posttoday

บทเรียนจาก "โคเรียคิง" ผู้บริโภคต้องรอบรู้

22 พฤษภาคม 2560

บทเรียนสำคัญที่สุดสำหรับกรณีนี้คือการตระหนักรู้ของผู้บริโภค และต้องไม่ให้ตัวเองตกเป็นเหยื่อ

โดย...ทีมข่าวในประเทศโพสต์ทูเดย์

วลีที่ว่า “หากคุณโทรเข้ามาภายใน 10 นาที จะได้สิทธิซื้อสินค้าในราคาพิเศษ หรือลดอีก 50% ยังไม่พอ เรายังแถมผลิตภัณฑ์ให้อีกด้วย สั่งซื้อตอนนี้เลยที่หมายเลข...”

ไดเรกต์เซลส์ หรือการขายตรงผ่านสื่อโฆษณาโทรทัศน์ไปยังทุกครัวเรือนทั่วประเทศ เพื่อดึงความสนใจของผู้คนให้ชวนซื้อสินค้าของผู้ขาย และบ่อยครั้งที่หลากสินค้าเหล่านี้ถูกอวดอ้างสรรพคุณเกินกว่าสภาพความเป็นจริง ตัวอย่างที่เห็นชัดอย่างกระทะยี่ห้อดัง “โคเรียคิง” ที่กำลังเป็นข่าวครึกโครมในขณะนี้ เมื่อไส้ในกลับพบว่าไม่ได้คุณสมบัติตามที่กล่าวอ้างในโฆษณา

ส่งผลให้คนไทยกลายเป็นเหยื่อทางการตลาดมานับไม่ถ้วน

สิทธิขั้นพื้นฐานในการตรวจสอบ และมีสิทธิที่จะเลือกซื้อหรือไม่ซื้อสินค้าใด แน่นอนว่าสิทธินั้นอยู่ในมือของคนไทยทุกคน แต่หากพลั้งพลาดขึ้นมา และเงินที่จ่ายออกไปกลับไม่สมคุณค่าอย่างที่โฆษณา หน่วยงานที่เข้ามาเกี่ยวข้องหรือตรวจสอบให้การช่วยเหลือ จะต้องมีประสิทธิภาพเพียงพอ
รวมถึงผู้บริโภคเองที่ต้องถอดบทเรียนสำคัญให้ได้ เพื่อเป็นกันชนให้กับตัวเอง

พิฆเนศ ต๊ะปวง รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครอง ผู้บริโภค (สคบ.) ให้ความเห็นว่า บทเรียนสำคัญที่สุดสำหรับกรณีนี้คือการตระหนักรู้ของผู้บริโภค และต้องไม่ให้ตัวเองตกเป็นเหยื่อหลงเชื่อการโฆษณาสินค้า เพราะหากมองในมุมของกฎหมาย สคบ.ไม่มีอำนาจเข้าไปบังคับรูปแบบการโฆษณาได้ หากผลิตภัณฑ์นั้นไม่ใช่ยา หรือสินค้าที่ต้องขออนุญาตพิเศษ

“สคบ.ปล่อยให้โฆษณาอย่างเต็มที่ แต่อย่าผิดพลาดนะ เพราะหากผิดเมื่อไหร่เราก็มีสิทธิเข้าไปจัดการได้ทันที” พิฆเนศ อธิบาย

อย่างไรก็ตาม พิฆเนศเข้าใจดีว่าหลักการโฆษณาของผู้ประกอบการ หรือเอเยนซีที่ผลิตโฆษณาออกมา จะต้องทำทุกวิถีทางและชูจุดเด่นของสินค้าให้มากถึงมากที่สุด เพื่อดึงดูดผู้บริโภคให้สนใจซื้อสินค้าให้ได้ และจะมีเพียงแค่เส้นบางๆ ที่แบ่งช่องว่างระหว่างการถูกหลอก กับสินค้าที่มีคุณภาพจริงๆดังนั้น ประชาชนต้องรอบรู้ในข้อมูล และนำมาประกอบการตัดสินใจซื้อสินค้า ซึ่งในประเด็นนี้สำคัญอย่างมาก

“ถ้าประชาชนมีความรู้มากพอ และสืบเสาะข้อมูลตามช่องทางที่หลากหลายเพื่อประกอบการตัดสินใจ ก็จะทำให้พิจารณาสินค้าได้ง่ายว่าคุ้มค่าหรือไม่ และจะเป็นกลไกทางสังคมที่สำคัญเพื่อบีบให้ผู้ประกอบการต้องผลิตสินค้าดีๆ ออกมาจำหน่ายเท่านั้น เพราะคนมีความรู้ เลือกที่จะซื้อของได้ กลไกทางกฎหมายก็ไม่จำเป็นเลย” รองเลขาฯ สคบ.ให้ความเห็น

กระนั้น แม้สังคมจะมองว่ากรณีของกระทะโคเรียคิง สคบ.ไม่ได้ตอบโจทย์การทำงานเพื่อปกป้องสิทธิของผู้บริโภคเลย หากแต่เกิดเรื่องแล้วถึงจะมีบทบาทเข้ามา เรื่องนี้พิฆเนศให้ความเห็นว่า เพราะส่วนหนึ่ง สคบ.ไม่มีอำนาจในการกำกับโฆษณาตั้งแต่ต้น แต่ก็ยังมีศูนย์เฝ้าระวังโฆษณาสินค้าอยู่ แต่มีเจ้าหน้าที่เพียง 7 คนเท่านั้น หากเทียบกับทุกช่องทางสื่อสาร ก็ต้องยอมรับว่าความผิดพลาดอาจมีหลุดรอดออกไป

“แต่ถ้าประชาชนพบเห็นสิ่งผิดปกติทางโฆษณาสินค้า ก็แจ้งมา สคบ.ได้ เราจะเข้าไปจัดการให้ทันที” พิฆเนศ ย้ำ

ขณะที่ สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ให้ความเห็นจากการยกตัวอย่างกรณีกระทะดังว่า จะเป็นบทเรียนทั้งส่วนของผู้ประกอบการ ที่ต้องโปรโมทสินค้าผ่านการโฆษณา โดยสินค้าที่กล่าวอ้างจะต้องมีคุณภาพจริงๆ ไม่เช่นนั้นจะเกิดเรื่องอย่างเคสนี้

เหนือจากนั้น สารี มองว่า ผู้บริโภคเองก็ต้องอย่าเชื่อโฆษณา โดยยึดหลักสำคัญว่าการโฆษณาไม่มีใครที่จะมาบอกความจริงเราทั้งหมด และเส้นแบ่งการเข้าข่ายว่าโฆษณานั้นจริง หรือเกินจริงหรือไม่ ก็เป็นเพียงแค่เส้นบางๆ เท่านั้น ผู้บริโภคจะต้องคิดหลายชั้นหน่อยก่อนจะตัดสินใจซื้อสินค้า

“และคนทำโฆษณาเองก็เช่นกันที่ต้องได้บทเรียนจากเรื่องนี้ เพราะศาสตร์การทำโฆษณาในทุกวันนี้ยังคงใช้จุดอ่อนของผู้บริโภคเข้ามาชูดจุดเด่นของสินค้า อย่างเช่นกรณีกระทะ ที่จี้จุดว่าคนไม่ชอบทำอาหาร แต่เห็นความง่าย จึงตัดสินใจซื้อเพราะลึกๆ ก็อยากทำกับข้าว แต่ซื้อมาแล้วสินค้ากลับไม่มีคุณภาพตามที่กล่าวในโฆษณา”สารี ให้นิยาม

ท้ายสุด สารีมองว่าผู้บริโภคไม่ใช่เหยื่อ แต่ต้องได้รับการเยียวยาอย่างเหมาะสม และเห็นควรว่าต้องช่วยเหลือผู้บริโภคจากกรณีนี้ เพื่อให้อนาคตมีการเฝ้าระวังมากขึ้น และศึกษาจากกรณีความผิดครั้งนี้ที่เกิดขึ้น โดยต้องเป็นไปตามกระบวนการเอาผิดที่จริงจังและเข้มข้น