posttoday

8ปมศาลปกครองสั่งเบรกประมูล3 จี

16 กันยายน 2553

เปิด 8 ประเด็นสำคัญที่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว กสท ยื่นฟ้อง กทช. ให้เพิกถอนการเปิดประมูล 3 จี...

เปิด 8 ประเด็นสำคัญที่ศาลปกครองกลางมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว กสท ยื่นฟ้อง กทช. ให้เพิกถอนการเปิดประมูล 3 จี...

ศาลปกครองกลางมีคำสั่งเมื่อวันที่ 16 ก.ย. กรณีบริษัทกสท โทรคมนาคม ยื่นฟ้องสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติหรือกทช. และคณะกรรมการ กทช.ทั้ง 7 คน ให้เพิกถอนประกาศการเปิดประมูลใบอนุญาตให้บริการ หรือไลเซนส์ 3จี บนคลื่นความถี่ 2.1 กิกะเฮิร์ตซ์ โดยมีประเด็นสำคัญในคำสั่งดังกล่าวดังนี้

1.ผู้ฟ้องคดีได้มีคำร้อง ขอให้ศาลส่งความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่า มาตรา 46 มาตรา 51 และมาตร 63 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลชื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2543ขัดหรือแย้งต่อบทบัญญัติในมาตรา 47 วรรคสอง ประกอบมาตรา 305 (1) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 หรือไม่

โดยที่มาตรา 211 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 บัญญัติว่า “ในการที่ศาลจะใช้บทบัญญัติแห่งกฎหมายบังคับคดีใด ถ้าศาลเห็นเองหรือคู่ความโต้แย้งพร้อมด้วยเหตุผลว่าบทบัญญัติแห่งกฏหมายนั้น ต้องด้วยบทบัญญัติมาตรา 6และยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัตินั้น ให้ศาลส่งความเห็นเช่นว่านั้นตามทางการเพื่อศาลรัฐธรรมนูญจะได้พิจารณาวินิจฉัย ในระหว่างนั้นให้ศาลดำเนินการพิจารณาต่อไปได้ แต่ให้รอการพิจารณาคดีไว้ชั่วคราว จนกว่าจะมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ”

เมื่อศาลจะต้องใช้บทบัญญัติดังกล่าวในการบังคับแก่คดีเพื่อวินิจฉัยถึงการกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง ศาลจึงต้องส่งความเห็นดังกล่าวไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ดังนั้น คำฟ้องคดีนี้จึงมีมูลที่จะพิจารณาต่อไป โดยมีปัญหาข้อกฎหมายสำคัญว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2มีอำนาจตามกฎหมายในการจัดสรรคลื่นความถี่ในย่าน 2.1GHz รวมทั้งมีอำนาจในการออกประกาศที่พิพาทหรือไม่

2.หากให้มีการประมูลตามกำหนดเดิมของผู้ถูกฟ้องคดีต่อไป ก็จะทำให้มีผู้ชนะการประมูล และให้ดำเนินการล่วงเลยไปจนถึงขั้นตอนการออกใบอนุญาตให้ผู้ชนะการประมูล

3.หากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่า มาตรา 46 มาตรา 51 และมาตรา 63 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2543 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ก็ดี หรือศาลมีคำวินิจฉัยว่า การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองไม่ชอบด้วยกฎหมายก็ดี ย่อมก่อให้เกิดความเสียหายที่มากกว่าและยากกว่าในการเยียวยาแก้ไขภายหลัง โดยอาจเกิดกรณีฟ้องร้องเกี่ยวกับผลการประมูล ซึ่งย่อมทำให้เกิดปัญหาที่ยุ่งยากซับซ้อนยิ่งขึ้น

4.หากศาลไม่ระงับการประมูลคลื่นความถี่ดังกล่าวไว้ก่อน และต่อมาผลคดีออกมาในทางที่ไม่เป็นคุณแก่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสอง ความเสียหายที่จะกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมโดยรวมย่อมมีมากเพราะการเปิดให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ IMT หรือ 3G เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจและสังคมของประเทศมีการพัฒนาและเจริญเติบโต คาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ(GDP)ทั้งทางตรงและทางอ้อมจะสูงขึ้นถึงประมาณ 240,000 ล้านบาท ถึง 480,000 ล้านบาท อีกทั้งจะมีการระดมเงินทุนเทคโนโลยีและความรู้ต่าง ๆ ทั้งจากภายในปละภายนอกประเทศเพื่อใช้ในการก่อสร้างโครงข่ายโทรคมนาคมและวางระบบเพื่อให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ IMT 

5.นอกจากนี้คู่กรณีทั้งสองฝ่ายได้ชี้แจงไว้ด้วยว่าในการเปลี่ยนจากการใช้บริการคลื่นความถี่เดิมที่เป็นระบบ 2G ไปสู่คลื่นความถี่ 3G นั้น ประชาชนผู้ประสงค์จะใช้คลื่นความถี่ในระบบใหม่จะต้องซื้อโทรศัพท์เคลื่อนที่ใหม่ที่สามารถรองรับการใช้งานในระบบ 3G ซึ่งเมื่อคำนึงถึงจำนวนของผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในปัจจุบันตามคำชี้แจงของผู้ฟ้องคดีว่า เฉพาะในส่วนที่เป็นลูกค้าของผู้ฟ้องคดีและลูกค้าในบริษัทที่อยู่ในระบบสัมปทานของผู้ฟ้องคดีมีจำนวนกว่า 30 ล้านเลขหมาย และหากนับรวมเอาผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งหมดย่อมมีจำนวนสูงมาก จึงมีข้อที่ต้องคำนึงประกอบในส่วนของความเสียหายที่จะเกิดขึ้นด้วยว่า

หากศาลไม่มีคำสั่งให้ระงับการประมูลคลื่นความถี่ระบบ 3G ไว้ก่อน อาจส่งผลให้ประชาชนผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่คาดคิดไปเองว่า การดำเนินการของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองในการจัดสรรและออกใบอนุญาตคลื่นความถี่ในระบบ 3G ดังกล่าวไม่มีข้อบกพร่องและอาจตัดสินใจซื้อโทรศัพท์เคลื่อนที่เพื่อรองรับระบบใหม่ ด้วยคาดหวังว่าจะมีการให้บริการ 3G จากการประมูลที่จะมีขึ้นอย่างแน่นอน หากศาลวินิจฉัยว่าผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองไม่มีอำนาจจัดสรรและออกใบอนุญาต การเยียวยาต่อประชาชนที่ได้รับผลกระทบจำนวนมากย่อมทำได้ยาก

6.ปัจจุบันมีผู้ได้รับใบอนุญาต 3G อยู่แล้ว 2 ราย คือ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ที่ได้รับใบอนุญาตในย่านความถี่ 2,100 MHz และผู้ฟ้องคดีที่ได้รับใบอนุญาตโครงข่าย CDMA จึงเป็นกรณีที่มีผู้ให้บริการในระบบ 3G อยู่แล้วแต่เดิม รวมทั้งปรากฏตามคำชี้แจงของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ว่า โครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายเดิม (ที่เป็นระบบ 2G)มีพื้นที่และขอบเขตในการให้บริการครอบคลุมทั่วประเทศอยู่แล้ว จึงเห็นได้ว่าการระงับการประมูลในระบบ 3 จี ชั่วคราวไม่กระทบต่อการดำเนินงานของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองและการบริการสาธารณะ

7.หากให้มีการดำเนินการประมูลต่อไปโดยไม่มีคำสั่งระงับจนมีผู้ชนะการประมูล โดยที่หลักเกณฑ์ตามประกาศที่พิพาทกำหนดให้ผู้ชนะการประมูลต้องชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการ ค่าตอบแทนการใช้คลื่นความถี่ ร่วมถึงค่าธรรมเนียมอื่นๆ ซึ่งคาดหมายได้ว่าจะมีจำนวนสูงเนื่องจากมูลค่าขั้นต่ำของการประมูลเริ่มต้นที่ 12,800 ล้านบาท และผู้ได้รับใบอนุญาตต้องลงทุนสร้างโครงข่ายเพื่อให้บริการตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามประกาศที่พิพาท ผลกระทบต่อผู้ชนะการประมูล

ที่ต่อมาภายหลังการประมูลถูกเพิกถอนซึ่งเป็นภาระความรับผิดชอบของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองที่ต้องเยียวยาแก้ไข กลับจะเป็นปัญหาอุปสรรคใหญ่ต่อการบริหารงานของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเอง

8.มาตรา 305(1) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550 บัญญัติว่า "มิให้นำบทบัญญัติมาตรา 47 วรรคสอง มาใช้บังคับจนกว่าจะมีมาตรากฎหมายตามมาตรา 47 จัดตั้งองค์กรเพื่อทำหน้าที่จัดสรรความถี่และกำกับดูแลการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมซึ่งต้องไม่เกินร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่แถลงนโยบายต่อรัฐสภา..."นั้น ปรากฎตรงกันตามคำชี้แจงของคู่กรณีว่า บทกฎหมายดังกล่าว ได้แก่ ร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ....

ดังนั้นเมื่อยังไม่มีการตรากฎหมายขึ้นใหม่ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ความล่าช้าของการออกใบอนุญาต 3G ย่อมมีสาเหตุมาจากการที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้ดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรา 305(1) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550

ทั้งนี้ปรากฏข้อเท็จจริงว่า กฎหมายใหม่ดังกล่าว ได้ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรและผ่านการพิจารณาของวุฒิสภาแล้ว ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรซึ่งเมื่อกฎหมายดังกล่าวออกใช้บังคับย่อมทำให้เกิดองค์กรใหม่ในการดูแลการจัดสรรคลื่นความพี่ในภาพรวม ทั้งคลื่นความถี่เพื่อกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และคลื่นความถี่เพื่อกิจการโทรคมนาคม การดำเนินการของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่การจัดตั้งองค์กรกำกับดูแลคลื่นความถี่องค์กรใหม่ นอกจากมีประเด็นในเรื่องของอำนาจของผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองแล้วยังอาจเป็นปัญหาอุปสรรคต่อการดำเนินงานขององค์กรกำกับดูแลคลื่นความถี่ที่จะจัดตั้งขึ้นตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550 ด้วย

จึงมีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนพิพากษา โดยให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองระงับการอนุญาตให้ใช้คลื่นความมถี่เพื่อการประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ IMT ย่าน 2.1GHzและการดำเนินการต่อไปตามประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อการประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ IMT ย่าน 2.1 GHz ไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าคดีจะถึงที่สุดหรือศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ศาลมีคำสั่งเป็นต้นไป