posttoday

"จ่ายแสนได้ศูนย์" ชำแหละขบวนการหลอกทำงานต่างประเทศ

09 พฤษภาคม 2560

เจาะลึกพฤติกรรมของมิจฉาชีพหลอกลวงแรงงานไปทำงานต่างประเทศจากปากผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ และคำเตือนจากกรมการจัดหางาน

โดย...วิรวินท์ ศรีโหมด

ปี พ.ศ. 2533-2534 สถานการณ์หลอกแรงงานไปทำงานยังต่างประเทศ ที่เข้าร้องทุกข์กับกรมการจัดหางานมีมากถึง 9,000 คน สร้างความเสียหายกว่า 500-600 ล้านบาท และมาปี 2558 ตัวเลขลดลงเหลือราว 1,000 คน ปี 2559 เหลือ 500 กว่าคน กระทั่งล่าสุดในปี 2560 มีผู้โดนหลอกแล้ว 349 คน สร้างความเสียหายหลายสิบล้านบาท

คำถามก็คือ ในวันที่โลกเต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสารและความรู้ เหตุใดยังมีผู้ตกเป็นเหยื่อหลงเหลืออาชญากรประเภทนี้อยู่?  

กลเม็ดเนียนๆ หลอกเหยื่อยุคปัจจุบัน

“ค่าตอบแทน 7 หมื่นถึง 1 แสนบาทต่อเดือน เป็นแรงจูงใจ ประกอบกับคิดว่าเคยไปมาแล้ว จึงไม่ได้ตรวจสอบให้ดี หลงเชื่อกลุ่มนายหน้า คิดเพียงว่าขอให้ได้ไปเท่านั้นพอ” เสียงจาก ดวงกมล ศรีจุมพล หรือ ขาว อายุ 41 ปี ชาวขอนแก่น ที่ยอมทิ้งอาชีพร้านอาหารตามสั่งย่านพระราม 9 หวังออกเดินทางไปหาโอกาสทองข้างหน้า เล่าด้วยความรู้สึกเสียใจและเสียดายจากการถูกกลุ่มนายหน้าหลอกพาไปทำงานต่างประเทศ

ดวงกมล เล่าว่า จุดเริ่มต้นที่อยากเดินทางไปทำงานต่างประเทศ เกิดจากคำชักชวนของน้อง จึงเข้าไปดูรายละเอียดข้อมูลในเฟซบุ๊ก ประกอบกับเคยไปทำงานที่ประเทศไต้หวัน ในโรงงานอิเล็กทรอนิกส์มาแล้ว จึงไม่ได้ตรวจสอบอะไรมากมาย

จากนั้นได้ติดต่อไปยังบริษัทที่มีการกล่าวอ้างในเฟซบุ๊ก มีการแนะนำงานและประเทศที่สามารถเดินทางไปทำงานได้ อาทิ เยอรมนี แคนาดา ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ ฮ่องกง โดยลักษณะทางทำงาน หากเป็นประเทศในแถบเอเชียจะเป็นงานในโรงงานอุตสาหกรรม หากเป็นประเทศในแถบยุโรปจะเป็นงานทางด้านการเกษตร เช่น ฟาร์มผัก ฟาร์มเห็ดหรือฟาร์มผลไม้

ดวงกมล เล่าว่า เมื่อหาข้อมูลเรียบร้อยแล้ว ได้สอบถามไปยังนายหน้าว่าเป็นบริษัทที่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ได้รับคำตอบว่า "บริษัทผ่านการรับรองจากกระทรวงแรงงาน" และพยายามพูดการันตียกยอตัวเองว่า เป็นคนที่มีสถานะน่าเชื่อถือ เรียนกฎหมาย และคงไม่กล้าเอาอาชีพมาเสี่ยงให้ตัวเองเดือดร้อน

สำหรับวิธีการดำเนินงานของมิจฉาชีพกลุ่มนี้ จะเริ่มตั้งแต่ มีการสอนภาษา เพื่อใช้ตอบคำถามจากตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) ประเทศปลายทาง โดยคำศัพท์ที่สอน เช่น มาจากไหน ไปทำอะไร ทำไมถึงอยากเข้าประเทศ จากนั้นจะให้ไปตรวจสุขภาพยังโรงพยาบาลที่ผู้ประสงค์เดินทางไปต่างประเทศนิยมไปตรวจ ซึ่งจะแบ่งระหว่างโรงพยาบาลสำหรับเดินทางไปยุโรปกับเอเชียเพื่อความน่าเชื่อถือ ตรงนี้ทำให้ยิ่งเชื่อมากขึ้น ส่วนค่าตรวจนั้นต้องจ่ายเองราคาประมาณ 5,000 บาท

ขั้นตอนต่อไปกลุ่มคนดังกล่าวจะให้เหยื่อไปขอเอกสารรับรองประวัติอาชญากรรมจากทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) โดยแจ้งว่าต้องใช้ยื่นขอวีซ่ากับสถานทูต จากนั้นรอประมาณ 2 สัปดาห์เพื่อเรียกไปสอบสัมภาษณ์วีซ่า โดยพาไปพบกับชาวต่างชาติ อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่สถานทูตมาอำนวยความสะดวกนอกสถานที่

เหยื่อรายนี้ บอกต่อว่า มิจฉาชีพจะนัดทุกคนที่เดินทางให้ไปเจอกันที่ห้องประชุมบนอาคารสำนักงานเช่า ย่านสุขุมวิท ภายในอาคารดังกล่าวมีสำนักงานสถานทูตอื่นๆ อยู่จริง เพื่อเป็นการสร้างความน่าเชื่อถือ เมื่อไปถึงจะให้สัมภาษณ์กับชาวต่างชาติที่อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่สถานทูต เมื่อสัมภาษณ์ครบทุกคน จะให้คำตอบว่า “ผ่านหมด”

หลังวันสัมภาษณ์ประมาณ 1-2 เดือน คนร้ายจะแจ้งให้ไปรับวีซ่า บริเวณสถานทูตประเทศปลายทางที่จะเดินทาง เมื่อทุกคนไปถึงจะได้รับแจกกระดาษขนาดเอ 4  มีเพียงข้อความและตราประทับซึ่งเหมือนกันหมดทุกคน แตกต่างเพียงรูปที่ติด ซึ่งหากใครไม่มีประสบการณ์ก็มักไม่เอะใจและหลงเชื่อ

“ตอนแรกยอมรับว่าไม่แปลกใจ แต่หลังจากกลับมาถึงบ้าน นำเอกสารเก่าที่เคยใช้เดินทางมาเปรียบเทียบ สังเกตว่าตราประทับและรูปแบบไม่เหมือนกัน จึงติดต่อกลับไปยังกลุ่มนายหน้าก็ไม่เปิดเครื่อง และโทรไม่ติดตั้งแต่นั้นมา รู้แล้วว่าต้องถูกหลอก เลยรีบติดต่อสอบถามเพื่อนๆ ที่ตั้งใจเดินทางไปด้วยกัน ทราบว่าทุกคนถูกหลอกเช่นกัน จึงรวมตัวกันไปร้องเรียนกับกรมการจัดหางาน และแจ้งความต่อกองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ (ปคม.) หลังจากนั้นก็ทราบว่าบุคคลในขบวนการจากทั้งหมด 8 คน โดย 2 คน มีหมายจับอยู่แล้ว”

ดวงกมล เปิดเผยว่า ความเสียหายจากขบวนการดังกล่าว ส่วนตัวเสียหายประมาณ 6 หมื่นบาท แบ่งเป็นค่าดำเนินการเรื่องเอกสาร 5.5 หมื่นบาท ค่าตรวจโรค 5 พันบาท และค่าทำประวัติอาชญากรรม 1.5 พันบาท หากประเมินจากผู้เสียหายรายอื่นที่เดินทางมาจากภาคอีสานและภาคเหนือทั้งหมด เฉลี่ยอยู่ที่คนละ 4 หมื่น ถึง หนึ่งแสนบาทต่อคน  

"เจ็บใจมากที่ถูกหลอกในยุคนี้ ถ้าเป็นเมื่อก่อนไม่มีสื่อให้ความรู้ ก็ไม่แปลกที่จะมีการหลอกลวงเป็นประจำ แต่ปัจจุบันมีสื่อมากมาย กลับยังถูกหลอก รู้สึกเสียใจ อยากให้เจ้าหน้าที่ตำรวจติดตามจับกุมขบวนการนี้มาลงโทษให้ได้ และอยากเตือนสังคมว่าเหตุการณ์นี้โทษงานไม่ได้ มันอยู่ที่เรา ขอให้ผู้ที่อยากเดินทางไปทำงานต่างประเทศระมัดระวัง ควรตรวจสอบว่าบริษัทที่จะไปด้วยถูกกฎหมายหรือไม่ ก่อนโอนเงิน อย่าเพียงขอว่าให้ได้ไปก็พอ"ดวงกมล กล่าว

 

"จ่ายแสนได้ศูนย์" ชำแหละขบวนการหลอกทำงานต่างประเทศ

 

 

เคยไป ก็พลาดได้ หากไม่ตรวจสอบ

กอล์ฟ อายุ 41 ปี พ่อค้าขายอาหารที่จ.อุดรธานี หนึ่งในเหยื่อขบวนการนี้ เล่าว่า จุดเริ่มต้นการหางานต่างประเทศคล้ายกับทุกคนคือไปค้นหาในเว็บไซต์กูเกิล พิมพ์คำว่าหางานต่างประเทศ จะมีเว็บไซต์หรือเฟซบุ๊กขึ้นมาให้เลือกจำนวนมาก เมื่อคลิกเข้าไปก็จะพบรายละเอียดงาน ค่าใช้จ่าย รูปภาพการทำงานจำนวนมาก  

เมื่อกรอกข้อมูลเบื้องต้นและเบอร์โทรศัพท์ทิ้งไว้ไม่เกิน 1 สัปดาห์ จะมีการติดต่อกลับมาโดยใช้เบอร์โทรศัพท์มือถือ เพื่อมาอธิบายรายละเอียดงาน เอกสารที่ต้องเตรียม ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ซึ่งส่วนตัวเลือกไปประเทศแคนาดา ราคาประมาณ 1.2 แสนบาท ตกลงแบ่งจ่าย 2 งวด งวดแรกจ่ายที่เมืองไทย 3 หมื่นบาท ส่วนที่เหลือจ่ายให้อีกครั้งเมื่อเดินทางถึงประเทศปลายทาง

จากนั้นนายหน้าก็จะนัดหมายวัน เวลา สถานที่เพื่อวางเงินมัดจำก้อนแรกเพื่อเป็นค่าดำเนินการ ซึ่งจะนัดตามสถานที่ทั่วไป โดยตนจ่ายเป็นเงินสดและถ่ายรูปเก็บไว้เป็นหลักฐาน ส่วนคนที่ไม่ได้วางเงินสดจะต้องโอนผ่านเข้าบัญชีธนาคาร ขั้นตอนนี้สังเกตว่า ผู้เป็นนายหน้า ไม่มีการออกใบเสร็จรับรองให้ ต่างจากที่เคยเดินทางไปครั้งก่อน ซึ่งจะนัดเจอที่อาคารสำนักงานถาวรน่าเชื่อถือ และเมื่อชำระเงินครบจะได้ใบเสร็จรับรองทันที 

เขาเล่าต่อว่า หลังจากนั้นคนร้ายจะเริ่มให้เหยื่อไปเรียนและทดสอบภาษา ตรวจโรค ขอใบรับรองความประพฤติที่ สตช. ซึ่งตนหยุดเพียงขั้นตอนนี้เท่านั้น ไม่ถึงขั้นสัมภาษณ์ขอวีซ่าที่ต้องเสียเงินเพิ่มอีก 2.2 หมื่นบาท เนื่องจากผู้ที่จะเดินทางไปด้วยกันแจ้งในกลุ่มไลน์ว่าเป็นวีซ่าปลอม จึงรวบรวมผู้เสียหายประมาณ 16 คน ไปแจ้งความดำเนินคดี แต่คาดว่ามีผู้เสียหายไม่ต่ำกว่า 200 คน  

กอล์ฟ กล่าวทิ้งท้ายว่า ที่ผ่านแม้เคยเดินทางไปทำงานต่างประเทศในลักษณะนี้แล้ว จึงทำให้ครั้งนี้ไม่รู้สึกสงสัยหรือแปลกใจ คิดว่าขั้นตอนติดต่อคงเหมือนกัน แตกต่างเพียงครั้งแรกสถานที่ติดต่อ เป็นสำนักงานถาวรและมีใบอนุญาต แต่ครั้งนี้ สถานที่ติดต่อเป็นเพียงห้องเช่า ไม่มีเอกสารรับรอง

บทเรียนครั้งนี้ อยากสะท้อนถึงผู้ที่สนใจเดินทางไปทำงานต่างประเทศ สิ่งสำคัญหากไม่มีญาติหรือคนรู้จักเดินทางไปจริง อย่าหลงเชื่อเป็นอันขาด

 

"จ่ายแสนได้ศูนย์" ชำแหละขบวนการหลอกทำงานต่างประเทศ

หาคนไปทำงานต่างประเทศในโซเชียล 99% ไม่ใช่เรื่องจริง

"ยืนยันว่า การรับสมัครคนไปทำงานต่างประเทศทางเฟซบุ๊กและสื่อโซเชียลมีเดีย 99 % ไม่ใช่เรื่องจริง ไม่มีงานหรือหากมี ก็ไม่ได้ดีอย่างที่กล่าวอ้าง ขอเตือนผู้ใช้แรงงานว่า ก่อนตัดสินใจสมัครหรือจ่ายเงิน ให้สอบถามเจ้าหน้าที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดก่อนว่า รายละเอียดงานและบุคคลที่กล่าวอ้างมีจริงหรือไม่ หากระวังตัว ไม่เชื่อคนง่าย ไม่รีบจ่ายตังค์ จะได้ไม่ถูกหลอก”"สมบัติ นิเวศรัตน์ รองอธิบดีกรมการจัดหางาน ระบุ

สมบัติ บอกว่า คนที่เดินทางไปทำงานต่างประเทศโดยไม่ผ่าน 136 บริษัทที่กรมการจัดหางานรับรองอยู่ในปัจจุบัน ถือว่าเป็นการเดินทางไปทำงานผิดกฎหมาย สุ่มเสี่ยงต่อการถูกเอาเปรียบจากนายจ้างในต่างประเทศ ถูกโกงค่าแรง และอาจตกอยู่ในสภาพการทำงานที่เลวร้าย เพราะขาดการตรวจสอบดูแลสัญญาจากหน่วยงานรัฐทั้งในและต่างประเทศ

ระบบการส่งคนไปทำงานต่างประเทศปกติ นายจ้างจะต้องเข้ามาติดต่อผ่านสถานทูตไทยที่ประจำอยู่ในแต่ละประเทศ และต้องมีการยื่นหลักฐานแสดงตัวตน จากนั้นสถานทูตหรือฑูตแรงงานจะไปตรวจสอบว่า บริษัทที่กล่าวอ้างว่ามีตัวตนรายละเอียดตามที่แจ้งไว้หรือไม่ จากนั้นจะประสานมายังกระทรวงแรงงาน เพื่อให้บริษัทที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องจัดหาคนไปทำงาน วิธีนี้จะทำให้สถานทูตรับทราบว่าแรงงานอยู่ที่ใด หากเกิดปัญหาจะได้ติดตามช่วยเหลือโดยง่าย

รองอธิบดีฯ เปิดเผยว่า ปัจจุบันประเทศที่คนไทยนิยมไปทำงาน คือ เกาหลีใต้ ไต้หวัน ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น แคนาดา สหรัฐอเมริกา และประเทศแถบแอฟริกาใต้ โดยกลุ่มมิจฉาชีพจะนำผลตอบแทนมาเป็นแรงจูงใจ ด้วยค่าจ้างราว 7 หมื่นถึงหลักแสนบาทต่อเดือน  แต่ความเป็นจริงอัตราค่าจ้าง เช่น ไต้หวันอยู่ที่ 2หมื่นต่อเดือน เกาหลีใต้ 3-4 หมื่นบาทต่อเดือน ญี่ปุ่น 3 หมื่นบาทต่อเดือน และอิสราเอล 4 หมื่นบาทต่อเดือน เท่านั้น

“ขอเตือนว่ารูปแบบการหลอกคนไปทำงานต่างประเทศปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปจากอดีตมาก เมื่อก่อนนายหน้าจะไปตามหมู่บ้านโดยเฉพาะภาคอีสานและภาคเหนือ แต่ปัจจุบันเปลี่ยนมาเป็นในโซเชียลมีเดีย โดยมักอุปโลกตัวละคร ข้อมูล สถานที่อบรม รูปภาพปลอมขึ้นมา เมื่อเหยื่อโอนเงินให้สุดท้ายก็จะปิดเฟซบุ๊กหนี ตามตัวไม่ได้ หรือหากจะสืบสวนผู้กระทำความผิดก็ต้องใช้เวลานาน”

สมบัติ ทิ้งท้ายว่า ผู้ที่สนใจเดินทางไปทำงานต่างประเทศ ควรตรวจสอบข้อมูลให้รอบคอบ ป้องกันการถูกหลอก ทางแก้ระยะยาวคือต้องสร้างความเข้าใจให้ประชาชนทราบถึงวิธีการในการแสวงหาอาชีพยังต่างแดนที่ถูกต้องต่อไป