posttoday

ปัญหาใหม่แก้น้ำท่วม ไม่บูรณาการ...ต่างคนต่างสร้าง

25 พฤษภาคม 2560

ตั้งแต่ปี 2554 ถึงปัจจุบัน ประเทศเรายังไม่เคยพร้อมเพื่อรับมือกับปัญหา จริงๆ เลย ดังนั้นการบริหารจัดการเครื่องมือและบุคลากรที่มีอยู่จึงเป็นเรื่องสำคัญที่สุด

โดย...ธเนศน์ นุ่นมัน

ทุกครั้งที่เกิดฝนตกติดต่อกันหลายวัน กรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศว่าจะเกิดฝนตกหนักติดต่อกัน ข้อกังวลเรื่องน้ำท่วมในพื้นที่ต่างๆ ก็ตามมาทันที โดยเฉพาะความกังวลว่าจะเกิดท่วมใหญ่ซ้ำรอยปี 2554

เพื่อหาคำตอบถึงการดำเนินการในมาตรการป้องกันน้ำท่วมที่สามารถคลายความกังวลลง โพสต์ทูเดย์พูดคุยกับดร.สิตางค์ พิลัยหล้า นักวิชาการจากอนุกรรมการวิศวกรรมสถานแหล่งน้ำฯ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) เพื่อให้ได้คำตอบและความกระจ่างในเรื่องนี้

อาจารย์สิตางค์เริ่มสนทนาด้วยการตั้งคำถามว่า หลังเกิดอุทกภัยครั้งใหญ่เมื่อปี 2554 รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการอะไรเพื่อรับมือกับเหตุการณ์น้ำท่วมในอนาคตบ้าง  แต่จากที่ได้ติดตามเรื่องนี้พบว่าหลังเหตุน้ำท่วมงบประมาณจำนวนมากถูกอนุมัติไปในการซ่อมแซมส่วนต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ส่วนใหญ่เป็นถนนที่ถูกน้ำกัดเซาะ นอกจากนี้องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ต่างๆ หลายแห่ง ยังได้รับงบประมาณไปยกระดับถนนที่น้ำท่วมถึงให้สูงขึ้นเพื่อป้องกันไม่ให้น้ำท่วมถึงอีกด้วย

อย่างไรก็ดี งบประมาณในส่วนดังกล่าวไม่ถือว่าใช้เพื่อป้องกันน้ำท่วมในอนาคต เพราะไม่ได้ช่วยให้ระบบระบายน้ำดีขึ้น

"เงินที่ท้องถิ่นบางแห่งนำไปปรับปรุงถนน นอกจากจะไม่ช่วยให้ระบายน้ำจากบางพื้นที่แล้ว ยังกลายเป็นการสร้างปัญหาใหม่อีกด้วย การยกพื้นถนนที่ให้สูงขึ้น หลังปี 2554 ก่อให้เกิดปัญหาในทำนองนี้ในหลายพื้นที่" อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มก.ระบุ

อาจารย์สิตางค์ กล่าวว่า กรณีเรื่องการซ่อมแซมและการยกระดับถนนในหลายเส้นทางโดยไม่ตอบโจทย์การระบายน้ำนั้น ได้รับคำอธิบายจากกรมทางหลวงว่าไม่สามารถเพิ่มงบประมาณเพื่อปรับปรุงทางระบายน้ำ ให้ถนนมีประสิทธิภาพในการระบายน้ำได้ เพราะถนนทั่วประเทศมีกว่า 6 หมื่นกิโลเมตร ต้องใช้งบประมาณสูงถึง 6 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ งบประมาณหลังอุทกภัย 2554 ที่นอกเหนือจากการซ่อมแซมถนนแล้ว การวางแผนแก้ปัญหาน้ำท่วมนั้น ยังกระจายไปยังหน่วยงานอื่นๆ ซึ่งแต่ละหน่วยงานมีงานที่ซ้อนกันอยู่

อาจารย์บอกว่า ที่เห็นชัดก็คือเรื่องของการสร้างพนังกั้นน้ำริมแม่น้ำสายหลัก ปิง วัง ยม น่าน ในจังหวัดต่างๆ ที่มีทั้งสร้างขึ้นและพังไปแล้ว จนมีการสร้างใหม่แล้ว หลายพื้นที่กลายเป็นสร้างปัญหาเชิงสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ กำแพงสองฝั่งแม่น้ำยังสร้างผลกระทบทำให้น้ำในหลายจุด ระบายออกจากพื้นที่ไม่ได้อีกด้วย การจัดการในทำนองนี้เป็นตัวอย่างของการจัดการน้ำที่กลัวอุทกภัยเมื่อปี 2554 จนลืมไปว่าน้ำท่วมเมื่อปี 2554 นั้นเกิดจากน้ำเหนือไหลบ่าลงมาตามแม่น้ำจนเกินความจุ ทำให้ไหลบ่าท่วมพื้นที่ริมแม่น้ำ จึงให้ความสำคัญกับการสร้างพนังกั้นไม่ให้ล้นจากแม่น้ำสายหลัก

นอกเหนือจากปัญหาการระบายน้ำที่ตามมาและกลายเป็นภาระที่คาดไม่ถึงแล้ว อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ยังอธิบายด้วยว่า ตัวพนังกั้นน้ำริมแม่น้ำสายหลักที่ถูกสร้างขึ้นก็กลายเป็นปัญหาเช่นกัน

"การก่อสร้างพนังเพื่อรับมือน้ำท่วมหลังปี 2554 เป็นต้นมายังคงเป็นเรื่องของแต่ละพื้นที่ ต่างคนต่างสร้าง หากสำรวจพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ก็จะพบว่าพนังกั้นน้ำยังแหว่งเป็นบางช่วง จุดที่เป็นทางระบายน้ำบางจุดก็ยังอยู่ในระหว่างการศึกษาผลกระทบ"

อย่างไรก็ตาม นักวิชาการด้านน้ำท่านนี้ ระบุว่าโอกาสที่จะเกิดน้ำท่วมเหมือนปี 2554 นั้นเป็นไปได้ยาก เพราะหน่วยงานที่รับผิดชอบด้านนี้ อย่างกรมชลประทานมีประสบการณ์และสรุปบทเรียนจากอุทกภัยในปีนั้นแล้ว

"ถามว่าถ้าตอนนี้มีน้ำมาจะมีน้ำเอ่อท่วมหรือไม่ ก็ต้องตอบว่ามี แต่กรมชลประทานจะเคร่งครัดเรื่องการบริหารจัดการพร่องน้ำไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำรอยเหมือนปี 2554 แน่นอน เมื่อน้ำมาในปีนี้จึงเป็นการรับมือตามสภาพด้วยศักยภาพการป้องกันที่มีอยู่ ปัญหาน้ำจะกลายเป็นเรื่องการจัดการปัญหาเฉพาะจุดเร่งสูบออกจากพื้นที่ไปสู่แม่น้ำสายหลักที่ใช้ระบายให้เร็วที่สุด"

สิ่งที่น่ากังวลก็คือ หลังจากปี 2554 เป็นต้นมา ระบบป้องกันน้ำในพื้นที่ของเอกชนที่ต่างคนต่างสร้างนั้นไม่มีหน่วยงานรัฐเข้าไปกำกับดูแล ส่งผลให้สภาพทางกายภาพของสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยานั้นเปลี่ยนแปลงไปมาก จนกล่าวได้ว่า ไม่มีหน่วยงานราชการที่มีข้อมูลพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่ถูกต้องเท่าทันความเปลี่ยนแปลงในช่วง 7 ปี ที่ผ่านมามีสิ่งก่อสร้างเพิ่มขึ้นมากมายและเอกชนที่สร้างก็ต่างสร้างและถมพื้นที่เพื่อหนีปัญหาน้ำท่วม นั่นหมายความแบบจำลองสถานการณ์น้ำท่วมที่เคยใช้เพื่อคำนวณความเสียหายกันช่วงก่อนหน้านั้น จะได้ผลลัพธ์ที่ออกมาคลาดเคลื่อนอย่างแน่นอน

"กรณีดังกล่าวหมายความว่า หากมีปริมาณน้ำเท่าปี 2554 ย่อมเป็นไปได้ยาก ที่จะรู้ได้ว่าน้ำที่ท่วมจะไหลไปทางไหนตัวอย่างนี้ สรุปคือตั้งแต่ปี 2554 ถึงปัจจุบัน ประเทศเรายังไม่เคยพร้อมเพื่อรับมือกับปัญหา จริงๆ เลย ดังนั้นการบริหารจัดการเครื่องมือและบุคลากรที่มีอยู่จึงเป็นเรื่องสำคัญที่สุด" อาจารย์สิตางค์ กล่าวทิ้งท้าย