posttoday

"บิ๊กตู่" นายกฯคนนอกไม่ง่าย เว้นแต่สภาผู้แทนฯถึงทางตัน

09 กรกฎาคม 2560

"การที่พล.อ.ประยุทธ์ จะเข้ามาบริหารประเทศในรัฐบาลหน้า จะเผชิญความกับยากลำบาก ซึ่งอาจจะยากไม่เหมือนสมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี เคยเจอมาก่อน"

โดย...ชัยรัตน์ พัชรไตรรัตน์ / ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม 

การเมืองไทยกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อหลังมีรัฐธรรมนูญใหม่ประกาศใช้ ท่ามกลางกระแสนายกรัฐมนตรีคนนอก ในช่วงรัฐบาลหน้า หลังการเลือกตั้งปรากฏชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลอยโดดเด่นมาอีกครั้ง

ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แสดงทัศนะผ่านโพสต์ทูเดย์ ว่า นายกฯ คนนอกไม่ได้มากันง่ายๆ ตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่กำหนดไว้ว่า พรรคการเมืองต้องเสนอ 3 รายชื่อต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ตอนสมัครรับเลือกตั้ง คือ รอบแรกเป็นนายกฯ คนใน แต่อาจแจ้งชื่อคนไม่ได้อยู่ในพรรคก็ได้ เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนด

“ช่วงแรกมันคงเป็นไปได้ยากที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะตอบรับพรรคการเมืองใด และยอมให้ชื่อตัวเองได้รับการเสนอในช่วงพรรคการเมืองไปสมัครรับเลือกตั้ง แต่อาจมีทหารคนอื่นก็มีความเป็นไปได้ หมายความว่าทหารที่อยู่ในเครือ คสช.”

ทั้งนี้ พรรคการเมืองตามรัฐธรรมนูญหลังจากเลือกตั้งมีสิทธิเสนอชื่อคนเป็นนายกฯ ต้องได้ 25 คะแนนเสียง และพรรคที่ได้ 25 คะแนน ก็คงมีหลายพรรค ทั้งประชาธิปัตย์ เพื่อไทย ภูมิใจไทย รวมถึงพรรคขนาดกลาง ก็มีสิทธิลุ้น แต่พิธีกรรมในสภาให้เสนอชื่อคนเป็นนายกฯ ขั้นตอนการซาวด์เสียง สามารถทำได้กี่รอบ หรือแค่รอบเดียว หรือจนกระทั่งไล่มาทุกพรรคหรือไม่ ตรงนี้ยังไม่ชัดเจน

“ถ้าให้ทุกพรรคเสนอกัน ก็ใช้เวลานาน และตามรัฐธรรมนูญก็ไม่ได้กำหนดว่า พอหลังจากเลือกตั้งแล้วเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร จะต้องจัดตั้งรัฐบาลภายในกี่วัน แต่รัฐธรรมนูญที่ผ่านมากำหนดไว้ชัด รวมถึงรัฐธรรมนูญต่างประเทศที่ใช้ระบบรัฐสภาก็กำหนดไว้เหมือนกัน เมื่อรัฐธรรมนูญนี้ไม่ได้กำหนด ถ้าถึงเวลาพรรค ก. เสนอไปแล้วไม่ได้ 376 เสียง พรรค ข. ไล่ไปจนถึงพรรค ง. ซึ่งอย่าลืมว่าแต่ละพรรคมี 3 รายชื่อ หากตีไว้ 5 พรรคมี 25 คะแนน และต้องมีคนรับรอง 25 คน รวมเป็น 50 คน และนำมาหาร 500 คน ก็ได้ 10 คน ฉะนั้น มันจะมี 10 คนได้รับการเสนอชื่อและแข่งขันกันในแต่ละรอบ จะกลายเป็น 10 รอบหรือไม่ แล้ว 10 รอบที่ว่า มันจะทิ้งช่วงห่างกันขนาดไหนผมไม่แน่ใจ แต่ระยะเวลาไม่กำหนด อาจจะเลื่อนเป็นเดือนก็ได้”

อย่างไรก็ตาม ช่วงเวลาที่เลือกนายกรัฐมนตรีในสภามันอาจจะนาน ถ้าเป็นอย่างนั้น ก็อาจมี สส.จำนวนหนึ่งรีบขอญัตติเพื่อหาคนนอกมาเป็นนายกฯ แต่ก็มี สส.บางส่วนมองยังไม่ถึงทางตัน ความขัดแย้งตรงนี้จะลงเอยอย่างไร สส.ที่ต้องการเปิดญัตติเพื่อหาคนนอก ต้องหาให้ได้ 250 เสียงในสภาผู้แทนราษฎร เมื่อถึงตอนนั้นโอกาสซื้อตัว สส.ก็จะมีขึ้นแน่

ไชยันต์ อธิบายต่อว่า ใครจะเป็นคนกำหนดว่า การเลือกนายกรัฐมนตรีขยักแรกถึงทางตัน หากให้ประธานรัฐสภารวบรัดมันก็เร็วไป ดังนั้น ควรให้ประชาชนตัดสิน ซึ่งถ้ายังเลือกไม่ได้ตอนนั้นประเทศจะเกิดสุญญากาศ เหมือนประเทศเบลเยียมจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้นานอยู่ 3-4 เดือน แต่ต่างประเทศเขาเอาคนในมาเป็นนายกฯ ส่วนของไทยยังมีช่องคนนอก

ขณะเดียวกัน เมื่อรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดระยะเวลา เรื่องก็ต้องไปถึงศาลรัฐธรรมนูญโดยให้ยึดตามประเพณีการปกครอง ซึ่งประเทศไทยไม่เคยมีมาก่อนเรื่องไม่มีระยะเวลา ถ้าศาลบอกว่านานก็ต้องไปสู่ญัตติ สว.ในการคัดเลือกนายกฯ เพื่อลงมติว่าจะมีคนนอกหรือไม่ สมมติว่าถ้าศาลบอกว่ายังรอได้อีก ก็ต้องกลับมาคุยกันให้หมด

ไชยันต์ กล่าวว่า ถ้าโชคดีได้นายกฯ มาจากพรรคการเมืองก็จบ ก็จะเกิดสภาวะปรองดองระหว่างพรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาธิปัตย์ แล้วจะเรียกว่าเกี้ยเซี้ยในหมู่นักการเมืองหรือไม่

“คำว่าเกี้ยซิยาธิปไตย ของอาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ หรือที่ อาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล บอกนั้น เขากลัวนักการเมืองจะไปเกี้ยเซี้ยกับทหาร แต่ถ้าการเมืองเขาตกลงได้กันภายในสภา จะเรียกว่าเกี้ยเซี้ยไหม แล้วจะเรียกว่าถึงเวลาผสมพันธุ์กันอีกไหม คนพูดว่าไม่เอา เพื่อไทย ประชาธิปัตย์ ในที่สุดจูบปากกันอีกแล้ว เพราะสันดานนักการเมือง ตกลงเราจะเอายังไง”

เขากล่าวว่า สมัยอดีตเวลาจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ ทุกคนจะคิดถึง บรรหาร ศิลปอาชา แต่คนเล่นบทบาทนี้ต้องมีบารมี มันดูเหมือนปลาไหลก็จริง แต่ก็มีสัตยวาจาบางอย่าง ซึ่งลึกๆ แล้วจะรู้ว่า พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ และบรรหาร ก็มีหลักของตัวเอง แต่เมื่อไม่มีตัวตรงนี้ ใครจะรวบรวมพรรคขนาดกลางเป็นโซ่ข้อกลาง ยังมองไม่ออก ถ้าตีกัน แตกกัน ในสภา มันจะเป็นเงื่อนไขให้คนนอกมีอิทธิพลแทรกแซงเป็นนายกฯ ได้

“ถ้าคุยไม่รู้เรื่อง สส.ต้องหา 250 เสียง มาขอ สว.ให้เปิดญัตติเพื่อหาคนนอก ตามกติกาของคำถามพ่วงประชามติให้รัฐสภาโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีในช่วง 5 ปีแรก หมายถึง การจะเลือกนายกฯ จะต้องใช้เสียงครึ่งหนึ่งของสองสภา คือ 346 เสียง จากที่ต้องรวม 250 สว. และ 500 สส. เป็น 750 คน ถ้าพรรคการเมืองผนึกกำลังกันไม่ให้ สว.เลือกนายกฯ ให้เป็นเรื่องของสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้น ทำอย่างไรให้ได้ 376 เสียงขึ้นไป ซึ่งก็ไม่ง่าย คนที่ได้คะแนน 376 เสียง จะเป็นนายกฯ ที่มีความชอบธรรมมากตามรัฐธรรมนูญนี้” 

"บิ๊กตู่" นายกฯคนนอกไม่ง่าย เว้นแต่สภาผู้แทนฯถึงทางตัน

ไชยันต์ กล่าวว่า การที่ พล.อ.ประยุทธ์ จะเข้ามาบริหารประเทศในรัฐบาลหน้า จะเผชิญกับความยากลำบาก ซึ่งอาจจะยากไม่เหมือนสมัย พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี เคยเจอมาก่อน ทั้งในเรื่องของเสรีภาพการแสดงความคิดเห็น การต่อต้าน การอภิปรายไม่ไว้วางใจแค่ 251 เสียงก็ได้ และไม่เกี่ยวกับ สว. มันอาจจะมีการเปลี่ยนรัฐบาลได้

“สมัยป๋า 8 ปี เลือกตั้ง 3 ครั้ง อันนี้อาจจะไม่ได้เลือกตั้ง แต่แค่จะปรับ ครม.อะไรไป นายกฯ เจอวิกฤตลาออกเข้ามาใหม่ แก้ขัดแย้งการเมือง ก็ถูกต้องตามครรลองรัฐสภา แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ภายใต้เงื่อนไขไม่มีมาตรา 44 ทำอะไรไม่ได้ เมื่อครั้งหน้าไม่มี ก็เข้าสู่กระบวน การของสภา จะออกกฎหมายทำอะไรก็ว่าตามนั้นซึ่งจะเป็นระบบที่ควรจะเป็น เพราะหากคงมาตรา 44 ไว้ตลอด วันหลังสังคมดื้อยาแล้วยุ่ง อย่างกฎหมาย พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าว ก็ไม่ได้ผ่านกระบวนการในสภา ถ้าเป็น พ.ร.บ. จะมีการอภิปราย การออกก็จะช้าหน่อย แต่มันทำให้ความเสียหายไม่เกิดขึ้น ฉะนั้น เป็นเรื่องดีเวลาออกกฎหมายสำคัญต้องให้สภาตัดสิน”

ไชยันต์ กล่าวว่า สมัย พล.อ.เปรม เป็นนายกฯ ตอนนั้นเกิดสงครามเย็น มีปัญหาคอมมิวนิสต์ เป็นเรื่องหวาดวิตกของผู้คน มันมีเงื่อนไขการเมืองระหว่างประเทศ การเมืองโลก สนับสนุนให้สังคมต้องการอะไรที่สามารถรักษาความสงบเรียบร้อยได้จริง แต่ปัจจุบันมันไม่มีเงื่อนไขเหล่านี้

“ความขัดแย้งสมัย พล.อ.เปรม เป็นเรื่องมวลชนปฏิวัติคอมมิวนิสต์ ไม่ยุ่งเหยิงเหมือนปัจจุบัน แต่สมัยนี้เป็นมวลชนประชาธิปไตย ที่มีความเห็นต่างกัน ปัญหาสมัยคอมมิวนิสต์คนไทยส่วนใหญ่ไม่เอาและสนับสนุนผู้นำ แต่ปัจจุบันคนไทยแตกเป็น 2-3 ฝ่าย แล้วก็พยายามอ้างประชาธิปไตยทั้งคู่ และตีความ สิ่งที่ อาจารย์เสกสรรค์  พูดเรื่องจะอยู่ 10 ปี ผิด เพราะไม่ได้หมายความว่าทหาร คสช.จะเป็นนายกฯ ต่อเนื่อง 10 ปี แต่มันเป็นเพียงกรอบ สรุปคือ ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ต่อ มันก็ไม่ง่ายที่จะอยู่ยาวเหมือนสมัย พล.อ. เปรม เพราะคนละยุคสมัย”

สิ่งที่น่าเป็นห่วงในช่วงเปลี่ยนผ่านตามทัศนะของ ไชยันต์ คือ ความรุนแรงแบบคาดไม่ถึง เช่น เหตุระเบิดบริเวณสนามหลวง หรือโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า อย่างไรก็ดี ปัจจัยที่จะทำให้ประชาธิปไตยช่วงเปลี่ยนผ่านมีความยั่งยืนนั้น อยู่ที่ประชาชน

“ประชาชนต้องเข้าใจว่า ประชาธิปไตยอันสมบูรณ์ต้องย้อนกลับไปยุคกรีกโบราณ ประชาชนมีอำนาจสำคัญก็จริง แต่ก็แค่ส่วนหนึ่งและช่วงเวลาหนึ่งเป็นจุดเริ่มต้นในการคัดคนเข้าไป นั่นคือ  การเลือกตั้ง ที่ต้องการคนที่เก่งกว่าเรา สนใจบ้านเมืองมากกว่าเรา มีเวลาให้การเมืองมากกว่าเรา เรากำลังเลือกอภิชนเข้าไปในสภา และอภิชนก็จะไปเลือกนายกฯ

ไชยันต์ กล่าวว่า ประชาชนมีอำนาจทางการแค่ 4 วินาทีเข้าคูหากาบัตร หลังจากนั้นอำนาจอยู่ที่ สส. 500 คน ผนวกกับ 250 สว. เป็น 750 ที่จะเลือกนายกฯ หรือเอกบุรุษ ดังนั้น ต้องเข้าใจว่าอำนาจประชาธิปไตยสมบูรณ์มันไม่เคยมี แต่ถ้าพูดกล่อมประสาทให้คนคิดอย่างนั้นตลอดเวลาถึงเวลามันผิดพลาดได้ เพราะประชาธิปไตยมันต้องเฉลี่ยอำนาจกัน

“อำนาจประชาชนมีแค่ส่วนหนึ่งต้องยอมรับ แต่เป็นส่วนสำคัญจุดเริ่มต้น ถ้าจะคิดว่าออกมาเป็นมวลชนตลอดมันไม่ใช่ ประเทศก็เจ๊ง และอยากฝากการเมืองควรเลิกเล่นแบบเลือกข้าง ควรเลือกเล่นตามประเด็น สมมติเพื่อไทย ประชาธิปัตย์ พูดดีทำได้ก็ควรสนับสนุน ไม่อย่างนั้นบ้านเมืองก็วนเวียนแบบนี้ไปตลอด”