posttoday

กทม.กับปัจจัยเสี่ยงอนาคต แผ่นดินกัดเซาะ-น้ำทะเลหนุนสูง

02 มิถุนายน 2560

ภัยพิบัติทางธรรมชาติไม่เคยปรานีใครในมวลมนุษยชาติ เมื่อสถาบันระดับโลกอย่างสถาบันเวิลด์วอตช์ ออกมาเตือนว่า 160 ประเทศ จะจมอยู่ใต้บาดาลในปี 2563

โดย...เอกชัย จั่นทอง

ภัยพิบัติทางธรรมชาติไม่เคยปรานีใครในมวลมนุษยชาติ เมื่อสถาบันระดับโลกอย่างสถาบันเวิลด์วอตช์ ออกมาเตือนว่า 160 ประเทศ จะจมอยู่ใต้บาดาลในปี 2563 ที่สำคัญรวมเมืองหลวงอย่างกรุงเทพมหานคร ติดโผด้วย หลังได้ทำการวิจัยสภาพแวดล้อมโลก พบว่าเมืองที่ตั้งอยู่บริเวณชายฝั่งทะเลทั่วโลกอย่างน้อย 30 เมือง กำลังเผชิญกับอันตรายจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น และพิบัติภัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก และสาเหตุจากแผ่นดินทรุดตัวลงอย่างรวดเร็วในขณะที่ระดับน้ำทะเลในอ่าวไทยกลับเพิ่มขึ้น

งานวิจัยขององค์กรดังกล่าวสร้างความสับสนให้กับคนเมืองกรุงไม่น้อย เรื่องนี้ ธนวัฒน์ จารุพงษ์สกุล อาจารย์ภาควิชาธรณีวิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และภาคีสมาชิก ราชบัณฑิตยสภา สำนักวิทยาศาสตร์ ไขข้อข้องใจถึงผลงานวิจัยเกี่ยวกับปรากฏการณ์กรุงเทพฯ จมน้ำ ว่า โอกาสที่กรุงเทพฯ จะจมอยู่ใต้บาดาลภายในปี 2563 นั้นคงเป็นไปไม่ได้ แต่ตอนนี้ก็จมอยู่แล้วในลักษณะน้ำท่วมแบบถาวรและค่อยๆ เป็นไปซึ่งไม่ใช่น้ำท่วมเหมือนเหตุการณ์อุทกภัยเมื่อปี 2554

“ห้วงระยะเวลา 35 ปีที่ผ่านมา กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอ่าวไทยตอนบน เช่น เขตบางขุนเทียนพื้นที่ชายฝั่งหายไปแล้วประมาณ 1 กิโลเมตร (กม.) แล้วไม่ใช่เกิดขึ้นเพียงในกรุงเทพฯ อย่างเดียว ยังเกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดปริมณฑลอย่าง สมุทรปราการ สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม มีพื้นที่หายไปร่วมกันนับหมื่นไร่จากห้วงระยะเวลาดังกล่าว”

ธนวัฒน์ กล่าวว่า แนวทางการศึกษาพบว่า หากเราไม่ดำเนินการป้องกันอะไรเลยในระยะเวลา 20 ปี  พื้นที่ชายฝั่งจะถูกกัดเซาะกว่า 6.3 หมื่นไร่ ระยะทางประมาณ 1.3 กม. ถัดมาระยะเวลา 50 ปี พื้นที่จะถูกกัดเซาะเข้ามาอีกประมาณ 1.5 แสนไร่ ระยะทางกว่า 2.3 กม. และระยะเวลา 100 ปี พื้นที่จะถูกกัดเซาะอีกกว่า 2.4 แสนไร่ ระยะทางประมาณ 6 กม. อย่างไรก็ตามระยะเวลา 35 ปีที่ผ่านมา กรุงเทพฯ และอีก 5 จังหวัดใกล้เคียงจมไปแล้วประมาณ 1 กม.

สำหรับสิ่งที่เวิลด์วอตช์ทำวิจัยออกมาพร้อมระบุกรุงเทพฯ ติดเมืองชายฝั่งที่เสี่ยงจมน้ำในปี 2563 นั้นในความเป็นจริงคือเป็นข้อมูลเก่าเมื่อหลายสิบปีก่อน ฉะนั้นจากการศึกษาวิจัยต่อเนื่องมานานกว่า 20 ปี เกี่ยวกับเรื่องธรณีวิทยา ทุกอย่างมันต้องใช้เวลา แต่ถ้าในอนาคตเรายังไม่ทำอะไรเลยอีก 20 ปีแผ่นดินจะถูกกัดเซาะไปอีก 1.3 กม. เฉลี่ย 6.3 หมื่นไร่ ขณะที่พื้นที่กรุงเทพฯ จะหายไปเรื่อยๆ

“กรุงเทพฯ กำลังมีปัญหาเรื่องระบบการระบาย ฝนตกนิดหน่อยก็น้ำท่วม ผลที่ตามมาเราระบายน้ำไม่ได้เนื่องจากคลองเราไปทำผนังกั้นน้ำท่วม พอสูงขึ้นก็ตกตะกอนทำให้เกิดการตื้นเขินจึงระบายน้ำลงสู่คลองได้ไม่สะดวก สังเกตจากปัจจุบันเห็นว่าช่วงฝนตกน้ำระบายลงคลองยากมาก น้ำเอ่อล้นท่วมไปหมดกลายเป็นน้ำรอระบาย ซึ่งผมว่าเป็นปัญหาที่ใหญ่หลวงและหนักมาก เราต้องหันมาให้ความสำคัญอย่างเร่งด่วน”

ชวลิต จันทรรัตน์ นักวิชาการทางด้านน้ำภายในประเทศไทย หรือ ทีม กรุ๊ป ฉายภาพว่า การวิจัยขององค์กรดังกล่าวถือว่าเป็นข้อมูลส่วนหนึ่ง แต่ค่าการคำนวณดูรุนแรงเกินไป หากใช้งานวิจัยที่มีค่าสูงเกินความเป็นจริงอ้างอิงอาจทำให้ค่าที่ออกมาเกินความเป็นจริง และข้อมูลที่ออกเตือนก็เป็นข้อมูลเก่าเมื่อกว่า 30 ปีก่อน แต่ยอมรับว่าประเทศไทยอยู่ในรายชื่อของประเทศลุ่มต่ำเวลาน้ำทะเลหนุนขึ้นจะเอ่อท่วมขึ้นมา

“กรณีที่ว่ากรุงเทพฯ จะจมในปี 2563 ไม่ใช่อย่างแน่นอน แต่จะเกิดขึ้นในอีกกว่า 80 ปีข้างหน้าน้ำทะเลที่อยู่บริเวณปากแม่น้ำอ่าวไทยจะมีระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้นระดับ 60 เซนติเมตร (ซม.) ซึ่งเป็นค่าที่ยูเอ็นฯ ให้การยอมรับ และจากการติดตามค้นคว้าวิจัยมาตลอด ในทุกประเทศต่างหามาตรการบรรเทาสถานการณ์เหล่านี้เพื่อรุ่นลูกหลานเราในอนาคต”

ชวลิต กล่าวว่า การสูบน้ำบาดาล เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้แผ่นดินทรุดลงไปเช่นกัน ทุกวันนี้ในเขตพื้นที่ลุ่มต่ำอย่าง กรุงเทพฯ สมุทรปราการ สมุทรสาคร และพื้นที่ใกล้เคียงไม่มีการอนุญาตให้สูบน้ำบาดาลแล้ว ถ้าใครสูบน้ำจะคิดค่าธรรมเนียมแพงมาก ซึ่งได้มีตรวจสอบวัดดูพบว่าน้ำบาดาลเพิ่มขึ้นจำนวนมากและการทรุดตัวน้อยลงแล้ว เพราะฉะนั้นการตั้งสมมติฐานกรุงเทพฯ ทรุดลง 10 ซม./ปี มันคือเหตุการณ์เมื่อ 30 ปีที่แล้ว ปัจจุบันไม่มีการทรุดตัวเพียง 1-2 ซม. เท่านั้น ถือว่าเป็นเรื่องดีเตือนใจว่าอย่าทำให้โลกร้อนขึ้นเกิน 1 องศา

ชวลิต กล่าวทิ้งท้ายว่า อนาคตระดับน้ำทะเลจะสูงขึ้น 60 ซม. ดังนั้นการระบายน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยาอาจไม่สะดวกเหมือนทุกวันนี้ คันป้องกันน้ำท่วมตั้งแต่กรุงเทพฯ ถึงพระนครศรีอยุธยา จะต้องสูงขึ้นลดหลั่นกันออกไป