posttoday

ต้นเหตุทุเรียนแพง "กลไกตลาด หรือ ล้งจีนทำป่วน"

24 พฤษภาคม 2560

ไขข้อข้องใจจากปากผู้เกี่ยวข้องในแวดวงเกษตรกรรม ทำไมราคาทุเรียนไทยในตลาดถึงพุ่งกระฉูด

โดย...วิรวินท์ ศรีโหมด

ราคาผลไม้ปรับตัวสูงขึ้นจนน่าตกใจ โดยเฉพาะ "ทุเรียน" พืชผลที่หลายคนต้องคิดเเล้วคิดอีก กว่าจะตัดสินใจยอมควักเงินออกจากกระเป๋าเพื่อเเลกกับความเอร็ดอร่อย

จากปี พ.ศ. 2554 ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 40 บาท 6 ปีผ่านไป ปัจจุบันราคาทุเรียนพุ่งสูงถึง 140 บาทต่อกิโลกรัม

สภาพอากาศ การกักตุน พ่อค้าคนกลางหรือการส่งออกต่างแดน อะไรกันแน่คือต้นเหตุของความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ?

ถึงเวลาแก้ปัญหาล้ง ขอรัฐบาล อย่าพูดแค่ลมปาก

ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการเกษตร ระบุว่า ราคาทุเรียนหมอนทองปีพ.ศ. 2554 เฉลี่ยอยู่ที่ 40.21 บาทต่อกิโลกรัม ปี 2556 ราคา 54.98 บาทต่อกก. ปี 2558 ราคา 60 บาทต่อกก. และล่าสุดปี 2560 พุ่งสูงถึง 120-140 บาทต่อกก. 

เจ้าของสวนทุเรียนรายใหญ่แห่งหนึ่งใน จ.ระยอง ซึ่งประกอบอาชีพนี้มากว่า 50 ปี แต่ขอที่จะไม่เปิดเผยชื่อ ยอมรับว่า ผลผลิตทุเรียนปีนี้มากกว่าปีก่อน ประมาณ 30-40 ตัน หรือกว่าหนึ่งหมื่นลูก ขณะที่ราคาขายตกต่ำลงกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากมีเกษตรกรหันมาปลูกทุเรียนเพิ่มมากขึ้น

“หลายคนเมื่อก่อนปลูกยางพารา พอเห็นทุเรียนราคาดี ก็หันกลับมาปลูกทุเรียน ทำให้ปีนี้ราคาตก ผมว่าอนาคตน่าจะตกลงยิ่งกว่านี้”

สำหรับช่องทางการจัดจำหน่ายหลักของเหล่าเกษตรกร เจ้าของสวนรายนี้บอกว่า ส่วนใหญ่เลือกขายให้กับล้งเพื่อส่งออกไปยังต่างประเทศ โดยเฉพาะจีน ซึ่งเรื่องที่สำคัญควรตระหนักคือ การฝากความหวังไว้กับล้งมากจนเกินไป อาจนำไปสู่ปัญหาในการกำหนดราคา

“ชีวิตเกษตรกรวันนี้ฝากไว้กับล้ง วันใดล้งจีนรวมตัวกันจนมีอำนาจกำหนดราคาได้ เมื่อนั้นผลไม้จากสวน จะถูกกดราคาจนต่ำทันที”

เจ้าของสวนทุเรียนรายนี้ เรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาแก้ไขปัญหาล้งอย่างจริงจัง โดยแนะนำให้ดูแลอย่างเข้มงวด มีกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนในทุกขั้นตอน ทั้งการตรวจสอบจำนวนผู้ประกอบการ การกำหนดราคา รูปแบบการตลาด การควบคุมคุณภาพและการขยายตลาดส่งออกไปยังประเทศอื่นๆ ในเอเชียหรือยุโรป เพราะหากปล่อยให้ล้งจีนสามารถกำหนดราคาเองได้เช่นนี้ อนาคตชาวสวนและผู้บริโภคจะลำบาก

“ที่ผ่านมาการแก้ปัญหาของรัฐไม่ชัดเจน ทางปฏิบัติไม่มีรูปธรรม เป็นเพียงแค่ลมปาก ทุกครั้งรัฐมักพูดเพียงแค่ว่าจะพยายามช่วยเหลือ แต่สุดท้ายกลับช่วยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรรายใหญ่ ส่วนรายเล็กแทบไม่เคยได้รับการเหลียวแล”

เจ้าของสวนให้ความเห็นอีกว่า รูปแบบกลไลของระบบล้งปัจจุบันมีความซับซ้อนมาก หากผู้ประกอบการรายใดต้องการปั่นราคาทุเรียนให้ถูกลง พ่อค้าคนกลางจะใช้วิธีปล่อยทุเรียนอ่อนส่งออกไปราว 1-2 ล็อต เมื่อเกิดปัญหาก็จะนำเรื่องคุณภาพด้อยมากดราคาเกษตรกร เรื่องนี้สำคัญมาก หากรัฐไม่ทันเกม อนาคตประเทศไทยถูกต่างชาติเข้ามาควบคุมราคาผลไม้ได้แน่

“ผลผลิตมากก็ขายยาก การช่วยเหลือของรัฐก็ช้า พูดเพียงลมปาก ในพื้นที่ไม่เห็นมีหน่วยงานราชการออกมาช่วยเลย แม้แต่เกษตรอำเภอและจังหวัด เมื่อไปติดตามสอบถามก็มักอ้างว่า งานล้นมือ สุดท้ายชาวสวนก็ต้องดิ้นรนขายเอง แต่ขอถามว่าจะให้ไปขายที่ไหน ไม่มี....ก็ต้องยอมเข้าล้ง ขอเตือนภาครัฐว่า หากไม่แก้จริงจัง ปัญหาใหญ่เกิดแน่” เจ้าของสวนทุเรียนรายใหญ่ทิ้งท้าย

ต้นเหตุทุเรียนแพง "กลไกตลาด หรือ ล้งจีนทำป่วน"

 

จำใจขายให้ ล้ง เพราะไม่มีทางเลือก

ลุงฉัตร เจ้าของสวนมังคุด-ลองกอง จ.จันทบุรี เล่าว่า ได้ผลผลิตต่อปีประมาณ 10 ตัน โดยนำไปขายต่อให้กับพ่อค้าคนกลางหรือล้ง ราคาขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์และคุณภาพของผลไม้ ในอดีตเคยขายได้สูงถึง 200 บาทต่อกก. ก่อนจะปรับลดลงมาเรื่อย 100 บาท 80 บาท 60 บาทต่อกก. กระทั่งปัจจุบันราคาอยู่ที่ 50 บาทต่อกก.

ลุงฉัตรบอกว่า กลไลการรับซื้อของพ่อค้าคนกลาง ล้งรายใหญ่จะเป็นผู้กำหนดราคาว่า แต่ละวันจะรับซื้อมังคุดในปริมาณและราคาเท่าใด จากนั้นจะให้ลูกทีมออกไปรับซื้อจากเกษตรกร

“ตัวอย่างเช่น ตั้งงบไว้วันละ 1 ล้านบาท รับซื้อกก.ละ 60 บาท เขาก็จะแบ่งเงินให้ลูกทีม 5 คน คนละ 2 แสนบาท เพื่อไปรับซื้อจากเกษตรกร คนที่ออกไปรับซื้อก็จะกำหนดราคาใหม่อีกครั้ง อาจจะกดเหลือ 55-57 บาทต่อกก. และเก็บส่วนต่างเอาไว้ ฝั่งเกษตรกรก็ต้องจำใจขาย เพราะไม่มีทางเลือก ไม่อยากเสี่ยงต้องแบกภาระ หากผลไม้ขายไม่หมดก็ต้องทิ้ง”

ขณะที่การรวมตัวของเกษตรกรในรูปแบบสหกรณ์เพื่อต่อรองราคานั้น เขาบอกว่า เป็นเรื่องที่ดี แต่มีปัญหาในทางปฏิบัติจริง เนื่องจากต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก ไม่มีใครยอมเป็นผู้นำ และแม้จะเคยไปขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานราชการ สำนักงานพาณิชย์จังหวัดในพื้นที่ แต่ก็ไม่ได้รับความช่วยเหลือ ได้คำตอบเพียงว่า ยังไม่ถึงขั้นวิกฤติ 

“ช่วงแรกก็มีสหกรณ์ แต่ระบบบริหารไม่มีคนเป็นผู้นำ พอลงมือทำจริงก็สู้ล้งจีนไม่ได้ สุดท้ายก็เลิกไป ส่วนจะให้หน่วยงานรัฐในพื้นที่มาช่วยเหลือ แทบไม่เคยเห็น หนำซ้ำยังช่วยเหลือพ่อค้าคนกลางด้วยซ้ำ สุดท้ายเมื่อไม่มีทางเลือก เกษตรกรก็ต้องยอมขายให้ล้งเพราะไม่อยากให้ผลผลิตเสียหาย”

เกษตรกรรายนี้ แสดงความต้องการอยากให้หน่วยงานราชการในพื้นที่ช่วยดูแลในการกำหนดราคากลางรับซื้อที่แน่นอนลักษณะวันต่อวัน รวมถึงควรมีเจ้าหน้าที่คอยติดตามออกตรวจความเรียบร้อยและเป็นธรรม ไม่ปล่อยให้ล้งเป็นผู้กำหนดราคาเช่นนี้

ต้นเหตุทุเรียนแพง "กลไกตลาด หรือ ล้งจีนทำป่วน"

 

อย่าแทรกแซงกลไกตลาด

วิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์ สาธารณสุขและการเกษตร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ ยอมรับว่าจากอดีตถึงปัจจุบันราคาผลผลิตการเกษตรปรับตัวสูงขึ้นมาก ซึ่งมีเหตุผลมาจากความต้องการของต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะจีน ทำให้การแข่งขันของตลาดผลไม้ตอนนี้มีความเข้มข้นกว่าสมัยก่อน รวมถึงเกษตรกรเริ่มเปลี่ยนจากปลูกต้นยางพาราหันกลับมาปลูกทุเรียนมากขึ้น

ส่วนรูปแบบการขายผลผลิตของเกษตรกรไม่ต่างจากเมื่อก่อน คือ ใช้ระบบพ่อค้าคนกลาง แต่ตอนนี้อาจมีพ่อค้าชาวจีนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีกำลังเงินและกำลังซื้อชัดเจน ซึ่งเหนือกว่าพ่อค้าท้องถิ่นเดิม ทำให้เกิดการแข่งขันทางตลาดมากขึ้น ตามหลักเศรษฐศาสตร์รูปแบบการแข่งขันเช่นนี้เป็นเรื่องปกติซึ่งเป็นเรื่องดีกับเกษตรกรไม่ใช่การเอาเปรียบ เหมือนบริษัทขนาดใหญ่ที่เอาเปรียบคนไทยเกินไป

“รัฐบาลไม่ถึงกับต้องเข้าไปควบคุม จำกัด ไม่มีเหตุผลชัดเจนที่ต้องทำเช่นนั้น มันเป็นกลไกการแข่งขันทางการตลาด เมื่อราคาผลผลิตดี ผู้ที่ได้ประโยชน์ก็คือเกษตรกรชาวไทย ฉะนั้นไม่มีเหตุผลที่ต้องไปจำกัดการแข่งขัน เพราะนี่คือผลของโลกโลกาภิวัฒน์ที่กำลังพัฒนา เมื่อมีการส่งออกเพิ่ม ของต้องแพงขึ้น ยกเว้นแต่ผลผลิตนั้นจะมีสินค้าอื่นทดแทนเพิ่มขึ้นมา”

วิโรจน์ แนะนำว่า หากรัฐบาลอยากแก้ไขปัญหาราคาผลผลิต ควรหาทางพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ สนับสนุนขยายพื้นที่การปลูกให้ประชาชนมีทางเลือกเพิ่มมากขึ้น จะเป็นสิ่งที่ดีกว่า แต่ไม่ควรไปควบคุมราคาผลไม้ที่เป็นสินค้าสามารถเน่าเสียได้ง่าย

ช่วยเหลือเกษตรกรด้วยกฎหมายใหม่ 

กมลวิศว์ แก้วแฝก ผู้อำนวยการองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร หรือ อ.ต.ก. เปิดเผยว่า ปีนี้สถานการณ์ผลไม้ไม่ประสบปัญหามากนัก การปรับตัวของราคาเป็นเรื่องปกติของกลไกตลาด เมื่อมีความต้องการมากโดยเฉพาะต่างประเทศ ก็ทำให้ผลไม้ไทยส่งออกมากขึ้น ประกอบกับช่วงนี้เป็นต้นฤดูผลผลิต จึงมีสินค้าน้อย หากรอเข้าช่วงกลางฤดูผลไม้ ราคาอาจปรับตัวลงกว่านี้ 

ประเด็นเรื่องล้งต่างชาติที่มีการกล่าวถึงกันมากในสังคม กมลวิศว์ กล่าวว่า อย่าไปรังเกียจ ประเด็นสำคัญกว่าคือการควบคุมไม่ให้คนไทยถูกเอาเปรียบ โดยขณะนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ออกกฎหมายที่เกี่ยวกับการควบคุมเรื่องการซื้อขายล่วงหน้าแล้ว ส่งผลให้ต่อไปนี้จะมีเจ้าหน้าที่เข้าไปดูแลควบคุมไม่ให้เกษตรกรถูกเอาเปรียบ หรือเกิดการซื้อเหมาสวนในราคาเดียวซึ่งทำให้ผลไม้ถูกตัดพร้อมกันอีกด้วย

“เชื่อว่าสถานการณ์ราคาผลไม้จะมีแนวโน้มดีขึ้น คงไม่ปรับตัวสูงมากไปกว่านี้ เพราะเมื่อเกษตรกรหันมาปลูกเพิ่มมากขึ้น ผลผลิตออกมาพร้อมกัน ราคาก็จะไม่สูง ปัญหาอยู่ที่ว่าควรทำอย่างไรให้มีสินค้าขายตลอดทั้งปี สำหรับ อ.ต.ก.ใช้หลักการตลาดนำการผลิต ต้องรู้ก่อนว่าความต้องการมีเท่าไหร่ ก่อนจะผลิตสินค้าออกมาให้พอความต้องการ” ผอ.อ.ต.ก. ระบุ

ต้นเหตุทุเรียนแพง "กลไกตลาด หรือ ล้งจีนทำป่วน"

ต้นเหตุทุเรียนแพง "กลไกตลาด หรือ ล้งจีนทำป่วน"