posttoday

สุเทพยันวางมือการเมือง เดินหน้าหนุนปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง

04 มิถุนายน 2560

"ผมไม่กลับพรรคประชาธิปัตย์ เพราะฉะนั้น เพื่อนๆ น้องๆ ของผมจะกลับไปพรรคประชาธิปัตย์​ก็เป็นสิทธิที่เขาจะกลับไป ผมไม่เข้าไปกำกับ แทรกแซง วุ่นวาย ผมมีเรื่องที่ผมต้องทำ"

โดย...ธนพล บางยี่ขัน

ไม่แปลกที่อดีตผู้จัดการรัฐบาล ที่เคยสร้างประวัติศาสตร์การเมือง รวมเสียงพรรคร่วมจนผลักดัน อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีมาแล้วหนหนึ่ง จะถูกจับตาอีกครั้ง เมื่อออกโรงเชียร์ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีต่ออีกสมัย จังหวะเดียวกับ​ที่ 8 กปปส.กลับคืนถิ่นประชาธิปัตย์

ลุงกำนัน หรือ สุเทพ เทือกสุบรรณ ที่เวลานี้เหลือเพียงแค่ตำแหน่ง ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชน ​ให้สัมภาษณ์พิเศษกับโพสต์ทูเดย์ ไล่เรียง​ตั้งแต่ประเด็นเรื่อง กปปส.กลับพรรคประชาธิปัตย์ ที่อธิบายว่าเป็นเรื่องธรรมดาที่จะกลับไปทำหน้าที่นักการเมืองตามเดิม ไม่ใช่ความพยายามเข้าไปเปลี่ยนตัวหัวหน้าพรรคเพราะประชาธิปัตย์มีสมาชิกเป็นล้าน คนของ กปปส. 8 คนที่เข้าไปจะทำอะไรได้ 

“ผมไม่กลับพรรคประชาธิปัตย์ เพราะฉะนั้น เพื่อนๆ น้องๆ ของผมจะกลับไปพรรคประชาธิปัตย์​ก็เป็นสิทธิที่เขาจะกลับไป  ผมไม่เข้าไปกำกับ แทรกแซง วุ่นวาย ผมมีเรื่องที่ผมต้องทำ ทั้งวิทยาลัยอาชีวศึกษา ชุมชน เศรษฐกิจพอเพียง บ้านพักคนชรา ทำโครงการบวชพระทุกเดือน มีงานของผมอยู่”

ก่อนจะออกตัวว่าทำอะไรตรงไปตรงมา เพราะวางมือแล้ว ไม่มีการเข้าไปแทรกแซง สั่งการ ให้คำปรึกษาอะไรภายในพรรค ทุกวันนี้ทำหน้าที่ตัวแทนมวลมหาประชาชน พูดทำอะไรในฐานะประชาชน เปิดเผยไม่ต้องปิดบังใคร รวมทั้งประกาศ สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์​ ​เป็นนายกรัฐมนตรี

“เราเห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ ​กล้าหาญ ไว้ใจได้ เป็นคนที่จงรักภักดี ซื่อสัตย์​สุจริต กล้าออกมารับผิดชอบบ้านเมือง มองย้อนกลับไป 2556-2557  ถ้า พล.อ.ประยุทธ์​ไม่มีความกล้าเพียงพอออกมายึดอำนาจ ไม่เอาตัวเองแบกรับภาระปกป้องรักษาประเทศ ก็สงสัยว่าสถานการณ์บ้านเมือง จะเลวร้ายกว่านี้เยอะ”​

สุเทพ อธิบายว่า เวลานี้ยังไม่เห็นว่ามีใครเหมาะสมเท่ากับ พล.อ.ประยุทธ์ ที่จะมารับหน้าที่ขับเคลื่อนการปฏิรูปต่อจากเดิมที่ทำไว้แล้ว 3 ปี ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรี มีผลงานหลายอย่างที่หากเป็นรัฐบาล ซึ่งมาจากการเลือกตั้งอาจทำไม่ได้ ​

ล่าสุดกับ 4 คำถาม ที่ พล.อ.ประยุทธ์ ออกมาหยั่งกระแสสังคม สุเทพ มองว่า ออกมาถูกจังหวะ และเหมาะสม ไม่ใช่เรื่องของการเตรียมการขยับโรดแมป อีกทั้งยังเชื่อว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นตามกรอบที่กำหนด เพราะหลังรัฐธรรมนูญ 2560 ประกาศใช้ กลไกต่างๆ ก็เดินหน้าทั้งเรื่องทำกฎหมายลูกที่ทั้งกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ​และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กำลังเร่งดำเนินการ ​​ไม่มีใครมาดึงเกม

“อย่าออกมาปั่นกระแสเลื่อนการเลือกตั้ง ​เชื่อมั่นว่าทุกอย่างจะเดินตามโรดแมป ​ยกเว้นมีระเบิดกันทุกวันก็อีกเรื่อง บ้านเมืองไม่สงบจัดเลือกตั้งไม่ได้ สำหรับพวกผมถ้ายังมีการก่อเหตุกันอยู่ก็จะเรียกร้องอย่าเลือกกันเลย ผมเคยเจอในสมัยเป็นรองนายกฯ ฝ่ายมั่นคง คนออกมายิงตูมตาม เผาบ้านเผาเมือง ​ต้องอพยพไปกรมทหารราบ 11 เหตุการณ์อย่างนั้นไม่อยากให้เกิดอีก”

สุเทพ ขยายความประเด็น 4 คำถาม ของ พล .อ.ประยุทธ์ ว่า ออกมาในจังหวะที่เหมาะสม เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนทั้งประเทศตระหนักถึงภาระหน้าที่กับการแก้ปัญหาประเทศชาติ  เช่น การเลือกตั้งแล้วจะได้รัฐบาลมีธรรมาภิบาลหรือไม่ ตรงนี้เป็นหน้าที่ที่ประชาชนต้องใช้ดุลพินิจตั้งแต่วันนี้ ​ซึ่งต้องถือเอาเรื่องนี้เป็นสำคัญ

ทั้งนี้ ​ต้องการให้การเมืองวันข้างหน้าเป็นการเมืองของประชาชน เพราะการเมืองที่แล้วมาไม่ใช่การเมืองของประชาชน ​เป็นการเมืองของกลุ่มผลประโยชน์ ดังนั้น พรรคการเมืองต้องเป็นของประชาชนก่อน ส่วน พ.ร.บ.พรรคการเมือง ที่ กรธ.เสนอ​แม้บางส่วนจะยังไม่ถูกใจ แต่ภาพรวมก็เป็นหนทางทำให้พรรคการเมืองเป็นของประชาชน 

สำหรับ​เรื่องทุนประเดิม ​เดิมอาศัยเงินจากกลุ่มทุน การทำงานการเมืองจึงหนีไม่พ้นเพื่อประโยชน์นายทุน ดังนั้นเงินพรรคการเมืองที่ใช้ต้องมาโดยบริสุทธิ์  แต่ส่วนตัวข้องใจที่ กรธ.กำหนดเก็บเงินจากสมาชิกพรรคปีละ 100 บาท ที่น้อยเกินไป ควรจะเป็นวันละ 1 บาท หรือปีละ 365 บาท หากจ่ายน้อยไป ก็ต้องไปเอาเงินทุนจากที่อื่น นายทุนก็จะมาครอบงำพรรคอีก ​

“​สมมติเก็บเงินจากสมาชิกที่จ่ายได้ 100 ล้านบาท รัฐบาลจ่ายให้เท่ากันอีก 100 ล้านบาท พรรคการเมืองก็บริหารได้  ดังนั้นไม่ต้องเอามาจากท่ี่อื่นก็ไม่ติดหนี้บุญคุณใคร ทำงานอิสระ ไม่ใช่แค่เรื่องเงิน ต้องทำให้ประชาชนเข้ามามีส่วนในการบริหารพรรค ไม่ใช่ให้การตัดสินใจอยู่แค่หัวหน้าพรรค กรรมการบริหารพรรค 20-30 คน ​ทั้งเรื่องการเลือกกรรมการบริหาร การส่งคนลงสมัครต้องให้สมาชิกตัดสินใจ”

ทั้งนี้ เรื่องเงินเป็นเรื่องละเอียดอ่อน หากกำหนดให้บริจาคให้พรรคการเมืองได้คนละ 10 ล้านบาท สมมติครอบครัวมี 5 คน  บริจาคกันทั้งหมดรวม 50 ล้านบาท รวม 4 ปี 200 ล้านบาท  ก็จะทำให้ครอบครัวนี้มีอิทธิพลเหนือพรรคการเมือง ดังนั้นต้องกำหนดให้ชัดเจนว่าได้เท่าไหร่ อย่างนิติบุคคลไม่ควรเกิน 5 แสนบาท และต้องนำเข้าพิจารณาในที่ประชุมรายงานต่อที่ประชุมใหญ่

ส่วนเรื่องประเด็นการตั้งพรรคนอมินีนั้น ลุงกำนัน​อธิบายว่า เป็นที่มาถึงต้องกำหนดให้พรรคมีสมาชิก 1 แสนคน ต้องเสียค่าบำรุงพรรคตามกรอบ สิ่งเหล่านี้เป็นหัวใจสำคัญ ดังนั้น หากใครจะตั้งพรรคนอมินี 5 พรรค ก็ต้องทำให้ได้ดังนี้ คือ มีสมาชิกเป็นเจ้าของพรรค 1 แสนคน จ่ายเงินค่าสมาชิก จ่ายแทนกันไม่ได้ ไม่งั้นติดคุกถ้าทำได้อย่างนี้เขาจะตั้งกี่พรรคก็ได้

ย้อนกลับมาคำถามข้อ 3 ของ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องทำให้การเลือกตั้งมีธรรมาภิบาล คำนึงถึงอนาคตประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ หากทำไม่ได้ก็จะเหมือนที่ผ่านมา คือ การเลือกตั้งเป็นแค่พิธีกรรมเข้าสู่การยึดครองอำนาจรัฐ ซึ่งจะต้องทำไม่ให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น การเลือกตั้งจึงต้องทำเมื่อเกิดความพร้อม เกิดการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ ที่สำคัญ ส่วนที่ยังทำไม่เสร็จก็ทำต่อไป

ส่วนคำถามสุดท้ายข้อที่ 4  หากนักการเมืองมีพฤติกรรมไม่เหมาะสม ​สมควรเข้ามาสู่การเลือกตั้งหรือไม่ ​ส่วนตัวเห็นว่า​ คนทั้งประเทศต้องรับผิดชอบร่วมกัน ส่วนตัวจึงอยากให้คำถามทั้ง 4 ข้อนี้ เป็นการปลุกให้ประชาชนตื่นตัวกับภาระหน้าที่ของประชาชนเตรียมดูแลประเทศ ​

สุเทพ บอกว่า นี่เป็นจุดยืนตั้งแต่แรกเมื่อออกมาเดินขบวนว่าต้องมีการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ซึ่งต้องทำให้เสร็จหากไล่ดูความคืบหน้าก็จะพบการดำเนินการที่ผ่านมา ทั้ง พ.ร.บ.กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่อยู่ระหว่างการจัดทำ ซึ่งมีแนวคิดเลิก กกต.จังหวัด เปลี่ยนเป็นผู้ตรวจนั้น  เป็นเรื่องที่ถูกต้อง แต่ก็ต้องมีกลไกอื่น เช่น ศาลเลือกตั้ง ที่จะต้องไปว่ากันในรายละเอียด

“ที่สำคัญคือกฎหมายที่ออกมา​ต้องทำให้ประชาชนมั่นใจได้ว่า การเลือกตั้งบริสุทธิ์ ยุติธรรม ไม่มีการซื้อขายเสียง ใช้อิทธิพล เอาตำแหน่งหน้าที่เข้าไปช่วย ที่ผ่านมาผมฟ้อง กกต.​ยังติดคุกอยู่เดี๋ยวนี้ เป็นเรื่องที่ต้องช่วยกันทำให้ได้ตัวแทนประชาชนที่ได้รับความไว้วางใจเข้าไปทำหน้าที่แทนเขาจริงๆ ไม่ใช่ประมูลตำแหน่ง สส.หรือโกง​ทุจริต เลือกตั้งได้เข้ามา”​​

รวมไปถึงเรื่องการปฏิรูปการบริหารแผ่นดิน อย่างเรื่องผู้ว่าราชการจังหวัด ส่วนตัวเห็นว่าต้องทำให้เป็นหัวหน้าส่วนราชการ มีอำนาจบังคับบัญชาราชการทั้งหมดในจังหวัด ทำแผนพัฒนาจังหวัด ​สอดคล้องยุทธศาสตร์​การพัฒนาชาติ และอยู่ในระยะเวลาทำแผนเสร็จ คือ 4 ปี ​

สุเทพ อธิบายว่า หากยังไม่พร้อมที่จะเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ก็ให้นายกรัฐมนตรีเป็นคนแต่งตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด เหมือนแต่งตั้งรัฐมนตรี และให้ยึดโยง ผู้ว่าราชการจังหวัด นายกรัฐมนตรีต้องแต่งตั้ง ต้องเป็นคนที่จังหวัดยอมรับโดยให้สภาจังหวัดเป็นผู้ให้ความเห็นชอบ เหมือนประธานาธิบดีแต่งตั้งรัฐมนตรี​ก็ต้องถามวุฒิสภา​

กรณีการปฏิรูปตำรวจ ที่มีแนวคิดจะให้ไปขึ้นกับกระทรวงยุติธรรม ตรงนี้ไม่ใช่​การปฏิรูป แต่ต้องปรับปรุงโครงสร้าง วิธีบริหารใหม่ ให้ตำรวจเป็นตำรวจประชาชน ดูแลประชาชนได้ ที่แล้วมาตำรวจพยายามจัดองค์กรเลียนแบบกองทัพ มีแม่ทัพภาค ​รวมอำนาจไว้ส่วนกลาง ซึ่งไม่จำเป็น อีกทั้งเห็นด้วยกับการที่จะให้ตำรวจไปขึ้นกับจังหวัด เพื่อสะดวกในการดูแลประชาชน

เรื่องการปฏิรูปการศึกษา ได้ยินรัฐมนตรีว่าการตอบคำถามบอกว่า ต้องสร้างอาชีวศึกษา ให้เกิดประโยชน์ ​มีประสิทธิภาพ ซึ่งมีครูอยู่แล้วตามโรงงานต่างๆ สะท้อนให้เห็นว่า รัฐมนตรีเก่ง มองเห็นปัญหา เพราะหากรออีก 5 ปีไปสร้างครู ก็จะไม่ทันการณ์ เรื่องนี้ควรจะไปเชื่อมโยงกับประชารัฐ กับปฏิรูปการศึกษา และสอนเรื่องศาสนาศีลธรรมควบคู่กันไป

สุเทพ อธิบายว่า การออกมาตั้งคำถามของ พล.อ.ประยุทธ์ ในช่วงนี้จึงถือเป็นการถูกต้อง เหมาะสมที่ทำให้เกิดการปฏิรูป ​​ปลุกให้ทุกฝ่ายต้องช่วยกันคิด รวมไปถึงถ้าประชาชนจำนวนมากคิดตรงกันว่าต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป ก็ต้องหาคนที่มีความคิดเหมือนกันไปลงเลือกตั้ง มี สส.สนับสนุน ให้พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี เดินหน้าปฏิรูปประเทศ หรือจะใช้วิธีไหนก็ต้องมาช่วยกันคิด