายที่สุดการรับมือพวกนี้ต้องจริงจังและมีเครื่องมือในการแก้ไข มีผู้นำที่มีประสบการณ์เข้าไปควบคุม และสิ่งที่เห็นจากคำตัดสินศาลสะท้อนให้นานาประเทศได้เห็นแล้วว่า เราตอบโจทย์เรื่องการจัดอันดับเทียร์ ที่ปัจจุบันรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ พยายามเข้ามาจัดการแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์

อดีตหัวหน้าชุดจับกุมค้ามนุษย์ชาวโรฮีนจา ให้รายละเอียดต่อไปว่า การค้ามนุษย์ยังฉุดทำลายระบบเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศอีกสารพัด ผลลัพธ์ที่ได้จากการปราบปรามทำให้ตอนนี้ไม่มีขบวนการค้ามนุษย์ชาวโรฮีนจาผ่านมายังประเทศไทยอีก เนื่องจากผู้เกี่ยวข้องถูกจับดำเนินคดีทั้งหมด คดีนี้คงจะเป็นตัวอย่างเป็นเงาสะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลพยายามแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง

“หวังว่าประเทศสหรัฐอเมริกาจะตระหนักคิดถึงสิ่งที่เคยมองประเทศไทยว่ามีการค้ามนุษย์ คงจะเข้าใจในคำตัดสินของศาลที่คือหลักประกัน ซึ่งเป็นคดีแรกที่ตัดสินดำเนินคดีลงโทษกับขบวนการค้ามนุษย์ ครั้งตั้งแต่เริ่มมีการก่อตั้งแผนกคดีค้ามนุษย์ ศาลอาญา ปี 2558 อีกทั้งยังเป็นคดีประวัติศาสตร์ที่มีผู้ต้องหาจำนวนมาก จึงต้องใช้เวลาพิจารณาคดียาวนานกว่า 12 ชั่วโมง”

ถามถึงความหวังกับการดำเนินคดีค้ามนุษย์ พล.ต.อ.เอก ย้ำว่า ต่อจากนี้ไปคงเป็นเรื่องของความเอาจริงเอาจังในแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์ คงไม่มีใครกล้าทำผิดอีก หลังจากนี้จะเกิดการป้องกันปราบปรามไม่ให้เกิดปัญหานี้ขึ้นมา ส่วนตัวคาดหวังว่าในปีต่อไปสหรัฐอเมริกาอาจเข้าใจว่าประเทศไทยมุ่งมั่นแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์มากน้อยแค่ไหน

เพราะจากคำตัดสินของศาลคงเป็นเครื่องพิสูจน์ต่อการแก้ไขปัญหาค้ามนุษย์แล้วว่าประเทศ ไทยไม่เคยปล่อยปละละเลยเรื่องเหล่านี้ หวังภาวนาว่าผลการจัดอันดับเทียร์ของประเทศไทยจะมีสถานะดีเหมือนนานาอารยประเทศ