posttoday

กว่าถึงวันนี้ ประชารัฐเปลี่ยนชีวิต

21 พฤษภาคม 2560

"สิ่งสำคัญรัฐบาลไหนที่เข้ามา ต้องสร้างหลักประกันว่าจะยังคงอยู่ของบริษัท ประชารัฐ เช่น สัตยาบัน หรือกำหนดในยุทธศาสตร์ชาติ หากเปลี่ยนรัฐบาลแล้ว ภาคธุรกิจยังคงเกิดความมั่นใจที่จะมาร่วมเป็นภาคีในการขับเคลื่อนบริษัท ประชารัฐ ต่อไป เพื่อให้เกิดความยั่งยืน"

โดย...ปริญญา ชูเลขา, ฐายิกา จันทร์เทพ

2 ปีกับความร่วมมือ 3 ฝ่ายระหว่างภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคประชาสังคม ภายใต้รูปแบบ "บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี" บริหารจัดการในลักษณะ Social Enterprise หรือวิสาหกิจเพื่อสังคม เป็นการจับมือทำงานร่วมกันเป็นภาคีตั้งเป็น “บริษัท ประชารัฐ” ขึ้นทั้งหมด 76 จังหวัดทั่วประเทศ ในช่วงแรกๆ ของการก่อตั้งภาคธุรกิจจะเป็นพระเอก เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ลงทุนแบบไม่หวังผลตอบแทน

มาวันนี้ดำเนินงานมาแล้วครบ 2 ปี "บริษัท ประชารัฐ" จึงถูกท้าทายว่าแท้จริงแล้วจะกลายเป็น นวัตกรรมใหม่ในการสร้างเศรษฐกิจฐานรากได้จริงหรือไม่ ซึ่งในการขับเคลื่อนภาคประชาสังคม

ผู้ที่เป็นแกนนำสำคัญคือ “นพ.พลเดช ปิ่นประทีป” ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) สะท้อนผลงานที่ผ่านมาให้ฟังว่า บริษัท ประชารัฐ คือนวัตกรรมใหม่ที่จะสร้างโอกาสและเครื่องมือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานรากของประเทศได้จริง เพราะนี่คือการก่อตัวใหม่ของนวัตกรรมที่เป็นกลไกสนับสนุนเศรษฐกิจฐานราก เป็นกลไกที่เป็นสะพานเชื่อมระหว่างเศรษฐกิจมหภาคกับเศรษฐกิจของชุมชน

นพ.พลเดช เป็นหนึ่งในกรรมการกลุ่ม E3 หรือคณะกรรมการเศรษฐกิจฐานรากและประชารัฐ ด้านเกษตร ผลิตภัณฑ์แปรรูป และการท่องเที่ยวชุมชน โดยมี ฐาปน สิริวัฒนภักดี บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ หัวหน้าฝ่ายเอกชน

ขณะที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย เป็นประธานฝ่ายรัฐ และมี นพ.พลเดช เป็นประธานฝ่ายภาคประชาสังคม ในการทำงานที่ผ่านมา เกิดการพูดคุย ประชุม แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันจนตกผลึกออกมา บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีประเทศไทย 1+ บริษัท ประชารัฐ 76 จังหวัด

ผลสำเร็จที่เห็นผลเป็นรูปธรรมชิ้นแรก คือธุรกิจท้องถิ่นต่างๆ ตอนนี้สนใจเข้ามาร่วมกับบริษัท ประชารัฐ จำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเห็นคุณค่าของการทำธุรกิจเพื่อสังคมที่ได้ทั้งกำไรและดูแลสังคมด้วย ที่สำคัญยังได้รับการยกเว้นภาษีด้วย 

ที่ผ่านมา 2 ปี จำนวน 76 จังหวัด เกิดการรวมกลุ่มแล้ว 1,782 กลุ่ม สามารถเพิ่มรายได้โดยรวมคิดเป็นมูลค่า 358 ล้านบาท/เดือน โดยในจำนวนนี้มีประชาชนที่ได้รับประโยชน์ 5 หมื่นคน หรือคิดเป็น 1.3 หมื่นครัวเรือน ร่วมกันทำโครงการรวม 201 โครงการ แบ่งเป็นกลุ่มเกษตร 61 โครงการ การแปรรูปผลิตภัณฑ์ 81 โครงการ และ การท่องเที่ยวชุมชน 59 โครงการ ทั้งหมดล้วนเป็นธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี)

จังหวัดตัวอย่างที่อยากนำเสนอถึงความสำเร็จ ล่าสุด จ.นราธิวาส ประสบความสำเร็จอย่างมาก แม้ในตอนเริ่มโครงการแรกๆ จะเกิดปัญหาความมั่นคงกับเหตุการณ์ไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จึงทำให้เกิดการรวมตัวกันยากมากๆ ดังนั้นจึงต้องขอแรงบริษัทยักษ์ใหญ่ให้เข้ามาช่วยเหลือ จนวันนี้เกิดและแข็งแรงได้ด้วยตัวเอง

เช่น ผลไม้พื้นเมืองอันลือชื่อ “ลองกอง” ที่ อ.ระแงะ ข้าวท้องถิ่นที่ อ.ตากใบ หรือการแปรรูปผลิตภัณฑ์จักสานจากกระจูดที่ อ.ตากใบ ข้าวเกรียบปลากือโป๊ะ และผ้าบาติก เป็นต้น ซึ่งได้รับการสนับสนุนให้นำไปจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ เช่น บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ หรือเทสโก้ โลตัส สำหรับการท่องเที่ยวชุมชนที่ อ.สุคิริน หรือที่ อ.ระแงะ เป็นต้น ได้รับการสนับสนุน สร้างรายได้จำนวนมากแก่ชาวบ้านและนักธุรกิจท้องถิ่น สิ่งสำคัญหากไม่มีความร่วมมือแบบประชารัฐ คงไม่ใช่เรื่องง่ายที่ชาวบ้านจะสามารถนำสินค้าตัวเองไปขายในห้างสรรพสินค้าได้

“ประเด็นสำคัญที่อย่ามองข้าม เพราะผลสำเร็จไม่ได้ขึ้นกับรัฐบาล แม้จะเปลี่ยนรัฐบาลใหม่ไปแล้ว เรายังมีบริษัทที่จดทะเบียนที่ทำงานต่อ คือบริษัททั้งหมด 76 จังหวัด เพราะคนท้องถิ่นถือหุ้นและดำเนินการด้วยตัวเอง ภาครัฐเข้าไปหนุนเท่านั้น เพราะเอาเข้าจริงๆ ถ้าปล่อยให้ภาครัฐทำคงไม่มีน้ำยาใดๆ เลย แต่ตอนนี้เกิดการก่อตัวใหม่ของความร่วมมือภาคธุรกิจกับภาคประชาสังคม”

กว่าถึงวันนี้ ประชารัฐเปลี่ยนชีวิต

นพ.พลเดช กล่าวว่า การขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากในช่วง 2 ปี มีปัจจัยที่จะทำให้เกิดความยั่งยืน คือความสามารถของภาคประชาสังคม หรือบริษัท ประชารัฐ ในแต่ละจังหวัด ที่จะมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้ามาร่วมกันลงทุน รวมถึงความเชื่อมโยงระหว่างจังหวัด พูดง่ายๆ ว่าเป็นการทำโดยภาคธุรกิจนำ ไม่ใช่ภาคราชการนำเหมือนในอดีต เป็นการเปลี่ยนความคิดในการสร้างความเข้มแข็งชุมชนครั้งสำคัญ โดยให้ “ชุมชนลงมือทำ เอกชนขับเคลื่อน และภาครัฐสนับสนุน” เพราะทราบดีว่าภาคเอกชนมีความเป็นมืออาชีพสูงในการทำธุรกิจ การค้าการลงทุน เก่งด้านวิเคราะห์มอนิเตอร์ข้อมูลตลอดเวลา แต่ถ้าเป็นภาครัฐทำข้าราชการจะบอกแต่สิ่งดีๆ หมดเลย ไม่บอกว่าเกิดอุปสรรคหรือจุดอ่อนตรงไหนบ้างที่ควรปรับปรุงแก้ไข

นพ.พลเดช กล่าวย้ำว่า บริษัท ประชารัฐ ไม่ได้เป็นบริษัทค้าขายเอง แต่เป็น “ตัวเชื่อม” และ “ที่ปรึกษา” ให้ชาวบ้านได้ขายสินค้าให้กับตลาด หรือห้างซูเปอร์สโตร์เหล่านี้ โดยสินค้าของชาวบ้านที่มีโอกาสเข้าไปขายได้ต้องมีความเข้มแข็งพอสมควร กล่าวคือ ต้องเป็นสินค้าที่ขายได้เป็นความต้องการของตลาด มีความคิดสร้างสรรค์ โดยภาคธุรกิจเป็นฝ่ายให้คำปรึกษา เช่น ผลไม้ตามฤดูกาล บริษัท ประชารัฐ ได้ทำให้เกิดการเจรจากัน การตกลงประโยชน์ร่วมกัน ด้านการตั้งราคาขายกันด้วยความเห็นอกเห็นใจระหว่างชาวบ้านกับภาคธุรกิจ แต่ถ้าไม่มีบริษัทกลาง คือ บริษัท ประชารัฐ ชาวบ้านจะเอาของอะไรไปขายในห้างเหล่านี้ได้ ถ้าเข้าไปได้ก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูงมาก

เช่น ที่ จ.เชียงใหม่ ปกติเกษตรกรขายลำไยได้กิโลกรัมละ 18 บาท แต่พอบริษัท ประชารัฐ เข้ามาเป็นตัวเชื่อมและที่ปรึกษา ไปตกลงกับห้างต่างๆ ตกลงขายกันได้ในราคา 38 บาท/กิโลกรัม นี่คือผลดีของบริษัท ประชารัฐ ทั้งยังให้คำปรึกษาดีๆ ด้วย เช่น วิธีแพ็กเกจจิ้ง การรักษาผลผลิต ระบบขนส่ง และการแบ่งปันผลกำไร ที่สำคัญรายได้เพิ่มที่เพิ่มขึ้นของภาคธุรกิจจะแบ่งส่วนหนึ่งมาสนับสนุนให้บริษัท ประชารัฐ จ้างโครงการคนรักบ้านเกิด จะได้มีรายรับมาหล่อเลี้ยง คนทำงานบริหารบริษัทให้กับภาคประชาสังคม และอีกส่วนหนึ่งมาช่วยขับเคลื่อนดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย

นพ.พลเดช กล่าวว่า เป้าหมายสำคัญของบริษัท ประชารัฐ คือจะเก็บข้อมูลต่างๆ ไว้หมด พร้อมกับลงพื้นที่โดยนำโครงการรักบ้านเกิดจังหวัดละคน อบรมให้เยาวชนคนรุ่นใหม่เข้ามาเป็นพนักงานประจำจังหวัด ซึ่งการบริหารจัดการส่วนใหญ่เป็นคนจากภาคประชาสังคมกับนักธุรกิจจังหวัด ส่วนใหญ่จะเป็นนักธุรกิจเพื่อสังคม ที่ใส่ใจสังคม สนใจสิ่งแวดล้อม มีการปลูกฝัง รวมกลุ่มกันนับพันๆ คน กลายเป็นแกนนำในการขับเคลื่อนบริษัท ประชารัฐ โดยการนำข้อดีของภาคธุรกิจที่ประสบผลสำเร็จจากการค้าขาย แต่เป็นการค้าขายแบบไม่ใช่การแข่งขันเอาเป็นเอาตาย ขณะที่ภาคประชาสังคมจะเก่งเรื่องเครือข่าย และเรื่องธรรมาภิบาลการดูแลชุมชนและสิ่งแวดล้อมมาประกอบการทำงานร่วมกัน

“ในอนาคต บริษัท ประชารัฐ คือนวัตกรรมใหม่ทางสังคมในการสร้างความเข้มแข็งจากด้านล่าง แต่สิ่งสำคัญรัฐบาลไหนที่เข้ามา ต้องสร้างหลักประกันว่าจะยังคงอยู่ของบริษัท ประชารัฐ เช่น สัตยาบัน หรือกำหนดในยุทธศาสตร์ชาติ หากเปลี่ยนรัฐบาลแล้วภาคธุรกิจยังคงเกิดความมั่นใจที่จะมาร่วมเป็นภาคีในการขับเคลื่อนบริษัท ประชารัฐ ต่อไป เพื่อให้เกิดความยั่งยืนอย่างแท้จริง”