posttoday

ตลท.ชวนเครือข่ายหนุนผาปัง เป็นSEครบเครื่อง

11 พฤษภาคม 2560

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ทำหน้าที่เป็นตัวกลางส่งเสริมให้เกิดเครือข่ายและสนับสนุนให้มีวิสาหกิจหรือธุรกิจเพื่อสังคม (SE) มีความเข้มแข็ง

โดย...บงกชรัตน์ สร้อยทอง

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ทำหน้าที่เป็นตัวกลางส่งเสริมให้เกิดเครือข่ายและสนับสนุนให้มีวิสาหกิจหรือธุรกิจเพื่อสังคม (SE) มีความเข้มแข็ง ล่าสุดได้รับความร่วมมือกับผู้บริหารบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ไปดูงานที่ ต.ผาปัง จ.ลำปาง เพื่อไปฟังและรับรู้เรื่องราวโดยตรงจากชาวบ้านว่าจะสามารถนำสิ่งที่ชาวผาปังมีมาต่อยอดกับ บจ.ได้อย่างไร

“รังสฤษฏ์ คุณชัยมัง” ประธานที่ปรึกษามูลนิธิผาปัง เล่าว่า ชาวผาปังถือเป็นชุมชนที่เข้มแข็งมาก คนหลายรุ่นหนีอพยพกันออกจากนอกพื้นที่ไป เพราะเป็นพื้นที่แห้งแล้งมาก แต่สุดท้ายเริ่มกลับมาร่วมมือร่วมใจกันจนปี 2547 จัดตั้งเป็นมูลนิธิผาปังมีกลุ่มสร้างอาชีพร่วมกัน ลองผิดลองถูก และต่อมาจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนขึ้นในปี 2553 พร้อมกำหนดแผนพัฒนาชุมชนแบบระยะยาว 20 ปี เพื่อตั้งเป้าหมายเพื่อให้ทุกคนร่วมด้วยช่วยกันไปสู่ฝั่งฝัน ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับความร่วมมือจากคนเกษียณอายุราชการที่กลับมาอยู่บ้านเกิด

ผาปังมีประชากรส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุถึง 41% จากจำนวนประชากรทั้งหมด 1,104 คน แต่การร่วมพัฒนายังไม่หยุด ปัจจุบันมีวิสาหกิจชุมชนที่ตั้งขึ้นมาแล้ว 13 แห่ง และอยู่ระหว่างการปรับปรุงพัฒนาอีก 5 แห่ง กลุ่มที่สามารถเลี้ยงตัวได้ เช่น กลุ่มผลิตภัณฑ์จากกล้วยตาก กลุ่มทำครัว กลุ่มข้าวกล้อง กลุ่มโฮมสเตย์ รายได้เฉลี่ยสามารถปรับขึ้นมาอยู่ที่ 8 หมื่นบาท/คน/ปี จากเดิมอยู่ที่ 1 หมื่นบาท/คน/ปี

ตลท.ได้เข้ามาช่วย 2 ด้านหลักคือ การนำผู้บริหาร บจ.ที่เป็นผู้ตัดสินใจโดยตรงมาเรียนรู้เรื่องกระบวนการผลิตถ่านจากต้นไผ่ในอุณหภูมิที่แตกต่างกันเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ที่แตกต่างกัน ทั้งการผลิตเชื้อเพลิงสะอาด การกรองน้ำหรืออากาศ ผลิตเป็นไบโอแพ็ก (ภาชนะจากไผ่) เสื้อจากใยไผ่ ถ่านชาร์โคลที่ผลิตจากที่นี่เพิ่งได้ใบรับรองจากองค์การเภสัชกรรมในการส่งส่วนประกอบของเครื่องเวชสำอางและยาได้ ซึ่งส่วนนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาและขอกู้เงินจากธนาคารเพื่อการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.หรือธนาคารเอสเอ็มอี) เพื่อนำมาสร้างโรงงาน และผู้สนใจจากข้างนอกที่สนใจมาร่วมลงทุน ผาปังมี “นวัตกรรม” ที่ใช้ประโยชน์จากไผ่ได้ทั้งหมดจนแทบจะไม่เหลือเป็นเศษขยะหรือขี้เถ้า แต่ชาวบ้านชุมชนผาปังต้องเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่

“เกศรา มัญชุศรี” กรรมการและผู้จัดการ ตลท. ให้มุมมองว่า ผาปังมีความโดดเด่นเรื่อง “คน” และ “นวัตกรรม” ที่นำวิทยาศาสตร์มาใช้กับสภาพแวดล้อมและภูมิปัญญาท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี ตลท.ทำหน้าที่เป็นคนกลางให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องได้มาเจอกัน เพราะไม่ได้มีนโยบายที่ทุกเรื่องต้องลงทุนเอง เมื่อเขาได้เจอกันอาจเกิดเป็นการติดต่อในการรับคำสั่งซื้อ (ออร์เดอร์) และเกิดการผลิตสินค้าให้กับ บจ.ตามมา หรือจะนำสินค้าจากถ่านไผ่ในอุณหภูมิที่เหมาะสมไปใช้ในสายการผลิตหรือเป็นวัตถุดิบของ บจ.ได้ ซึ่งโอกาสเกิดขึ้นได้ จากนั้นเขาก็จะติดต่อกันเอง อย่างบริษัท ทีพีบีไอ ที่เอาสเปกถ่านจากกะลาที่กรองอากาศในระบบการผลิตที่โรงงานจริงมาเทียบเคียงกับถ่านจากไม้ไผ่ พบว่าถ่านไผ่สะอาดกว่า

อีกหนึ่งวิสาหกิจที่สำคัญคือ การปรับพื้นที่ป่าไผ่ซางนวลทำเป็นการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ โดยให้ SE ที่มีประสบการณ์ที่แข็งแกร่ง Local Alike มาช่วยปรับพื้นที่และวางแผนการท่องเที่ยวเชิงนิเวศให้ชาวผาปังที่เป็น SE เพิ่งเริ่มต้นด้านท่องเที่ยว ซึ่งจะมีนักท่องเที่ยวกลุ่มแรกวันที่ 10-11 พ.ค.นี้ก่อน 8 คน ก่อนที่จะมีการเปิดพื้นที่ป่าไผ่เป็นการท่องเที่ยวเชิงวิถีชุมชนในถนนป่าไผ่อย่างเป็นทางการในเดือน ก.ค.นี้

ระหว่างนี้ชาวผาปังจะช่วยกันปรับพื้นที่ปรับแต่งต้นไผ่ให้เหมาะกับการท่องเที่ยวทั้งปั่นจักรยานเยี่ยมชมวิถีชีวิตแบบชาวผาปังแท้ที่เปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาล เช่น เดือน มิ.ย. เห็ดจะออกมาก มีอึ่งและแย้ที่ขึ้นมาจากการจำศีล เก็บผักสมุนไพรจากป่าแล้วใช้ไม้ไผ่ในการหุงหาอาหาร ตั้งแคมป์บริเวณสวนไผ่ทะลุท้องนาที่เขียวขจี รวมถึงเรียนรู้วิธีและวิชาต่างๆ จากกลุ่มผู้สูงอายุในหมู่บ้าน เช่น การทำหลังคาจากใบตองตึง การสานตะกร้าไผ่ และเบื้องต้นน่าจะเกิดความร่วมมือต่อจากบริษัท การบินกรุงเทพ (BA) ที่มีแนวคิดจะมาสร้างฝายชะลอน้ำเพื่อให้ป่าไผ่ชุ่มชื้นตลอดทั้งปี