posttoday

เลือกปธ.ศาลฎีกาไม่บานปลาย

07 กรกฎาคม 2560

"ผมรับรู้กฎกติกาเป็นอย่างดี เพราะรับราชการในศาลยุติธรรมมาตั้งแต่ปี 2522 ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะคิดอย่างนั้น มันเป็นเรื่องของวาสนา"

โดย...เอกชัย จั่นทอง

พลันที่คณะกรรมการตุลาการศาล ยุติธรรม (ก.ต.) มีมติเอกฉันท์ ไม่ผ่านบัญชีเสนอชื่อ "ศิริชัย วัฒนโยธิน" ประธานศาลอุทธรณ์ ดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกาคนใหม่ แม้ว่าจะมีความอาวุโสสูงสุดก็ตาม จึงเกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในแวดวงตุลาการ อาจเกิดปัญหาความขัดแย้งขึ้นอีกหรือไม่

เนื่องจากการแต่งตั้งประธานศาลฎีกาคนใหม่กลับไม่เป็นไปตามจารีตประเพณีรูปแบบเดิม นั่นหมายความว่าการคัดเลือกครั้งนี้ต้องยุติลงตามมติของ ก.ต. โดยหลังจากนี้ต้องเริ่มขั้นตอนการเสนอบัญชีตามอาวุโสและกลั่นกรองคุณสมบัติ เสนอชื่อผู้เหมาะสมลงสนามชิงชัยตำแหน่งประธานที่สามารถเสนอได้เพียงครั้งละ 1 คนเท่านั้น

นอกจากนี้ ยังทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่า การแต่งตั้ง "ประธานศาลฎีกา" คนใหม่จะซ้ำรอยกับวิกฤตตุลาการในปี 2534 หรือไม่ ที่มีการแย่งชิงตำแหน่งประธานศาลฎีการะหว่าง สวัสดิ์ โชติพานิช ซึ่งมีอาวุโสสูงสุดกับ ประวิทย์ ขัมภรัตน์ จนบานปลายแตกแยกครั้งใหญ่ในวงตุลาการไทย จนต้องแก้ปัญหาโดยการให้ยึดถือลำดับอาวุโสตลอดมา

พนัส ทัศนียานนท์ อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แสดงความเห็นเรื่องนี้ว่า  ส่วนตัวมองว่าไม่น่าเกิดปัญหาความขัดแย้งรุนแรงขึ้นซ้ำรอยเดิม เนื่องจากในการแต่งตั้งประธานศาลฎีกาคนใหม่มีสภาพปัญหาแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

"ส่วนตัวก็ไม่ทราบว่านายศิริชัยมีพรรคพวกมากน้อยแค่ไหน แต่ในเมื่อผลมติเอกฉันท์ของ ก.ต.ที่ออกมาคิดว่าก็ต้องยอมรับผลไปตามนั้น ส่วนถ้าหากจะเกิดมีปัญหาขึ้นจริงเหมือนช่วงปี พ.ศ. 2534-2535 มันจะต้องมีการต่อสู้กันภายในจนเป็นประเด็นสาธารณะออกมาจนคนภายนอกรับรู้ว่าเป็นการต่อสู้กันของคน 2 กลุ่ม ที่ถือว่ารุนแรงมากในการชิงตำแหน่งประธานศาลฎีกาในสมัยนั้น" พนัส  ระบุ

อดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ทัศนะว่า สำหรับการประชุมของ ก.ต.เองปัจจุบันก็ไม่ได้มีการช่วงชิงกันเหมือนในปี พ.ศ. 2534 จึงถือว่าเหตุการณ์อดีตกับปัจจุบันมันต่างกันมาก และคิดว่าไม่น่าจะเกิดเหตุการณ์วิกฤตรุนแรงขึ้นมาได้

เช่นเดียวกับ ชำนาญ จันทร์เรือง นักวิชาการอิสระด้านรัฐศาสตร์และการปกครอง ระบุว่า การแต่งตั้งประธานศาลฎีกาคนที่ 44 ครั้งนี้เชื่อว่าจะไม่เกิดเหตุการณ์ซ้ำรอยวิกฤตตุลาการปี 2534 เนื่องจากเสียงที่ออกมีมติกรรมการคัดเลือกเป็นเอกฉันท์ชัดเจน อย่างในสมัยวิกฤตตุลาการคะแนนมันก้ำกึ่งกันทั้งฝ่ายรัฐมนตรีและฝ่ายศาลฎีกา

สำหรับประเด็นที่คณะกรรมการ ก.ต.ยกขึ้นมาเป็นเหตุผลในการพิจารณาถามว่าผิดเลยหรือไม่ ก็ไม่ถือว่าผิด แต่คณะกรรมการ ก.ต. คงมองว่าการทำงานของท่านศิริชัยอาจมีตำหนิ ทั้งหมดจึงเป็นเรื่องของความเหมาะสมมากกว่า เพราะคนที่จะขึ้นมาเป็นประมุขทางตุลาการไม่ควรมีตำหนิอะไรเลย

ชำนาญให้ความเห็นเสริมท้ายว่า ถือเป็นนิมิตหมายที่ดีในการคัดเลือกผู้เหมาะสมขึ้นมาดำรงตำแหน่งตรงจุดนี้ เพราะถ้าจะยึดหลักอาวุโสเพียงอย่างเดียวคงตอบอะไรสังคมไม่ได้ ต้องมีคุณสมบัติเพียบพร้อมเรื่องการทำงานด้วยเช่นกัน ส่วนคนที่อยู่ในแคนดิเดตอาวุโสก็ไม่ต่างกันมากกับคนเดิมที่ไม่ได้ผ่านการคัดเลือก

'เป็นเรื่องของวาสนา'

ศิริชัย วัฒนโยธิน ประธานศาลอุทธรณ์ แถลงเปิดใจต่อสื่อมวลชนหลังไม่ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกาคนใหม่ว่า ยืนยันไม่ได้คิดติดใจว่าจะฟ้องร้องคณะอนุกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (อ.ก.ต.) และคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ตามที่ปรากฏเป็นข่าวก่อนหน้านี้ ส่วนตัวยอมรับผลการพิจารณาที่ส่วนใหญ่เห็นว่าไม่เหมาะสม

"ที่สำคัญผมรับรู้กฎกติกาเป็นอย่างดี เพราะรับราชการในศาลยุติธรรมมาตั้งแต่ปี 2522 ซึ่งไม่มีประโยชน์อะไรที่จะคิดอย่างนั้น ซึ่งมันเป็นเรื่องของวาสนา"

ส่วนเรื่องการที่จะไปนั่งดำรงตำแหน่งอื่นหรือไม่นั้น ตามประเพณีและแนวปฏิบัติผู้ที่ได้รับการเสนอ ชื่อพิจารณาเป็นประธานศาลฎีกา แล้วไม่ได้รับการแต่งตั้งนั้นในอดีต ก็เคยมีและทุกท่านก็จะอยู่ที่เดิม ซึ่งในส่วนของตนก็จะอยู่ในตำแหน่งเดิมเช่นกัน คือ ประธานศาลอุทธรณ์ และไม่คิดลาออกจากตำแหน่ง ยืนยันการทำงานเป็นไปตาม ความถูกต้องตามกฎระเบียบศาลยุติธรรม

ขณะที่อนุกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (อ.ก.ต.) หรือ อนุ ก.ต. ได้พิจารณาผ่านคุณสมบัติ เสนอชื่อ ชีพ จุลมนต์ รองประธานศาลฎีกาคนที่ 1 ขึ้นดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกา คนที่ 44 หลังจากนี้ทางสำนักงานศาลยุติธรรมจะนำมติเห็นชอบรายงานการประชุมของ อ.ก.ต. เสนอในที่ประชุม ก.ต.ที่มีวาระการประชุมเห็นชอบพิจารณาบุคคลขึ้นดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกา คนต่อไปในวันที่ 11 ก.ค.นี้

บรรยายภาพ - ศิริชัย  วัฒนโยธิน ประธานศาลอุทธรณ์ เปิดใจแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนภายหลังคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) มีมติไม่พิจารณารายชื่อ ดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกา