posttoday

เปิดกม.ข่าวสาร ฉบับสปท. "ปกปิดเป็นหลัก เปิดเผยเป็นรอง"

08 พฤษภาคม 2560

ร่างกฎหมายข้อมูลข่าวสารสาธารณะฉบับ สปท. กำลังถูกตั้งคำถาม เป็นความต้องการให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารราชการมากขึ้นหรือปกปิดมากขึ้นกันแน่

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์ 

ไม่เพียงสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ด้านสื่อสารมวลชน กำลังถูกโจมตีอย่างหนักจากการเสนอร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน จนองค์กรสื่อมวลชนออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านให้ยกเลิกเพราะมองว่าไม่ได้เป็นการคุ้มครองสื่อ แต่จะเป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพสื่อสารมวลชน

ล่าสุด สปท.ต้องเผชิญมุมมองแตกต่างจากหน่วยงานราชการที่กำกับดูแลข้อมูลข่าวสารราชการ อย่าง สำนักงานคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารราชการ (สขร.) หลังจากเสนอ “ร่าง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารสาธารณะ พ.ศ. ...”

ความพยายามครั้งนี้ เป็นผลสืบเนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ระบุไว้ในมาตรา 59 เกี่ยวกับหน้าที่ของรัฐ ต้องเปิดให้ประชาชนเข้าถึง “ข้อมูลข่าวสารสาธารณะ” ที่อยู่ในครอบครองของหน่วยงานของรัฐ จึงต้องมีการยกร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวขึ้นมารองรับ

ทว่า ร่างกฎหมายข้อมูลข่าวสารสาธารณะฉบับ สปท. กำลังถูกตั้งคำถาม เป็นความต้องการให้เปิดเผยข้อมูลข่าวสารราชการมากขึ้นตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือปกปิดมากขึ้นกันแน่

ทั้งนี้ มีการนำร่าง กฎหมายของ สปท.ไปเปรียบเทียบกับ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบัน โดยมี สขร. ภายใต้สังกัดสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ซึ่งอาจต้องถูกยกเลิกกฎหมายฉบับนี้ในอนาคตอันใกล้ด้วย

ประเด็นแรกที่ถูกท้วงติง คือ คำนิยามการขอข้อมูลข่าวสารทางราชการ สปท. มุ่งเน้น “ข้อมูลภาครัฐที่จะต้องเปิดเผย” นั่นหมายความว่าประชาชนต้องเป็นฝ่ายร้องขอก่อน ขณะที่ฉบับ สปน.ระบุว่า “ข้อมูลที่รัฐจะต้องเปิดเผยโดยไม่ต้องร้องขอ” ยิ่งในเนื้อหาที่เกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลลับทางราชการได้จัดทำเป็นรายการกำหนดไว้ในมาตรา 11 และ 12 กฎหมายฉบับ สปท. ทำไว้ 17 รายการ ขณะที่กฎหมายเก่าตรงกับมาตรา 7 และ 9 ฉบับของ สปน.ที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบันจัดไว้ 73 รายการ จึงเกิดคำถามว่าการออกกฎหมายใหม่ฉบับ สปท. เนื้อหาสาระจริงๆ แล้วเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารมากน้อยเพียงใดกันแน่    

“เธียรชัย ณ นคร” หนึ่งในกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของราชการ ได้ทำตารางเปรียบเทียบระหว่างกฎหมายฉบับ สปน. เทียบกับ สปท. โดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ รายการที่เหมือนกันกับรายการที่ สปท.ไม่มี แต่มีใน สปน.โดยชี้ให้เห็นว่ากฎหมายฉบับ สปท.อ่อนกว่าฉบับ สปน.อย่างมาก โดยเปรียบเทียบได้ดังนี้

17 รายการของ สปท.ที่ก๊อบปี้จากต้นฉบับของ สปน. อาทิ รายการโครงสร้างการบริหารที่ต้องเปิดเผยแม้แต่ที่อยู่ อีเมล หรือเบอร์โทรศัพท์ส่วนตัว ผลคำวินิจฉัย คำพิพากษาศาล สัญญาสัมปทานโดยเฉพาะโครงการของรัฐที่มีลักษณะผูกขาดตัดตอน หรือรายการที่เกี่ยวข้องกับการใช้ทรัพยากรสาธารณะ เช่น การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) หรือข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ รวมถึงการเปิดเผยบันทึกการประชุม รายงาน เอกสารทุกชิ้น ตั้งแต่ระดับกระทรวงไปจนถึงรายงานคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือข้อมูลอื่นใดที่คณะกรรมการกำหนด

สำหรับรายการที่ สปท.ไม่มี แต่มีในกฎหมายเก่าฉบับ สปน.ที่บังคับให้ภาครัฐต้องเปิดเผยข้อมูลหรือเอกสารลับให้สาธารณะรับทราบ อาทิ กฎหมายว่าด้วยการกระทําความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคา รวมถึงแผนการจัดหาพัสดุรายงานการขอซื้อขอจ้าง เอกสารราคาและเอกสารประกวดราคา ตามมาตรา 9 (8) และหลักเกณฑ์ในการพิจารณาตัดสินผลในแต่ละโครงการหรือรายการ ผลการจัดหาพัสดุในแต่ละโครงการหรือรายการ

สรุปผลการจัดหาพัสดุในแต่ละรอบเดือนและรายงานของผู้ควบคุมหรือผู้ตรวจสอบภายใน ผลการตรวจสอบของสํานักงานคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์และคู่มือ พ.ร.บ.การอํานวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2548  รวมถึงผลการพิจารณา คําวินิจฉัย หรือคําสั่งที่มีผลโดยตรงต่อเอกชน ความเห็นแย้งและคําสั่งในทางกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการพิจารณาวินิจฉัยดังกล่าว รวมถึงคําพิพากษาหรือคําสั่งของศาลด้วย

นอกจากนี้ ต้องเปิดเผยข้อมูลพื้นฐาน เช่น ข้อมูลเชิงสถิติ วิสัยทัศน์ พันธกิจของหน่วยงาน แผนงาน โครงการ และงบประมาณประจําปีของหน่วยงาน รวมถึงหลักเกณฑ์ และตัวชี้วัดผลสัมฤทธิ์ของการใช้จ่ายงบประมาณในแต่ละแผนงานหรือโครงการ และรายงานผลการใช้จ่ายงบประมาณ รวมทั้งผลสัมฤทธิ์ของการดําเนินการ จําแนกตามแผนงานและโครงการของผู้ควบคุมหรือผู้ตรวจสอบภายใน

รวมถึงเกณฑ์มาตรฐานความโปร่งใสและตัวชี้วัดความโปร่งใสของหน่วยงานของรัฐเป็นข้อมูลข่าวสารที่ต้องจัดไว้ให้ประชาชน และรายการมาตรฐานทางจริยธรรมและจรรยาบรรณทางวิชาชีพของบุคลากรรวมถึงผลการประเมินมาตรฐานทางจริยธรรมและจรรยาบรรณ รายงานการประเมินผลเกี่ยวกับการดําเนินการตามหลักเกณฑ์การให้คุณให้โทษต่อบุคลากร

นอกจากนี้ ต้องเปิดเผยรายการนำเสนอรายงานต่อคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินในการติดตามประเมินผลการปฏิบัติงานของหน่วยงานตามกฎหมายหรือตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยเฉพาะข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และสังคม ขั้นตอนการดําเนินการ รวมทั้งรายงานการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน

รวมทั้งสัญญา สัมปทาน ใบอนุญาต หรือใบอนุญาตที่เกี่ยวข้องกับการใช้หรือแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ แม้แต่ข้อมูลกรอบการเจรจา ความตกลง และหรือข้อตกลงระหว่างประเทศต้องเปิดเผยให้สาธารณะรับทราบ