posttoday

ตำรวจอย่าฝ่าฝืนคำสั่งตัวเอง เคารพรธน.ไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน

30 มิถุนายน 2560

คำสั่งของ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติถึงนายตำรวจระดับสูง ที่ “ห้าม” ไม่ให้นำตัวผู้ต้องหามาแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนอย่างเด็ดขาดในทุกกรณี

โดย...ทีมข่าวในประเทศโพสต์ทูเดย์

คำสั่งของ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติถึงนายตำรวจระดับสูง ที่ “ห้าม” ไม่ให้นำตัวผู้ต้องหามาแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนอย่างเด็ดขาดในทุกกรณี รวมถึงห้ามไม่ให้สื่อบันทึกภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว ขณะที่ตำรวจอยู่กับตัวผู้ต้องหา เว้นแต่เป็นการดำเนินการเพื่อรวบรวมพยานหลักฐาน นับว่าน่าสนใจยิ่งว่า จากนี้เจ้าหน้าที่จะละเมิดคำสั่งนี้หรือไม่

เพราะนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ ผบ.ตร.ออกคำสั่งลักษณะนี้

หากแต่เมื่อสิบปีก่อนหน้านี้ก็มีคำสั่งห้ามนำผู้ต้องหามาแถลงข่าวเหมือนกัน แต่ที่สุดเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ฝ่าฝืนคำสั่งผู้บังคับบัญชาตัวเอง จนมาเกิดประเด็นให้วิพากษ์ทั้งกรณีการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจถ่ายรูปร่วมกับ “เปรี้ยว” ผู้ต้องหาฆ่าหั่นศพ หรือการนำ “วัฒนา ภุมเรศ” มือระเบิดคดีบึ้มโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้ามาแถลงข่าว จนนายกรัฐมนตรีต้องสั่ง สตช.ห้ามนำตัวผู้ต้องหาแถลงเด็ดขาด

ความจริงความเหมาะสมเรื่องการแถลงข่าวในคดีอาชญากรรม พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ซึ่งปัจจุบันเกษียณราชการแล้ว ได้เคยทำรายงานเป็นเอกสารวิชาการส่วนบุคคลเป็นส่วนหนึ่งของการฝึกอบรมหลักสูตรนิติธรรมเพื่อประชาธิปไตยรุ่นที่ 1 วิทยาลัยรัฐธรรมนูญ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ

หัวข้อที่ทำระบุว่า การแถลงข่าวและการนำตัวผู้ต้องหามาเปิดเผยต่อสาธารณะผ่านสื่อสารมวลชนเป็นการละเมิดสิทธิตามรัฐธรรมนูญของผู้ต้องหาหรือไม่ โพสต์ทูเดย์เห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะทั้งต่อองค์กรตำรวจและหลักสิทธิมนุษยชน จึงขอคัดบางส่วนมานำเสนอ

ทั้งนี้ เนื้อหาตอนหนึ่งของรายงานระบุว่า องค์กรตำรวจจำเป็นจะต้องสร้างกระบวนการและระบบประชาสัมพันธ์ที่ถูกต้อง เพื่อยกระดับความเชื่อมั่นว่ามีระบบการสืบสวน สอบสวน และป้องกันปราบปรามอาชญากรรมที่มีประสิทธิภาพ ทำให้ประชาชนให้ความร่วมมือและเคารพต่อกฎหมาย อีกทั้งยังช่วยให้เป็นหูเป็นตาและแจ้งข้อมูลก่อนที่จะมีอาชญากรรมเกิดขึ้น

ขณะเดียวกัน ตาม พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547 กำหนดให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีอำนาจหน้าที่ในการรักษาความสงบเรียบร้อยและดำเนินการคดีอาญาทั้งปวง และตำรวจต้องปฏิบัติหน้าที่ให้สอดคล้องกับหลักการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ไม่ว่าบุคคลนั้นจะเป็นผู้ต้องหาหรือไม่ก็ตาม โดยจะต้องได้รับความเท่าเทียมและเสมอภาค

ข้อศึกษาดังกล่าว ทิ้งคำถามไว้อย่างน่าสนใจว่า หากตำรวจจะนำตัวผู้ต้องหามาแถลงข่าว เพื่อเป้าหมายการลดปัญหาอาชญากรรมในอนาคตก็ต้องตอบคำถามเหล่านี้ได้ อาทิ การนำตัวผู้ต้องหามาแถลงข่าวเป็นวิธีการที่ป้องกันอาชญากรรมได้ ไม่มีวิธีการอื่นแล้วหรือไม่ หรือมาตรการที่ใช้มีความจำเป็น ไม่มีทางเลือกอื่นแล้ว นอกจากการนำตัวผู้ต้องหามาแถลงต่อสาธารณชนเท่านั้นใช่หรือไม่

การวิเคราะห์จนออกมาเป็นข้อศึกษาของ พล.ต.อ.เอก ยังให้ความเห็นในเรื่องของการนำตัวผู้ต้องหามาแถลงข่าวนั้นจะถือเป็นการละเมิดสิทธิในชื่อเสียง เกียรติยศ และความเป็นส่วนตัว อีกทั้งข้อสันนิษฐานในรัฐธรรมนูญที่ให้สันนิษฐานไว้ว่าผู้ที่ถูกจับกุมยังคงเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด ซึ่งในหลักปฏิบัติจริงๆ การนำตัวผู้ต้องหามาแถลงข่าวนั้นอาจขัดต่อหลักรัฐธรรมนูญ และหลักความชอบด้วยกฎหมายจากการกระทำของฝ่ายปกครองเอง

“ตำรวจจึงสมควรยกเลิกหลักการนำตัวผู้ต้องหามาแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนอย่างเด็ดขาด ไม่ว่าผู้ต้องหาจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม” ตอนหนึ่งของข้อศึกษาระบุไว้

อย่างไรก็ตาม ยังมีข้อเสนอแนะออกมาเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติไว้เช่นกัน โดยข้อศึกษาของ พล.ต.อ.เอก ให้ความสำคัญของการแถลงข่าวไว้เช่นกัน โดยเฉพาะในงานประชาสัมพันธ์ขององค์กรตำรวจ ยังมีความสำคัญอย่างมากต่อการดำรงอยู่อย่างมีเกียรติของตำรวจไทย เพื่อเป็นความเชื่อมั่นให้ประชาชนว่าตำรวจสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสอดคล้องกับหลักสิทธิในการรับรู้ข่าวสารของทางราชการด้วย

ข้อเสนอแนะเพื่อให้ตำรวจในงานประชาสัมพันธ์นั้นควรปฏิบัติดังนี้ 1.การจัดให้มีโฆษกและทีมงานของหน่วยงานตำรวจทุกระดับแถลงข่าวด้วยตัวเอง และไม่ต้องนำตัวผู้ต้องหามาแถลงด้วย

2.หลีกเลี่ยงการเปิดเผยข้อมูลของผู้ต้องหา เว้นแต่ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับลักษณะการเกิดเหตุ และมูลเหตุการกระทำผิด และ 3.การเปิดเผยภาพผู้ต้องหาจะกระทำได้เฉพาะกรณีที่ยังจับกุมตัวไม่ได้ เพื่อให้ประชาชนระวังภัยและแจ้งเบาะแสกับเจ้าหน้าที่

ท้ายสุดสำหรับข้อศึกษา พล.ต.อ.เอก ระบุไว้ว่า เป็นเพียงข้อเสนอแนะบางประการ แต่ในทางปฏิบัติย่อมมีข้อแตกต่าง แต่ทั้งนี้ก็เพื่อไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิโดยองค์กรตำรวจเอง และเป้าหมายสำคัญคือหากมีการปฏิบัติที่ถูกต้องแล้ว ท้ายสุดจะนำมาซึ่งความน่าเชื่อถือขององค์กรตำรวจ โดยประชาชน