posttoday

ยัดเครื่องเอกซเรย์ฟัน ใส่กม.นิวเคลียร์ "คนไข้เดือดร้อน ลดมาตรฐานหมอไทย"

15 พฤษภาคม 2560

หาคำตอบหากบรรจุให้เครื่องเอกซเรย์ฟันอยู่ภายใต้การควบคุมของ สนง.ปรมาณูฯจะสร้างผลกระทบจะเป็นอย่างไร

โดย…วิรวินท์ ศรีโหมด

หลังจาก พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ พ.ศ. 2559 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมา ขณะนี้อยู่ขั้นตอนร่างกฎหมายลูกประกอบ ก็ถูกเครือข่ายทันตแพทย์เดินหน้าคัดค้าน โดยมองว่ารายละเอียดของกฎหมาย ที่กำหนดให้เครื่องเอกซเรย์ฟัน ต้องอยู่ในการควบคุมของสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) จากเดิมที่ให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ดูแลอาจทำให้เกิดปัญหาขึ้น

คำถามคือ หากบรรจุให้เครื่องเอกซเรย์ฟัน อยู่ภายใต้การควบคุมของ สนง.ปรมาณูฯ ผลกระทบจะเป็นอย่างไร

กฎหมายนิวเคลียร์ ฉุดรั้งวงการแพทย์ไทย

ทพ.อาคม สรรเสริญชูโชติ สมาชิกกลุ่มทันตแพทย์อาสา ระบุว่า การใช้อุปกรณ์เครื่องเอกซเรย์ฟันที่ผ่านมา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ติดตามตรวจสอบอยู่เป็นประจำเพื่อให้เครื่องมือได้มาตรฐาน รวมถึงการปฏิบัติงานก็อยู่ในการดูแลของทันตแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง

หากมีการกำหนดให้เครื่องเอกซเรย์ฟันต้องอยู่ภายใต้กฎหมายฉบับนี้ จะเป็นการทำให้ทันตแพทย์ตามคลินิกไม่กล้าใช้เครื่องเอกซเรย์ฟัน ส่งผลให้ประชาชนได้รับผลกระทบเพราะจะหาสถานบริการทันตกรรมยากมากขึ้น เมื่อเป็นเช่นนั้น เชื่อว่าจะทำให้มาตรฐานการแพทย์ไทยจากที่อยู่อันดับต้นๆ ของโลกตกลงมา และการที่รัฐบาลพยายามผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ หรือ เมดิคัลฮับ คงไปไม่ถึงอย่างแน่นอน

ทพญ.วรรัตน์ มโนวิทวัส เจ้าของคลินิก ชยาพรรณ ทันตกรรม ผู้ได้รับผลกระทบจากกฎหมายนี้ เปิดเผยว่า หลังจากพ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์ฯ ประกาศใช้ กระทรวงสาธาณสุขได้สั่งห้ามใช้เครื่องเอกซเรย์ฟัน จนกว่าจะได้รับการอนุญาตจากสำนักงานปรมาณูฯ เท่ากับว่าทำให้แพทย์ตกอยู่ภายใต้กฎหมายอาญา จึงขอเรียกร้องให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง นำกฎหมายฉบับนี้ออกจาก ปส. และกลับมาให้กรมวิทยาศาสตร์ฯ ดูแลเช่นเดิม

ยัดเครื่องเอกซเรย์ฟัน ใส่กม.นิวเคลียร์ "คนไข้เดือดร้อน ลดมาตรฐานหมอไทย" ทพ.อาคม สรรเสริญชูโชติ

คลินิก 6 พันแห่งเตรียมเจ๊ง

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ เลขาธิการทันตแพทยสภา เปิดเผยว่า ปัจจุบันเครื่องเอกซเรย์ที่ทันตแพทย์ใช้อยู่มี 2 แบบหลักๆ คือ เครื่องตรวจในช่องปากขนาดเล็ก เน้นการตรวจภายในว่า มีฟันหักภายในเหงือกและฟันผุหรือไม่ เพราะการตรวจช่องปากบางครั้งไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ส่วนเครื่องขนาดใหญ่ใช้ตรวจภาพรวมช่องปาก ทำให้เครื่องนี้มีความสำคัญมาก

ขณะที่ปริมาณการใช้รังสีจะอยู่ในระดับต่ำสุด ของเครื่องเอกซเรย์ที่ใช้ในวงการแพทย์ทั่วไป เฉลี่ย 0.008 - 0.014 มิลลิซีเวิร์ต หากเทียบกับการเอกซเรย์ทั้งร่างกายต้องใช้ 10.6 มิลลิซีเวิร์ต แต่ยังไม่ถึงระดับที่เป็นอันตรายต่อร่างกายอยู่ที่ 20 มิลลิซีเวิร์ต 

สำหรับขั้นตอนการควบคุมเครื่อง จะมีมาตรการตรวจสอบตั้งแต่นำเข้า จนถึงการนำไปทำลายทิ้ง โดยเมื่อเข้ามาสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จะทำหน้าที่ตรวจสอบมาตรฐานเครื่อง จากนั้นเมื่อนำไปใช้ตามโรงพยาบาล คลินิกทันตกรรม กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะเป็นผู้รับจดแจ้ง ติดตามตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัย ส่วนระดับประชาชนทันตแพทยสภาจะคอยตรวจสอบแพทย์ที่ให้บริการ และก่อนจำหน่ายทิ้ง กรมควบคุมมลพิษจะเป็นผู้ดูแลอีกครั้ง

“เครื่องเอกซเรย์ฟันเป็นอุปกรณ์หลักที่ทันตแพทย์ใช้มานาน ตั้งแต่มีทันตแพทย์ในไทย การนำกฎหมายดังกล่าวมาควบคุม เชื่อว่าจะทำให้คลินิกทันตกรรมทั่วประเทศกว่า 6,000 แห่ง บางส่วนต้องเลิกไป หากมีการควบคุมเข้มงวด ผลกระทบจะตกกับประชาชนผู้ใช้บริการอย่างแน่นอน จึงขอให้รัฐบาลแก้ไขเรื่องนี้”

รศ.ทพ.สุนทรา พันธ์มีเกียรติ หัวหน้าภาควิชารังสีวิทยา คณะทันตแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยืนยันว่า ระบบการทำงานของทันตแพทย์ ปฏิบัติตามหลักสากลของทบวงการพลังงานระหว่างประเทศ หรือ อีไอเอ ที่มี 3 อย่าง คือ 1.การใช้เครื่องแต่ละครั้งแพทย์จะพิจารณา โดยคำนึงว่าผู้ป่วยต้องได้รับประโยชน์มากกว่าผลเสีย 2.ควรใช้ปริมาณรังสีน้อยที่สุด แต่ต้องได้ข้อมูลทางการรักษาครบถ้วน 3.คำนึงถึงความปลอดภัยผู้ปฏิบัติงาน และคนที่อยู่บริเวณโดยรอบ

“การปฏิบัติงานเราอิงตามหลักสากล และการเรียนการสอนทันตแพทย์ ก็เน้นเรื่อความปลอดภัยทั้งกับผู้ป่วย ผู้ปฎิบัติงาน และคนที่อยู่รอบข้างเป็นสำคัญ”

ยัดเครื่องเอกซเรย์ฟัน ใส่กม.นิวเคลียร์ "คนไข้เดือดร้อน ลดมาตรฐานหมอไทย"

 

ยัดเครื่องเอกซเรย์ฟัน ใส่กม.นิวเคลียร์ "คนไข้เดือดร้อน ลดมาตรฐานหมอไทย"

ขอให้ทบทวน กลับมาที่กระทรวงสาธารณสุข

ทพ.ไพศาล กังวลกิจ นายกทันตแพทยสภา กล่าวว่า การตรวจสอบคุณภาพเครื่องเอกซเรย์ฟันในปัจจุบันเป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพ การจะนำกฎหมายที่เข้มงวดมาควบคุมเหมือนสารกัมมันตรังสี หรือสารนิวเคลียร์ จะทำให้การใช้งานของทันตแพทย์ลำบากมากขึ้น ซึ่งจะมีผลกระทบในแง่ลบตามมา

“ถ้าหากพ.ร.บ.ฉบับนี้เริ่มใช้จริงเหมือนนิวเคลียร์ โดยบังคับให้ต้องมีเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยประจำอยู่ตลอดเวลา ซึ่งไม่สอดคล้องกับการปฏิบัติ ผลที่ตามมาจะทำให้ทันตแพทย์ตามคลินิกส่วนใหญ่ ไม่กล้าใช้เครื่อง ผลกระทบจะตกอยู่ที่ประชาชน จะไม่ได้รับความสะดวก เพราะแม้แต่ในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร เยอรมนี เกาหลีใต้ มาเลเซีย ยังไม่ใช้กฎหมายนิวเคลียร์เข้ามาควบคุมกฎหมายทางการแพทย์ แต่ให้หน่วยงานสาธารณสุขดูแลกันเอง”

ทพ.ไพศาล ทิ้งท้ายว่า  ทันตแพทยสภาขอเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจนำข้อกำหนดเรื่องเครื่องเอกซเรย์ฟันออกจากกฎหมายนิวเคลียร์ฉบับดังกล่าว และให้ออกเป็นกฎกระทรวง โดยอยู่ภายใต้การดูแลของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขเหมือนเดิม

ยัดเครื่องเอกซเรย์ฟัน ใส่กม.นิวเคลียร์ "คนไข้เดือดร้อน ลดมาตรฐานหมอไทย"

ยัดเครื่องเอกซเรย์ฟัน ใส่กม.นิวเคลียร์ "คนไข้เดือดร้อน ลดมาตรฐานหมอไทย"

 

ยัดเครื่องเอกซเรย์ฟัน ใส่กม.นิวเคลียร์ "คนไข้เดือดร้อน ลดมาตรฐานหมอไทย"