posttoday

85 ปี ประชาธิปไตย เส้นทางวนเวียนไม่เต็มใบ

24 มิถุนายน 2560

เส้นทางประชาธิปไตยแบบไทยๆ ถูกก่อร่างสร้างขึ้นจนมีอายุ 85 ปี ใน วันที่ 24 มิ.ย. 2560

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

เส้นทางประชาธิปไตยแบบไทยๆ ถูกก่อร่างสร้างขึ้นจนมีอายุ 85 ปี ใน วันที่ 24 มิ.ย. 2560  สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย จึงได้จัดเสวนา หัวข้อ "85 ปี ประชาธิปไตยจะไปไหนดี ?" โดยมีบรรดานักวิชาการ ตัวแทนจากกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) มาร่วมถ่ายทอดสถานการณ์ความเป็นไปนับจากนี้

ศ.ดร.ชาติชาย ณ เชียงใหม่ กรธ. มองว่า การเมืองบ้านเราอยู่ในสภาพที่เป็นวงจรอุบาทว์ หลายคนยังไม่มั่นใจว่าจะหลุดพ้นได้หรือไม่ ตั้งแต่การปฏิวัติและผ่านการเลือกตั้งซ้ำแล้วซ้ำอีกในรอบ 85 ปีที่ผ่านมา จึงต้องมองว่าเหตุใดประเทศไทยถึงออกจากวงจรนี้ไม่ได้ ก็มองได้ว่ามาจากโครงสร้างทางวัฒนธรรม ประเพณี และปรากฏการณ์ทางการเมือง เพราะรัฐของไทยเป็นรัฐรวมศูนย์ มีบทบาทมาก เป็นรัฐเดี่ยว เป็นรัฐที่อยู่ในสถานะเหนือประชาชน มีพื้นที่ของตัวเองมากกว่าการให้ประชาชนได้พูดคุยกัน

เราต้องมองว่าวันข้างหน้าจะเดินไปอย่างไร เพราะขณะนี้ยังเป็นหนังเรื่องเดิมๆ ทั้งนั้น แต่หนังเรื่องนี้ไม่ได้สนุก แต่เป็นหนังที่เริ่มหนักใจขึ้นไปเรื่อยๆ อย่างไรก็ตาม รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้นเชื่อว่าทำให้ประชาชนแข็งแรง คุ้มครองให้ประชาชนไม่น้อยไปกว่าเดิม ซึ่งสิทธิเหล่านี้รัฐธรรมนูญคุ้มครอง เป็นเครื่องไปต่อสู้ทางศาลได้ ประชาชนสามารถฟ้องร้องต่อรัฐได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องการคลายนอตเพื่อเปิดพื้นที่ให้ภาคประชาชนมากขึ้น

"ถ้ามองไปข้างหน้าผมก็ยังหนักใจ เพราะมีความย้อนแย้งในตัวเอง ซึ่งภายใต้โลกที่กดดันและปัญหาประเทศแบบนี้ ซึ่งตามกติกาที่ออกแบบไว้ในรัฐธรรมนูญ ยอมรับว่าจะทำให้เกิดระบอบประชาธิปไตยแบบประนอมอำนาจ นั่นหมายถึงประชาธิปไตยที่ไม่เต็มใบ หรือประชาธิปไตยแบบฟื้นฟูที่ต้องประคองกันไปก่อน" ศ.ดร.ชาติชาย กล่าว

ด้าน รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า 85 ปีที่ผ่านมาฝั่งประเทศตะวันตกไม่เคยยอมรับว่าประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยที่ตั้งมั่น แต่เป็นประชาธิปไตยระบอบลูกผสม คือการเปลี่ยนผ่านไปประชาธิปไตยที่ไม่สำเร็จ มีทั้งเปลี่ยนเข้าและเปลี่ยนออก ซึ่งการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยที่สำเร็จ ต้องให้การถือครองทางการเมืองไปอยู่ในมือประชาชนอย่างกว้างขวาง

ทั้งนี้ ใน 5 มิติการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยที่ต่างประเทศได้ใช้และประสบความสำเร็จ ประกอบด้วย มิติที่ 1.พลังฝ่ายค้านของทุกคนในสังคม โดยทำอย่างไรให้พลังที่มีจุดยืนร่วมกันเพื่อให้ประชาธิปไตยประสบความสำเร็จ ถ้าคิดแต่เรื่องไม่ตรงกัน พลังฝ่ายค้านร่วมกันจะไม่เกิดขึ้น

มิติที่ 2 บทบาทผู้นำทางการเมือง อย่างในประเทศเกาหลีใต้ ชิลี หรืออินโดนีเซีย จะมีผู้นำที่เป็นหัวใจหลักในการเริ่มต้นการเปลี่ยนแปลงไปสู่ประชาธิปไตย แต่สังคมไทยมีผู้นำทางการเมืองแบบนี้หรือไม่ หรือมีการสร้างเงื่อนไขทางการเมืองที่พร้อมไปสู่การเปลี่ยนผ่านหรือไม่

มิติที่ 3 เรื่องการเห็นพ้องยอมรับในรัฐธรรมนูญ ในขั้นตอนนี้เป็น ขั้นตอนสำคัญในการเตรียมพื้นดินไปสู่ต้นกล้าประชาธิปไตย ถ้าดินแห้งกรังจะเป็นการเพาะต้นหญ้าประชาธิปไตยได้อย่างไร ซึ่งรัฐธรรมนูญที่ไม่เป็นที่ยอมรับของสังคมตั้งแต่กระบวนการได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญไทยทั้ง 18 ฉบับที่ผ่าน ก็เห็นได้ชัดว่าไม่เป็นที่ยอมรับอย่างแท้จริง

มิติที่ 4 กองทัพต้องอยู่ภายใต้รัฐบาลพลเรือน โดยจากประสบการณ์ของทุกประเทศนั้น กองทัพจะเป็นเงื่อนไขสำคัญที่สุดในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย กองทัพต้องอยู่ภายใต้รัฐบาลสากลพลเรือน ซึ่งปรากฏการณ์ลักษณะนี้จะเกิดขึ้นได้อย่างไร

"ทิศทางการเมืองไทยจากนี้ ถ้ามองรัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นการจัดสมดุลอำนาจใหม่อย่างสุดโต่ง แต่มีคำถามว่าสมดุลหรือไม่ เพราะการจัดอำนาจใหม่จะย้ายฐานอำนาจของประชาชนมาเป็นระบบราชการ โดยจะมีระบบราชการและกลุ่มทุนขนาดใหญ่เกิดขึ้น ดังนั้นสิ่งที่ผู้ร่างคาดหวัง ในระบบราชการเป็นตัวตั้งและ กลุ่มทุนที่น่าจะใจดี แต่กลุ่มทุนคือกลุ่มทุน มีแต่สิ่งอยากได้ เพื่อมาปกครองคนชั้นล่างและคนชั้นกลางล่าง ก็จะทำให้เกิดปัญหาการเหลื่อมล้ำ มากขึ้น" รศ.ดร.สิริพรรณ กล่าว

ผศ.ดร.ปริญญา เทวานฤมิตร กุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า คำถามแรกทำไมต้องประชาธิปไตย ซึ่งมีคนจำนวนมากเห็นว่าไม่จำเป็นต้องประชาธิปไตย เพราะถ้าพูดว่าประชาธิปไตยดีอย่างไร ถ้าคนไทยตอบว่าไม่ดีก็ไม่จำเป็นต้องมีประชาธิปไตย จากการติดตามในโซเชียลมีเดียคือพลังใหม่ในยุค 4.0 มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองได้ ซึ่งคำถามจากนายกรัฐมนตรีข้อที่ 1 นั้น คนในโซเชียลมีเดียได้ตอบไปว่าถ้าปฏิวัติแล้วไม่ได้มีรัฐบาลที่มี ธรรมาภิบาลจะทำอย่างไร จึงเห็นว่าไม่ว่าจะมีการเลือกตั้งหรือปฏิวัติ ก็มีโอกาสจะได้รัฐบาลที่ไม่มีธรรมาภิบาลได้เช่นกัน ซึ่งคำถาม 4 ข้อนั้น เกิดคำถามว่าถ้ามีโรดแมปอยู่แล้ว เหตุใดต้องมีคำถาม 4 ข้อเกิดตามมา จึงดูเหมือนแนวโน้มว่ารัฐบาลจะอยู่ต่อไปโดยใช้มาตรา 44 ไปเรื่อยๆ

"ผมอยากให้ คสช.นึกถึงความตั้งใจชั่วคราว การอยู่ยาวไม่ใช่เรื่องดีต่อใครทั้งสิ้น เพราะมีบทเรียนจากพ.ค. 2535 เพราะมีคนกลางที่มาควบคุมอำนาจ แต่คนกลางกลับไปเป็นรัฐบาลและเป็นคู่ขัดแย้งโดยตรง ก็จบด้วยเหตุการนองเลือด ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดอีกแล้ว"ขณะเดียวกันพรรคการเมืองต้องปฏิรูปตัวเองให้ดีกว่าทหารและให้ประชาชนศรัทธา ถ้าไม่ทะเลาะกันทหารจะมายุ่งทำไม ขณะเดียวกันในยุคโซเชียลมีเดียจะเป็นพลังใหม่ของประชาชน แต่ความสุดโต่งจะต้องลดลงไปด้วยหวังว่าทุกอย่างจะไม่เกิดไปทางร้ายถ้าทุกฝ่ายช่วยกัน