posttoday

หนุนต่างชาติตั้ง‘มหา'ลัย’ กระตุ้นวงการศึกษาไทยตื่นตัว

26 พฤษภาคม 2560

เกิดความพยายามของกระทรวงศึกษาธิการ ที่เตรียมเสนอเรื่องต่อนายกฯให้ใช้อำนาจหัวหน้า คสช.ตามมาตรา 44 ให้ต่างชาติที่มีศักยภาพมาเปิดสถาบันการศึกษาในเขตเศรษฐกิจพิเศษ

โดย...เอกชัย จั่นทอง

เกิดความพยายามของกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ที่เตรียมเสนอเรื่องต่อนายกรัฐมนตรี ให้ใช้อำนาจหัวหน้า คสช.ตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2557 ให้ต่างชาติที่มีศักยภาพมาเปิดสถาบันการศึกษาในเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพื่อรองรับประชาคมอาเซียน โดยเน้นการผลิตเฉพาะสาขาขาดแคลนที่มหาวิทยาลัยไทยเปิดสอนไม่ได้

อนุสรณ์ ธรรมใจ ในฐานะประธานอนุกรรมการจัดเตรียมแผนการศึกษาชาติ ให้ความเห็นในเรื่องนี้ว่า ประเทศไทยมีความจำเป็นต้องเปิดให้ต่างชาติมาลงทุนทางการศึกษาระดับหนึ่งโดยเฉพาะในสาขาที่มหาวิทยาลัยไม่มีหลักสูตร ไม่มีการศึกษาวิจัย ความเชี่ยวชาญในการผลิตบุคลากร และเป็นสาขาวิชาที่มีความจำเป็นต่อประเทศ

อนุสรณ์ แสดงความคิดเห็นด้วยว่า แม้จะมีคนจำนวนหนึ่งไม่เห็นด้วยกับการเปิดกว้างเปิดเสรีในภาคบริการการศึกษาหรือการเปิดมหาวิทยาลัยต่างชาติในไทย แต่เราก็ไม่สามารถชะลอการเปิดกว้างนี้ไปเรื่อยๆ ได้ เพราะเราต้องปฏิบัติตามพันธสัญญาในการเปิดเสรีบริการการศึกษาตามกรอบประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนรวมทั้งการสามารถเคลื่อนย้ายแรงงานวิชาชีพและบุคลากรทางการศึกษาได้อย่างเสรี ตาม Mode 1-4 ของการค้าภาคบริการ

ทว่า การเปิดเสรีจะทำให้คนไทยมีทางเลือกมากขึ้น เป็นการสร้างสภาพแวดล้อมให้มหาวิทยาลัยไทยต้องปรับตัว คุณภาพจะดีขึ้น เป็นมาตรฐานสากลมากขึ้น ค่าเล่าเรียนจะต้องถูกลงจากการแข่งขันโดยคุณภาพไม่ลดลง การจัดสรรทรัพยากรในการผลิตบริการการศึกษาต้องมีประสิทธิภาพสูงขึ้น

อนุสรณ์ เน้นย้ำว่า แน่นอนที่สุดว่าการเปลี่ยนแปลงนี้จะกระทบกับผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัยหรือเจ้าของกิจการของมหาวิทยาลัยให้ต้องปรับตัว เกิดปัญหานักวิชาการ ครูอาจารย์ นักวิจัย ที่มีความเชี่ยวชาญลึกซึ้งที่ไทยขาดแคลน และอาจจะมีคนที่มีคุณภาพสูงมาทำงานในเมืองไทยมากขึ้น การเปิดกว้างทางการศึกษาและการเปิดเสรี จะทำให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ ยกระดับนวัตกรรมและเทคโนโลยี

ประธานอนุกรรมการฯ สำทับต่อว่า การเปิดให้ต่างชาติมาเปิดสถาบันการศึกษา จะกระทบต่อสถาบันการศึกษาเอกชนมากที่สุดโดยเฉพาะกลุ่มที่ไม่มีคุณภาพ มีขนาดเล็กหรือใหญ่ไม่สำคัญ หากไม่มีคุณภาพจะได้รับผลกระทบอย่างแรง กระทบต่อมา คือ สถาบันการศึกษาของรัฐที่ไม่มีคุณภาพ เราอาจจะได้เห็นการควบรวมมหาวิทยาลัย เป็นการควบรวม เป็นการบูรณาการ เพื่อให้พัฒนาต่อไปได้ เพื่อให้เกิดความเข้มแข็งและแข่งขันได้ รัฐบาลต้องเข้ามาดูแลผลกระทบ ที่ไม่ไหวไม่มีคุณภาพ

รัฐกรณ์ คิดการ ประธานที่ประชุมประธานสภาคณาจารย์และข้าราชการแห่งประเทศไทย (ทปสท.) ระบุว่า ถ้าจะให้ต่างชาติมาเปิดสอนต้องทราบข้อมูลก่อนว่า มีสาขาสอนอะไร เปิดสอนที่ไหน และมีสถาบันไหนบ้างที่เขาสนใจ จากการฟัง รมว.ศึกษาธิการพูด พบว่ายังไม่ทราบข้อมูลเหล่านี้และไม่มีอะไรเป็นรูปธรรม คิดว่าเป็นวิธีการคิดที่ไม่ถูกต้อง

รัฐกรณ์ กล่าวว่า ทำไมเราไม่ส่งเสริมมหาวิทยาลัยไทยไปสู่การพัฒนาตามยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0  มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ซึ่งดูแล้วจะสวนทางกัน ส่วนตัวไม่ค้านให้เปิดเสรีทางการศึกษา เพียงแต่ไม่เห็นด้วยกับวิธีการที่จะให้ใช้อำนาจ มาตรา 44 เปิดให้ต่างชาติตั้งมหาวิทยาลัยในประเทศไทย เพราะยังไม่มีความจำเป็นขนาดนั้น

ทั้งนี้ สถาบันการศึกษาต่างชาติเข้ามาสอนการลงทุนย่อมส่งผลที่ตามมาคือค่าเทอมอาจสูงหรือแพง จะมีแต่คนที่มีศักยภาพทางการเงินเรียนได้จนนำไปสู่ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาจะเพิ่มมากขึ้น ทางออกอาจเป็นไปในรูปแบบการทำความร่วมมือกันในการพัฒนาวงการศึกษาไทยและต่างประเทศ

“มหาวิทยาลัยที่มีอยู่มันตอบสนองและทำภารกิจตามที่ได้ขอจัดตั้งหรือเปล่า ต่อไปการขอจัดตั้งจะต้องอิงตามรูปแบบยุทธศาสตร์ชาติ ไม่ใช่อยากเปิดสอนสาขาใดสาขาหนึ่งจะเปิดได้เลย และถ้ามหาวิทยาลัยต่างชาติเข้ามาจัดตั้งก็ต้องดูด้วยว่าสามารถเปิดสอนสาขาไหนได้และไม่ได้บ้าง” รัฐกรณ์ กล่าว

ขณะที่ วรากรณ์ สามโกเศศ อดีต รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า การเปิดให้ต่างประเทศเข้ามาเปิดสถาบันการศึกษาในประเทศไทยมีมานานแล้ว ตัวอย่างเช่น มหาวิทยาลัยเวบสเตอร์  และมหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด

นอกจากนี้ การเปิดให้ต่างชาติเข้ามาเปิดสถาบันการศึกษา ถือว่าตอบรับกับตลาดนักศึกษาไทย ทำให้คนไทยได้เรียนในสาขาที่ไม่มีเปิดสอนในประเทศไทย เพราะอย่าลืมว่าโลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมาก ที่สอนในมหาวิทยาลัยไทยมันล้าสมัยหลายอย่าง เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศเขามีพลวัตและการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งตอบรับกับตลาดและมีความเชี่ยวชาญกว่า

“มองว่าน่าจะเป็นทิศทางบวกต่อการศึกษาไทย โดยเฉพาะการเปิดสอนในสาขาที่ขาดแคลนชำนาญการที่ประเทศไทยไม่มี ทั้งสาขาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ผมเชื่อว่าน่าเป็นประโยชน์และเปิดโอกาสให้คนไทยได้ต่อยอดได้ หรือแม้แต่มหาวิทยาลัยในระดับปริญญาตรีก็ตามที่เน้นไปทางด้านการปฏิบัติ เช่น รถไฟความเร็วสูง การขนส่งระบบราง ฯลฯ ซึ่งประเทศไทยยังไม่มีบุคลากรที่เชี่ยวชาญด้านเหล่านี้เลย”

วรากรณ์ ย้ำว่า ถ้าหวังจะให้มีนักศึกษาเข้ามาเรียนมากๆ ในสถาบันศึกษาต่างชาติก็คงไม่ง่าย  เนื่องจากมหาวิทยาลัยต่างชาติที่เข้ามาเปิดสอนในประเทศไทยก็มีปัญหานักศึกษาน้อยเช่นกัน เพราะคนมีเงินส่วนใหญ่ก็บินไปเรียนต่อต่างประเทศ

วรากรณ์ ระบายว่า มหาวิทยาลัยไทยมีปัญหา 2 ด้าน 1.อาจารย์ไม่เป็นพลวัต ยังไม่มีอาจารย์ใหม่ที่มีความรู้ชั้นเลิศเข้ามาเป็นอาจารย์ เพราะด้วยโครงสร้างและผลตอบแทนยังไม่เอื้ออำนวย และ 2.เนื้อหาการสอนปัจจุบันสอนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต แตกต่างกับมหาวิทยาลัยต่างประเทศได้จัดทำหลักสูตรตอบรับกับการเปลี่ยนแปลงของโลกได้ดีกว่า

“การเข้ามาของสถาบันศึกษาต่างประเทศจะทำให้ไทยเห็นว่าเราจะร่างหลักสูตรการสอนอย่างไร รวมถึงการทำให้วงการศึกษาไทยตื่นตัวมากยิ่งขึ้น เพื่อให้ตัวเองได้พัฒนาจากการเรียนรู้สิ่งเหล่านี้ และไม่มีความกังวลเกี่ยวกับเรื่องการแยกชิงให้นักศึกษาเข้าเรียนกัน แต่จะเป็นการเติมเต็มส่วนที่ไทยขาดแคลนบุคลากรสำคัญๆ ด้านต่างๆ เช่น ไอที นวัตกรรม สุขภาพ”  

อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดอาจเป็นการต่อยอดสำหรับคนที่ต้องการเรียนในต่างประเทศแต่มีค่าใช้จ่ายสูง ก็ไปศึกษาเรียนต่อตรงจุดนี้ได้ด้วย และเชื่อว่าไม่เกิดปัญหาอย่างแน่นอน