posttoday

"ไอเอส" เกิดยาก ไทยไม่ใช่เป้าหมาย

28 พฤษภาคม 2560

"คิดว่าขบวนการก่อความไม่สงบ ไม่ได้มีแค่ขบวนการเดียว อาจจะมีบางกลุ่มต้องการเจรจารัฐบาล เพื่อที่จะร่วมมือกันสร้างสังคมใหม่ขึ้นในภาคใต้ เป็นสังคมที่ให้ความสำคัญกับอัตลักษณ์มลายูมากยิ่งขึ้น"

โดย...ชัยรัตน์ พัชรไตรรัตน์

จากเหตุระเบิดโรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า เมื่อช่วงสายวันที่ 22 พ.ค. ถูกตั้งคำถามจากสังคมว่าเป็นฝีมือกลุ่มก่อความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ขยายตัวมายังกรุงเทพมหานคร เพราะได้รับอิทธิพลจากกลุ่มไอเอส (Islamic State) หรือจริงแล้วทั้งหมดเป็นเพียงเกมการเมืองภายในเท่านั้น

ศราวุฒิ อารีย์ รองผู้อำนวยการ ศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้วิเคราะห์สถานการณ์ที่เกิดขึ้นผ่าน “โพสต์ทูเดย์” ประการแรก ถ้าดูจากสถิติทางการไม่มีคนไทยไปร่วมรบกับกลุ่มไอเอสในซีเรียและอิรักเลย ประการที่สอง แม้มีกลุ่มก่อความไม่สงบ อาทิ ขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปัตตานี (บีอาร์เอ็น) และอีกหลายกลุ่ม ก็ไม่เคยสวามิภักดิ์เป็นพวกเดียวกับกลุ่มไอเอส ซึ่งต่างจากฟิลิปปินส์

ประเด็นตรงนี้สบายใจได้ระดับหนึ่งว่าไทยไม่มีลักษณะเชื่อมโยงเครือข่ายระหว่างกลุ่มก่อความไม่สงบหรือประชากรมุสลิมในประเทศร่วมกับกลุ่มก่อการร้ายสากล ทว่าสิ่งสำคัญเรื่องการแพร่กระจายอุดมการณ์ความคิดรุนแรงนั้น มันสามารถเข้าถึงปัจเจกบุคคลได้ทั่วถึง ซึ่งป้องกันยากทั้งในหลายประเทศ

ศราวุฒิ ฉายภาพอีกว่า การมีคนไทยบางส่วนเห็นใจไอเอส ต้องดูเหตุผลเบื้องลึกว่าการแสดงออกนั้น มันเป็นสาเหตุจากปัจจัยใด แต่เท่าที่ทราบไม่ได้ต้องการสร้างรัฐอิสลามในไทย ดังนั้นหน่วยงานความมั่นคงต้องระมัดระวัง ไม่ใช่เหมารวมว่าเป็นผู้ก่อการร้าย

อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่นานมานี้ทางการออสเตรเรียได้ส่งข้อมูลให้กับตำรวจไทย ว่ามีคนไทยเข้าไปในซีเรียมากพอสมควร ซึ่งส่วนตัวอธิบายว่ามีคนไทยเข้าไปซีเรียจริง แต่คนกลุ่มนี้เข้าไปช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแล้วกลับมา

“สงครามซีเรียมีหลายมิติที่ต้องทำความเข้าใจ เพราะมีคนเดือดร้อนจากเหตุสงครามกลางเมือง การต่อสู้กับระบอบปกครองแบบเผด็จการ ไม่ได้เชื่อมโยงกลุ่มไอเอส แถมกลุ่มต่างๆ เหล่านี้ต้องมาสู้กับกลุ่มไอเอส นอกจากรัฐบาล”

อย่างไรก็ดี เพื่อนบ้านไทย เช่น ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย บรูไน และไทย ไม่มีคนเข้าร่วมกับกลุ่มไอเอส เพราะมีพื้นฐานความรู้ทางศาสนาอิสลาม อีกทั้งไทยให้อิสรเสรีภาพนับถือศาสนา พร้อมทั้งส่งเสริมการเรียนและกิจกรรม ตรงนี้เป็นภูมิคุ้มกันไม่ให้เยาวชนถูกชักจูงจากกลุ่มไอเอสในลักษณะบิดเบือนคำสอน

“หน่วยงานข่าวกรองอังกฤษสรุปผลการศึกษาการก่อการร้ายในยุโรปน่าสนใจมาก เพราะคนที่เป็นผู้ก่อการส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมด ไม่มีพื้นฐานทางด้านศาสนา มีน้อยมากที่อยู่ในครอบครัวยึดหลักการคำสอน ความคิดคนยุโรป เวลามุสลิมเคร่งครัดศาสนามากๆ มันจะนำไปสู่การใช้ความรุนแรง เป็นพวกสุดโต่ง แต่ความเป็นจริงมันไม่ใช่ ยิ่งมีพื้นฐานความรู้ทางศาสนามากเท่าไหร่ มันจะเป็นภูมิคุ้มกันไม่ให้พวกบิดเบือนหลักการทางศาสนา หรือตีความศาสนากันแคบๆ ชักจูงไปได้ง่าย”

รองผู้อำนวยการ ศูนย์มุสลิมศึกษาฯ ยังมองอีกว่า ภูมิภาคเซาท์อีสต์เอเชีย กลุ่มไอเอสอาจสามารถชักจูงคนจำนวนน้อยเข้าร่วมได้ เพราะภูมิภาคนี้มีประชากรมุสลิม 300 กว่าล้านคน ครึ่งหนึ่งเป็นมุสลิม แต่ไปร่วมไม่เกิน 400-500 คน หากคิดเป็นเปอร์เซ็นต์ยังไม่ได้ ด้วยเหตุผลอันนี้กลุ่มไอเอสยังไงก็ไม่สามารถตั้งฐานที่มั่นในภูมิภาคเซาท์อีสต์เอเชียได้ เว้นแต่ประชากรมุสลิมในพื้นที่ยอมรับ

อย่างไรก็ตาม กลุ่มไอเอสต่อสู้โดยใช้หลักจีฮัด คือ ใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบกับศัตรู มองคนอื่นว่าไม่ใช่มุสลิมสามารถฆ่าได้ไม่บาป ซึ่งหลักการนี้ขัดแย้งกับหลักคำสอนทางศาสนาชัดเจน เพียงแต่คนไม่มีพื้นฐานทางศาสนาจะไม่เข้าใจโดยเฉพาะเยาวชน เนื่องด้วยธรรมชาติการใช้ความรุนแรงมีมากอยู่แล้ว มันก็เลยไปกันใหญ่

“เรื่องนี้ต้องเป็นยุทธศาสตร์ระยะยาว แต่ไทยไม่มียุทธศาสตร์อะไรทั้งนั้น แต่ว่าเราให้เสรีภาพในการทำกิจกรรมทางศาสนา จึงเห็นได้ว่าเราสร้างภูมิกันในลักษณะนี้มาตั้งแต่ต้น แต่อินโดนีเซีย มาเลเซีย เป็นมุสลิม 100% เรื่องพวกนี้เขาไม่ได้ให้ความสนใจ อย่างไทยประชากรมุสลิมบ้านเราสิ่งสำคัญสำหรับเขา คือ การดำรงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ของตัวเอง วิธีการคือเรียนและศึกษาตั้งแต่เล็กๆ เพื่อทำให้อัตลักษณ์ตัวเองดำรงอยู่เมื่อเติบใหญ่”

สำหรับกรณีภาคใต้ เช่น เหตุการณ์ระเบิดต่างๆ ศราวุฒิ มองว่าคือเรื่องการเมือง และเอาเรื่องศาสนามาเป็นเครื่องมือบ้าง แต่ภาพรวมมุสลิมในไทย เท่าที่สัมผัส หรือกลุ่มคนไปเรียนยังประเทศตะวันออกกลางหลายหมื่นหลายพันคนนั้น ถือว่าเป็นคนมีความรู้ทางศาสนา และไม่มีแม้แต่คนเดียวไปร่วมกับกลุ่มไอเอส หรือแสดงท่าทีสนับสนุน เพราะว่าสถาบันทางด้านศาสนาต่างๆ ที่ไปเรียนไม่ให้การยอมรับกลุ่มไอเอส

“เราต้องไม่ประมาท ผมไม่แน่ใจสถานการณ์จังหวัดในชายแดนใต้ แต่คิดว่าขบวนการก่อความไม่สงบ ไม่ได้มีแค่ขบวนการเดียว อาจจะมีบางกลุ่มต้องการเจรจารัฐบาล เพื่อที่จะร่วมมือกันสร้างสังคมใหม่ขึ้นในภาคใต้ เป็นสังคมที่ให้ความสำคัญกับอัตลักษณ์มลายูมากยิ่งขึ้น จากอดีตที่ผ่านมารัฐไม่ให้ความสำคัญหรือเลือกปฏิบัติ วันนี้คนกลุ่มนี้ยึดแนวทาง ต่อรอง พูดคุย สร้างข้อตกลงระหว่างกัน

แต่ไม่แน่ใจกลุ่มก่อความไม่สงบที่เป็นประชาชนคนรุ่นใหม่ยอมรับแนวทางนี้หรือไม่ และเยาวชนส่วนน้อยเหล่านี้ใช้ความรุนแรงเป็นลักษณะวิธีการก่อการร้ายด้วยซ้ำไป กลุ่มเหล่านี้เสี่ยง ถ้าไม่ให้ความสนใจ อนาคตข้างหน้าอาจกลายเป็นกลุ่มไม่เชื่อมั่นในโซลูชั่นที่รัฐมอบให้ แล้วหันไปยึดแนวทางวิธีการก่อการร้ายและเชื่อมโยงกับเครือข่ายข้างนอกก็เป็นไปได้”

ศราวุฒิ ย้ำว่า สิ่งที่รัฐบาลไทยดำเนินการอยู่ถือว่าถูกทาง คือ ไม่ใช้ความรุนแรง รักษาความยุติธรรม รวมถึงรักษาอัตลักษณ์ และควรร่วมมือกับคนที่มาพูดคุยเจรจา เพื่อให้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการแก้ปัญหาเยาวชนคนรุ่นใหม่ และอย่ามองเพียงว่าเจรจาแล้วยังเกิดความรุนแรง ซึ่งการเจรจามีเป้าหมายสร้างสังคมร่วมกันใหม่จากสิ่งที่มันผิดพลาดในอดีต และเดินไปข้างหน้าด้วยกัน กลุ่มใช้ความรุนแรงอาจจะไม่สามารถใช้มาตรการระยะสั้นได้ แต่ทำให้กลุ่มนี้เป็นพวกชายขอบ ไม่มีบทบาท ไร้การยอมรับ ก็จะสลายไปเอง

สำหรับเหตุการณ์ระเบิดที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า ถ้าให้มองยุทธศาสตร์กลุ่มไอเอสไม่เกี่ยวข้อง เพราะเป้าหมาย คือ การสถาปนารัฐอิสลามขึ้น หากการที่กลุ่มไอเอสก่อเหตุในกรุงเทพฯ ไม่มีผลต่อเป้าหมาย และไทยถ้าหากเสี่ยงจากการปฏิบัติการของกลุ่มไอเอส มันจะต้องเป็นพื้นที่ผลประโยชน์ของมหาอำนาจ

“เราไม่ได้เป็นประเทศมุสลิม ดังนั้นไม่สามารถที่จะมาเปลี่ยนไทยเป็นประเทศมุสลิมได้ หากปฏิบัติการจริงและส่งผลต่อภาพลักษณ์หรือต่อบทบาทเขาในพื้นที่นี้ เขาต้องแสดงให้เห็นถึงศักยภาพการก่อเหตุกับผลประโยชน์มหาอำนาจ ไม่ใช่เลือกโรงพยาบาล แต่ถ้าโยงภาคใต้ บีอาร์เอ็น ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง”

อย่างไรก็ตาม ส่วนจะโยงหรือไม่นั้น บางครั้งก็โยง เช่น เหตุระเบิดใต้หลายจุดทางภาคใต้ตอนบน และก็ระเบิดอีกหลายครั้ง มันมีส่วนเกี่ยวโยงกับขบวนการก่อความไม่สงบ แม้โรงพยาบาลก็เป็นไปได้ เพราะคนเหล่านี้ยึดแนวทางความรุนแรง ฉะนั้นไม่ต้องการความชอบธรรมใดๆ ทางการเมืองทั้งสิ้น เชื่อว่าส่วนใหญ่ที่อยู่เบื้องหลังกลุ่มก่อความไม่สงบ ยึดแนวทางการเมือง คือ พูดคุยเจรจา และต้องการความช่วยเหลือจากประชาคมโลก อย่างองค์การความร่วมมืออิสลาม (โอไอซี) หรือแม้แต่สหประชาชาติ (ยูเอ็น)