posttoday

โลกร้อนระอุ อุณหภูมิทำลายสมดุลระบบนิเวศ

28 เมษายน 2560

"ความร้อนที่เรากำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ เป็นผลพวงจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศที่ต่อเนื่องและสะสมมานาน"

โดย...ธเนศน์ นุ่นมัน

แม้ในปีนี้หลายสำนักจะรายงานตรงกันว่า จะมีอากาศร้อนสูงสุดอยู่ที่ 43 องศาเซลเซียส ต่ำกว่าสถิติปีก่อน ซึ่งอุณหภูมิพุ่งสูงทะลุ 44 องศาเซลเซียส แต่ตัวเลขดังกล่าวก็ไม่ใช่เรื่องที่น่ายินดี เพราะโดยภาพรวมแล้วยังถือว่าเรากำลังเผชิญหน้ากับฤดูร้อนที่มีอุณหภูมิสูงมาเป็นเวลาหลายปีติดต่อกันโดยที่ยังไม่ทราบชะตากรรมเลยว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไป

จิรพล สินธุนาวา อาจารย์ประจำคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุว่าความร้อนที่เรากำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ เป็นผลพวงจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศที่ต่อเนื่องและสะสมมานาน ซึ่งสิ่งที่น่ากังวลในตอนนี้ คือ ไม่สามารถคาดการณ์ได้ชัดเจนว่าฤดูร้อนจะสิ้นสุดลงเมื่อใด และอาจจะมีอากาศร้อนต่อไปจนทำลายสถิติที่บันทึกไว้เมื่อปีก่อน

อาจารย์ประจำคณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า มีความเป็นไปได้ที่อากาศร้อนจะลากยาว เพราะยังอยู่ในอิทธิพลของปรากฏการณ์เอลนินโญ อากาศร้อน ความแห้งแล้ง อาจจะลากยาวไปถึงต้นเดือน ก.ค.

“อากาศร้อนยังไม่มีแนวโน้มว่าจะดีขึ้น เพราะปัจจัยที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงจากก๊าซเรือนกระจก แต่ละปีโดยไม่มีแนวโน้มว่าจะลดลงเลย และที่สำคัญกว่านั้นคืออากาศที่ร้อนขึ้นๆ จะทำให้พืชหายใจมากขึ้น

เดิมทีพืชแต่ละชนิดมีช่วงอุณหภูมิในการสังเคราะห์ที่ต่างกันตั้งแต่ 5-40 องศาเซลเซียส พืชเขตร้อนอุณหภูมิที่เหมาะสมอยู่ในช่วงที่ค่อนข้างสูง ปริมาณก๊าซในบรรยากาศ คาร์บอนไดออกไซด์ เป็นก๊าซที่มีผลต่อการสังเคราะห์ด้วยแสง ในสภาพที่มีแสงและอุณหภูมิพอเหมาะ อัตราการสังเคราะห์แสงจะขึ้นกับปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ ถ้าเพิ่มปริมาณความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์ให้สูงขึ้น จะมีผลทำให้อัตราการสังเคราะห์แสงเพิ่มขึ้นจนถึงจุดอิ่มตัว พืชจะไม่เพิ่มอัตราการสังเคราะห์แสงอีก”จิรพล กล่าว

นำชัย ชีววิวรรธน์ ผู้อำนวยการฝ่ายเผยแพร่วิทยาศาสตร์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า รายงานขององค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ (โนอา) แห่งสหรัฐอเมริกา ออกมาระบุว่า สถิติอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกเมื่อปี 2559 ทั้งบนบกและในน้ำร้อนที่สุดตั้งแต่เก็บข้อมูลกันมา 137 ปี นับเป็นการทำสถิติอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงที่สุดเป็นปีที่ 3 ติดต่อกัน ข้อมูลของโนอาสอดคล้องกับผลการศึกษาขององค์การบริหารการบินและอวกาศสหรัฐอเมริกา (นาซ่า) ที่พบว่า ปี 2559 เป็นปีที่โลกร้อนที่สุดเป็นสถิติใหม่ ขณะที่องค์การอุตุนิยมวิทยาโลกยืนยันผลการศึกษาของสหรัฐอเมริกา และตั้งข้อสังเกตด้วยว่าเมื่อปีที่แล้วความหนาแน่นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และมีเทนบนชั้นบรรยากาศโลกทำสถิติหนาแน่นที่สุดเช่นกัน

ผู้อำนวยการฝ่ายเผยแพร่วิทยาศาสตร์ สวทช. กล่าวว่า สภาพอากาศที่ร้อนระอุนี้จะส่งผลให้สัตว์บก พวกที่ทนช่วงอุณหภูมิได้ไม่มากเสียชีวิตไปเป็นจำนวนมาก ในบริเวณที่แหล่งน้ำมีน้อยสัตว์ต่างๆ จะลดจำนวนลงอย่างเห็นได้ชัด อากาศร้อนยังส่งผลให้สัตว์เลื้อยคลานบางชนิดที่ออกลูกเป็นไข่อาจมีสัดส่วนตัวผู้ ตัวเมียที่ผิดไป กรณีที่อุณหภูมิเป็นตัวกำหนดเพศลูก เช่น เพศของลูกจระเข้ที่ถูกกำหนดโดยอุณหภูมิขณะฟักไข่ ไข่ที่เจริญเติบโตในสภาวะฟักไข่ในสภาพอากาศอบอุ่น ลูกจะเป็นตัวผู้ขนาดใหญ่ แต่ไข่ที่ฟักในอุณหภูมิอันเย็นกว่าจะเป็นตัวเมียขนาดเล็กกว่า โดยปกติลูกที่ออกมาจะมีตัวผู้ 1 ตัว ต่อตัวเมีย 5 ตัว

“นอกจากนี้อากาศที่ร้อนขึ้นยังส่งผลให้สัตว์และคนติดโรคบางอย่างเพิ่ม เพราะแมลงพาหะฟักตัวดีขึ้นในสภาพอากาศที่ร้อน รวมถึงผลผลิตเฉลี่ยจากสัตว์ที่ไม่ได้เลี้ยงระบบโรงเรือนอาจลดลง ทั้งนี้ปัจจัยที่จะส่งผลกระทบนั้นขึ้นกับอุณหภูมิว่าเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหน” นำชัย กล่าว

สุชนา ชวนิชย์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ และรองกรรมการผู้อำนวยการศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นักวิทยาศาสตร์หญิงไทยคนแรกผู้ศึกษาวิจัยทางทะเลที่ขั้วโลกใต้ กล่าวว่า ที่ผ่านมามีงานวิจัยที่ระบุว่า โลกของเราจะมีอุณหภูมิขยับขึ้น 1 องศาเซลเซียส ส่งผลให้น้ำในมหาสมุทรก็มีอุณหภูมิสูงขึ้นตามอย่างช้าๆ ในปี 2558–2559 สิ่งที่ตามมาก็คือ เกิดปะการังฟอกขาว ที่ผ่านมาเกิดปรากฏการณ์เอลนินโญ ได้ฆ่าปะการังน้ำตื้นจำนวน 2 ใน 3 ของแนวปะการังเกรท แบร์ริเออร์ รีฟ ในประเทศออสเตรเลีย ที่ยาวถึง 2,300 กิโลเมตร

“ปะการังแถบทะเลจีนใต้ก็กำลังจะประสบชะตากรรมเดียวกัน ซึ่งอาจจะต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวหลายสิบปี ซึ่งขึ้นอยู่กับชนิดของปะการัง นักวิทยาศาสตร์พบว่าเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ปะการังและสัตว์น้ำในทะเลตายไปราว 40% อุณหภูมิน้ำในมหาสมุทรเปิดสูงกว่าระดับปกติ 2 องศาเซลเซียส ทำให้กังวลว่าความผิดปกติของสภาพอากาศเหล่านี้จะเกิดขึ้นทุกๆ 2 ปี หรือทุกปีจนกระทั่งแนวปะการังจะตายไปจนหมด

และเมื่อไม่มีแนวปะการังสัตว์ทะเลที่อาศัยหรือหากินตามแนวปะการังก็จะได้รับผลกระทบและลดจำนวนลงตามไปด้วย นอกจากนี้ การศึกษาวิจัยผลกระทบของภาวะโลกร้อนที่มีผลต่อระบบนิเวศทางทะเลที่ขั้วโลกใต้ในช่วง 13 ปีที่ผ่านมา ในโครงการวิจัยขั้วโลกตามพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และภายใต้โครงการของ สวทช. พบว่า อุณหภูมิที่สูงขึ้นทำให้พยาธิเพิ่มจำนวนมากขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง จากเดิมที่พบในตัวปลา ขณะนี้สามารถพบได้ที่ภายนอกตัวปลาอีกด้วย เรื่องนี้เป็นการค้นพบใหม่ เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน” อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเลจุฬาฯ กล่าว