posttoday

เปิดช่องตั้งมหา’ลัยนอก ผลกระทบหรือโอกาสของการศึกษาไทย

16 มิถุนายน 2560

หลังมีคำสั่งคสช. สนับสนุนให้สถาบันอุดมศึกษาจากต่างประเทศ เข้ามาเปิดมหาวิทยาลัยในเขตเศรษฐกิจพิเศษได้ คำถามตามมา คือ จะส่งผลกระทบต่ออุดมศึกษาของไทยแง่ไหนบ้าง?

โดย...ธเนศน์ นุ่นมัน

หลังจากราชกิจจานุเบกษาประกาศ คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 29/2560 สนับสนุนให้สถาบันอุดมศึกษาชั้นนำจากต่างประเทศ เข้ามาเปิดมหาวิทยาลัยในเขตเศรษฐกิจพิเศษได้ โดยระบุว่า เพื่อรองรับศูนย์กลางการศึกษาภูมิภาคอาเซียน เน้นสาขาขาดแคลน

คำถามที่ตามมา คือ ประกาศดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่ออุดมศึกษาของไทยในแง่ไหนบ้าง?

สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)และประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กล่าวว่า การเปิดโอกาสให้ต่างชาติเข้ามาเปิดมหาวิทยาลัยในไทยนั้น ถือเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญในการผลักดันการปฏิรูปเศรษฐกิจไทย ด้วยนวัตกรรมให้เป็นรูปธรรม และยั่งยืนภายใน 5 ปี เพื่อตอบโจทย์ไทยแลนด์ 4.0 ทำให้มหาวิทยาลัยของไทยมีความตื่นตัว พัฒนาตนเองให้ดียิ่งขึ้น

“สิ่งที่เราจะต้องทำคือ ต้องหามาตรการที่ดึงดูดให้มหาวิทยาลัยชั้นนำสนใจที่จะเข้ามาเปิดในประเทศไทย ที่ผ่านมา สจล.ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยคาร์เนกี เมลลอน สหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกด้านวิทยาศาสตร์และคอมพิวเตอร์ และได้รับการตอบรับที่ดี เราต้องตื่นตัวเรื่องนี้และเร่งพัฒนาตัวเองเพื่อแข่งขันกันในด้านคุณภาพ และเป็นตลาดวิชาการที่ดึงดูดนานาชาติมาเรียนกับเราให้ได้ เพราะผู้เรียนซึ่งเป็นเด็กไทยกำลังลดลง ปีที่ผ่านมา แอดมิชชั่น มีที่นั่งเรียนของทุกมหาวิทยาลัยรวมกันประมาณ 2 แสนที่ แต่มีผู้มาสมัครแค่ 1 แสน เท่านั้น หากเราไม่เร่งพัฒนาตัวเองก็จะเสียโอกาสและได้รับผลกระทบจากที่มีผู้เรียนน้อยลงในอนาคต” ประธาน ทปอ.กล่าว

เกียรติอนันต์ ล้วนแก้ว ผู้ช่วยรองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ หากมองนโยบายนี้เป็นการเปิดโอกาสในระยะยาวเรื่องนี้จะสร้างแรงกระเพื่อมให้มหาวิทยาลัยไทยปรับตัว เปลี่ยนแปลงการบริหารให้แข่งขันกับนานาชาติได้ ซึ่งต้องเพิ่มศักยภาพในทุกด้าน และไม่ใช่เพิ่มเพื่อแข่งขันกันเองในท้องถิ่นหรือแค่ในประเทศแต่ต้องแข่งกับนานาชาติและเมื่อผู้เรียนมีทางเลือกมากขึ้น มหาวิทยาลัยที่ไม่ปรับตัวก็จะมีผู้เลือกเรียนน้อยลง กรณีที่กล่าวมาย่อมมีผลบวกมากกว่าผลลบในระยะยาว

“แต่สิ่งที่น่ากังวล คือ มีแต่มหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศไม่กี่แห่งเท่านั้นที่ต้องแข่งกับนานาชาติ ไม่ได้แก้ปัญหามหาวิทยาลัยที่เหลือของไทย ซึ่งในอนาคตควรมีนโยบายที่เข้าไปช่วยให้มหาวิทยาลัยในท้องถิ่นแข่งขันกับนานาชาติได้ รัฐบาลจะต้องเข้าไปกำกับดูแลเรื่องคุณภาพของสถาบันอุดมศึกษาที่มีปัญหาให้มากกว่านี้ เพราะที่เป็นอยู่คือ ต้องมีปัญหาหนักจริงๆ จึงมีการเข้าไปกำกับดูแล

“ต้องแสดงให้เห็นว่า สถาบันอุดมศึกษาจะเปิดสอนโดยไม่คำนึงถึงคุณภาพไม่ได้ และในอนาคตควรปรับเกณฑ์การประเมินมหาวิทยาลัยให้มีความน่าเชื่อถือในระดับสากล ประเมินให้เห็นกระทั่งระดับการเรียนการสอน เช่นเดียวกับที่เด็กในอเมริกาจะตัดสินใจเรียนต่อที่ไหน เขาจะรู้ได้เลยว่า มหาวิทยาลัยที่จะเข้าเรียนอยู่อันดับไหน กรณีนี้จะช่วยให้มหาวิทยาลัยปรับตัวให้มีคุณภาพมากขึ้น” เกียรติอนันต์ กล่าว

ภาวิช ทองโรจน์ นายกสภามหาวิทยาลัยนครพนม อดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) กล่าวว่า เรื่องนี้เกิดขึ้นได้หากเป็นความร่วมมือระหว่างประเทศ ซึ่งความพยายามในการหาลู่ทางให้มหาวิทยาลัยชั้นนำเข้ามาเปิดสาขาในประเทศ เป็นเรื่องที่เคยมีความพยายามมาแล้วนับ 20 ปี แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเพราะเหตุผลด้านความคุ้มค่าและการแข่งขัน บางแห่งเคยลงทุนเปิดสำนักงานในประเทศไทยเพื่อสำรวจความต้องการของผู้เรียนแต่ก็ไม่มีการขยับเป็นการเปิดสาขาด้วยเหตุผลบางประการ มหาวิทยาลัยที่สนใจเข้ามาเปิดสาขาในประเทศไทยก็ยังไม่ใช่สถาบันที่ถือว่าเป็นสถาบันชั้นนำอันดับต้นๆ ส่วนใหญ่มักจะเป็นแถวที่ 3

“เท่าที่ทราบคือ มหาวิทยาลัยนานาชาตินั้นเลือกที่จะไปเปิดสาขาในประเทศที่ยังไม่มีคู่แข่งจำนวนมากเหมือนประเทศไทยที่มีมหาวิทยาลัยอยู่แล้วกว่า 150 แห่ง สิ่งที่ควรทำคือ หาทางควบคุมคุณภาพของมหาวิทยาลัยให้ดียิ่งขึ้น เพราะเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง หากจะเชิญต่างประเทศเข้ามาก็เชิญในรูปแบบของการพัฒนาร่วมกัน ขอความร่วมมือแลกเปลี่ยนน่าจะเป็นเรื่องที่ดีกว่า และช่วยไม่ให้มหาวิทยาลัยไทยต้องประสบปัญหาเรื่องขาดแคลนผู้เรียนในอนาคต” อดีตเลขาฯ สกอ.กล่าว