posttoday

ศ.นพ.จรัส สุวรรณเวลา ภารกิจชาติ...กอบกู้วิกฤตการศึกษาไทย

11 มิถุนายน 2560

สิ่งที่ถูกคาดหวังจากทุกรัฐบาล คือ การได้เห็นการศึกษาของชาติเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น

โดย...ชัยฤทธิ์ ยนเปี่ยม, ธเนศน์ นุ่นมัน

สิ่งที่ถูกคาดหวังจากทุกรัฐบาล คือ การได้เห็นการศึกษาของชาติเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะในยุครัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จและประกาศจะปฏิรูปประเทศในทุกด้าน

ทว่า 3 ปีของรัฐบาล คสช.กลับไม่มีความคืบหน้าในการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของระบบการศึกษาไทย จะมีก็เพียงในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ฉบับประชามติ ที่กำหนดในมาตรา 261 ว่า “ให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่งตั้งกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษาให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับตั้งแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ โดยมีหน้าที่จัดทำข้อเสนอแนะ ตลอดจนร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการปฏิรูปประเทศด้านการศึกษาให้บรรลุเป้าหมาย”

30 พ.ค.ที่ผ่านมา รัฐบาล คสช.ได้มีมติแต่งตั้งกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา จำนวน 25 ราย มีวาระการทำงาน 2 ปี โดยให้ ศ.นพ.จรัส สุวรรณเวลา เป็นประธานกรรมการชุดดังกล่าว ซึ่งดูจะเป็นความหวังในการปฏิรูปการศึกษาที่กลายเป็นแรงเฉื่อยในทุกยุค 

ก่อนมารับตำแหน่ง ศ.นพ.จรัส มีบทบาทด้านการศึกษาทั้งปัจจุบันและอดีตมากมาย เช่น เป็นนายกสภามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ รองประธานมูลนิธิส่งเสริมโอลิมปิกวิชาการ ในอดีตเคยเป็นอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายกสภาจุฬาฯ รวม 10 ปี หรือจะเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สมาชิกวุฒิสภา ที่ปรึกษาองค์การอนามัยโลก ที่ปรึกษายูเนสโก ฯลฯ

ในวัย 85 ปี ศ.นพ.จรัส ยังคงกระฉับกระเฉง ช่วงหนึ่งของการสนทนาได้ขอบคุณทีมงานโพสต์ทูเดย์ที่มาพูดคุยเรื่องปฏิรูปการศึกษา เพราะเห็นว่าสื่อต้องมีบทบาทช่วยได้มาก เราถามไปว่า มารับตำแหน่งนี้เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ใช่ไหม คำตอบกลับตรงกันข้าม หากแต่ นพ.ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ รมว.ศึกษาธิการ เป็นผู้ทาบทามให้มาทำงานใหญ่ครั้งนี้

“คุณหมอธีระเกียรติ มาทาบทามผม ผมก็คิดอยู่นาน ท่านพูดสั้นๆ คำเดียวว่า ผมขอพึ่งบารมีของอาจารย์ ให้มาทำงานตรงนี้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ผมจะเป็นคนมีบารมีอิทธิพลอะไรหรอก ท่านหมายถึงบารมีจากงานด้านการศึกษาที่ผมเคยทำมามากกว่า

...ถามว่ากังวลไหม ก็กังวล กลัวจะทำไม่ได้ กลัวว่าจะทำไม่สำเร็จมาเสียตอนแก่ แต่ผมยอมมารับตำแหน่งโดยไม่ได้คิดว่ามาทำเพื่อตัวเอง แต่ตระหนักว่า ภาระที่รับมา คือ อนาคตของชาติขึ้นอยู่กับสิ่งที่เกิดขึ้นกับการศึกษา ถ้าเราไม่แก้เราจะแพ้ประเทศอื่นยิ่งกว่าที่เป็นอยู่ แต่จะสำเร็จหรือไม่ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับผมคนเดียว ยังมีส่วนสำคัญจากคณะกรรมการอิสระฯ ทั้ง 25 คน และคนอื่นๆ จากหลากหลายอาชีพที่เราไปเชิญมาพูดคุยกันในอนาคต”

ศ.นพ.จรัส กล่าวว่า ปัจจุบันการศึกษาไทยมีปัญหาหลายเรื่องที่ต้องแก้ ซึ่งคณะกรรมการไม่ได้มาทำงานตรงนี้เล่นๆ สังคมคาดหวังมาก และก็มีกรอบเวลาการทำงานชัดเจน คณะของเรามีอายุ 2 ปี บางเรื่องต้องทำให้เสร็จใน 1 ปี แต่ใน 2 ปีนี้ จะต้องทำภาระงานทั้ง 5 ด้าน คือ 1.วางแนวทางการศึกษาปฐมวัย 2.เสนอแนะกลไกระบบการผลิตคัดกรองและพัฒนาผู้ประกอบวิชาชีพครู 3.ปรับปรุงหลักเกณฑ์การจัดการเรียนการสอนทุกระดับ 4.ศึกษาแนวทางหลักเกณฑ์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และ 5.ร่างกฎหมายจัดตั้งกองทุน เป้าหมายของทั้ง 5 เรื่องนั้นนำไปสู่เรื่องที่เกี่ยวโยงกัน ส่วนจะเป็นเรื่องอะไรก็ต้องมาคิดกัน

ศ.นพ.จรัส ระบุว่า สิ่งที่กรรมการอิสระฯจะต้องทำ คือ นำปัญหาและข้อเสนอมาหารือกัน โดยจะแตกแขนง ครอบคลุมปัญหาการศึกษาทั้งระบบ แต่สิ่งที่ได้มานั้นอาจจะส่งต่อให้รัฐบาลใหม่จะนำไปใช้ ที่สำคัญข้อเสนอของคณะกรรมการต้องไม่เพ้อฝัน แต่ต้องปฏิบัติจริงให้ได้

“ก่อนหน้านี้ มีการทดลองวิธีการต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาการศึกษาเป็นจำนวนมาก มีทั้งที่ประสบความสำเร็จและล้มเหลว แต่สิ่งที่เป็นปัญหาหนักที่สุด คือ เรื่องคุณภาพการศึกษา ซึ่งเราคงเน้นไปที่ผลสัมฤทธิ์ ถัดมาคือ เรื่องความเหลื่อมล้ำ ซึ่งน่าจะเป็นเป้าหมายสูงสุดในการแก้ปัญหารอบนี้”

ศ.นพ.จรัส กล่าวว่า ปัญหาการศึกษาที่มีอยู่นั้น ไม่สามารถที่จะใช้คำตอบเดียวในการแก้ปัญหา ที่ผ่านมาเราบริหาร “ความเหมือนกัน” แต่ไม่ได้บริหารความหลากหลาย จากนี้ต้องมาคิดกันว่า จะจัดการเรื่องความหลากหลายได้อย่างไร ไม่ว่า ครู การเรียนการสอน เพราะการศึกษาไม่ได้จบแค่เพียงการศึกษาภาคบังคับ รัฐธรรมนูญเขียนเอาไว้ ว่าต้องยืดการศึกษาให้มีตลอดชีวิต จึงต้องมีการศึกษาที่ครอบคลุมทุกกลุ่ม ตั้งแต่วัยอนุบาลจนถึงผู้สูงอายุ

“ปัญหาคือเราไม่มีข้อมูลว่าประชากรของเรามีการศึกษาเป็นอย่างไร มีหน่วยงานที่เก็บข้อมูลเรื่องนี้หลายหน่วยงาน แต่ข้อมูลที่มีนำมารวมกันไม่ได้ เพราะอยู่กันคนละฐาน เมื่อเอามารวมกัน ก็ซ้อนกันไปซ้อนกันมา เรียกได้ว่า ข้อมูลการศึกษาของคนคนหนึ่งอยู่ในฐานที่ไม่เหมือนกัน เช่น เรื่องของความสามารถศักยภาพการทำงานของแต่ละคน พบว่ามีไม่ตรงกัน เมื่อจะปรับการศึกษาให้ตอบโจทย์ ก็เลยไม่รู้ว่าจะปรับอย่างไร ถ้าจะปฏิรูปจริง เราต้องมีระบบข้อมูลเรื่องนี้”

อีกปัญหาที่มีมากในทัศนะของ ศ.นพ.จรัส คือ การวัดผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา ที่ไม่มีระบบที่วัดศักยภาพที่แต่ละคนมี ทั้งศักยภาพในการหาความรู้ หรือศักยภาพสำคัญด้านอื่น ในการเลือกชีวิต ในการปรับตัวเอง นำมาซึ่งใครอยากเรียนอะไรก็ได้ แต่ระบบที่มี ต้องมีหน้าที่วัดศักยภาพ ไม่วัดแค่การท่องจำ เราต้องปล่อยเสรีในการให้โรงเรียนจัดการศึกษา แล้ววัดกันที่ศักยภาพของเด็ก การศึกษาต้องสร้างตรงนี้ให้ได้ เรื่องนี้กรรมการจะช่วยกันหากลไกมาช่วยดูแล

ศ.นพ.จรัส บอกว่า เรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งที่ต้องมาคิดกัน คือ ทุนที่เข้ามาจัดการความเหลื่อมล้ำ ร่างกฎหมายเพื่อจัดตั้งกองทุนที่จะใช้ในการช่วยเหลือผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์ทางการศึกษา เช่น ผู้พิการ คนเร่ร่อน เพื่อพัฒนาคุณภาพ ซึ่งเรื่องนี้เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญว่า จะนำเงินที่รัฐจัดสรรจากระบบภาษีมาใส่ในกองทุนนี้

“ผมรู้สึกว่า ข้อนี้ก็เหมือนกับกองทุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แต่เป็น สสส.ด้านการศึกษา ต่อไปต้องดูว่าจะมีกฎหมายมารองรับการใช้เงินจากกองทุนนี้อย่างไร เน้นเรื่องประสิทธิภาพ และประสิทธิผลของทุน ต้องให้ครอบคลุมกับคนทุกกลุ่ม”

อย่างไรก็ตาม เครื่องมือแก้ปัญหาไม่ว่ากองทุนที่จะมีขึ้น หรือกฎหมายที่จะออกมา คงไม่พอ ทั้งหมด ต้องเปลี่ยนความคิดคนให้เห็นความสำคัญของความเหลื่อมล้ำ หรือความยุติธรรมในสังคมด้วย ซึ่งภาครัฐต้องสนใจเรื่องความเหลื่อมล้ำ โดยเน้นปรับโรงเรียนในต่างจังหวัดที่มีความจำเป็น รวมถึงวิธีการเรียนการสอน เครื่องมือเครื่องใช้ มันคงแก้ทั้งหมดไม่ได้ แต่มันต้องแก้ให้มันดีขึ้น

ปัญหาหนึ่ง คือ การวัดผลสัมฤทธิ์ ศ.นพ.จรัส วิพากษ์ว่า ที่ผ่านมาเราวัดผลโรงเรียนด้วยการ Input เช่น มีครู โรงเรียน หนังสือเท่านี้ แต่ไม่ได้วัดว่า นักเรียนจบมาแล้วมีความสามารถแค่ไหน วัดแค่เรื่องความจำตามการสอบโอเน็ต เมื่อครูต้องสอนตามโอเน็ต ก็ต้องไปเก็งข้อสอบ แล้วกวดวิชา ระบบมันทำให้เกิดอย่างนั้น ดังนั้น ต้องวัดผลสัมฤทธิ์ของเด็กให้ได้ เพราะผลตรงนี้มันถึงวัดคุณภาพการศึกษาได้

ประธานคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา ยกตัวอย่างประเทศที่ประสบความสำเร็จด้านการศึกษา เช่น ฟินแลนด์ เม็กซิโก คิวบา เกาหลีใต้ โดยเฉพาะที่บราซิลที่เปลี่ยนโรงเรียนให้กลายเป็นโรงเรียนของชุมชน มีกรรมการโรงเรียน ประกอบไปด้วย ครู ผู้ปกครอง และท้องถิ่น เข้ามาช่วยกันจัดการกันเองว่า ควรจะเรียนอย่างไร โดยรัฐให้เสรีภาพในการจัดการหมด ซึ่งรูปแบบนี้ไทยควรนำมาเป็นแบบอย่าง

“ภาคเอกชน กับภาครัฐ ท้องถิ่น เราต้องให้เกิดความหลากหลายมีส่วนร่วมกับการศึกษา การเรียน การสอน ไม่ใช่ดูแค่โครงสร้างว่า กระทรวงมีกี่กรม ดังนั้น ต่อไปแต่ละโรงเรียน ควรเอาผู้ปกครองเข้ามามีบทบาทในโรงเรียนนี่คือกลไกที่ต้องเกิดขึ้นในอนาคต

การแก้ปัญหาการศึกษาจะสำเร็จไหมจากนี้ เพราะไม่ว่าจะกี่รัฐบาลก็ไม่ให้ความสำคัญ? ศ.นพ. จรัส ตอบว่า

“ผมตอบแทนกรรมการทุกคนได้ว่า มีความมุ่งมั่นจะแก้ให้ได้ และถ้าเที่ยวนี้แก้ไม่ได้ ประเทศไปไม่ไหวแน่ๆ เพราะขณะนี้เราแพ้ประเทศอื่นมาเยอะ หลายประเทศแซงเรา มาเลเซียแซงแล้ว เวียดนามกำลังจะแซง ก็ไม่รู้เขมรจะแซงเราอีกหรือเปล่า ดังนั้น ถ้าเราไม่แก้ปัญหาการศึกษา เราแพ้แน่ ศักดิ์ศรีของประเทศก็ถูกใครแซงไปเยอะ ทั้งที่ประเทศไทยมีมา 700 ปี มีทุกอย่าง ประเทศตะวันตกก็เห็นว่า เรามีข้อดีมาก โดยเฉพาะจุดแข็งจากวัฒนธรรมไทย สถาบันพระมหากษัตริย์ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่รัชกาลที่ 9 ทรงให้เป็นคำตอบทุกอย่างกับโลกในยุคที่ฟุ่มเฟือยในปัจจุบัน”

ศ.นพ.จรัส ฝากทิ้งท้ายว่า ไม่ใช่คณะกรรมการชุดนี้ที่ต้องขับเคลื่อนปฏิรูปการศึกษาฝ่ายเดียว แต่คนทั้งประเทศต้องช่วยกัน ตอนนี้มันเป็นวิกฤตจนชินชาแล้ว ดังนั้น ต้องปลุกทุกฝ่ายให้เห็นถึงความตระหนักที่ต้องแก้