posttoday

"ต่างคนต่างทำ-ไม่คุย-ไม่ใช้ของไทย" หลุมพรางงานวิจัยไทยไม่ไปไหนจนแพ้ต่างชาติ

27 กรกฎาคม 2560

ไขปมปัญหา ทำไมการพัฒนาเทคโนโลยีในไทยถึงก้าวหน้าไม่ทัดเทียมนานาชาติ ทั้งที่คนไทยพัฒนาผลงานดีๆ และได้รับรางวัลระดับโลกอยู่ตลอด

โดย…วิรวินท์ ศรีโหมด

การพัฒนาเทคโนโลยีในประเทศไทยที่ผ่านมา สถาบันการศึกษา องค์กรภาครัฐ-เอกชน วิจัยพัฒนาผลิตนวัตกรรมใหม่ๆขึ้นมาตลอด แต่กลับพบว่าแทบไม่เคยถูกพัฒนาต่อยอดนำออกมาใช้จริงเท่าที่ควร

อะไรเป็นสาเหตุทำให้ผลงานวิจัยเทคโนโลยีที่มีมากมายของไทยย่ำอยู่กับที่ จนต้องหันหน้าไปพึ่งพานำเข้าเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ทั้งที่นวัตกรรมจากองค์ความรู้ของคนไทยคิดค้นวิจัยพัฒนาขึ้นมาได้

“หลุมพรางงานวิจัย” ตัวฉุดรั้งเทคโนโลยีไทย

พ.อ.ชัชพงษ์ พันธุ์พยัคฆ์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนากิจการ สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (องค์การมหาชน) กระทรวงกลาโหม มองว่าเรื่องนี้เหมือนกับที่นายกรัฐมนตรีเคยกล่าวไว้ว่า การนำผลงานวิจัยจากห้างไปสู่หิ้ง ถือเป็นหลุมพรางของงานวิจัย เพราะที่ผ่านมามักเห็นว่า งานวิจัยหลายชิ้นของไทยสามารถกวาดรางวัลชนะเลิศเวทีต่างๆ ได้มากมาย แต่กลับไม่สามารถส่งออกหรือจำหน่ายได้ เพราะตกหลุมพรางนี้

เนื่องจากการพัฒนาต่อยอดผลงาน ไม่ถูกถอดแบบออกจากงานวิจัยนำไปสู่การใช้จริง เพราะไม่มีหน่วยงานไหนสนใจทำงานเรื่องนี้ แต่ขณะนี้สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ เล็งเห็นถึงความสำคัญตรงนี้ จึงกำลังเดินหน้าทำเรื่องนี้โดยเริ่มจากแก้กฎหมาย เพื่อเป็นหนทางขึ้นจากหลุมพรางงานวิจัย

"งานวิจัยเราที่ผ่านมาอยู่บนหิ้ง ไม่เคยเดินไปสู่ห้าง เพราะมันติดตรงข้อกฎหมาย และความจริงใจที่จะสนับสนุนนำผลงานคนไทยไปใช้ ตรงนี้มันหายไป ดังนั้นเราต้องหาคนมาเติมเต็ม เพื่อให้งานวิจัยเดินไปสู่การใช้จริง"

พ.อ.ชัชพงษ์ เล่าวัตถุประสงค์การตั้งสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ว่าเพื่อวิจัยพัฒนายุทโทปกรณ์ขนาดใหญ่ของกองทัพให้มีความทันสมัย แต่การทำงานจะอยู่ภายใต้กรอบแผนแม่บทสภากลาโหม 4 เรื่อง คือ 1.จรวด 2.เทคโนโลยีและการสื่อสาร 3.อากาศยานไร้คนขับ และ 4.ระบบจำลองยุทธ์เสมือนจริง

ตลอด 9 ปี ที่สถาบันฯ ก่อตั้งมีเจ้าหน้าที่กว่า 300 คน ดำเนินงานผลิตนวัตกรรมออกมาจำนวนมาก อาทิ ยุทโทปกรณ์ประเภทจรวด ยานเกราะ สนามทดสอบอาวุธกองทัพ และอีกส่วนเป็นเทคโนโลยีประเภท อากาศยานไร้คนขับหลากหลายขนาด หุ่นยนต์ตรวจวัตถุระเบิด เทคโนโลยีตรวจสอบทะเบียนรถที่ใช้ในพื้นที่ชายแดนใต้ ทั้งหมดถูกสร้างขึ้นตามความต้องการกองทัพในฐานะผู้ใช้

พ.อ.ชัชพงษ์ มั่นใจว่าการดำเนินงานที่ผ่านมาตลอดระยะเวลา 9 ปี ของสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ถือว่าเติบโตรวดเร็วและประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง เพราะหัวใจสำคัญที่ทำให้องค์กรเติบโตรวดเร็ว มาจากการทำงานของทีมนักวิจัยใช้วิธีการถ่ายทอดเทคโนโลยี และมีแนวทางการดำเนินงานชัดเจน เพื่อสนองการใช้งานจริงพร้อมรองรับการปรับปรุงแก้ไขพัฒนาอยู่ตลอด

ผอ.ฝ่ายพัฒนากิจการ รายนี้ เล่าแบบภาคภูมิใจว่าข้อดีการพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นเอง ช่วยลดต้นทุนการจัดซื้ออุปกรณ์จากต่างประเทศได้มาก ยกตัวอย่างอากาศยานไร้คนขับขนาดเล็ก หรือ มินิ-ยูเอวี ที่พัฒนาขึ้นหากเทียบกับของต่างประเทศขายอยู่ 15-20 ล้านบาท ส่วนงานต้นแบบที่พัฒนาเองใช้งบประมาณเพียง 5 ล้านบาท หรือ 1 ใน 4 เท่านั้น แต่ถึงอย่างไรคิดว่าการทำให้ผลงานเหล่านี้ออกสู่ตลาด ควรเริ่มจากการสร้างความมั่นใจของผู้ใช้ในประเทศก่อน

"หลุมพรางแห่งการวิจัย ต้องค่อยๆ แก้ ซึ่งรัฐบาลมีความจริงใจที่จะแก้ปัญหานี้ แต่ต้องค่อยๆ แก้และเติมเข้าไปที่ละนิด แต่ยังไงหัวใจสำคัญสุดท้ายอยู่ที่ว่า ผู้ใช้ต้องมั่นใจผลงานของเราเอง" 

"ต่างคนต่างทำ-ไม่คุย-ไม่ใช้ของไทย" หลุมพรางงานวิจัยไทยไม่ไปไหนจนแพ้ต่างชาติ พ.อ.ชัชพงษ์ พันธุ์พยัคฆ์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนากิจการ สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ

ต่างคนต่างทำ เทคโนโลยีไทย จึงไม่ถึงฝัน

พล.อ.สมพงศ์ มุกดาสกุล ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ มองว่างานวิจัยไทยส่วนมากทำแล้ว ไม่ได้ใช้ จึงเป็นตัวทำให้อุตสาหกรรมไทย ไม่พัฒนาเพราะไม่ได้นำไปสู่การผลิต แต่ถึงอย่างไรสถาบันฯ พยายามสนับสนุนต่อยอดโดยร่วมมือกับหน่วยงานอื่นเพื่อให้ผลงานวิจัยนำไปสู่การผลิต ไม่เช่นนั้นผลงานจะฝ่อ เป็นงานวิจัยขึ้นหิ้ง เพราะไม่มีเป้าหมายชัดเจน

ขณะที่หนทางทำให้งานวิจัยนำไปสู่การผลิตมองว่ามี  2 องค์ประกอบหลัก คือ 1.ต้องทำให้เทคโนโลยีสิ่งของ พร้อมใช้งานง่าย 2.ทุกหน่วยต้องเชื่อมต่อประสานงานกัน ยกตัวอย่างหากหน่วยงานไหนต้องการผลงานและสนับสนุนงานวิจัยควรหันหน้าพูดคุยกัน เช่น ทหารต้องการใช้โดรนลาดตระเวนพื้นที่ กรมชลประทานต้องการโดรนสำรวจทรัพยากรธรรมชาติ ควรเข้ามาคุยกับทีมนักวิจัย เพื่อร่วมกันวิจัยพัฒนาผลงานออกมาให้ตรงความต้องการ

"ทางแก้ปัญหาภาครัฐ เอกชน ต้องร่วมมือทำงานให้เชื่อมกัน หากทำได้จะช่วยให้เทคโนโลยีในภาคอุตสาหกรรมมีมูลค่าเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังช่วยลดต้นทุนการผลิตของหน่วยงานรัฐลงไปได้ เหมือนกับต่างประเทศที่ผลิตอะไรขึ้นมา มักนำงานนั้นๆ สู่ภาคธุรกิจทันที"

ผอ.สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ เผยว่าแผนงานพัฒนาผลงานวิจัยขององค์กร ระยะสั้นกำลังเร่งพัฒนาความร่วมมือกับเครือข่ายสถาบันการศึกษา หน่วยงานรัฐ-เอกชน ขณะนี้กำลังแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้สามารถร่วมทุนผลิตผลงานแก่หน่วยงานอื่นได้ ระยะยาวต้องปลูกฝังพัฒนาคนให้รับรู้และเข้าใจเชิงลึก เพราะการสร้างคน สร้างเทคโนโลยีเป็นเรื่องที่ไม่สามารถเห็นผลเป็นรูปธรรมทันที จึงต้องพยายามผลักดันเรื่องนี้

"ต่างคนต่างทำ-ไม่คุย-ไม่ใช้ของไทย" หลุมพรางงานวิจัยไทยไม่ไปไหนจนแพ้ต่างชาติ พล.อ.สมพงศ์ มุกดาสกุล ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ

จีน เล็งไทยตั้งฐานผลิตเทคโนโลยี

ลู่ ซีเหว่ย ประธานกรรมการ บริษัท เอชเอ็มดี เอวีเอชั่น จำกัด สาธารณรัฐประชาชนจีน บริษัทผู้ผลิตเทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับหลายรูปแบบ เล่าว่าเทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับในจีนถูกพัฒนานำมาใช้ประโยชน์อย่างแพร่หลาย ตั้งแต่ งานทางการทหาร อุตสาหกรรม โดยเฉพาะด้านเกษตรกรรม เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่ของจีนนิยมทำเกษตรกรรม

ดังนั้นการเข้าร่วมพัฒนาวิจัยกับสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศฯ เพื่อพัฒนาอากาศยานไร้คนขับทางการเกษตร ซึ่งคิดว่าไทยเป็นเรื่องที่ดี เพราะไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม จึงคิดว่าหากสนับสนุนเทคโนโลยีดังกล่าวจะทำให้เกษตรกรไทยทำงานได้ง่ายขึ้น

“วันนี้นำเทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับทางด้านการเกษตรเข้ามาก่อน แต่อนาคตมองว่า อาจเข้ามาตั้งทำโรงงานผลิตในไทย เพราะประเทศไทยมีพื้นที่เกษตรกรรมจำนวนมาก จึงมองว่าตลาดไทยน่าพัฒนาได้เร็วเช่นกัน แต่ต้องอาศัยความร่วมมือที่ดีกันระหว่างไทย-จีน”

อาจถึงเวลาที่ทุกฝ่ายทั้งผู้ต้องการผลงานและเทคโนโลยีดีๆ ผู้วิจัย ภาคธุรกิจต้องหันหน้ามาพูดคัยกันเพื่อส่งเสริมพัฒนาผลงานวิจัยทางเทคโนโลยีของไทยให้ก้าวหน้าและทันเทียมนานาชาติ

"ต่างคนต่างทำ-ไม่คุย-ไม่ใช้ของไทย" หลุมพรางงานวิจัยไทยไม่ไปไหนจนแพ้ต่างชาติ อากาศยานไร้คนขับ-หุ่นยนต์ตรวจระเบิด-เทคโนโลยีตรวจทะเบียนรถ ของสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ

 

"ต่างคนต่างทำ-ไม่คุย-ไม่ใช้ของไทย" หลุมพรางงานวิจัยไทยไม่ไปไหนจนแพ้ต่างชาติ ผลงานของสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศฯ

 

"ต่างคนต่างทำ-ไม่คุย-ไม่ใช้ของไทย" หลุมพรางงานวิจัยไทยไม่ไปไหนจนแพ้ต่างชาติ พิธีลงนามความร่วมมือสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศฯ กับเอกชนจีน ในการพัฒนาอากาศยานไร้คนขับ