posttoday

ดอกไม้ และ ก้อนอิฐ ผลผลิต 3 ปีคสช.

22 พฤษภาคม 2560

ครบรอบ 3 ปี หลังการรัฐประหาร วันนี้มีทั้งเสียง “ชื่นชม” และ “ต่อว่า” ใน “ผลงาน” ตลอดจนแนวนโยบายของรัฐบาล

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

ครบรอบ 3 ปี หลังการรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 กับการเข้ามาบริหารประเทศของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)​ ท่ามกลาง “ความมุ่งมั่น” และ “ความหวัง” ​และ “เป้าหมาย” ปฏิรูปประเทศในทุกด้านเพื่อพาสังคมก้าวพ้นวังวนความขัดแย้ง และเดินหน้าต่อไปได้อย่างสงบสุข

จนถึงวันนี้มีทั้งเสียง “ชื่นชม” และ “ต่อว่า” ใน “ผลงาน” ตลอดจนแนวนโยบายของรัฐบาล ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา​ ก่อนจะถึงการแถลงผลงานครบรอบ 3 ปีของรัฐบาลอย่างเป็นทางการในช่วงปลายเดือน มิ.ย. หรือต้นเดือน ก.ค.หากไล่เรียงย้อนดูผลงานที่ผ่านมาจะเห็นว่ามีเรื่องที่ถูกใจประชาชนอยู่หลายเรื่อง

ไล่มาตั้งแต่ นโยบายปราบผู้มีอิทธิพล ซึ่งถือเป็นผลงานชิ้นโบแดงในช่วงปีแรกของรัฐบาล คสช. กับการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในมือ สนธิกำลังทั้งกระทรวงกลาโหม กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เข้าไปเอกซเรย์พื้นที่ทั่วประเทศควานหาตัวผู้มีอิทธิพล ​โดยกำหนดขอบเขตไว้ 15 กลุ่ม ​อาทิ ยาเสพติด ​ฮั้วประมูลงาน ลักลอบขนสินค้าหนีภาษี น้ำมันเถื่อน ​บ่อนการพนัน หวยใต้ดิน ​ลักลอบค้าหญิงและเด็ก มือปืนรับจ้าง ​ทวงหนี้ ค้าอาวุธ ​ฯลฯ

นโยบายจัดระเบียบ รถตู้ จักรยานยนต์ ทางเท้า อีกนโยบายที่ได้รับเสียงชื่นชมกับการเข้าไปวางระเบียบคิวรถตู้ คิวรถจักรยานยนต์ทั้งในแง่การกำหนดพื้นที่ให้ถูกที่ถูกทาง ไม่กีดขวางการจราจร รวมทั้งการกำหนดค่าวินให้มีราคาเหมาะสมเป็นธรรม ที่ได้ประโยชน์ทั้งคนขับรถและผู้โดยสาร สอดรับกับนโยบายคืนบาทวิถีให้ประชาชนได้สัญจรไปมาอย่างสะดวก จัดพื้นที่ให้หาบเร่แผงลอย​ไปขายในโซนที่กำหนด ​​

นโยบายคุมราคาสลากกินแบ่งรัฐบาล ถือเป็นอีกเรื่องที่รัฐบาลซึ่งมาจากการเลือกตั้งไม่อาจคุมราคาขายให้ อยู่ในเกณฑ์ 80 บาท ได้สำเร็จ แม้รัฐบาล คสช.จะใช้เวลานานนับปี แต่สุดท้ายทั้งการตรวจจับ การปรับกลไกซื้อขาย โดยวางตัว พล.ท.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ แม่ทัพภาคที่ 1 เข้าไปสะสางขาใหญ่ในระบบ สุดท้ายก็ทำให้ราคาลอตเตอรี่ลดลงได้จริง

นโยบายเพิ่มเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุจากเดิมที่รัฐสนับสนุนจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุเดือนละ 600 ​บาท ล่าสุดรัฐบาลมีแนวคิดที่จะเพิ่มให้เป็น 1,200-1,500 บาท เพื่อรองรับกับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น และยังเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความเอาใจใส่กับสภาพสังคมผู้สูงอายุที่กำลังจะเกิดขึ้น

สอดรับกับนโยบายช่วยเหลือเยียวยาผู้มีรายได้น้อย ซึ่งล่าสุดเปิดให้ลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ รอบที่ 2 มีผู้ลงทะเบียน 12,416,211 คน ก่อนหน้านี้เคยแจกเงินให้ประชาชนรายละ 1,500 บาท และ 3,000 บาท หลังจากนี้ยังเตรียมมาตรการช่วยเหลือด้านอื่นๆ ออกมาเพิ่มเติม

ทว่าไม่ใช่มีเฉพาะนโยบายที่ถูกใจประชาชน แต่หลายนโยบายที่ออกมาก็ถูกถล่มจากสังคมอย่างรุนแรง

เริ่มตั้งแต่ การจัดซื้อเรือดำน้ำ ที่ฉุดความนิยมของรัฐบาลอย่างรุนแรง เมื่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติการจัดซื้อเรือดำน้ำจากจีน 1.3 หมื่นล้านบาท ไปแบบเงียบๆ ด้วยการอ้างชั้นความลับเพราะเป็นเรื่องของความมั่นคง ปัญหาอยู่ตรงที่รัฐบาลที่ออกตัวว่าไม่มีงบประมาณไปช่วยเหลือเยียวยาประชาชนในหลายโครงการ กลับอนุมัตินำภาษีประชาชนมาใช้จ่ายกับยุทธภัณฑ์ที่หลายฝ่ายเห็นตรงกันว่ายังไม่มีความจำเป็น

นโยบายการบังคับใช้กฎหมายเรื่องการรัดเข็มขัดนิรภัยและห้ามโดยสารกระบะ เพื่อลดอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นในช่วงสงกรานต์ แต่กลับถูกถล่มอย่างหนักเพราะกระทบวิถีชีวิตและการประกอบอาชีพของประชาชนอย่างถ้วนหน้า จนสุดท้ายรัฐบาลต้องตัดสินใจชะลอการบังคับใช้กฎหมายออกไป

นโยบายด้านเศรษฐกิจ ถือเป็นจุดอ่อนของรัฐบาลมาอย่างต่อเนื่อง แม้จะพยายามอัดฉีดเงินเข้าระบบ ผลักดันการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน แต่ก็ไม่อาจทำให้เศรษฐกิจในภาพรวมผงกหัวกลับมาอย่างที่คาดหวัง ขณะที่ปัญหาราคาสินค้าการเกษตรตกต่ำก็ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างที่เรียกร้อง จนเห็นการออกมาเคลื่อนไหวของเกษตรกรอย่างต่อเนื่องในช่วงแรก

นโยบายปราบปรามการทุจริตที่เคยเป็นเรื่องใหญ่ที่ คสช.​ประกาศเอาจริงเอาจังให้เป็นวาระแห่งชาติ แก้ปัญหาในอดีต แต่ที่ผ่านมายังไม่เห็นความคืบหน้าอย่างจริงจัง หลายกรณีมีการใช้อำนาจมาตรา 44 เข้าไปพักงานบุคคลที่เกี่ยวพันกับการทุจริตหรือให้ออกจากงาน แต่อีกหลายกรณีก็ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนให้สังคม โดยเฉพาะเรื่องที่โยงใยถึงคนใน คสช. ขณะที่มาตรการทางกฎหมายหรือกระบวนการอื่นๆ ที่ตั้งใจจะมาป้องปรามการทุจริตก็ยังไม่คืบหน้ามากนัก

นโยบาย​ควบคุมการทำงานของสื่อมวลชน ทั้งความพยายามออกกฎหมายเข้ามาจัดระเบียบด้วยการขึ้นทะเบียนสื่อมวลชนพร้อมบทกำหนดโทษ จนเกิดแรงต้านหนักทำให้ต้องถอยกลับไปตั้งหลักกันใหม่ ยังไม่รวมกับแนวคิดเรื่องการออกกฎหมายควบคุมการแสดงความคิดเห็นทางอินเทอร์เน็ต สอดรับกับการปิดกั้นการแสดงความคิดความเห็นของฝ่ายเห็นต่างรัฐบาล จนเกิดเหตุกระทบกระทั่งหลายครั้ง

ไม่เพียงแค่นโยบายที่มีทั้งคนชอบและไม่ชอบ แต่นโยบายที่ถือว่าเป็นเป้าใหญ่อย่างเรื่อง “ปฏิรูป” และ “ปรองดอง” ที่เคยประกาศให้ความสำคัญเป็นอันดับแรกนั้น จนถึงเวลานี้ผ่านมา 3 ปี กลับยังไม่มีความคืบหน้าชัดเจนอย่างที่ตั้งความหวังกันไว้

ความคืบหน้ามากที่เห็นชัดที่สุดยังเป็นการตั้งกลไกใหม่อย่างคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) เข้ามากำกับดูแลทั้งเรื่องปรองดองและปฏิรูปในช่วงโค้งสุดท้ายและจะดำเนินการต่อเนื่อง ซึ่งยังไม่อาจคาดเดาได้ว่าผลลัพธ์สุดท้ายจะออกมาอย่างไร